HP อเมริกา ร่วมเทรนด์ Subscription Service ออกบริการใหม่ที่ชื่อว่า All-in-Plan ให้เช่าเครื่องพรินต์รายเดือน ส่งหมึกถึงหน้าบ้านทันทีเมื่อหมึกหมด ช่วยให้งานพรินต์เอกสารในครอบครัว และธุรกิจขนาดเล็กสะดวก และง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตามบริการดังกล่าวมีการจำกัดปริมาณการพิมพ์ รวมถึงต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับพรินเตอร์ไว้ตลอด และมีค่าใช้จ่ายในการยกเลิกก่อนสัญญาที่ค่อนข้างสูง ซึ่งไม่รู้ว่าจะมาช่วยให้สะดวกขึ้นจริงตามที่เคลมไว้รึเปล่า
เปิดตัว HP All-in-Plan บริการเช่าพรินเตอร์รายเดือน
HP All-in-Plan เป็นบริการให้เช่าเครื่องพรินต์รายเดือน และส่งหมึกพิมพ์ให้อัตโนมัติหากระบบตรวจพบว่าปริมาณหมึกในเครื่องพิมพ์เหลือน้อย พร้อมให้บริการช่วยเหลือผู้ใช้งานผ่านทางโทรศัพท์ และแช็ตตลอด 24 ชั่วโมง และใช้งานครบ 2 ปี HP ยังอัปเกรดเปลี่ยนเป็นพรินเตอร์รุ่นใหม่กว่าให้ด้วย
โดยแพ็กเกจสามารถปรับแต่งได้ตามการใช้งาน เริ่มต้นที่ราคาประมาณ 6.99 เหรียญฯ หรือประมาณ 250 บาท (ยังไม่รวมภาษี) ซึ่งราคานี้ผู้ใช้งานจะได้พรินเตอร์ HP Envy ไปใช้งาน พร้อมจำกัดการพิมพ์ที่ 20 แผ่น / เดือน ส่วนแพ็กที่แพงที่สุดจะได้เครื่อง HP OfficeJet Pro ไปใช้งาน พิมพ์ได้สูงสุด 700 แผ่นต่อเดือน ในราคา 35.99 เหรียญฯ หรือประมาณ 1,300 บาท (ยังไม่รวมภาษี)
อย่างไรก็ตาม ในข้อกำหนดของบริการดังกล่าวระบุว่า ทาง HP จะไม่ครอบคลุมดูแลความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้ สินค้าและอะไหล่ต่าง ๆ ที่ไม่ได้มาจากทาง HP โดยตรง และไม่ครอบคลุมในกรณีที่ผู้ใช้งานใช้พิมพ์เกินโควตาตามที่แพ็กเกจกำหนดไว้
HP มีสิทธิ์มอนิเตอร์เครื่องพรินต์ตลอด
ถึงแม้ว่าบริการดังกล่าวจะเหมาะกับครอบครัว และธุรกิจเล็ก ๆ แต่สื่อนอกอย่าง arstechnica ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ตัวบริการ HP All-in-Plan มีข้อกำหนดที่น่ากวนใจอยู่หลายอย่างตามธรรมชาติของบริการแบบ Subscription Service เช่น HP ต้องการให้ผู้ใช้งานต่ออินเทอร์เน็ตกับพรินเตอร์ไว้ตลอดเวลา และสามารถเข้าถึงกิจกรรมการพรินต์ของผู้ใช้งานได้ทุกเมื่อ
โดยทาง HP ได้ระบุในเงื่อนไขการใช้งาน (Term of Service) ว่าทาง HP มีสิทธิ์หยุดการให้บริการ หรือเรียกเก็บเงินเรื่อย ๆ หากพรินเตอร์ดังกล่าวไม่ได้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต โดยให้เหตุผลที่ HP บังคับให้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตนั้น จะทำให้ HP สามารถตรวจสอบปริมาณหมึก, จำนวนงานที่พิมพ์ และหยุดการใช้งานที่ไม่พึงประสงค์
นอกจากนี้ทาง HP ยังสามารถตรวจสอบประเภทของเอกสารที่พิมพ์ เช่นชนิดไฟล์ PDF หรือ JPEG, ซอฟต์แวร์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการสั่งพิมพ์ รวมถึงข้อมูลที่ทาง HP คิดว่าเกี่ยวกับระบบ Subscription ซึ่งไม่ได้ระบุอย่างแน่ชัดว่ามีข้อมูลส่วนใดบ้าง รวมถึงยังมีการส่งข้อมูลผู้ใช้งานเพื่อนำไปใช้ในการโฆษณา ซึ่งในส่วนนี้ผู้ใช้งานสามารถกดไม่ยินยอมได้
อย่างไรก็ตามการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ จะค่อนข้างมีเหตุผลในการให้บริการแบบรายเดือน แต่ผู้ใช้งานบางส่วนก็กังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูล รวมถึงกังวลเรื่องการอัปเดตซอฟต์แวร์ที่จะหยุดการทำงานของพรินเตอร์เมื่อตรวจพบว่ามีการใช้ตลับหมึกที่ไม่ใช่ตลับแท้ของทางแบรนด์นั่นเอง
เช่าพรินเตอร์รายเดือน สะดวกขึ้น จริงรึเปล่า?
CEO ของ HP เคยออกมากล่าวว่า “บริษัทได้ตั้งเป้าระยะยาวว่าจะเปลี่ยนระบบการพิมพ์ให้เป็นระบบจ่ายค่าบริการรายเดือน โดยเชื่อว่า All in Plan จะช่วยให้เรื่องพรินเตอร์เป็นเรื่องง่ายมากขึ้น” แต่จะง่ายขึ้นจริงรึเปล่า ก็มีหลายข้อสังเกตที่น่านำมาพิจารณากัน
HP ได้ตั้งข้อกำหนดสัญญาการใช้งาน All in Plan ไว้ 2 ปี หากผู้ใช้งานต้องการยกเลิกก่อนกำหนด จะต้องจ่ายค่าปรับยกเลิกสัญญาเป็นจำนวนเงิน 60 – 270 เหรียญฯ หรือประมาณ 2,000 – 10,000 บาท (ไม่รวมภาษี ขึ้นอยู่กับรุ่นพรินเตอร์ และระยะเวลาสัญญา) ซึ่งหากต้องการยกเลิกแบบไม่เสียค่าปรับจะต้องใช้งานให้ครบ 2 ปี หรือยกเลิกในช่วง 10 วันแรกเท่านั้น
ผู้ใช้งานยังต้องคอยนับจำนวนหน้ากระดาษที่พิมพ์ในแต่ละเดือนด้วยตัวเอง ซึ่งหากพิมพ์เกินจำนวนที่กำหนดไว้ ก็จะมีค่าบริการพิมพ์ที่ชาร์จเพิ่มขึ้นมาตามแพ็กเกจของผู้ใช้งาน เช่นหากสมัครแพ็กไว้ที่ 50 แผ่นต่อเดือน แล้วพิมพ์เกินจำนวน ก็จะโดนชาร์จเพิ่มที่ 1 เหรียญ / 10 แผ่น ซึ่งหากใครที่ใช้เครื่องพรินต์แบบปกติก็ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้เลยเพราะจ่ายเพียงแค่ค่าเครื่องครั้งเดียวจบ กับค่าหมึกเติมจะพิมพ์เท่าไหร่ก็ได้ ไม่มีจำกัด
นอกจากนี้ HP ยังไม่อนุญาตให้ผู้ใช้งานซื้อตลับหมึกมาเปลี่ยนเอง ถึงแม้ว่าจะเป็นหมึกแท้ ๆ ของ HP ก็ตาม และถึงแม้ว่าจะจ่ายค่าบริการเป็นระยะเวลานาน ๆ ก็ไม่มีทางที่ผู้ใช้งานจะได้เป็นเจ้าของพรินเตอร์ดังกล่าว ซึ่งหากคำนวณดูแล้วผู้ใช้งานอาจจะต้องจ่ายเงินค่าบริการรวมแล้วมากกว่าจ่ายเงินซื้อเครื่องพรินต์เป็นของตัวเองด้วยซ้ำ
และถึงแม้ว่า HP จะระบุว่าระบบนี้ช่วยช่วยลดขยะจากตลับหมึก เพราะมีบริการเปลี่ยนหมึกให้ และนำตลับเก่าไปรีไซเคิล แต่การอัปเกรดเครื่องพรินต์ให้ทุก ๆ 2 ปี ยังอาจเป็นอีก 1 ปัจจัยที่สนับสนุนการสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้นกว่าเดิมจากเครื่องพรินต์ที่ถูกปลดประจำการด้วย
โดยทาง arstechnica ได้ให้ความเห็นว่าระบบดังกล่าวไม่ได้แก้ไขปัญหาความยุ่งยากในการใช้งานเครื่องพรินต์เลย หากต้องการแก้ปัญหาให้ถูกจุดจริง ๆ HP ควรที่จะยกเลิกระบบ Dynamic Security ที่ผู้ใช้งานร้องเรียนกันเป็นประจำ เพราะระบบที่ว่านี้จะมีการอัปเดต Firmware เพื่อป้องกันการใช้ตลับหมึกที่ผลิตโดยบริษัทอื่น ๆ อยู่เป็นประจำ
ซึ่งหากระบบตรวจพบตลับหมึก Third Party หรือตลับเทียบ ตัวเครื่องพรินต์ก็จะปิดการทำงานบางฟีเจอร์ลง เช่นสั่งพิมพ์ไม่ได้ หรือไม่สามารถสแกนเอกสารได้ จนเกิดเป็นคดีความฟ้องร้องแบบกลุ่มที่สหรัฐฯ หลายต่อหลายครั้ง
- Epson เตรียมเลิกขายเครื่องพิมพ์เลเซอร์ภายในปี 2026 โดยให้เหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม
- Canon เปิดตัวพรินเตอร์ใหม่ 4 ซีรีส์ 19 รุ่น ตั้งแต่รุ่นประหยัด-มืออาชีพ สเปคตอบโจทย์ทุกระดับการใช้งาน
- HP Omen Transcend 14 โน้ตบุ๊กเกมมิ่งจอ 14 นิ้ว ที่เบาที่สุดในโลก 1.6 กก. เผยโฉมแล้วในงาน CES 2024
ที่มา: arstechnica, HP
ถ้าสัญญาบังคับใช้ขั้นต่ำ 2 ปี เอาที่เสียรายเดือนไปซื้อเครื่องเองดีกว่าเยอะ แม้จะต้องเสียค่าหมึกเอง แต่เทียบรวมๆ แล้ว ทั้งการที่เราเป็นเจ้าของ 100% ไม่ต้องต่อเน็ตตอนใช้ ไม่ต้องกังวลเรื่องข้อมูล และอื่นๆ คือสบายใจกว่าเยอะ ไอ้บริการ subscription เนี่ย มันควรอยู่แค่วงการสตรีมหนังพอแล้ว อย่างอื่นมันไม่ค่อยเหมาะ เรื่องการซื้อซอฟต์แวร์ก็เหมือนกัน แต่ก่อนก็มีไว้ขาย ซื้อแล้วจบ สบายใจ เดี๋ยวนี้แห่กันมาใช้แบบเช่า หรืออีกความหมายนึงคือ "จ่ายตลอดชีพ" เสียเป็นแสนจับได้แค่แขนแต่ไม่ได้หัวใจ อะไรประมาณนั้น คนที่ใช้น้อย ใช้ไม่บ่อย มันก็ไม่คุ้ม เพราะต้องจ่ายทุกเดือนใช้นิดเดียว เป็นระบบที่เลวมาก