มาต่อกันจากบทความ พาทัวร์ห้องแล็บทดสอบสมาร์ทโฟน กว่าจะออกมาขายได้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ซึ่งเราจะพาไปดูโรงงานสายการผลิตสมาร์ทโฟนของทาง Huawei ที่มีความล้ำนำเอาหุ่นยนต์มาช่วยในการประกอบ จนทำให้มีค่าความผิดพลาดน้อย และใช้คนน้อยกว่าใคร สามารถผลิตสมาร์ทโฟนออกมาได้วันนึงหลายหมื่นเครื่องแบบไม่ต้องหยุดต้องหย่อน ทำงานได้ 24×7 กันไปเลย

ที่เห็นในภาพประกอบข้างต้นนั้นคือสายการผลิตที่ประกอบส่วนต่างๆของสมาร์ทโฟนเข้าด้วยกัน โดยชิ้นส่วนอย่าง CPU, Memory, SIM Tray, และอื่นๆ จะค่อยๆถูกจับมาประกอบรวมเข้ากับบอร์ดทีละนิดๆไล่ทีละโมดูลไป โดยชิ้นส่วนชิปต่างๆจะถูกบรรจุมาในม้วนกระป๋องฟิล์ม และค่อยๆไหลเข้าไปใช้เชื่อมต่อกับบอร์ดในแต่ละโมดูล

แต่ละแถวคือสายการผลิต 1 สาย โดยหนึ่งคนที่หัวแถวจะคุมสองแถว ปล่อยไหลไปทีละโมดูล (ที่เห็นเป็นบล็อกๆ 1,2,3,…) ซึ่งโมดูลนี้สามารถปรับเพิ่มลดได้ตามความต้องการ ถ้ารุ่นไหนมีความวุ่นวายเยอะหน่อย เช่น ใส่การกันน้ำกันฝุ่น ก็อาจจะต้องมีโมดูลเพิ่มขึ้น โดยโมดูลช่วงแรกจะเป็นการประกอบชิปต่างๆเข้าไปกับบอร์ด จากนั้นก็ค่อยประกอบจอ และฝาหลังเครื่องเข้าไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นตอนสุดท้ายในการบรรจุลงกล่องและซีลพลาสติกครบจบที่ตรงนี้กันเลย

สำหรับการประกอบนั้น เกือบ 90% เป็นการใช้ระบบ Automated หรือหุ่นยนต์ในการทำ เพื่อความแม่นยำลดความผิดพลาดจากตัวบุคคลที่อาจเกิดขึ้นได้จากความอ่อนล้า หรือความสามารถที่ไม่เท่ากัน ซึ่งทาง Huawei บอกว่าในการผลิตของ Huawei นี้มีการพัฒนานำเอาหุ่นยนต์เข้ามาช่วยจนสามารถลดจำนวนคนในสายการผลิตให้น้อยกว่าคู่แข่งได้ถึง 5-8 เท่าเลยทีเดียว แต่ส่วนการแปะแผ่นพลาสติก เช่น บนหน้าจอจะใช้คนติดนะครับ ถ้าเจอติดเบี้ยวหรือมีฟองก็ไม่ต้องสงสัยไป 555 ส่วนที่เราเห็นช่องว่างระหว่างโมดูลก็จะมี Check Point สำหรับการตรวจสอบคุณภาพจากคนอีกที และเมื่อถึงระยะประมาณ 50 เมตร ก็จะมีจุดเว้นเอาไว้สำหรับให้คนสามารถเดินผ่านได้ เผื่อกรณีฉุกเฉินจะได้หนีได้ทันครับ

เรียกว่าเป็นความตื่นตาตื่นใจมากๆเลยทีเดียวที่ได้ไปเห็นการผลิตของทาง Huawei นี้ อุปกรณ์ต่างๆหลายชิ้นมีการสร้างขึ้นมาใช้งานเองโดยเฉพาะ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการสร้างสรรค์ผลิตงานขึ้นมาใช้เองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใครเลยล่ะครับ

การควบคุมคุณภาพในการผลิต ต้องใช้เงินทุนสูง ไม่ใช่ทุกแบรนด์จะทำได้

จากที่ได้ไปเยี่ยมชมโรงงานของทาง Huawei นี้ ทำให้รู้อย่างนึงว่าหากเราใช้งานสมาร์ทโฟนที่เป็นแบรนด์ใหญ่ๆ นั้นน่าอุ่นใจกว่าการซื้อแบรนด์โนเนมที่ไม่มีใครรู้จัก เพราะการลงทุนพัฒนาวิจัยสร้างห้องทดสอบและปรับปรุงคุณภาพนี้ต้องใช้เม็ดเงินที่มหาศาลพอสมควร ทั้งค่าสถานที่ เครื่องมือเครื่องใช้อุปกรณ์ รวมถึงบุคลากรที่มาทำการวิจัย ซึ่งเหล่าแบรนด์โนเนมหลายรายนั้นมีความเป็นไปได้สูงว่าอาจจะแค่จ้างผลิตจากโรงงานที่ไม่ได้ชำนาญ ทำมาเพื่อขายเป็นลอตๆไปเท่านั้น อาจจะไม่ใส่ใจในรายละเอียดเท่าแบรนด์ดังทั้งหลาย

อย่างไรก็ดีอย่าเพิ่งเข้าใจว่าอวยแบรนด์อะไรขนาดนั้นนะครับ เพราะอย่างที่เราเห็นคือไม่ว่าจะแบรนด์ใหญ่แค่ไหน มีเงินพัฒนาเพียงใด ก็มีสิทธิ์ที่จะเกิดความผิดพลาดกันขึ้นได้ทั้งนั้น ในทางวิศวกรรมโอกาสที่จะมีการเกิด defect หรือชิ้นส่วนบกพร่องมีโอกาสเกิดขึ้นกันได้ ยิ่งผลิตจำนวนมากๆก็ยิ่งมีจำนวนที่สูง (ขาย 1 ล้านเครื่อง defect เพียง 1% ก็เท่ากับ 10,000 เครื่องแล้ว) ที่เหลือก็ขึ้นกับความรับผิดชอบของตัวแบรนด์ต่อผู้บริโภคเสียมากกว่าว่าเมื่อเกิดปัญหาแล้วจะจัดการอย่างไร ให้รวดเร็วและพึงพอใจมากที่สุดนั่นเอง