ช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียได้ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ของผู้ให้บริการระบบอิเล็กทรอนิกส์หลายราย เช่น Yahoo, PayPal และ Steam เนื่องจากแพลตฟอร์มเหล่านี้ ไม่ได้ยื่นลงะเบียนกับทางภาครัฐเพื่อขอใบอนุญาตจนเกินระยะเวลาที่กำหนด (หมดเขตไปตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม) ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ที่ออกมาเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2563

กฎหมายดังกล่าวของอินโดนีเซียพุ่งเป้าไปที่แพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหญ่ โดยการให้อำนาจกับหน่วยงานกำกับดูแลในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานบางราย ตลอดจนถึงอำนาจในการสั่งลบเนื้อหาที่ผิดกฎหมายหรือรบกวนความสงบของสาธารณะ สำหรับคำขอที่เร่งด่วน ทางแพลตฟอร์มจะต้องดำเนินการภายใน 4 ชั่วโมง และ 24 ชั่วโมงสำหรับกรณีทั่ว ๆ ไป

บริษัททั้งในและนอกประเทศอินโดนีเซีย จำนวนรวมเกือบ 6 พันแห่ง ได้เร่งลงทะเบียนให้ทันเส้นตายไปตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมาแล้ว ในนั้นมี Alphabet บริษัทแม่ของ Google และ Meta บริษัทแม่ของ Facebook รวมอยู่ด้วย

ทางรัฐบาลอินโดนีเซียระบุว่า นี่เป็นเพียงการแบนชั่วคราว โดยจะมีการปลดล็อกให้ในภายหลัง หากแพลตฟอร์มต่าง ๆ มาลงทะเบียนตามกฎหมายต่อไป

ประชาชนอินโดนีเซียบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาล จนมีแฮชแท็ก “BlokirKominfo” ปรากฏขึ้นมากมายบน Twitter หมายถึง “บล็อกกระทรวงคมนาคม” พร้อมกับมีมเชิงเสียดสีและจิกกัด โดยส่วนใหญ่เป็นคนที่ได้รับผลกระทบจาก PayPal ที่ไม่สามารถถอนเงินได้ และฝั่งชาวเกมที่ไม่สามารถเข้าใช้บริการได้ทั้ง Steam, Origin, Epic Games, Dota 2, Counter-Strike และอื่น ๆ

กระทรวงคมนาคมอินโดนีเซียถูกวิจารณ์ว่า ออกกฎหมายที่ทำให้ประเทศถอยหลังลงคลอง เป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบเชิงลบหลายอย่าง และขาดกรณีศึกษาที่เพียงพอ นอกจากนี้ มูลนิธิพรมแดนอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Frontier Foundation ยังเคยออกมาวิจารณ์เมื่อปีที่แล้วว่า “การกระทำลักษณะนี้เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน” ด้วยเช่นกัน

 

ที่มา : Reuters | Twitter