กลุ่ม Wi-Fi Alliance ได้เปิดตัว Wi-Fi 6 หรือในชื่อเต็ม ๆ ว่า 802.11ax ไปตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว Wi-Fi 6 มีจุดเด่น คือ อัตราการรับส่งข้อมูลสูงขึ้น ความจุสัญญาณมากขึ้น ใช้พลังงานน้อยลง และรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์เป็นจำนวนมาก จากนั้นในเดือนมกราคมที่ผ่านมา Wi-Fi Alliance ก็ได้เปิดตัว Wi-Fi 6E ตามมา ซึ่งมันกำลังจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการเชื่อมต่อไร้สายในอนาคต แล้วมันคืออะไร มีดียังไง จะพามาให้รู้จักกันแบบเข้าใจง่าย ๆ ในบทความนี้
Wi-Fi 6 คืออะไร
ก่อนที่จะเข้าสู่เรื่องของ Wi-Fi 6E ต้องขอพาย้อนกลับไปทำความรู้จักกับ Wi-Fi 6 เสียก่อน เพราะมันเป็นเทคโนโลยีที่ต่อยอดกันมา ตามที่ได้กล่าวไว้ด้านบน และคาดว่ายังมีผู้อ่านอีกเป็นจำนวนไม่น้อย ที่ก็ยังไม่รู้จักกับ Wi-Fi 6
แต่เดิมนั้น เราจะเรียกการเชื่อมต่อไร้สายของ Wi-Fi เป็นชื่อรหัส 802.11 ตามมาตรฐานของ IEEE ซึ่งมันดูเข้าใจได้ยาก และไม่เป็นมิตรต่อผู้ใช้ทั่วไป ดังนั้น ในปี 2018 ทาง Wi-Fi Alliance จึงได้ทำการตั้งชื่อเล่นให้กับมัน โดยนำตัวเลขมาใช้แบ่งเป็นเจเนอเรชันเพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ แทน ดังนี้
- Wi-Fi 1: 802.11b (1999)
- Wi-Fi 2: 802.11a (1999)
- Wi-Fi 3: 802.11g (2003)
- Wi-Fi 4: 802.11n (2009)
- Wi-Fi 5: 802.11ac (2014)
- Wi-Fi 6: 802.11ax (2019)
นอกจากจะมีชื่อเล่นใหม่แล้ว ยังมีไอคอนใหม่อีกด้วย เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้นไปอีก
Wi-Fi 6 นั้น มีเทคโนโลยีและฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่พัฒนาขึ้นจาก Wi-Fi 5 หลายอย่าง แต่ในส่วนของข้อมูลเชิงลึก หรือเชิงเทคนิคที่เข้าใจได้ยากนั้น จะไม่กล่าวถึงในบทความนี้ เพราะไม่มีประโยชน์กับผู้ใช้งานทั่วไป จึงขอยกแค่ส่วนที่เป็นคีย์ฟีเจอร์หลัก ๆ มาอธิบาย ได้แก่
- Orthogonal Frequency Division Multiple Access (OFDMA): ซอยช่องสัญญาณเป็นช่องย่อย ๆ เพื่อลดความหน่วงแฝง (latency) และเพิ่มประสิทธิภาพในการรับ-ส่งข้อมูลในสภาพแวดล้อมที่มีการเชื่อมต่อหนาแน่น
- Multi-user MIMO (MU-MIMO): ที่ถูกพัฒนามาจาก Wi-Fi 5 ซึ่งมันไม่สามารถรับ-ส่งข้อมูลไปยังหลายอุปกรณ์พร้อมกันในคราวเดียว ยังคงต้องใช้การทำงานในรูปแบบสลับสัญญาณไปมา และนี่ก็เป็นสาเหตุของอาการเน็ตสะดุดอีกด้วย แต่ใน Wi-Fi 6 นี้ มันสามารถทำอย่างที่ว่าได้แล้ว (แต่ในกรณีนี้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเองก็ต้องรองรับ MU-MIMO ด้วยนะครับ ถึงจะใช้งานได้)
- Target wake time (TWT): ช่วยประหยัดพลังงานหรือแบตเตอรี่ของอุปกรณ์ปลายทาง เปรียบได้กับมี sleep mode นั่นเอง แถมยังรองรับอุปกรณ์ IoT ด้วย และอุปกรณ์ที่จะได้ประโยชน์มากที่สุด ก็พวก IoT นี่แหละ เพราะปกติจะเป็นอุปกรณ์ประเภท low-power อยู่แล้ว
- 1024 quadrature amplitude modulation mode (1024-QAM): เป็นสูตรทางคณิตศาสตร์ที่ไม่ต้องเข้าใจก็ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของทางผู้ผลิต สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปเข้าใจแค่เพียงว่า มันเพิ่มความสามารถในการเข้ารหัสข้อมูล จากเดิม 256-QAM ใน Wi-Fi 5 ทำให้มีอัตราการรับ-ส่งข้อมูลสูงขึ้นถึง 40% ก็พอ
Wi-Fi 6E คืออะไร
มาถึงคิวของพระเอกของเรา Wi-Fi 6E กันบ้าง… ซึ่งต้องบอกตรง ๆ ว่า ที่จริงแล้ว Wi-Fi 6E มันก็เหมือน Wi-Fi 6 แทบทั้งหมด ยังคงอยู่บนมาตรฐาน IEEE 802.11ax เหมือนเดิม แต่คราวนี้ได้มีการนำคลื่นความถี่ในย่าน 6 GHz มาอัปเกรดให้มันด้วย ในขณะที่จากเดิมมีใช้อยู่แค่ 2.4 GHz และ 5 GHz ซึ่งมันเริ่มที่จะไม่เพียงพอแล้วในปัจจุบัน เพราะอย่าลืมว่า ทุกวันนี้ไม่ได้มีเพียงแค่สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือแล็ปท็อปอีกแล้ว ที่สามารถต่อ Wi-Fi ได้ อุปกรณ์จำพวก IoT ต่าง ๆ ทั้งหลายก็ต่อ Wi-Fi ได้เช่นกัน นอกจากนี้ทั้งจำนวนผู้ใช้งานรวมถึงปริมาณการใช้งานก็ยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย
โดยจากรายงานของ Cisco ระบุว่า ในปี 2018 มียอดผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกราว 3.9 พันล้านคน คิดเป็น 51% ของประชากรโลก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นถึง 5.3 พันล้านคนในปี 2023 ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับ 66% หรือสองในสามของประชากรโลก Wi-Fi จึงต้องขยับไปใช้คลื่นความถี่ 6 GHz ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า ครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่า ทั้งยังรองรับการเชื่อมต่อได้มากกว่าเดิม เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการได้เพียงพอ
นอกจากนี้ การขยับไปใช้คลื่นความถี่ 6 GHz ของ Wi-Fi ในครั้งนี้ หลายฝ่ายให้ความเห็นตรงกันว่า นี่คือการพัฒนาครั้งใหญ่ของ Wi-Fi ในรอบ 20 ปี ที่จะมาสร้างมาตรฐานใหม่ของการเชื่อมต่อไร้สายได้เลยทีเดียว
วัตถุประสงค์และจุดเด่นของ Wi-Fi 6E
วัตถุประสงค์หลัก ๆ ของ Wi-Fi 6E ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทำในสิ่งที่ Wi-Fi 6 ยังทำไม่ได้ หรือทำได้แต่ไม่ดีพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้งานในสภาพแวดล้อมที่มีการเชื่อมต่อเป็นจำนวนมาก เช่น ในสถานที่อย่างห้างสรรพสินค้า สถานีขนส่ง สนามกีฬา หรือโรงงาน รวมไปจนถึงการสตรีมวิดีโอระดับ 4K หรือสูงกว่า และการใช้งานด้าน AR/VR เป็นต้น
การที่มันขยับไปใช้คลื่นความถี่ย่าน 6 GHz ทำให้ได้ความจุสัญญาณเพิ่มขึ้นมาถึง 1200 MHz ซึ่งมากกว่าสองเท่าของการนำเอาความจุสัญญาณของ 2.4 GHz และ 5 GHz มารวมกันเสียอีก และด้วยความกว้างขนาด 1200 MHz นี้ ทำให้มันสามารถรองรับช่องสัญญาณขนาด 160 MHz ได้ถึง 7 ช่อง หรือขนาด 80 MHz ได้ถึง 14 ช่องเลยทีเดียว ทำให้มีความหน่วงแฝงในขณะเชื่อมต่อที่ต่ำมาก ๆ (ดีเลย์ หรือปิง ตามแต่จะเรียก) แม้ว่าจะเชื่อมต่อกับหลายอุปกรณ์ในคราวเดียวก็ตาม โดยทาง Broadcom ระบุว่า Wi-Fi 6E สามารถทำความหน่วงแฝงได้ต่ำที่สุด ‘ไม่ถึงมิลลิวินาที’ ภายในระยะห่างไม่เกิน 3 เมตร จากเราเตอร์หรือ AP (access point)
อัตราการรับ-ส่งข้อมูล และระยะทาง ยิ่งสูงยิ่งดี / ความหน่วงแฝง ยิ่งต่ำยิ่งดี
อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหา ‘สัญญาณตีกัน’ บน 2.4 GHz และ 5 GHz ที่มีปริมาณผู้ใช้งานสูงได้อีกด้วย หากจะกล่าวให้เป็นรูปธรรมอีกสักหน่อย ให้ลองนึกภาพว่า บนถนนมันมีรถเยอะแล้ว รถติด ก็เลยเปิดถนนเส้นใหม่เพิ่ม แล้วขับโล่ง ๆ เต็มสปีดไปเลย แถมถนนที่สร้างใหม่นี้ยังเปิดได้หลายเลน (ช่องสัญญาณ) และแต่ละเลนก็กว้างกว่าเก่าด้วย (แบนด์วิดท์) เพราะมีพื้นที่มากเพียงพอ (ความจุสัญญาณ)
มันเร็วกว่าเดิมแค่ไหน
ประเด็นนี้ไม่เป็นที่ถูกพูดถึงกันสักเท่าไหร่ อาจเพราะ ‘ความเร็วในการใช้งานจริง’ ที่ระดับ 1 Gbps บน Wi-Fi 6 ในปัจจุบันก็สูงเพียงพอต่อผู้ใช้งานทั่ว ๆ ไปแล้ว แต่ทั้งนี้ในทางเทคนิคแล้ว Wi-Fi 6E นั้นจะเร็วขึ้นกว่าเดิมประมาณ 2 – 2.5 เท่า สามารถทำความเร็วสูงสุดในระดับ 2 Gbps บนอุปกรณ์จำพวกสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตได้
จะใช้ Wi-Fi 6E ต้องเปลี่ยนเราเตอร์มั้ย แล้วจะได้ใช้เมื่อไหร่
เราเตอร์ในปัจจุบันส่งสัญญาณได้แค่คลื่นความถี่ 2.4 GHz และ 5 GHz ดังนั้น หากคุณต้องการใช้งาน 6 GHz ของ Wi-Fi 6E คำตอบก็คือ ‘ใช่’ คุณต้องเปลี่ยนเราเตอร์ที่มีชิปเซ็ตตัวใหม่ที่รองรับ นอกจากนี้อุปกรณ์ปลายทางอันได้แก่ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แล็บท็อป หรืออื่น ๆ ก็ต้องเป็นรุ่นใหม่ที่รองรับด้วยเช่นกัน (ตอนนี้ยังไม่มี)
Xi AIoT AX3600 เราเตอร์ Wi-Fi 6 ของ Xiaomi ที่พึ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็ไม่รองรับ Wi-Fi 6E เช่นกัน
แต่ทั้งนี้ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องอุปกรณ์ในปัจจุบันไปครับ มันจะยังคงใช้งานได้ตามปกติต่อไป เพียงแค่จะไม่รองรับในส่วนของ 6 GHz เท่านั้น และก็คงยังอีกนานกว่าที่ Wi-Fi 6E จะใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะในช่วงแรก ๆ นั้น ราคาอุปกรณ์และราคาแพ็กเกจจะยังคงมีราคาสูงอยู่ (ขนาดทุกวันนี้ Wi-Fi 6 ที่ออกมาเป็นปีแล้วยังไม่ค่อยมีคนได้ใช้เลย)
โดยมีการคาดการณ์กันจากทาง Wi-Fi Alliance, Broadcom, บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ IT ไปจนถึงบรรดานักวิเคราะห์ ว่า อุปกรณ์ชุดแรกจะเข้าสู่ตลาดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 นี้ หรือไม่ก็ในต้นปีหน้า และอุปกรณ์จำพวกแรกที่จะได้ใช้งาน Wi-Fi 6E ก็คาดว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน (ซึ่งก็เดาได้ไม่ยาก) ในส่วนของประเทศไทยนั้นก็ให้บวกเวลาเพิ่มไปกว่านั้นไปอีกสักหน่อยครับ เพราะต้องรอทาง กสทช.ประเทศไทย จัดสรรคลื่นให้เรียบร้อยเสียก่อน
จากทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าจับตามองมากทีเดียว สมกับที่บรรดาสื่อและบริษัทด้านเทคโนโลยีต่างประเทศต่างกำลังให้ความสนใจ ซึ่งภายใน 1-2 ปีนี้ เราคงจะได้เห็นกันว่า มันจะสร้างแรงกระเพื่อมให้แก่โลกขนาดไหน สมกับที่หลายคนคาดหวังหรือไม่ กับการมาของ Wi-Fi 6E ที่กำลังจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการเชื่อมต่อไร้สายนี้ควบคู่ไปกับ 5G
อ้างอิง : Wi-Fi Alliance, Broadcom, Cisco, Wikipedia (1, 2)
ขอบคุณสำหรับความรู้ค่ะ
จิกาบิต?
คำนี้ มีที่มาจากภาษากรีกว่า γίγας ซึ่งทางราชบัณฑิตฯ บัญญติเอาไว้ว่า สามารถเขียนได้ทั้ง กิกะ และจิกะ ครับ
ของผมไม่ได้สงสัยตัวหน้า แต่ตัวหลังว่าบิท (bit) หรือไบท์ (byte) ซึ่งมันก็คือบิทถูกแล้วครับ ผมหาเพิ่มนิดหน่อยแล้วเจอตัวย่อเขียนต่างกันนะ Gb = Gigabit (สังเกต b เล็ก) ส่วน GB = Gigabyte ค้าบ 555
ทำไมต้อง6E ไม่7ไปเลย
เทคโนโลยีการเข้ารหัสสัญญาณเหมือน Gen6 ทุกอย่างไม่ได้เปลี่ยนแค่เพิ่มช่องสัญญาณ 6GHz มา เลยเพิ่ม e (extension)
มาตารฐานนี้ไม่ไช่ Draft แล้วใช่มั้ยครับ
ขออนุญาติยืมบทความและรูปไปแชร์ต่อนะครับ