ก่อนหน้านี้ไม่นานพึ่งจะมีข่าวดีกันหยก ๆ ว่า “ตั๋วร่วม” เชื่อมข้ามระบบระหว่างรถไฟฟ้า BTS และ MRT เตรียมเปิดให้ใช้ภายในเดือนตุลาคม 2563 นี้  แต่ล่าสุดดูเหมือนจะมีปัญหาจนต้องดีเลย์ไปเป็นปีหน้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงระบบมีจำนวนที่สูงเกินไป อีกทั้งทาง BEM บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) ก็ได้มีการวางแผนเปลี่ยนระบบเก็บค่าโดยสารเป็นแบบ ABT (Account Based Ticketing) ในภายหลัง ชี้ให้เห็นการลงทุนซ้ำซ้อนไม่คุ้มค่าใช้จ่าย

ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนระบบที่สูงเกินไป

หลังจากที่เราก็พอได้ยินข่าวเรื่องระบบบัตรโดยสารรถไฟฟ้าร่วมที่สามารถเดินทาง และชำระเงินข้ามระบบได้ในทุก ๆ เส้นทางทั้ง BTS, ARL และ MRT คงเตรียมเฮกันแล้ว เพราะเชื่อว่าคนที่ต้องเดินทางรถไฟฟ้าข้ามสายหลาย ๆ คน ก็คงเบื่อกับการต้องพกบัตรเดินทางหลาย ๆ ใบกัน แต่จากข้อมูลล่าสุดดูเหมือนเราก็ต้องรอกันต่อไป เพราะทางบอร์ด รฟม (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) ได้ตีกลับค่าปรับปรุงระบบตั๋วร่วมเฟสแรกซะนี่ โดยมีสาเหตุเพราะการทำบัตรรถไฟฟ้าข้ามระบบมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป

จากแหล่งข่าวได้มีการให้ข้อมูลว่า รฟม. จะต้องเสนอบอร์ดเพื่อขออนุมัติงบประมาณในการเปลื่ยนหัวอ่านบัตรโดยสารแบบข้ามระบบให้รถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็นวงเงิน 140 ล้านบาท และสายสีน้ำเงินเป็นวงเงิน 100 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้นับว่าล่าช้ามาระยะหนึ่งแล้วทำให้การปรับปรุงบัตรโดยสารร่วมนั้นไม่สามารถทำได้ทันปีนี้แน่นอน

บัตรร่วมแบบไม่ร่วม ?

อีกประเด็นที่ทำให้เกิดความล่าช้าของระบบบัตรร่วม ก็มาจากประเด็นเรื่องการกำหนดอัตราค่าโดยสารการใช้งานบัตรข้ามระบบที่ยังไม่มีข้อสรุป ทำให้ยังไม่สามารถเติมเงินข้ามระบบได้ โดยตัวอย่างวิธีการใช้งานของบัตรก็คือ ในตอนนี้บัตรหนึ่งใบจะสามารถชำระหลาย ๆ ค่าเดินทางได้ก็จริง แต่ในบัตรนั้นจะแยกค่าโดยสารออกเป็น 2 กระเป๋าแทนที่จะใช้กระเป๋าเดียว ซึ่งตอนนี้ตัวระบบยังไม่สามารถรองรับการเติมเงินข้ามระบบได้

อีกทั้งทางฝั่ง MRT ก็มีการกำหนดราคาโดยสารสามอัตราได้แก่เด็กที่ส่วนสูงไม่เกิน 90 ชม. และอายุไม่เกิน 14 ปีสามารถใช้บริการฟรี เด็กที่มีส่วนสูง 91-120 ซม. และอายุไม่เกิน 14 ปี จะได้รับค่าโดยสาร 50% ในขณะที่ทางฝั่ง BTS นั้นมีเพียงแค่ฟรีค่าโดยสารสำหรับ เด็กที่ส่วนสูงไม่เกิน 90 ชม.เท่านั้น

ทำระบบใหม่แล้ว แต่มีแผนจะเปลี่ยนอีก ชี้ลงทุนซ้ำซ้อน

หากการปรับปรุงหัวอ่านบัตรข้ามระบบเสร็จเรียบแล้ว ในระยะต่อ ๆ ไปอาจมีการพัฒนาเพื่อปรับปรุงการชำระค่าโดยสารไปเป็นระบบ ABT (Account Based Ticketing) หรือระบบเปิดที่สามารถให้ผู้โดยสารใช้บัตรจำพวก EMV (EuroPay/ Mastercard/ Visa Card) ชำระค่าบริการรถไฟฟ้าได้โดยตรงไปจนถึงการรองรับระบบ QR Code ซึ่งอาจเป็นการลงทุนซ้ำซ้อนเปลืองค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น ทำให้ทางฝ่ายนโยบาย และบอร์ดบริหารต้องทบทวนโปรเจกต์นี้อีกครั้งเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้โดยสาร

 

จากที่ดู ๆ กันตอนนี้กระบวนการพัฒนาระบบบัตรโดยสารร่วมยังอีรุงตุงนังไปหมด เพราะรถไฟฟ้าแต่ละสายก็บริหารโดยบริษัทที่แตกต่างกัน ทำให้การหันมาทำงานร่วมกันเป็นไปได้ยากเหลือเกิน แต่จากที่อ่านมา ถ้าตัวระบบยังไม่พร้อมให้บริการอย่างเต็มที่ การเลื่อนกำหนดออกไปก่อนก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ตอนนี้คนที่จำเป็นต้องเดินทางหลายสายก็คงต้องพกบัตรหลาย ๆ ใบกันต่อไปก่อนซักพักนะครับ 😅

 

Source: mgronline