สวัสดีครับเพื่อนสมาชิก Droidsans บังเอิญว่าปีที่แล้วผมได้อ่านบทสัมภาษณ์ของคุณ “Jonney Shih” ผู้นำสูงสุดของ ASUS ที่นำพา ASUS มาไกลจนถึงอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้ ผมเลยนำมาเขียนให้ได้อ่านกัน เริ่มต้นจากบริษัทผู้ผลิตเมนบอร์ดของคอมพิวเตอร์จนเป็นเจ้าพ่อ ZenFone มือถือยอดนิยมที่ใครก็รู้จักรุ่นหนึ่งในปัจจุบัน และทิศทางในอนาคตของ ASUS จะทำอะไรต่อไป เรามาลองฟังจากปากคำของคุณ​ Jonney กันครับ

สำหรับ Jonney Shih ถ้าคนที่ตามดูงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ของ ASUS จะคุ้นหน้าและสไตล์การพูดที่เป็นเอกลักษณ์ของเค้าเป็นอย่างดี ลีลาการพรีเซ็นต์ด้วยการตะโกนใส่คนดูพร้อมจบด้วยคำว่า “thank you!” สำเนียงจีนไต้หวัน เป็นสิ่งที่เราเห็นได้ในทุกงานเปิดตัวสินค้าของ ASUS เพราะแกไปทุกงานจริงๆ และด้วยประสบการณ์ในการบริหาร ASUS มา 26 ปี แกมีอะไรมาเล่าให้เราฟังเยอะเลยครับ

บทสัมภาษณ์นี้มาจากเว็บ Engadget ที่ลงไว้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2015 ที่ผ่านมา ดังนั้นข้อมูลหลายอย่างจะอิงตามช่วงเวลานั้นด้วยครับ ผู้อ่านสามารถชมวิดีโอสัมภาษณ์ได้ด้านล่างนี้ เพื่อรับชมบรรยากาศได้ด้วย

Play video

 

จุดเริ่มต้นของ ASUS มาจาก Acer

บริษัท ASUS ถูกก่อตั้งขึ้นในเดือนเมษายนปี 1989 โดยวิศวกรชาวไต้หวัน 4 คน คือ T.H. Tung, Ted Hsu, Wayne Tsiah และ M.T. Liao ซึ่งทั้ง 4 คนนั้นทำงานที่ Acer ด้วยกันมาก่อนจะตัดสินใจลาออกมาเปิดบริษัทของตัวเอง เอ๊ะ แต่ไม่ยักกะเห็นชื่อของ Jonney Shih เลย เค้าเข้ามา ASUS ได้ยังไง? ลองมาฟังเจ้าตัวท้าวความหลังกันครับ

“เอาล่ะ อั๊ว เอ้ย! ผมจะเล่าเรื่องจริงให้ฟังละกันนะ” ว่าแล้วก็พลางเทน้ำชาลงในจอก “คือตอนแรกเริ่มเนี่ย เจ้า 4 คนนั้นก็เป็นลูกน้องผมที่ Acer นั่นแหละ เราทำงานอยู่ในแผนก R&D ด้วยกัน แล้วมีครั้งนึงที่ร้านกาแฟ พวกเราก็วาดฝันว่า อยากเปิดบริษัทเล็กๆแบบที่พวกเราชอบขึ้นมา และพวกเค้า 4 คนก็อยากให้ผมเป็นผู้นำพวกเค้า”

หลังจากนั้น Jonney Shih ก็ได้เข้าไปขอคำปรึกษากับ Stan Shih ซึ่งเป็นทั้งเจ้านายและที่ปรึกษาของเค้าที่ Acer (ทั้งสองนามสกุลเหมือนกันแต่ไม่ใช่ญาติกัน และต่อมา Stan ก็ก้าวขึ้นเป็น CEO ของ Acer) โดย Jonney ได้เผยความต้องการของเค้าและลูกน้องทั้ง 4 คนที่อยากออกไปตั้งบริษัทใหม่ แต่ Stan กล่อมขอให้ Jonney อยู่ต่อเพราะตอนนั้นสถานการณ์ของ Acer ไม่สู้ดีนัก สาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของอเมริกา ซึ่ง Jonney ก็ยอมแพ้ใจอ่อนอยู่ที่ Acer ต่อ แต่ก็ช่วยออกทุน 60% ให้ลูกน้อง 4 คนเอาเปิดบริษัทใหม่ที่ชื่อว่า “ASUS”

ภาพการทำงานในขวบปีแรกของบริษัท ASUS

ASUS ในช่วงแรกที่ยังไม่มี Jonney Shih เข้ามาดูแลนั้น สามารถสร้างผลงานได้น่าสนใจ โดยพวกเขาเอาชนะบริษัทคู่แข่งในประเทศทั้งหมด ด้วยการสร้าง เมนบอร์ดสำหรับชิป Intel 486 ได้สำเร็จในเวลาไล่เลี่ยกับที่ IBM ยักษ์ใหญ่ของโลกในเวลานั้นทำได้ สื่งที่ทำให้ ASUS ได้รับคำชื่นชมมากก็คือ พวกเขาไม่เคยได้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับชิป 486 มาก่อนเลย แต่พวกเค้าสร้างเมนบอร์ดขึ้นมาจากข้อมูลชิปรุ่นเก่าๆของ Intel ตามความเข้าใจของตัวเองล้วนๆ แน่นอน Intel ประทับใจมากกับผลงานของ ASUS จึงได้เริ่มส่งข้อมูลชิปรุ่นใหม่ๆ ให้กับ ASUS นับแต่นั้น และ ASUS ก็กลายผู้ผลิตเมนบอร์ดให้กับคอมพิวเตอร์ของ Dell, HP และ Sony ในเวลาต่อมา

วาร์ปไปอีก 3 ปีต่อมาในปี 1992 ทั้ง Jonney และ Stan ได้ร่วมมือกันนำพา Acer กลับมาจากสถานการณ์ย่ำแย่ได้สำเร็จ ตรงกันข้ามกับลูกน้องทั้ง 4 ของเค้าที่ ASUS กลับพบปัญหารุมเร้าอย่างหนักทั้งเรื่องคุณภาพของสินค้าและการสูญเสียเหล่าทีมงาน “วิศวกรรุ่นที่ 2” ของบริษัทไป ตรงนี้ Jonney เล่าว่าเย็นวันนึงตอนประมาณ 17.30 น. เค้าเดินเข้าไปที่ Lab ของ ASUS แล้วพบว่ามันว่างเปล่า ไม่มีใครทำงานอยู่เลย นั่นเป็นสัญญาณบอกว่า “บริษัทที่เค้าวาดหวังไว้กำลังแย่ซะแล้ว”

Jonney ได้ตัดสินใจไปขอ Stan ลาออกจาก Acer อีกครั้งเพื่อย้ายไปทำงานที่ ASUS และครั้งนี้ Stan ต้องยอมเพราะ Acer นั้นกลับมาสู่สถานการณ์ที่ดีขึ้นแล้ว แต่ก็ไม่วายตั้งเงื่อนไขว่า Jonney ต้องหยุดทำงานไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องอะไรแบบนี้ไปเป็นเวลา 6 เดือน ถึงจะกลับมาทำงานได้ 

ภาพถ่ายคู่ Jonney Shih และ Sean Maloney อดีตผู้บริหารคนดังของ Intel

หลังจากเข้ามาบริหาร ASUS อย่างเต็มตัว Jonney ก็เริ่มทำการเสริมกำลังบุคลากรที่หายไปให้กับ ASUS ด้วยวิธีการง่ายๆแต่ผลสำเร็จยากมากคือ การไล่โทรหาเพื่อนเก่าและคนที่เค้ารู้จักสมัยที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยไต้หวันทั้งหมด ทีละเบอร์ พร้อมทั้งพยายามโน้มน้าวและชวนทุกคนมาทำงานด้วยกันที่ ASUS ผลปรากฏว่าหลายคนตัดสินใจมาร่วมหัวจมท้ายกับ ASUS เหตุผลอาจจะเป็นเพราะ Jonney นั้นเรียนจบวิศวกรรมไฟฟ้าและชื่นชอบในวิทยาศาสตร์อย่างมาก ผู้บริหารแบบนี้น่าจะเข้าใจคนทำงานแน่นอน

 

เมนบอร์ดคือรากฐานของ ASUS

ปัจจุบัน ASUS มีพนักงานมากกว่า 13,800 คน โดย 6,000 คนอยู่ในไต้หวัน ผลิตภัณฑ์ของ ASUS มีจำหน่ายหลากหลายประเภท ทั้งโน้ตบุ๊ก, แท็บเล็ต, AIO, สมาร์ทโฟน, การ์ดจอ, เราเตอร์ และอีกมากมาย แต่รากฐานที่แท้จริงของ ASUS คือ “เมนบอร์ด” ซึ่งทุกวันนี้ ASUS ก็ยังผลิตเมนบอร์ดคอมพิวเตอร์ขายเหมือนเดิม โดยเมื่อต้นปี 2015 นั้นขายไปได้ถึง 500 ล้านชิ้นเลยทีเดียว

Jonney Shih ท่ามกลางสื่อมวลชน

มีข้อมูลหนึ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ ASUS นั้นเลิกทำธุรกิจ OEM รับผลิตเมนบอร์ดให้กับบริษัทอื่นๆนานแล้ว โดยในปี 2008 นั้น ASUS ได้แยกงานส่วนนี้ออกไปเปิดบริษัทใหม่ในเครือชื่อว่า “Pegatron” ก่อนที่บริษัทนี้จะแยกตัวเป็นอิสระใน 2 ปีต่อมา และกลายเป็นชื่อที่คุ้นหูคนในวงการสมาร์ทโฟน เพราะเป็นบริษัทที่รับผลิต iPhone และ iPad ให้ Apple นั่นเอง แต่ Pegatron ก็ยังผลิตสินค้าให้ ASUS อยู่ด้วยเช่นกัน

ถึงแม้ในปัจจุบันโน้ตบุ๊กและแท็บเล็ตเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ (ในขณะที่เครื่อง PC ถดถอยลงเรื่อยๆเช่นกัน) แต่ Jonney คิดว่า ยังคงมีที่ยืนให้สินค้าประเภทเมนบอร์ดสำหรับผู้บริโภคอยู่เสมอ โดยเฉพาะพวก Power User ที่ต้องการปรับแต่ง, ทดลอง และลองของใหม่อยู่เสมอ ซึ่งเมนบอร์ดคือพื้นฐานของสิ่งเหล่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นการจัดสวน “Zen Garden” ที่ใจกลางของอาณาจักร ASUS นั้นเป็นรูปเมนบอร์ดคอมพิวเตอร์นั่นเอง

“ผมถามลูกน้องของผมเสมอว่า ตอนคุณหยิบเมนบอร์ดขึ้นมา คุณรู้สึกถึงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามั้ย? ถ้าคุณไม่รู้สึก ก็กลับบ้านไป”

Jonney พูดพลางหัวเราะ แต่หารู้ไม่ว่าเค้าพูดจริง ความหมายที่เขาต้องการสื่อคือ การทำงานที่ต้องยุ่งเกี่ยวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านั้น คุณจะมานั่งดูคลื่นสัญญาณดิจิตอลอย่างเดียวไม่ได้ เพราะคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสามารถถูกรบกวนได้จากสิ่งภายนอกตามธรรมชาติของมัน ถ้าวิศวกรไม่เข้าใจเรื่องนี้ ก็จะโดนไล่กลับไปอ่าน “ทฤษฎีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า” มาใหม่อีก 20 รอบ เพราะตัวเค้าเองก็ทำเหมือนกัน

ภาพจาก Trusted Reviews

ถึงแม้จะเป็นถึงผู้บริหารบริษัทแต่อีกด้านนึงของ Jonney คือ “Geek ตัวจริง” แม้อายุอานามจะมากแล้ว เขาก็ยังดูกระตือรือร้นตลอดเวลาที่พูดถึงเรื่อง แคลคูลัส, สมการ Maxwell, ฟิสิกส์ควอนตัม หรือทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ นี่คือคนแก่อายุ 62 ปีในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของบริษัทระดับโลกนะเนี่ย

 

เมื่องานออกแบบและงานวิศวกรรมเป็นเรื่องเดียวกัน

สิ่งที่ทำให้ Jonney Shih ไม่เหมือนกับวิศวกรคนไหนๆก็คงจะเป็นเรื่องความสนใจในงานศิลปะแบบคลาสสิค ซึ่งเป็นตัวช่วยผลักดันให้เค้าพยายามทำให้งานออกมาเพอร์เฟ็คที่สุด ต้วอย่างเช่น เค้าเลือกเรียน “การเขียนอักษรพู่กันจีน (Chinese caligraphy)” ตามรอยเท้าของคุณปู่ ซึ่งเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ต้องอาศัยการฝึกฝนเป็นประจำเพื่อที่จะเห็นการพัฒนาที่ชัดเจน ในด้านดนตรีคุณ Jonney ก็เป็นแฟนเพลงของ Mozart โดยในความเห็นของเค้า เพลงที่เจ๋งจริงๆของ Mozart คือ Piano Concerto No. 7

“แม้แต่อัจฉริยะ ก็ยังต้องฝึกฝนอย่างน้อยที่สุด 10,000 ชั่วโมง”

นี่คือสิ่งที่เค้ายึดถือและคาดหวังจากพนักงานทุกคน คุณต้องฝึกฝนไปเรื่อยๆจนกระทั่งคุณเข้าใจงานที่ทำอย่างแท้จริง

แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีหัวศิลปะหรือเข้าใจอย่างเดียวกับที่ Jonney Shih เข้าใจ เค้าบอกว่า พนักงานหลายคนจดจ่ออยู่กับการแก้ไขจุดบกพร่องของผลิตภัณฑ์มากเกินไป จนไม่เข้าใจว่าทำไมของถึงขายไม่ค่อยได้ เพื่อทำให้พนักงานเข้าใจตรงนี้ Jonney ได้บังคับให้ทุกคนต้องเรียนเรื่อง “Design Thinking” ซึ่งจะทำให้ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้องสวมบทบาทเป็นผู้บริโภค พยายามคิดนอกกรอบ และหาจุดสมดุลความต้องการของผู้ใช้, ความเป็นไปได้ทางด้านเงินทุน และความเป็นไปได้ทางด้านเทคนิค

ภาพงานเปิดตัว ZenFone 2 ที่ไต้หวันเมื่อเดือนมีนาคม 2015

ตามความเห็นของคุณ Jonney นั้น ZenFone 2 คือตัวอย่างที่ดีของการทำ Design Thinking มันเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาถูกมาก แต่ยังคงอัดแน่นด้วยสเปกระดับสูง บวกด้วยงานออกแบบที่ดูพรีเมียมและแข็งแกร่งทั้งที่เลือกใช้วัสดุเป็นพลาสติกทั้งหมด และมันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ดูได้จากยอดขายในที่ต่างๆทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ในญี่ปุ่นนั้น ZenFone ช่วยให้ ASUS ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของตลาดมือถือแบบไม่ติดสัญญาด้วยส่วนแบ่งตลาดถึง 29.6% ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2015 นอกจากนั้น ZenFone 2 ยังเป็นมือถือขายดีเป็นอันดับ 3 ในช่วงเดือนกรกฎาคมอีกด้วย อีกฟากหนึ่งของโลก ZenFone 2 ก็เคยเป็นมือถือขายดีอันดับ 1 และ 2 ของร้าน Amazon ในอิตาลีและอเมริกามาแล้ว โดย ASUS คาดว่าจะมียอดส่ง ZenFone 2 ทั้งหมด 25 ล้านเครื่องในปี 2015 ที่ผ่านมา

แต่ ASUS จะสามารถสู้กับแบรนด์มือถือเจ้าอื่นๆที่มาแรงอย่าง Xiaomi, OnePlus และ Huawei ได้หรือเปล่า?

คุณ Jonney บอกว่ามันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว เพราะผู้บริโภคก็มีสิทธิ์เลือกสิ่งที่ตัวเองพอใจมากที่สุด ทั้งในแง่ของราคาและประสิทธิภาพ และ ASUS จะต้องนำพาตัวเองให้ตามเทรนด์เสมอเพื่อให้อยู่รอดในตลาดมือถือได้ ไม่งั้นก็เสี่ยงที่จะหลุดวงโคจรไป อย่างน้อยที่สุด ASUS ต้องใช้ภูมิปัญญาที่มีอยู่และมุ่งเน้นไปที่ความสุขของผู้ใช้เป็นหลัก

 

สถานีต่อไป: IoT, หุ่นยนต์ และ Big Data

ในงาน Computex 2015 ที่ไต้หวัน ASUS ได้เปิดเผยแผนการการทำสินค้าในกลุ่ม Smart Home หรือ บัานอัจฉริยะ ซึ่งไปประกอบไปด้วย สัญญาณเตือนที่ประตูและหน้าต่าง, อุปกรณ์ควบคุมการใช้งานไฟฟ้าในบ้าน และ IP camera แต่นี่ยังไม่ใช่ทั้งหมด เพราะตลอดการสัมภาษณ์นั้น คุณ Jonney เผลอพูดถึงชื่อของศูนย์วิจัยลับของ ASUS อยู่หลายครั้ง มันชื่อว่า “Da Vinci Lab” โดยอาวุธลับชิ้นต่อไปของ ASUS จะเป็นเรื่อง Big Data และหุ่นยนต์ ซึ่งจะเป็นตัวนำพาโลกเข้าสู่ยุคที่ 3 ของการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง

แล้วตอนนี้ ASUS ซุ่มทำอะไรอยู่ใน Da Vinci Lab? คุณ Jonney แอบบอกตอนสัมภาษณ์ว่า เค้ากำลังทำโปรเจ็คเกี่ยวกับหุ่นยนต์อยู่ โดยเป้าหมายคือต้องการมีเครื่องจักรกลบางอย่างที่สามารถตอบโต้กับมนุษย์ได้ใกล้เคียงกับคนมากที่สุด ตัวอย่างที่พอจะเห็นเป็นภาพได้ชัดเจนในปัจจุบันคงจะเป็นเจ้าหุ่น Pepper ของ SoftBank ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่สามารถพูดตอบโต้กับมนุษย์ได้ใกล้เคียงกับคนจริงๆ ไม่แน่เราอาจจะได้เห็นเจ้าหุ่น Zenny เป็นหุ่นยนต์ตัวแรกของ ASUS ก็เป็นได้

Play video

ด้วยความทะเยอทะยานและความสำเร็จในปีที่ผ่านมาทำให้ตอนนี้ ASUS สามารถเอาชนะบริษัทคู่แข่งในประเทศเดียวกันได้อย่างสิ้นเชิง ทั้ง HTC ที่ตอนนี้ยังทรงๆเมาหมัดจะล้มมิล้มแหล่, Acer ที่กำลังตะกุกตะกักกับการเปลี่ยนแปลงภายในบริษัทครั้งใหญ่ และ Gigabyte ที่ม้วนเสื่อเลิกทำสมาร์ทโฟนไปแล้ว ในมุมมองของ Jonney Shih นั้นมองว่า บริษัทผู้ผลิต PC เหล่านี้ยังยึดติดอยู่กับ Intel และ Windows มากเกินไป และก็ใช้วิธีการเดิมขายของคือปรับสเปกไปเรื่อยๆ (ความเห็นส่วนตัว: ตรงนี้ผมว่า HTC ไม่ใช่นะ) ทางออกเดียวคือ ต้องปรับตัวยกเครืองใหม่ในทุกๆด้าน และ “ห้ามโกงนะ” คุณ Jonney ยิ้มอย่างมีเลศนัย

ภาพจาก DailyTech