กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG เปิดเผยว่า ยอดผู้ใช้งาน K PLUS ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องอย่างน่าพอใจ ในปี 2563 ที่ผ่านมามีจำนวนรวมกว่า 14.4 ล้านรายเข้าไปแล้ว ซึ่งทางธนาคารกสิกรไทยวางเป้าหมายเอาไว้ว่า อาจแตะหลัก 17.5 ล้านรายในช่วงสิ้นปี 2564

พฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้คนอยู่ติดบ้านกันมากขึ้นจากมาตรการล็อกดาวน์ หันมาช้อปปิ้งและทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์แทน เทคโนโลยีทางการเงินจึงเข้ามามีบทบาทอย่างมากในวิถีชีวิตยุคใหม่


“กระทิง”เรืองโรจน์ พูนผล ประธานบริษัท KBTG

จากสถิติบ่งชี้ว่า คนไทยใช้งานโมบายแบงกิ้งเยอะเป็นอันดับ 1 ของโลก หรือคิดเป็น 68.1% ต่อเดือนเลยทีเดียว และหากนับเฉพาะส่วนของประเทศไทย K PLUS นั้นถือเป็นเบอร์ 1 ในด้านนี้ มีผู้ใช้งานประมาณ 5 ล้านรายต่อวัน มีจำนวนธุรกรรมมากถึง 14,500 ล้านรายการ คิดเป็น 40% ของธุรกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 71% หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่เติบโตอีกเรื่อย ๆ อาจเกินกว่า 2 เท่าในปีนี้

แม้ว่า มูลค่าต่อรายการจะลดลง แต่มูลค่าในภาพรวมเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล การทำธุรกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดและมีมูลค่าสูงที่สุดนั้นเกี่ยวข้องกับการโอนเงินหรือจ่ายบิลต่าง ๆ นอกจากนี้อายุเฉลี่ยของผู้ใช้งาน K PLUS เองก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน จากปกติจะหนักไปทางวัยรุ่นไปจนถึงวัยทำงาน เฉลี่ย 25 – 39 ปี แต่ตอนนี้ขยับเป็น 40 – 50 ปีแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมที่แปรเปลี่ยนไปเนื่องจากโควิด-19 ตามที่กล่าวถึงไปแล้วอีกนั่นแหละครับ

ปิดท้ายด้วยประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับแคมเปญต่าง ๆ ของรัฐบาลในช่วงหลัง ที่เป็นการบังคับให้ผู้คนหันไปใช้บริการของธนาคารกรุงไทยไปโดยปริยาย ซึ่งคุณ “กระทิง”เรืองโรจน์ พูนผล ประธานบริษัท KBTG กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ไม่ได้ส่งผลกระทบในเชิงลบใด ๆ ต่อธนาคารกสิกรเลยแม้ต่อน้อย กลับกันอาจส่งผลกระทบในเชิงบวกเสียด้วยซ้ำ เพราะผู้ใช้งานแต่ละคนล้วนต่างก็มีบัญชีธนาคารหลักเป็นของตัวเองกันอยู่แล้วนั่นเองครับ