หลังจากการระบาดของโรคโควิด 19 กลับมารุนแรงอีกครั้ง ทำให้การเรียนการสอนต้องจัดทำในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งแน่นนอนว่าต้องมีอุปสรรคในการเรียน/สอน หนึ่งในเรื่องที่เรามักจะพบ ก็คือการตั้งกลุ่มของวิชา เพราะเด็กหรืออาจารย์หนึ่งคนไม่ได้เรียนและสอนแค่วิชาเดียว วันนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับ LINE OpenChat ระบบแชทแบบคอมมูนิตี้จาก LINE ที่มีฟีเจอร์ตอบโจทย์นักเรียนและอาจารย์ที่ต้องหาช่องทางในการติดต่อสื่อสารกัน

ก่อนหน้านี้ เวลาอาจารย์ให้ตั้งกลุ่มไลน์เพื่อที่จะเอาไว้ติดต่อสื่อสารกับนักเรียนเพื่อให้การเรียนในรายวิชา บ่อยครั้งอาจารย์จะให้นักเรียนตั้งชื่อไลน์เป็นชื่อจริง เพื่อความสะดวกและเช็คชื่อได้ง่าย แต่ผู้เรียนหลายคนก็ไม่สะดวกที่จะตั้งชื่อเป็นชื่อจริง อาจเป็นเพราะเรื่องของความปลอดภัย หรืออาจต้องใช้ไลน์ส่วนตัวในการติดต่อสื่อสารในเรื่องอื่น ๆ LINE OpenChat จึงเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการบริหารห้องเรียนออนไลน์ และมีฟังก์ชันอื่น ๆ ที่เพิ่มประสิทธิภาพของการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี โดยระบบนี้เป็นการแชทแบบคอมมูนิตี้ ใช้งานได้จากหน้า Home ในแอปฯ LINE ได้เลยโดยไม่ต้องติดตั้งแอปพลิเคชันใหม่ 

5 จุดเด่น  LINE OpenChat ที่จะทำให้ การจัดการบริหารห้องเรียนออนไลน์ ในยุคโควิดมีประสิทธิภาพ

รองรับคนได้สูงสุด 2 แสนคนใน 1 กรุ๊ป

ปกติกลุ่มไลน์จะจำกัดจำนวนคนที่ 500 คน แต่สำหรับ LINE OpenChat สามารถรองรับสูงสุดถึง 200,000 คน และยังสามารถแบ่งกรุ๊ปย่อยได้อีกเป็นห้อง สูงสุดห้องละ 5,000 คน ซึ่งทำให้อาจารย์สามารถแบ่งการจัดการการสอนกับนักเรียนได้ เช่น อาจารย์ A สอนวิชาภาษาอังกฤษ จำนวน 4 ห้อง ฟีเจอร์นี้ จะทำให้อาจารย์ A สามารถแบ่งแยกห้องเรียนของแต่ละห้องได้ เพื่อสะดวกต่อการมอบหมายงานและไม่ทำให้เกิดความสับสน

ตั้งชื่อและรูปโปรไฟล์แยก ไม่กระทบ LINE ส่วนตัว

หลายครั้ง อาจารย์ต้องการให้นักเรียนตั้งชื่อไลน์เป็นชื่อจริง อาจเพื่อความสะดวกในการเช็คชื่อ และจัดระเบียบได้ง่าย แต่ในขณะเดียวกันนักเรียนหลาย ๆ คนก็ไม่สะดวกใจที่จะเปิดเผยชื่อจริง หรือต้องใช้ไลน์ในการติดต่อสื่อสารอื่น ๆ นอกเหนือจากเรื่องเรียน ฟีเจอร์นี้จึงทำให้ผู้ใช้สามารถตั้งชื่อและตั้งรูปโปร์ไฟล์ที่แยกออกจากบัญชีไลน์ส่วนตัวได้

จัดการห้องเรียนให้เรียบร้อยด้วยระบบ “แอดมิน”

อาจารย์ที่สร้างกรุ๊ป OpenChat จะเป็นแอดมินหลักเพื่อดูแลความเรียบร้อยภายในห้องแชท เช่น การลบข้อความหรือสมาชิกที่ไม่เหมาะสม ตั้งค่าการเข้าร่วมแชท สร้างหรือลบกรุ๊ปแชทย่อย แต่งตั้งผู้ช่วยแอดมิน และสามารถตั้งค่ารูปแบบของห้องแชทได้ถึง 3 รูปแบบ ได้แก่

  • แบบสาธารณะ (Public)
  • แบบคัดกรองโดยแอดมิน (Approval)
  • แบบใส่รหัส (Pin Code)

เข้ากรุ๊ปทีหลัง แต่ย้อนอ่านแชทได้

ฟีเจอร์นี้เป็นสิ่งที่เหมาะมากสำหรับการเรียน เพราะหลายครั้งที่อาจารย์สั่งงาน หรือส่งไฟล์งานที่มอบหมายมา พอไฟล์หมดอายุ นักเรียนที่ดาวน์โหลดไม่ทันก็ไม่สามารถมาโหลดได้ แต่สำหรับ OpenChat นี้ เราสามารถดูและหยิบใช้ข้อมูลต่าง ๆ บนกรุ๊ปนั้นย้อนหลังได้สูงสุด 6 เดือน แม้ว่าเพิ่งจะเข้าร่วมกรุ๊ป หมดปัญหาผู้ที่เข้าร่วมใหม่แล้วตามข้อมูลไม่ทัน

ฟีเจอร์ครบครัน ใช้ได้เลยบนแอปฯ LINE

ในห้องแชท เราสามารถเลือกแถบ “แชทเมนู” ที่มุมขวาบน ที่รวบรวมฟีเจอร์ต่าง ๆ ในการจัดระเบียบของข้อมูลภายในห้องแชทได้อย่างเป็นระเบียบ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ/วีดีโอ โน้ตสำคัญของห้อง กิจกรรม ลิงก์และไฟล์ที่แชร์ในกรุ๊ป เป็นต้น ทำให้เราสามารถพูดคุยไปพร้อม ๆ กับจัดการข้อมูลต่าง ๆ ในเวลาเดียวกันได้โดยไม่ต้องออกจากหน้าแชท 

สรุป

จาก 5 จุดเด่นที่เราได้เห็นนั้น จะพบว่า LINE OpenChat เป็นแพลตฟอร์ตที่ใช้งานง่าย สะดวก และจัดการได้ทั่วถึง เหมาะมากสำหรับการเรียนการสอนในสถานการณ์ที่จำเป็นต้อง Work/Learn From Home แบบนี้ นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปใช้เป็นคอมมูนิตี้ของโรงเรียนอื่น ๆ ได้นอกจากการเรียนการสอน เช่น

  • ห้องแจ้งข่าวสารการประชาสัมพันธ์ของโรงเรียนถึงผู้ปกครองและนักเรียน (School Community)
  • ห้องรวมผู้บริหารสื่อสารกับหน่วยงานการศึกษา (School Principal Community)
  • ห้องรวมศิษย์เก่า (Alumni Community)
  • ห้องสภานักเรียน (Student Committee)
  • ห้องชิทแชทพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวของเหล่านักเรียน (Student Community)

 

ที่มา : อีเมล์ประชาสัมพันธ์