รออยู่นาน จนกระทั่งมาลงเอยเปิดตัวที่ Android Q สำหรับ 2 ฟีเจอร์สุดแสนจะมีประโยชน์อย่าง Live Caption และ Live Relay ซึ่งคุณสมบัติของเจ้า 2 ตัวนี้ถือว่ามีความเหมาะสมมากสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน, ผู้ที่มีทักษะการได้ยินเสียงที่ต่ำ หรือแม้กระทั่งคนที่อยากจะดูคลิปวิดีโอบนรถไฟฟ้า แต่ว่าเกรงใจไม่อยากให้เสียงดังไปรบกวนคนข้างๆ

Live Caption

จุดเด่นของฟีเจอร์นี้ก็คือมันสามารถใช้งานได้แม้ปราศจากอินเตอร์เน็ต!

มาเริ่มกันที่ฟีเจอร์แรกก่อนเลยอย่าง Live Caption ซึ่งถือเป็นฟีเจอร์ที่สามารถทำให้คอนเทนต์ทุกอย่างสามารถเข้าถึงผู้คนได้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม และก็อย่างที่ชื่อบอก เพียงแค่กดคลิ๊กเดียวเท่านั้น ก็จะมีซับไตเติ้ลหรือแคปชั่นขึ้นให้ สำหรับผู้ที่ไม่ประสงค์ที่จะเปิดเสียงรบกวนคนรอบข้างในที่ประชุม, รถเมล์ หรือบนรถไฟฟ้า โดย Live Caption สามารถสร้างแคปชั่นได้แทบจะทุกรูปแบบของสื่อเลย ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอบนเว็บไซต์, พอสแคสต์ หรือแม้กระทั่งวิดีโอที่เราอัดขึ้นมาไว้เป็นความทรงจำอีกด้วย! และที่สำคัญฟีเจอร์นี้สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องต่ออินเตอร์เน็ตอีกด้วย

สุดยอดเลยใช่มั้ยล่ะ เรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมแห่งปีเลยก็ว่าได้ หากมาไว้กว่านี้สัก 3-4 ปี หลายคนอาจจะไม่ต้องถูกเพื่อนแกล้งส่งคลิปวิดีโอที่ชอบตัดต่อเสียงคลิปโป๊แทรกเข้ามาก็เป็นได้.. แหม มาช้าไปหน่อยนึงนะ แต่ก็ยังดีกว่าไม่มา

Live Relay

จุดประสงค์ของฟีเจอร์นี้หลักๆ เลยคือถูกพัฒนามาเพื่อช่วยให้ชีวิตของผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางการพูด ซึ่งอาจจะเป็นผลข้างเคียงมาจากอาการหัวใจวายหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับเซลล์ประสาทซึ่งอยู่ในสมองและไขสันหลัง

ความพีคของฟีเจอร์ตัวนี้ก็คือ มันจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยินเสียง การพูด หรือแม้กระทั่งคนปกติที่ไม่อยากจะพูดสนทนากับใคร ณ ตอนนั้น โดยทางฟีเจอร์ (หากเปิดไว้) จะสามารถรับโทรศัพท์พร้อมกับพูดแทนแทนได้เลย ทำได้ง่ายเพียงแค่เราพิมพ์ตอบกลับไปเท่านั้นเอง ในส่วนของปลายสาย ทาง Google Assistant ก็จะขึ้นและอ่านข้อความให้ทางปลายสายพูดออกมาอย่างทันที และเช่นเดียวกับ Live Caption ฟีเจอร์นี้สามารถใช้งานได้แม้ไม่มีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต!

อธิบายง่ายๆ เลยก็คือ คุณแทบจะไม่ต้องพูดอะไรเลยสักคำ เพียงแค่พิมพ์ข้อความที่คุณต้องการจะบอกปลายสายเท่านั้น จากนั้นก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ Google Assistant ทำแทนทั้งหมด เท่านี้ก็เป็นอันเรียบร้อย

โดยทั้ง Live Caption และ Live Relay นั้น Google ได้ทำการเก็บข้อมูลการตอบรับคำสั่งเอาไว้ใน cloud เป็นขนาด 2.5GB ซึ่งทาง Google เองก็ได้พัฒนาและบีบย่อไฟล์เหล่านั้นให้มีขนาดเล็กลงเหลือเพียงแค่ 80MB เท่านั้น ทำให้สามารถเอามาลงใส่ไว้ในมือถือของเราได้สบายๆ อย่างไรก็ตามทั้ง 2 ฟีเจอร์นั้นยังคงรองรับเพียงแค่ภาษาอังกฤษเท่านั้น

Live Transcribe

นอกจากนี้ Google ยังได้ปล่อยแอป Live Transcribe ให้ลองดาวน์โหลดได้แล้วตั้งแต่เดือนที่แล้ว เพียงแค่เปิดหน้าแอปทิ้งไว้ ทันทีที่มีคนพูดขึ้นมา ทางแอปก็จะประมวลผลพร้อมกับถอดคำพูดของเรามาได้เลยทันที ซึ่งทางแอดมินลองแล้ว แอปนี้ใช้เวลาประมวลผลน้อยมาก แทบจะเป็น Real Time เลยทีเดียว และสำหรับผู้ที่ไม่ประสงค์ที่จะออกเสียงหรือไม่สามารถออกเสียงได้ ทางแอปก็อนุญาตให้ตอบกลับโดยใช้การพิมพ์ตอบโต้ด้วยเช่นกัน

โดยนักวิจัย 2 คนของทาง Google อย่าง Dimitri Kaneusky และ Chet Gnegy ได้เล็งเห็นถึงช่องทางโอกาสที่จะช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยินหรือการฟัง จากนั้นทั้งสองเลยได้ทำการรวบรวมทีมวิศวกรจำนวนหนึ่งเพื่อที่จะช่วยกันพัฒนาแอป จนในที่สุดแอปก็ถูกปล่อยให้ดาวน์โหลดได้สำเร็จ ซึ่งสามารถใช้ได้แล้ววันนี้ โดยรองรับภาษาและภาษาท้องถิ่นได้มากถึง 70 ภาษาด้วยกัน! ทว่าอย่างไรก็ตาม Live Transcribe ถือว่ายังอยู่ในช่วง early access อยู่ ผู้ใช้อาจจะประสบพบเจอกับบัคได้ ซึ่งสามารถแจ้งเตือนนักพัฒนาได้เลย เพื่อที่จะแก้ไขและปรับปรุงกันต่อไปในอนาคต

โดย Google ได้ตั้งชื่อโปรเจ็คนี้ไว้ว่า Project Euphonia จุดประสงค์ทั้งหมดก็คือการช่วยให้ผู้คนเข้าถึงสื่อได้ทุกรูปแบบ ทุกที่ ทุกเวลา ไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วยังมีอยู่อีกหลายจุดที่ทาง Google นั้นต้องแก้ไขและพัฒนาเพิ่มอีกต่อไป โดยใครมีคนรู้จักที่มีปัญหาในด้านการออกเสียง สามารถให้เขาเหล่านั้นส่งเสียงตัวอย่าง (voice sample) ไปให้ Google เพื่อที่จะย้นระยะเวลาที่จะทำให้โปรเจ็คนี้มีความสมบูรณ์แบบและมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่มันจะเป็นได้