ในช่วงที่โลกกำลังวุ่นวายจากการที่ Elon Musk เข้าครอง Twitter ก็ได้เกิดกระแสอพยพแพลตฟอร์มครั้งใหญ่ หนึ่งในจุดมุงหมายที่ทั้งสื่อและผู้ใช้งานพูดถึงกันอย่างมากคือ Mastodon สื่อโซเชียล open-source ที่มีหน้าตาและฟังก์ชันหลายอย่างละม้ายคล้ายกับ Twitter ทำให้เป็นเป้าหมายการย้ายถิ่นฐานและถูกแนะนำไปซะเยอะ แต่เมื่อใช้งานจริงแล้วมีประสบการณ์ยังไงบ้าง มีความน่าเล่นแค่ไหน คราวนี้เราลองมาให้แล้วครับ

Mastodon คืออะไร

Mastodon ถูกก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2016 เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลแบบ Nonprofit หรือไม่แสวงหากำไรนั่นเอง ดังนั้นจึงมีจุดมุ่งหมายที่จะรับใช้บริการให้กับสังคม มากกว่าที่จะเป็นธุรกิจที่หวังการสร้างเม็ดเงิน

จุดเด่นของ Mastodon คือการที่มันเป็นแพลตฟอร์มแบบ decentralized สมัครแอคเคาท์ครั้งเดียว สามารถนำบัญชีไปใช้งานกับเว็บโซเชียลอื่นที่รองรับระบบได้ด้วย ซึ่งเค้าเรียกเว็บเหล่านี้ว่า Fediverse และมีความเจ๋งที่แต่ละเซิฟที่เราไปใช้งานนั้นมีเจ้าของแตกต่างกันไป ไม่ได้มีเจ้าของอยู๋ Headquater คอยคุมทุกเซิฟ ดังนั้นจะมาถูกใครยึดหรือซื้อไปอย่างที่ Twitter โดนไม่ได้แน่นอน

วิธีสมัครบัญชีของ Mastodon ก็เลยมีความแปลกกว่าชาวบ้านชาวช่องเค้าซะหน่อย เพราะนอกจากจะต้องใส่รายละเอียดบัญชีตามปกติแล้ว เราต้องเลือก ‘เซิฟเวอร์’ ที่เราจะเปิดบัญชีภายใต้ด้วย ซึ่งเซิฟเวอร์ที่เลือกก็จะแสดงจุดประสงค์หลัก หรือแวดวงที่เราจะใช้งานบัญชี ในรูปแบบของโดเมนต่อท้าย Username อารมณ์เหมือนเราเลือกสมัครอีเมลผ่าน Gmail, Outlook, หรือ Yahoo นั่นแหละ

แต่ทุกบัญชีไม่ว่าจะสร้างในเซิฟเวอร์ไหน ก็จะสามารถติดต่อเข้าถึงเนื้อหาจากเซิฟอื่นได้ แถมยังเปลี่ยนเซิฟเวอร์หลังสร้างบัญชีไปแล้วได้ด้วย

ฟีเจอร์การใช้งานของ Mastodon

แล้ว Mastodon มันใช้งานอะไรได้บ้างล่ะ? เข้าแอปมาก็จะมีแถบหน้า Feed ขั้นเป็นหน้าแรก เป็นหน้าไทม์ไลน์เวลาคนที่เราติดตามโพสต์และแชร์ (Reblog) เนื้อหาอะไรมา

แถวที่สองเป็นหน้าค้นหา ที่เราหาได้ทั้งโพสต์ แฮชแท็ก และบัญชีผู้ใช้ นอกจากนี้แถมค้นหายังมีหน้าแปลกหน่อยคือแถบ ‘ข่าว’ กับแถบ ‘Community’ ที่จะแสดงโพสต์จากเซิฟของเราได้โดยเฉพาะ พูดง่าย ๆ คือหน้า Explore สำหรับสื่อโซเชียลทั่วไปนั่นแหละ

ถัดมาเป็นแถบแจ้งเตือนที่จะรวมรวมการแจ้งเตือนามปกติทั่วไป ตามด้วยหน้าโปรไฟล์ของเรา รวบรวมทุกอย่างที่เราโพสต์ มีแยกเป็น Posts, Posts and Replies, Media, และ About ซึ่งเราก็มาใส่ข้อมูลตัวเองได้ ตรงนี้คงคุ้นชินกันดี

เวลาเราเลือกโพสต์ก็มีให้แนบภาพ วิดีโอ ตั้งโพล และมีตัวเลือกอิโมจิหรือสติกเกอร์ที่หลากหลาย ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปตามเซิฟ มีให้ติดเตือน Content Warning ได้ แลุสุดท้ายคือกำหนดได้ว่าจะให้ใครเห็นโพสต์ได้ จะสาธารณะ เฉพาะผู้ติดตาม หรือเฉพาะคนที่เราแท็ก

เวลาเราไถหน้าฟีดก็มีตัวเลือกให้กดคอมเมนต์ กดรีบล็อก กดดาวแสดงความชอบ หรือแชร์ไปที่อื่นก็ได้ เรียกได้ว่าเป็นฟังก์ชันพื้นฐานที่ชาวทวิตคงคุ้นเคยกันมาก ๆ เลยครับ

วิธีสมัครบัญชี Mastodon

แต่ก่อนจะไปใช้งาน Mastodon กันได้ ก็จะมาติดอุปสรรคด้านการสมัครบัญชีมันเนี่ยแหละ บางคนมาเจอให้เลือกเซิฟก็อาจจะขี้เกียจทำความเข้าใจแล้วก็ลบแอปทิ้งไปซะก่อน คราวนี้เราเลยจะมาแนะนำวิธีเปิดแอคเคาท์ซะหน่อยแล้วกัน

มาหน้าแรกแล้วกด Get Started > กดเลือกเซิฟเวอร์ที่น่าสนใจ ถ้าไม่มีก็เลื่อนลงไปหรือพิมพ์ mastodon.world หรือ mstdn.social ที่เป็นเซิฟทั่วไป แล้วกด next > ทำความเข้าใจกฎของเซิฟเวอร์ แล้ว Next

สามารถหารายชื่อเซิฟได้จาก เซิร์ฟเวอร์ – Mastodon (joinmastodon.org) และของไทย ชุมชนเฟดดิเวิร์ส ประเทศไทย · Fediverse Thailand

ใส่ข้อมูลต่าง ๆ เช่นชื่อ Username อีเมล รหัสผ่านให้เรียบร้อย > ไปกดยืนยันบัญชีในอีเมล > เสร็จ

ดังนั้นวิธีสมัครก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร แต่จะมาติดเรื่องเซิฟเวอร์ตอนนี้นี่แหละว่าใส่อะไรดี

Mastodon ลองเล่นแล้วเป็นยังไง

หลังเราได้รู้จักรูปแบบการใช้งาน และวิธีเริ่มเข้าไปเล่นแล้ว เข้าสู่ประเด็นสำคัญว่า Mastodon มีความน่าเล่นแค่ไหน ซึ่งหากพูดง่าย ๆ เลย คือถ้าเราไม่มีชุมชนที่สนใจเข้าไปโดยเฉพาะแล้ว มันค่อนข้างร้าง ไม่ค่อยมีเนื้อหาน่าติดตามเท่าไหร่ หากเราสมัครบัญชีเริ่มต้นบนเซิฟเวอร์ที่ไม่ค่อยข้องเกี่ยวกับเราแล้ว บอกได้เลยว่าหาอะไรดูยาก

ซึ่งหลังจากลองคุ้ยเขี่ยดูเซิฟเวอร์ต่าง ๆ โดยพยายามหาเนื้อหาที่เหมาะกับผู้ใช้ในไทยแล้ว พบว่าไม่ค่อยมีคอมมูนิตี้คนเยอะหรือแอคทีฟกันตลอด แต่ยังมีมีคนคอยสร้างบอทไว้แชร์เนื้อหาจากเว็บหลัก ๆ ของไทยอยู่บ้าง และก็มี The Matter ที่สร้างบัญชีเอาไว้เอง ซึ่งมีผู้ติดตามอยู่ 400 กว่าคน

ดังนั้นแม้ก่อนหน้านี้ผมจะกล่าวถึงการที่ผู้คนยังคงเข้าถึงเนื้อหาจากคนในเซฟอื่นได้ แต่ฟังก์ชันสำคัญอย่างหน้าค้นหาที่ไม่เชื่อมต่อกันทั้งโลกนั้น คือจุดอ่อนข้อสำคัญของแพลตฟอร์มนี้ เนื่องจากปกติแล้วไม่ว่าจะเป็นสื่อโซเชียลไหน หน้าหลักของมันจะเน้นการเชื่อมต่อผู้คนให้ได้ทั่วถึงกันทั้งโลก และจะมีหน้าแสดงขึ้นมาว่าต้องการติดตามวงการอะไร มีแอคเคาท์เด่น ๆ ขึ้นมาให้เราตามเป็นระยะ ๆ เพื่อให้เกิด Engagement สูงสุด

แต่ตัว Mastodon ไม่ได้เกิดมาเพื่อสิ่งนั้น เห็นได้จากสโลแกนของเว็บเองที่บอกว่าเราอยากสร้างพื้นที่ที่คนต้องการติดตามสิ่งที่ตัวเองสนใจจริง ๆ ทำให้มีช่องทางกดติดตามอะไรน่าสนใจน้อย ยิ่งมีการแบ่งเซิฟเวอร์แบบนี้ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ยากยิ่งไปใหญ่

"โซเชียลมีเดียที่ไม่ได้มีไว้ขาย" - คำโปรยของแพลตฟอร์ม

Mastodon จะมาแทนทวิตเตอร์ได้จริงมั้ย

Mastodon เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับชุมชนที่ต้องการสร้างพื้นที่คุยในวงการ ไม่ว่าจะเป็น K-POP, หนัง, ภาพยนตร์, เทคโนโลยี, วิชาการ หรือหัวข้อใด ๆ ก็ได้นอกเหนือจากที่กล่าวมา ซึ่งปกติแล้วบนทวิตเตอร์ก็จะมีชุมชนพวกนี่อยู่ยิบย่อยเต็มไปหมด

แต่สิ่งสำคัญที่ขาดไป คือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเหล่าชุมชนบนแพลตฟอร์ม ที่บนทวิตเตอร์นั้นมันอยู่จักรวาลเดียวกันอยู่แล้ว แค่แยกไปใครอยู่ส่วนไหน แต่ทั้งหน้าค้นหา เทรนด์และกระแสต่าง ๆ จะขึ้นโชว์เป็นหัวข้อเดียวกัน ในขณะที่ Mastodon อยู่แยกเซิฟ ก็จะไม่ได้เห็นสิ่งต่าง ๆ เหมือนกัน

ด้วยฟังก์ชันแพลตฟอร์มที่ต่างกันอย่างนี้ ผมจึงมองว่า Mastodon ยังไม่ใช่พื้นที่ที่จะมาแทน Twitter ได้อย่างสมบูรณ์ อาจเหมาะกับคนบางกลุ่ม แต่คงไม่ใช่ผู้ใช้กระแสหลักอย่างโลกโซเชียลทั่วไปทั้งหมด เพราะแพลตฟอร์มส่วนใหญ่เข้าไปแล้วเดี๋ยวก็เล่นได้เองเลย คงไม่ต้องมีหาอ่านบทความเขียนอธิบายแบบนี้ให้เข้าใจก่อนใช้งานกันเท่าไหร่นัก

แต่หากมีการตกลงปลงใจ เลือกเชื่อมต่อเซิฟจากการร่วมใจของผู้พัฒนาหรือเจ้าของหลาย ๆ เซิฟ ให้เกิดเป็นพื้นที่พูดคุยขนาดใหญ่ระดับประเทศขึ้นมาได้ ไม่แน่แพลตฟอร์มนี้อาจเป็นคำตอบที่แทนทวิตเตอร์ได้ แต่ในเมื่อตอนนี้ทวิตก็ยังใช้งานได้อยู่ แล้วยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ที่จะทำให้ขาประจำอยากย้ายถิ่นฐาน เกรงว่าเราจะยังคงไม่เห็นกระแสฐานผู้ใช้ไทยใน Mastodon เยอะไปมากกว่านี้ครับ

 

ที่มา : techcrunch, telecomlover