ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดใน Android L คงไม่พ้นเรื่องของหน้าตา UX/UI ที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ว่าอย่าเพิ่งเข้าใจผิดคิดไปว่ามันจะมีผลแค่เพียงกับโทรศัพท์รุ่น Nexus เท่านั้นนะ เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการสร้าง Design Guideline ขึ้นมาใหม่ภายใต้ชื่อ “Material Design” เช่นเดียวกับตอนที่เปลี่ยน UI จาก Android 2.3 เป็น Halo UI บน Android 4.0 ซึ่งมีเรื่องน่าสนใจที่ผู้ใช้อย่างเราๆน่าอ่าน รู้เอาไว้สนุกๆ และ App Designer + Developer ทั่วไปต้องรู้

เบื้องหลังที่มาที่ไปของ Material Design

ในปัจจุบันดีไซน์การดีไซน์ที่มีคุณภาพแทบจะเป็นตัวกำหนดประสบการณ์ที่ดีของผู้ใช้ ทีมออกแบบของ Android จึงได้กำหนดโจทย์ขึ้นมาเพื่อท้าทายตัวเอง สร้างแนวทางการออกแบบที่มีเป้าหมายไปให้ไกลขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่ใช้งานบนแอนดรอยด์ แต่ต้องครอบคลุมอุปกรณ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น มือถือ พีซี แท็บเล็ต หรือแม้แต่ทีวี ซึ่งดีไซน์นี้จะต้องเรียบง่าย คนมองแล้วเข้าใจ ใช้งานได้สะดวก ไม่ต้องเสียเวลาเรียนรู้อะไรใหม่ 

ให้ลองจินตนาการว่า Pixel บนหน้าจอที่เราใช้มันไม่มีแต่เม็ดสีเพื่อแสดงภาพ แต่ว่ามันมีลักษณะเป็นเหมือนกระดาษที่มีความลึก มีพื้นผิว สามารถตอบสนองต่อการสัมผัสได้ และที่สำคัญมันสามารถเปลี่ยนขนาดให้เป็นไปตามที่เราต้องการ และนั่นหมายถึงว่าเรากำลังมองให้หน้าจอเป็นเหมือนวัตถุชิ้นนึงที่เราสามารถพลิกแพลงไปได้ตามจินตนาการ ซึ่งนั่นเป็นที่มาของชื่อ “Material Design”

การนำไปใช้งาน

สมองมนุษย์เราสามารถสร้างเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของวัตถุที่อยู่ตรงหน้าเพียงแค่ได้เห็นรูปร่างและแสงเงา ก็พอที่จะระบุได้ทันทีว่าของชิ้นนี้ขยับได้ รวมถึงทิศทางที่ต้องขยับ ซึ่งดีไซน์ใหม่ของ Android ก็จะเพิ่มความสามารถให้เหล่านักพัฒนาออกแบบ UI ของแอพขึ้นมาได้เหมือนเป็นวัตถุชิ้นหนึ่งในหน้าจอ ไม่ว่าจะเป็นปุ่มกด พื้นหลัง หรือกล่องข้อความ เราจะสามารถสังเกตเห็นได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของแสงเงาเมื่อมีการขยับหรือเปลี่ยนพื้นหลัง ตัวแอพสามารถกำหนดระดับความลึกตื้นของวัตถุแต่ละชิ้น และสร้างแสงเงาออกมาให้ดูสมจริงเสมือนเป็นวัตถุชิ้นหนึ่งที่ลอยอยู่

นอกจากนี้ตัวไอคอนต่างๆก็จะไม่จืดชืดเหมือนเดิม เพราะมีการใส่ animation เข้าไปในแทบทุกส่วน ไม่ว่าจะในปุ่มกด หรือ สัญลักษณ์การโหลด และทั้งหมดนี้ก็จะทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าใจการใช้งานได้ง่ายขึ้น

 

การออกแบบใช้งานข้ามแพลตฟอร์ม

Material Design ได้มีการดึงเอา Grid มาช่วยให้การออกแบบสำหรับใช้ข้ามแพลตฟอร์ม ตีเส้น สร้างขอบเขตของส่วนต่างๆให้มีจังหวะและนำ้หนักของดีไซน์ให้เป็นไปในทางเดียวกันในทุกๆอุปกรณ์ ซึ่งในงาน Keynote ได้มีการแสดงให้ดูถึงความเปลี่ยนแปลงเมื่อทำการปรับจากแนวการดีไซน์เก่า มาเป็น Material Design รวมถึงความง่ายในการประยุกต์ใช้ไปยังหน้าจออื่นๆให้ดูด้วย ลองเข้าไปดูวิดีโอในส่วนนี้กันในนาทีที่ 45 ครับ 😀

Play video

นอกจากนี้เจ้า Material Design นี่ยังสามารถทำงานร่วมกับ Polymer ซึ่งเป็น UI Library ที่เปิดตัวไปเมื่อ Google I/O ปีที่แล้ว ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างกราฟฟิกและอนิเมชั่นที่สวยงาม เข้ากันได้ดีทั้งบนมือถือและเว็บ ดูลื่นไหลด้วยเฟรมเรตที่สูงถึง 60fps

สำหรับใครที่อ่านแล้วเริ่มสนใจ แนวทางการออกแบบที่จะสามารถใช้งานได้ข้ามแพลตฟอร์มนี้แล้วล่ะก็ สามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดได้ที่ google.com/design

ทิ้งท้ายด้วยวิดีโอคอนเซปท์ของ Material Design

Play video