เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้าแจ้งความต่อ บก.ปอท (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) กรณีแพลตฟอร์มต่างประเทศชื่อดังอย่าง Facebook, Twitter และ Instagram ไม่ให้ความร่วมมือในการปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาต่าง ๆ ที่ผิดกฎหมายเกินกำหนด 15 วัน ตามคำสั่งศาลไทย

ก่อนหน้านี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้มีการส่งหนังสือแจ้งไปยัง Facebook, Twitter, Instagram และ YouTube ให้ปิดกั้นการเข้าถึงลิงก์และการกระทำที่ผิดกฎหมายต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นจำนวน 1,024 รายการ ประกอบด้วย เรื่องการหมิ่นสถาบัน, ลามก, การพนัน, ยาเสพติด และลิขสิทธิ์ โดยฝั่ง YouTube นั้นได้ปิดกั้นครบทั้งหมดตามที่แจ้งไปแล้ว ส่วนอีก 3 แพลตฟอร์มที่เหลือมีการปิดกั้นไปแล้วบางส่วน แต่ยังไม่ครบทั้งหมด ดังนี้

  • Facebook : แจ้งให้ปิดการเข้าถึงเนื้อหาตามคำสั่งศาล 661 URL ปิดแล้ว 225 คงเหลือ 436 รายการ
  • Twitter : แจ้งให้ปิดการเข้าถึงเนื้อหาตามคำสั่งศาล 69 URL ปิดแล้ว 5 คงเหลือ 64 รายการ
  • Instagram : แจ้งให้ปิดการเข้าถึงเนื้อหาตามคำสั่งศาล 1 URL คงเหลือ 1 รายการ
  • YouTube : แจ้งให้ปิดการเข้าถึงเนื้อหาตามคำสั่งศาล 289 URL ปิดแล้วทั้งหมด

เมื่อวานนี้นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า มีการแจ้งให้ปิดกั้นเพิ่มเติมเข้าไปอีกรวม 3,097 รายการ (ไม่ได้ระบุว่าเป็นแพลตฟอร์มใดบ้าง) ซึ่งการที่ทั้ง 3 แพลตฟอร์มไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลนั้นส่งผลให้มีความผิดตามมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ (พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์) โดยกำหนดเอาไว้ว่า มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาทต่อ URL และปรับรายวันไม่เกิน 5,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังมีการแจ้งความต่อผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียอีกเป็นจำนวน 5 ราย กรณีพาดพิงหมิ่นสถาบันหลักของประเทศ ยุยง ปลุกปั่น ทำให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง ในช่วงการชุมนุมทางการเมืองระหว่างวันที่ 19-20 กันยายนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ได้กล่าวว่า ตนยอมรับว่า ผู้ใช้งาน 3 จาก 5 ราย ที่ถูกแจ้งความถือเป็นแกนนำผู้ชุมนุม แต่ก็ยืนยันว่า ตนเคารพสิทธิของประชาชน ปฏิบัติตามกระบวนการยุติธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น แต่หากใครกระทำความผิด ก็จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายทันที

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยที่ได้มีการดำเนินการตามกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์กับแพลตฟอร์มต่างประเทศอย่างจริงจัง ซึ่งเรื่องนี้จะจบอย่างไรก็ต้องติดตามกันต่อไปครับ

 

ที่มา : พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ | กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม