หลังจากยืดเยื้อกันมานานตั้งแต่ปี 2018 ในที่สุดคดีสุดอื้อฉาวของ Facebook ปล่อยข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานกว่า 87 ล้านรายหลุดก็ใกล้จบลงแล้ว เพราะ Meta บริษัทแม่ของ Facebook ยอมยกธงขาวขอจ่ายเงินกว่า 725 ล้านเหรียญสหรัฐ (2.5 หมื่นล้านบาท) เพื่อยุติคดีความ ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินที่สูงที่สุดตั้งแต่มีการฟ้องร้องในคดีความเป็นส่วนตัวของข้อมูลของผู้ใช้งาน
เท้าความไปในปี 2016 Facebook ได้ทำข้อมูลของผู้ใช้งานกว่า 87 ล้านรายหลุดไปอยู่ในมือของบริษัทวิเคราะห์ Cambridge Analytica โดยบริษัทวิเคราะห์นี้ได้ใช้ช่องโหว่นำเอาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ Facebook มาทำแคมเปญยิงโฆษณาเพื่อปั่นผลโหวตการเลือกตั้งในสหรัฐฯ โดยที่ไม่ได้รับการยินยอม จนทำให้นาย Donald Trump ได้ขี้นเป็นประธานาธิบดีในปี 2016 ไปอย่างค้านสายตา และอีกทั้งยังได้ป่วนการโหวตให้สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิก EU ในปีเดียวกันด้วย
โดย Meta ได้ออกมาแถลงด้วยว่าการจ่ายเงินเพื่อยุติคดีความในครั้งนี้ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดกับทั้งเหล่าผู้ใช้งาน และเหล่าผู้ถือหุ้น รวมถึงจะไม่มีการยอมรับผิดใด ๆ หลังจ่ายเงินยุติคดีความ พร้อมเสริมด้วยว่า Meta ก็ได้พยายามปรับปรุงมาตรการความเป็นส่วนตัว รวมถึงได้นำปรับใช้โปรแกรมความเป็นส่วนตัวให้ครอบคลุมมากขึ้นแล้ว
หากศาลยอมรับข้อตกลงในครั้งนี้ Meta จะต้องจ่ายเงินเป็นจำนวน 725 ล้านเหรียญสหรัฐ (2.5 หมื่นล้านบาท) โดยต้องจ่ายให้กับทนายความของผู้เสียหายเป็นจำนวน 25% ของเงินทั้งหมด หลังจากนั้นจำนวนเงินทั้งหมดถึงจะถูกแบ่งผู้ใช้งาน Facebook กว่า 280 ล้านบัญชี
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Meta ยอมจ่ายเงินเพื่อยุติคดีความ เพราะก่อนหน้านี้ก็ได้จ่ายเงินกว่า 5 พันล้านเหรียญฯ เพื่อยุติปัญหาหลังโดนสอบสวนจากคณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในปี 2019 และจ่ายไปกว่า 100 ล้านเหรียญให้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกาในกรณีเดียวกันด้วย โดยคดีความในครั้งนี้ได้สร้างแรงผลักดันให้รัฐบาลทั่วโลกต้องทบทวนข้อกฎหมายด้านความส่วนเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานกันใหม่ เพื่อป้องกันผู้ใช้งานโดนเก็บข้อมูลไปใช้แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบนั่นเอง
ที่มา: Reuters, The Verge, ArsTechnica, GSMArena
Comment