ตอนนี้ทั้งโลกกำลังลุกเป็นไฟกับข่าวนี้ เมื่อมีการแฉกันจากทุกสื่อนอกว่าผลการเลือกตั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบกับทั้งโลกอย่างการเลือกตั้งอเมริกาที่นาย Donald Trump พลิกล็อคชนะขึ้นเป็นประธานาธิปดี และการโหวตให้สหราชอาณาจักร ออกจากการเป็นสมาชิก EU (Brexit) ในปี 2016 นั้น ถูกป่วนจากบริษัท Cambridge Analytica ที่นำเอาข้อมูลส่วนตัวของประชากรจาก Facebook ทำมาเป็นแคมเปญมาปั่นหัวผู้ใช้ จนเกิดผลการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไป

Donald Trump และ Brexit กับผลการโหวตสะเทือนโลก

ถ้าใครยังจำได้ในปี 2016 มีการเลือกตั้งใหญ่ 2 งาน ซึ่งต่างก็มีผลการโหวตออกมาที่ช็อคประชาชนที่ติดตามกันไปทั่วโลก คือ

การเลือกตั้งอเมริการที่นาย Donald Trump เอาชนะนาง Hillary Clinton ไปได้ โดยระหว่างการหาเสียงนาย Trump มีพฤติกรรมแปลกๆหลายอย่างที่สร้างความไม่พอใจคนหลายกลุ่ม ทั้งการดูถูกสตรี แอนตี้ LBTG นโยบายปิดประเทศหรือการไม่เชื่อในภาวะโลกร้อน จนก่อนการเลือกตั้งเหล่าสื่อและกูรูต่างฟันธงว่านาง Hillary Clinton ต้องชนะอย่างแน่นอน แต่ก็ต้องอึ้งอ้าปากค้างกันไปเมื่อ Trump เอาชนะไปได้จากผล Electoral Vote ที่ได้มากกว่าถึง (T)306 : 232(C) ขัดกับผล Popular Vote ที่นาง Hillary ได้ไปมากกว่าที่ (T)62M:64M(H)

เครดิตข้อมูลและภาพ : cnn

ส่วน Brexit หรือการโหวตประชามติในสหราชอาณาจักร ว่าจะออกจากการเป็นสมาชิก EU หรือไม่ ซึ่งในตอนแรกก็คาดการณ์กันว่าผลน่าจะออกไปทางไม่ออกมากกว่า เพราะน่าจะมีผลเสียในด้านเศรษกิจค่อนข้างมาก และมีความเสี่ยงในหลายๆด้าน แต่เมื่อผลการโหวตออกมา กลับกลายเป็นว่าคนโหวตให้ออกเฉือนเอาชนะคนโหวตให้อยู่ไปได้ที่ 51.89 ต่อ 48.11 เปอร์เซนต์ ใกล้กันจนหลายคนอยากให้มีการจัดประชามติอีกรอบเลยทีเดียว

UK Brexit Vote Map

แผนภาพประชากรที่โหวตให้อยู่หรือออก เครดิตข้อมูลและภาพจาก Wiki

ด้วยความคาใจต่อผลการเลือกตั้งและประชามติ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสองปี ก็จะมีข่าวเรื่องเบื้องหลังการเอาชนะที่ไม่ใสสะอาดออกมาให้เห็นอย่างเนืองๆ ซึ่งข่าวล่าสุดก็คือการแฉบริษัท Cambridge Analytica ที่ปั่นหัวประชากรทั้งสองประเทศ จนทำให้ผลการโหวตผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็น

Cambridge Analytica ทำอะไรถึงเปลี่ยนผลโหวตได้

Cambridge Analytica คือบริษัทวิจัยข้อมูลที่ก่อตั้งมาเพื่อกลยุทธ์การเมือง และการหาเสียงเลือกตั้งโดยเฉพาะ เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นจากการช่วยดำเนินกิจกรรมหาเสียงของทางฝั่ง Trump และด้วยความสงสัยถึงกิจกรรมของ Cambridge Analytica จึงมีนักข่าวปลอมตัวไปพบผู้บริหาร โดยอ้างว่าเป็นนักธุรกิจจากศรีลังกาที่ต้องการจะให้ช่วยส่งเสริมตนในการเลือกตั้งที่กำลังจะถึงและแอบบันทึกบทสนทนาเอาไว้ ซึ่งนาย Alexander Nix, CEO ของ Cambridge Analytica ก็เป็นคนมาพบเอง และบอกว่าบริษัทตนช่วยให้นาย Donal Trump ชนะการเลือกตั้ง และยกตัวอย่างกิจกรรมที่ทำ คือ จะสร้างสถานการณ์ดิสเครดิตคู่แข่ง เช่น ทำให้ดูเหมือนติดสินบน หรือยุ่งเกี่ยวกับโสเภณี ซึ่งถ้าใครจำได้ นาง Hillary ก็มีโดนเล่นเกมแบบนี้อยู่ไม่น้อยเช่นกันระหว่างการหาเสียง ซึ่งภายหลังทางบริษัทออกมาปฎิเสธทุกข้อกล่าวหาในคลิปนี้ และบอกว่าคลิปนี้ถูกตัดต่อและถามนำจากทางนักข่าวจนทำให้เข้าใจผิด

Alexander Nix Web Summit 2017 (wikipedia)

ดังข้ามคืนเลยทีเดียวสำหรับนาย Alexander Nix, Cambridge Analytica CEO เครดิตภาพ Wikipedia by Sam Barnes

Play video

นอกจากนี้ทาง Cambridge Analytica ยังถูกแฉจากพนักงานเก่าที่เป็น Data Scientist อีกว่ายังมีการสูบข้อมูลจาก Facebook กว่า 50 ล้านบัญชี เพื่อนำมาเอาข้อมูลสำหรับสร้าง Profile ในการทำแคมเปญ ลงโฆษณากิจกรรมทางการเมืองหลายๆอย่างของนาย Trump ซึ่ง Profile ที่ว่านี้มีความสำคัญคือ ทำให้บริษัทเข้าใจถึงระดับจิตใต้สำนึกของคนแต่ละกลุ่ม และสามารถส่งสาสน์ที่ต้องการเพื่อไปเปลี่ยนแปลงความนึกคิดได้ และแน่นอนว่าสามารถทำให้พวกเค้าโหวตนาย Trump ได้ด้วยเช่นกัน

Play video

ตำหนิ Facebook ไม่ปกป้องข้อมูลดีพอจนผู้ใช้อาจถูกปั่นหัวจากแคมเปญต่างๆได้

นอกเหนือจากเรื่อง Cambridge Analytica และผลการโหวตแล้ว หลายสื่อนอกยังคงพยายามโจมตี Facebook ที่ไม่ทำการปกป้องข้อมูลผู้ใช้เท่าที่ควร ปล่อยให้บริษัทภายนอกที่มีผู้ใช้เพียง 270,000 รายสามารถดึงเอาข้อมูลผู้ใช้กว่า 50 ล้านบัญชีไปวิเคราะห์และสร้างแคมเปญดังกล่าวได้ รวมถึงเหล่าการสร้าง Quiz ที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของแต่ละคน รู้ถึงลักษณะจิตใจ ความชอบความเกลียดต่างๆ ซึ่งเมื่อมีข้อมูลเหล่านี้ที่เพียงพอแล้ว ทางบริษัทก็จะรู้ถึงจุดแข็งจุดอ่อนทางจิตใจ และสามารถนำเอาไปวิเคราะห์แบ่งคนเป็นกลุ่มต่างๆ เพื่อที่จะเลือกปั่นหัวได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันทาง Facebook ก็ได้แจ้งว่ารับรู้ถึงกิจกรรมประเภทนี้และทำการแบนไปนานแล้ว แต่ก็ไม่สามารถไปดึงข้อมูลประวัติต่างๆที่ถูกเก็บไปแล้วกลับคืนมาได้ ซึ่งมีการอ้างว่าข้อมูลเหล่านี้ถูกขายให้กับ Cambridge Analytica รวมถึงใช้เงินไปมากกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อซื้อข้อมูลผู้ใช้ Facebook อีกด้วย จนในปัจจุบันเกิดกระแสต่อต้าน Facebook มากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมแฮชแท็ก #deleteFacebook กันเลยทีเดียว

สิ่งที่เราควรรู้ : เล่น Facebook มีความเสี่ยงถูกปั่นหัว ทั้งเรื่องดราม่า หรือการเลือกตั้ง

ข่าวนี้ต้องบอกว่าปัจจุบันถูกนำเสนอจากสื่อในประเทศไทยไม่มากนัก และไม่แน่ใจว่าจะมีคนสนใจมากแค่ไหน เพราะทุกวันนี้ Facebook กลายเป็นชีวิตประจำของคนไทยไปแล้ว มีคนอีกจำนวนมากไม่รู้ว่า Facebook มีการปรับแต่งข้อมูลข่าวสารต่างๆในหน้า News Feed ให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ เห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆในสังคมในแบบที่เราต้องการเห็น จนหลายคนเชื่อว่าตนเองรู้ความเป็นไปของโลกทั้งหมดได้ผ่าน News Feed ของตนเอง ทั้งที่จริงๆแล้วเป็นเพียงการชี้นำของ Facebook เท่านั้น แม้ว่าทาง Facebook อาจจะไม่มีจุดประสงค์ที่จะปั่นหัวเราเพื่อประโยชน์ของตน แค่ปรับแต่งข้อมูลที่ส่งมาให้เราเพื่อการทำกำไรสูงสุดของบริษัท แต่ก็มีสิทธิ์ที่ข้อมูลเราจะถูกนำไปจากคนที่ไม่หวังดีได้

Cambridge Analytica ไม่ได้นำเนินกิจกรรมทางการเมืองให้กับอเมริกาหรือสหราชอาณาจักรเท่านั้น แต่บริษัทนี้เคยมีประวัติป่วนการโหวตมาแล้วทั่วโลก ไม่ว่าจะไนจีเรีย, เคนยา, สาธารณรัฐเช็ก, อินเดีย หรืออาร์เจนตินา ปัจจุบันเฉพาะในประเทศไทยมีจำนวนแฟนเพจอยู่หลายแสนเพจ ซึ่งเราก็เห็นมีการสร้างข่าวต่างๆปลุกกระแสสังคมขึ้นมาเต็มไปหมด ทั้งที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ถูกบ้าง ผิดบ้าง จนเป็นที่มาของข้ออ้างในการออกพรบ.คอมพิวเตอร์ ทำโทษคนที่ปล่อยข่าวผิดๆ แต่เราก็ปฎิเสธไม่ได้ว่ายังคงมีเพจอีกมากมายที่ยังดำเนินกิจกรรมทางการเมือง สร้างข้อมูลเท็จมาโจมตีฝั่งตรงข้าม คุ้ยเรื่องดราม่าเพื่อกลบข่าวเสียหายของตน หรือให้ข้อมูลผิดๆเพี้ยนๆจนยากที่จะแยกแยะว่าเรื่องไหนจริงเรื่องไหนปลอมเต็มไปหมด และถ้าเกิดว่าถูกนำเอามาประกอบกับข้อมูลเชิงลึกในด้านจิตใจของคนแต่ละกลุ่ม การปั่นหัวคนในชาติเพื่อให้ทำตามสิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องการก็อาจจะทำได้อย่างไม่ยากเย็นนัก และใครจะไปรู้ว่าพวกเรากำลังโดนเก็บข้อมูลไปใช้แสวงหาผลจากบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านนี้อยู่ก็เป็นได้…

ปล. พวกเราอาจจะไม่ต้องกังวลอะไรนักเพราะประเทศเราคงไม่มีการเลือกตั้งในเร็วๆนี้อยู่ดี (ฮาาาาา….ฮือออออ)

 

แหล่งที่มาข้อมูล

  1.  The Guardian : Revealed: 50 million Facebook profiles harvested for Cambridge Analytica in major data breach
  2. The Guardian : No one can pretend Facebook is just harmless fun any more
  3. BBC : Cambridge Analytica: The story so far
  4. Business Insider : All the times Cambridge Analytica gave brazenly contradictory accounts of its murky work on Brexit