แม้ว่าในปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีเกี่ยวกับแบตเตอรี่โผล่มามากมายและน่าจะเป็นอนาคตสำหรับการออกแบบแบตเตอรี่เพื่อให้มีประสิทธิภาพ และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น แต่เทคโนโลยีเหล่านี้มักจะมาพร้อมกับต้นทุนที่แพงทำให้ต้องปรับพัฒนาต่อไปและยังไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงในเร็ววัน แต่ล่าสุดทาง MIT (Massachusetts Institute of Technology) ได้เผยข้อมูลงานวิจัยที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยชิงหัว ประเทศจีน เกี่ยวกับโครงสร้างภายในของแบตเตอรี่แบบใหม่ที่คาดว่าจะนำหลักการไปผลิตและใช้ได้จริงในไม่ช้า

แบตเตอรี่ที่ทาง MIT คิดค้นขึ้นมานั้นจะสร้างขั้วไฟฟ้าจากอนุภาคขนาดนาโน (nanoparticles) และมีลักษณะโครงสร้างเหมือนกับไข่ คือ มีขั้วบวกที่เป็นเปลือกหุ้มขั้วลบอยู่ ทีมวิจัยเรียกลักษณะนี้ว่าเป็น เปลือกและไข่แดง (shell-and-yolk) โดยสำหรับขั้วบวกนั้นจะใช้ไทเทเนียมไดออกไซด์ และใช้อลูมิเนียมเป็นขั้วลบ ระหว่างกลางของเปลือกและไข่แดงจะมีช่องว่างอยู่เพื่อให้ขั้วลบสามารถขยายและหดตัวจากการถ่ายประจุได้อย่างอิสระ ต่างจากโครงสร้างแบบเก่าที่อยู่ติดกันและการขยายและหดตัวอาจส่งผลให้ส่วนสัมผัสในการส่งไฟฟ้าหลุดจากการเชื่อมต่อได้

แบตเตอรี่ที่ใช้โครงสร้างลักษณะนี้จะสามารถสะสมประจุได้มากขึ้นกว่าเดิมราว 3 เท่าในอัตราการชาร์จแบบปกติ (ปัจจุบันจุได้ 0.35 Ah/gram, แบบใหม่จุได้ 1.2Ah/gram) และสำหรับการชาร์จด้วยไฟปริมาณมากๆ จากการทดลองชาร์จแบตเตอรี่จนเต็มใน 6 นาที เป็นจำนวน 500 cycles จะทำให้สามารถสะสมประจุได้ลดลงมาอยู่ที่ 0.66 Ah/gram แต่ก็ยังมากกว่าความจุของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในปัจจุบันอยู่ดี

อ่านดูแล้วเป็นงานวิจัยที่น่าสนใจมากทีเดียวครับ ยิ่งทางทีมวิจัยบอกว่าจะสามารถนำมาผลิตใช้ได้จริงได้ก่อนเทคโนโลยีตัวอื่นๆ ก็เป็นไปได้ว่าเราอาจจะได้เห็นแบตเตอรี่โครงสร้างนี้มาอยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และโทรศัพท์มือถือในอีกไม่ช้าครับ 

 

ที่มา: MIT, Phone Arena