Nikon เตรียมยุติฐานการผลิตกล้องถ่ายรูปจากโรงงานแม่ในประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ หลังดำเนินการมาเป็นเวลานานนานกว่า 70 ปี โดยจะย้ายฐานการผลิตมายังโรงงานย่อยซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศไทยแทน เนื่องจากต้องการลดต้นทุนและประหยัดรายจ่าย สืบเนื่องจากยอดขายที่ลดลงไปค่อนข้างมากในช่วงหลัง จนส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางการเงินของบริษัทโดยตรง

ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนตุลาคม Nikon ได้ย้ายฐานการผลิตกล้องมีร์เรอร์เลส (mirrorless) Nikon Z6 กับ Nikon Z7 มายังประเทศไทยแล้ว และเตรียมที่ย้ายสายการผลิตกล้อง DSLR ระดับไฮเอนด์อย่าง Nikon D6 ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2021 ต่อไป ซึ่งนี่จะเป็นการยุติการผลิตกล้องถ่ายรูปทั้งหมดของ Nikon ในญี่ปุ่นจาก “โรงงานเซ็นได” ทันที ดูท่าทางแล้วบริษัทคงตกที่นั่งลำบากจริง ๆ กับปัญหาที่เกิดขึ้น จากสถานการณ์นี้จะทำให้กล้องของ Nikon ไม่มีคำว่า “MADE IN JAPAN” อีกต่อไป หากแต่เป็น “MADE IN THAILAND” แทน

โรงงานแม่ของ Nikon อยู่ที่อยู่เมืองเซ็นได จังหวัดมิยากิ ทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1971 นอกเหนือจากการผลิตกล้องถ่ายรูปอันเป็นหน้าที่หลักแล้ว โรงงานแห่งนี้ยังเป็นศูนย์กลางในการวางแผนและดำเนินงานด้านเทคนิคต่อโรงงานอื่น ๆ ในต่างประเทศอีกด้วย

สำหรับโรงงานของ Nikon ในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1990 อยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมาก็ได้กลายมาเป็นโรงงานหลักในการผลิตกล้องแบบเปลี่ยนเลนส์ได้ของบริษัทมาเป็นเวลากว่า 30 ปี จวบจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ฮิโรตากะ อิเกกามิ (Hirotaka Ikegami) เจ้าหน้าที่อาวุโสระดับสูงและผู้จัดการทั่วไปของแผนกธุรกิจการถ่ายภาพ ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Asahi ว่า แม้จะมีการย้ายโรงงานแม่มายังประเทศไทย แต่โรงงานเซ็นไดก็จะดำเนินการอยู่ โดยยังคงเป็นสถานที่ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์กล้องถ่ายรูป รวมไปถึงการคิดค้นและวางแผนสำหรับธุรกิจใหม่เพื่อผลิตภัณท์ที่จะรองรับอนาคตของ Nikon อีกด้วย

เป็นเรื่องน่าใจหายที่แบรนด์กล้องถ่ายรูปชื่อดังอย่าง Nikon จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะการมาของสมาร์ทโฟนในปัจจุบันที่มีฟีเจอร์และลูกเล่นต่างๆที่น่าสนใจ สามารถถ่ายทั้งภาพนิ่งและวิดีโอได้อย่างมีคุณภาพที่น่าพอใจ ในขนาดตัวเครื่องที่เล็ก และน้ำหนักที่เบากว่ากล้องถ่ายรูปมาก แต่การย้ายฐานการผลิตในครั้งนี้จะส่งผลอะไรกับตลาดกล้องถ่ายรูปในประเทศไยหรือเปล่า ? เราก็คงต้องติดตามกันต่อไปครับ

 

ที่มา : PetaPixel, Digital Camera World