นิสสัน รายงานความคืบหน้าการพัฒนาเทคโนโลยีสีแบบเย็น (cool paint) พบว่าได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ หลังทดลองใช้งานจริงไปแล้ว 12 เดือน กรณีนำไปใช้กับรถยนต์ สามารถลดอุณหภูมิพื้นผิวภายนอกตัวรถ และอุณหภูมิภายในห้องโดยสาร ได้สูงสุด 12 และ 5 องศาเซลเซียส ตามลำดับ เมื่อเทียบกับรถยนต์อีกคันที่ใช้สีปกติจากโรงงาน

โครงการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการแสวงหานวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน จากความร่วมมือระหว่างนิสสัน และ Radi-Cool บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ระบายความร้อนด้วยการแผ่รังสี โดยมีที่มาจากแนวคิดที่ว่า ‘รถเย็นลงด้วยสีแบบเย็น = ประหยัดพลังงาน (แอร์) มากขึ้น’

เทคโนโลยีนี้ไม่ใช่ของแปลกใหม่ ที่ผ่านมามีการใช้งานกันอยู่แล้วในอาคารบ้านเรือน แต่การจะนำมาใช้กับรถยนต์มีโจทย์ยากที่ต้องแก้หลายอย่าง โดยเฉพาะความหนาของเนื้อสี การทำให้สีสามารถฉีดพ่นได้ด้วยปืนพ่นสี (แทนที่จะเป็นการทาด้วยแปรง หรือลูกกลิ้ง) และการผสมชั้นเคลือบท็อปโคต เพื่อความทนทานต่อการแตกตัว การลอก รอยขีดข่วน และปฏิกิริยาเคมี

สำหรับสองอย่างหลัง นิสสันสามาถแก้ได้เรียบร้อย แต่ข้อจำกัดแรก ‘ความหนา’ ยังเป็นจุดที่ต้องพัฒนาต่อ โดยตอนนี้สีแบบเย็นของนิสสันมีความหนา 120 ไมครอน หนากว่าสีรถยนต์ทั่วไปประมาณ 6 เท่า ประกอบกับข้อจำกัดอีกอย่าง คือ ‘ต้นทุนสูง’ จึงยังไม่พร้อมจะนำไปใช้ในรถยนต์ที่ผลิตเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น เฟสถัดไปนิสสันจึงตั้งเป้าจะนำสีแบบเย็นไปใช้งานกับรถพยาบาล และยานพาหนะเฉพาะทางอื่น ๆ ก่อน เป็นลำดับแรก

ที่มา : นิสสัน