เนื้อหาบทความนี้ขอแบ่งออกเป็น 2 ตอนนะครับเนื่องจากค่อนข้างยาวมาก กลัวว่าจะอ่านแล้วเบื่อกันไปซะก่อน โดยจะแบ่งเป็นการสรุปเหตุการณ์ตามช่วงเวลาของปี และภาพรวมของ Android นะครับ ว่าแล้วก็มาเริ่มกันดีกว่า

 

เริ่มต้นปี 2011 เปิดตัว Honeycomb สร้างความฮือฮาแก่วงการ Tablet ด้วยความคาดหวังจากหลายๆคนว่าจะเป็นคู่ต่อสู้ที่สมน้ำสมเนื้อกับ iPad แต่เวลาผ่านไปปัญหาหลายๆอย่างก็ได้ผุดขึ้นมา ทั้งเรื่องความลื่นไหลที่บางครั้งอืดเป็นเรือเกลือ ความเสถียรที่เจออาการเดี้ยงค้างไปอยู่เนืองๆ การใช้งานที่ยุ่งยาก และที่สำคัญคือโปรแกรมที่รองรับการใช้งานมีน้อย ต่ำเตี้ยเรี่ยพื้นมาก เรียกได้ว่า Honeycomb เป็นขนมที่อบจากเตาไม่ค่อยจะสุกเท่าไหร่ กินแล้วไม่ค่อยหวานหอมอร่อยอย่างที่คาดไว้ ทำเอายอดขายที่คิดว่าจะบูมๆกลับแป้วๆลงไป แค่ลำพัง iPad ยังเอาตัวไม่ค่อยจะรอด ถ้าเมื่อไหร่ Windows 8 เริ่มออกวางขาย Android Tablet ก็ท่าจะงานงอกต้องรีบสร้างจุดแข็งโดยเร็ว
 
และในช่วงต้นปีนี้ก็เรียกว่าเป็นพาเหรด Android Tablet โผล่มันแทบทุกงาน บุกไปโชว์ตัวดันเอาสินค้าประเภทอื่นให้ดูน้อยไปถนัดตาทันที



กลางปี 2011 ต้องเรียกว่าเป็นช่วงพีกของ Android เสียเหลือเกิน ข่าวอะไรต่างๆออกมาอย่างมากมาย โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคมในงาน Google I/O ที่แสดงถึงพัฒนาการของแอนดรอยด์รวมถึงแง้มความสามารถของ Ice Cream Sandwich และบริการต่างๆที่รอเปิดอีกมากมายไม่ว่าจะเป็น Book, Video, Music แต่ที่น่าจับตามองคือการเปิด ADK (Android Development Kit) ที่จะเป็นเครื่องมือให้เหล่านักพัฒนาเอาแอนดรอยด์ไปเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอกได้ เช่น เอาไปผนวกรวมกับอุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ อุปกรณ์กีฬา หรืออื่นๆอะไรก็ตามที่คุณจะสามารถคิดได้ ลองดูตัวอย่างการนำเอา ADK ไปใช้งานจริงแล้ว

Play video

 
ในเดือนนี้นี่เอง Droidsans ก็ได้ประกาศวันแอนดรอยด์แห่งประเทศไทย 12 พฤษภาคม เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่คนไทยสามารถซื้อแอพจาก Android Market ได้โดยไม่ต้อง root หรือทำอะไรให้ยุ่งยาก แค่มีบัตรเครดิตหรือเดบิตก็ซื้อได้แล้ว แต่สำหรับนักพัฒนาชาวไทยที่ต้องการขายของก็ต้องรอกันต่อไปเพราะเปิดให้คนซื้อได้อย่างเดียว แต่ไม่มีสิทธิ์ขาย

 
ในเดือนถัดมา Google ก็สร้างความสั่นสะเทือนวงการอีกครั้งด้วยการเปิดบริการ Social Network ของตัวเองขึ้นมาในนาม Google+ ที่จะเป็นการรวมทุกบริการของ Google ให้เป็นหนึ่ง ผนวกกับความเป็นสังคมออนไลน์ จนถึงทุกวันนี้คำจำกัดความสั้นๆที่หลายๆให้ไว้เพื่ออธิบาย Google+ ให้คนที่ไม่รู้จักคือ Facebook+Twitter+Skype จนเกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่ามันคือภาพลักษณ์ที่แท้จริงอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ บริการเด็ดๆอีกหลายๆตัวยังคงถูกซ่อนตัวและไม่ได้นำมาควบรวมกับ Google+ เท่าไหร่นัก แต่ในปีนี้หลายๆอย่างน่าจะชัดเจนขึ้น ลองคิดถึงการเชื่อมต่อแกลลอรี่ภาพแบบไม่จำกัดในทุกอุปกรณ์(Picasa) แล้วนำไปแชร์ในงานเอกสารได้อย่างสะดวกและร่วมกันสร้างได้ทุกที่ทุกเวลา(Docs) พร้อมเชื่อมต่อความรู้สึกแชร์ไอเดียผ่าน Hangouts แล้วบันทึกเก็บไว้บน YouTube ทั้งหมดนี้จะรวมเป็นหนึ่งด้วย Google+
 
เมื่อไหร่ที่มันสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างลงตัวและใช้งานได้อย่างสะดวกแล้วล่ะก็ เส้นทางที่ Google+ จะเดินไปนั้นมันยิ่งใหญ่กว่าที่หลายๆคนคาดการณ์เอาไว้ตอนนี้มากทีเดียว


ปิดท้ายความฮือฮากลางปีด้วยการประกาศเข้าซื้อกิจการ Motorola ส่วนมือถือที่มีมูลค่าสูงที่สุดตั้งแต่กูเกิลเคยซื้อมาเป็นจำนวน 12,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นครั้งแรกของ Google ที่รุกเข้าธุรกิจผู้ผลิตฮาร์ดแวร์มือถือ สร้างความหวั่นวิตกในหมู่พันธมิตรผู้ผลิตแอนดรอยด์ไม่มากก็น้อย ซึ่งตามแถลงการณ์สาเหตุหลักที่ซื้อ Motorola เพราะต้องการครอบครองสิทธิบัตรที่ Motorola มีเพื่อนำมาใช้ในการต่อสู้กับหลายๆคดีที่โดนฟ้องอยู่นั่นเอง แต่ก็มีหลากสำนักออกมาฟันธงว่าสิทธิบัตรเป็นแค่เรื่องบังหน้า สิ่งที่กูเกิลเล็งไว้มันน่าจะใหญ่กว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการกุมอนาคตมือถือ ดึง Android ออกจากการเป็น Open Source หรือจะเป็นการซื้อสิทธิบัตรแถมบริษัทก็เป็นได้ จนถึงวันนี้ดีลการซื้อขายนี้ก็ยังไม่จบสมบูรณ์ดี ต้องรอการอนุมัติจากคณะกรรมการในสหรัฐก่อน เมื่อไหร่ที่เรียบร้อยเราอาจจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ Motorola หรือจะเป็น Razr Nexus ที่หลายๆคนรอคอยอยู่ก็เป็นได้

ดูวิเคราะห์ดีลการซื้อ Motorola ที่เคยวิเคราะห์ที่ http://droidsans.com/googlorola-deal-greanly-analysis



และ ในช่วงใกล้ๆสิ้นปีที่ผ่านมา Google ได้มีการประกาศเปิดตัว Android 4.0 (Ice Cream Sandwich) ออกมาในเดือนตุลาคม หลังจากตอนแรกจะประกาศในช่วงต้นเดือนแต่ขอเลื่อนเป็นปลายเดือนแทนเพื่อไว้อาลัยแด่ Steve Jobs ที่ได้จากโลกไป ซึ่งถือเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่มากเพราะงานนี้ไม่รู้แอนดรอยด์จะไปลอกฟีเจอร์ต่อไปจากใครดี…กลับเข้าเรื่องกันต่อ ในไอติมแซนวิชนี้ก็มือถือและแทบเล็ตจะใช้ firmware เดียวกันแล้วทำให้สะดวกต่อผู้ผลิตอุปกรณ์และนักพัฒนามากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลง UI, UX มากมาย เรียกว่าหน้ามือเป็นหลังเท้า รวมเอา Google+ เข้าไปเป็นหนึ่งในบริการหลักที่แถมไปกับเครื่อง มีการเพิ่มระบบจดจำใบหน้าที่ถูกเอาไปใช้ในส่วนต่างๆในระบบมากมาย เช่น การปลดล็อคหน้าจอด้วยใบหน้า การทำเอฟเฟกต์บนใบหน้าคนแบบสดๆ หรือการโฟกัสหน้าคนอัตโนมัติ ซึ่งต่อไปน่าจะได้เห็นความสามารถอื่นเพิ่มเติมอีกในอนาคต แต่ที่เด่นชัดมากๆในเฟิร์มแวรนี้คือพัฒนาการของการถ่ายภาพที่สามารถกดถ่ายได้แบบไม่ยั้งไม่ต้องรอ เรียกกล้องขึ้นมาเร็วกว่าเดิม และโหมดการถ่ายและตกแต่งรูปที่น่าประทับใจ แน่นอนว่าเมื่อเราได้เห็นเฟิร์มแวร์ใหม่ก็ต้องมี Google Phone ตัวใหม่ด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ Galaxy Nexus นั่นเอง




แต่หลังจากเปิดตัว ICS ไม่นานก็มีข่าวที่น่าเสียใจออกมาอย่างนึงคือ Adobe Flash จะเลิกรองรับอุปกรณ์พกพา
 
จากที่เคยเป็นจุดแข็งเหนือ iOS มาตลอดเรื่องที่สามารถเล่นแฟลช แต่ในอนาคตจุดแข็งนี้ก็อาจจะกลายเป็นแค่อดีตไปเนื่องจากทาง Adobe ได้ออกมาประกาศหยุดพัฒนา Adobe Flash สำหรับมือถือไปเรียบร้อย โดยจะทำรองรับถึง Android 4.0 เป็นเวอร์ชั่นสุดท้าย ก็ไม่รู้ว่าจะมีคนหาทางเอามาพัฒนาต่อหรือทำอย่างไรให้ใช้ได้ต่อไปหรือไม่ แต่การที่แอนดรอยด์ไม่มีแฟลชมันก็เหมือนกินขนมจีบไม่มีซาลาเปาเสียจริงๆ


 
 
ปิดท้ายการเฮในปี 2011 ด้วยการฉลองจำนวนการดาวน์โหลดแอพกันจาก market ไปรวม 10,000,000,000 (หมื่นล้านครั้ง) ภายในเวลา 38 เดือน ด้วยการลดราคาแอพหลายๆตัวเหลือเพียง $0.10 หรือประมาณ 3 บาทเท่านั้น เรียกว่าโหลดกันไว้ก่อนใช้รึเปล่าว่ากันทีหลัง เพิ่มจำนวนแอพที่มีในบัญชีกันเพียบถ้วนหน้า 😀
 
จบกันไปสำหรับในตอนแรก ทั้งหมดนี้มันยังเป็นแค่น้ำจิ้ม เดี๋ยวมาต่อกันตอนที่สองดูภาพรวมของ Android ว่าเป็นอย่างไรบ้าง และน่าติดตามอะไรในปี 2012ครับ
ไปต่อภาคสองกันเลยครับ http://droidsans.com/android-2011-summary-ep2