ทำไมต้องวงเล็บไว้ว่า Xperia Z4 ทั้งที่เป็นรุ่น Xperia Z3+

ถึงแม้ Xperia รุ่นที่นำมารีวิวนี้จะชื่อว่า Z3+ แต่ในญี่ปุ่น ซึ่งวางจำหน่ายรุ่นนี้เป็นที่แรกในโลกนั้น ได้ตั้งชื่อว่า Xperia Z4 ซึ่งเหตุผลมาจาก ทาง Sony สาขานอกญี่ปุ่นมองว่า Z3+ เป็นตัวที่เพิ่มสเปคของ Z3 ขึ้นมา (อ้างอิง xperiablog) ในขณะที่ตลาดญี่ปุ่นนั้น มือถือ Flagship ของเกือบทุกยี่ห้อ ออกใหม่บ่อย (ทุก 6 เดือน) และไม่ว่าจะมีการเพิ่มอะไรมากมาย เล็กน้อย หรือแทบไม่เปลี่ยนเลย ก็ถือว่าเป็นรุ่นใหม่ทั้งนั้น (ส่วนนี้เป็นความเห็นของผู้เขียนเอง จากการสังเกตุมือถือรุ่นต่างๆในญี่ปุ่น)

[updated 22/07/15] อัพเดทข้อมูลเรื่อง Benchmark, ฟังเพลง, และแบตเตอรี่

 

สเปคเด่นๆของ Xperia Z3+

  • จอ 5.2 นิ้ว Full HD สว่างสุดๆ
  • Snapdragon 810 SoC
  • Ram 3GB
  • Rom 32GB
  • ลำโพง Stereo คู่
  • กันน้ำ โดยไม่ต้องมีจุกยางปิดทั้ง port usb และหูฟัง
  • บาง 6.9mm
  • แบตเตอรี่ 2930 mAh

 

ก่อนหน้าที่ Xperia Z4 จะออกมานั้นก็ได้มีข่าวลือ ว่า Xperia Z4 นั้น จะไม่มีฝาปิดช่อง USB อีกต่อไป ผม ในฐานะสาวกของ Xperia ซึ่งทำใจมักน้อยใน Function มาแต่ไหนแต่ไร ก็รู้สึกดีใจมากแล้ว และไม่ได้ต้องการอะไรเพิ่มอีก ซึ่งหลังจากมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ก็เป็นไปตามข่าวลือจริง ว่าฝาปิด USB หายไป เป็นไปตามที่หวังไว้ รวมถึงยังได้ Snapdragon 810 ตัวแรง (ในทางลบ) มาใช้เป็นของแถม

ทั้งนี้ หลังจากที่รอมานานก็ได้รับข่าวดีจากทาง Sony Thailand ว่าจะไม่นำ Z3+ เข้ามาขาย ซึ่งทางผมก็ไม่รอช้า จัดเครื่องนอก (Hong Kong ทันที) ซึ่งผมได้ซื้อรหัส E6533 ซึ่งเป็นรุ่น 2 ซิมมา สนนราคารวมจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มให้รัฐบาลไทยแล้ว ไม่ได้แพงไปกว่าราคาเครื่องศูนย์ในตอนที่ Z3 วางขาย

 

Xperia Z3+ เมื่ออยู่ในมือ

ด้านหน้าจะเห็นได้ว่าขอบบนล่าง จะเห็นว่าเหลือพื้นที่เยอะเป็นพิเศษ

สีที่ผมซื้อมานั้น คือสี Aqua Green ซึ่งจริงๆแล้วเป็นสีฟ้าเลื่อมเงิน เวลาพลิกไปมาจะเปลี่ยนสีไปเล็กน้อย(แนวๆเดียวกับ Galaxy S6) ถึงแม้ว่าจะชื่อว่าสี Green แต่ดูยังไงก็เป็นสีฟ้า จะมีไม่กี่มุมเท่านั้น ที่พลิกแล้วเห็นเป็นสีเขียวอ่อนๆเลื่อมเงิน

 

ข้อดี/เสีย จากการใช้งานจริง

Mini review นี้ เดิมที ตั้งใจว่าจะไม่มี Synthetic Benchmark หรือการวัดความแรงผ่านโปรแกรม แต่จะเป็นการบอกเล่าการใช้งาน เทียบกับ Xperia ตัวอื่นๆ รวมถึงการใช้งานทั่วๆไปเท่านั้นครับ แต่เนื่องจากความอยากทดลองอะไรแผลงๆเล็กน้อย จึงได้ทำ benchmark โดย Antutu 64bit ออกมา ใน 3 สถานการณ์ โดยทั้งหมด ได้ทำการ Clear application ออกไปหมด ไม่ให้รันอะไรยกเว้น Antutu โดยเรียงลำดับดังต่อไปนี้ครับ

1) อยู่ในห้องแอร์ ไม่เล่นอะไรเลยเป็นเวลา 15 นาทีแล้วค่อยมาเทสต์

2) ทำเหมือนข้อ 1 แต่เอาไปเทสต์ในช่องฟรีส

3) ถ่าย VDO 4K จนกล้องปิดตัวเอง (ตั้งใจอุ่นให้ร้อน) แล้วกดเทสต์ ผลคือ

 

1) คะแนนปกติคือประมาณ 53,xxx

2) พอแช่แข็งแล้ว ทั้ง CPU และ Ram เร็วขึ้นพอสมควร ผลคะแนนรวมมาอยู่ที่ 58,xxx

3) หลังจากอุ่นร้อนได้ที่ ทุกอย่างหนืดอย่างเห็นได้ชัด คะแนนลงมาที่ 32,xxx ทันที

 

เครื่องร้อนตามข่าวลือหรือไม่?

Snapdragon 810 ที่ใช้ใน Xperia Z3+ เป็น CPU ที่เป็นข่าวมาแรงมากในช่วงนี้เนื่องจากเป็น CPU ตัว Top ของ Qualcomm ที่แรง และร้อนมาก มีปัญหากับทุกรุ่นที่ใช้ แต่ยี่ห้อน้องใหม่หลายยี่ห้อก็พยายามจะใช้กัน (Xiaomi, One Plus, etc.) ในฐานะผู้ใช้ ผมเองก็อยากทราบว่าเครื่องจะร้อนจนมีผลต่อการใช้งานหรือไม่ ผลก็คือ จาก Firmware ของ Z3+ ที่ใช้งานอยู่ ณ ปัจจุบันนั้น (28.0.A.7.24) พบว่า #ร้อนได้หนักมาก เล่น Facebook นิดหน่อยก็อุ่นขึ้นมาแล้ว การใช้งานอื่นๆทั่วไป บางทีก็ร้อนขึ้นมาแบบไม่มีเหตุผล คือบางทีฟังเพลงเสร็จแล้วจู่ๆก็ร้อนขึ้นมาก็มี เวลาร้อนขึ้นมาทีนึงก็จะร้อนไปยาวๆ แต่ไม่ได้ร้อนขนาดจับไม่ได้ อารมณ์ประมาณมืออุ่นๆ ซึ่งตอนใช้ Z3 ไม่ได้รู้สึกอะไรแบบนี้

 

จากการทดสอบถ่ายรูปไป10กว่ารูป มีการปิดตัวของกล้องไป 2 ครั้ง (เครื่องฟ้องว่าร้อน และจะต้องปิดโปรแกรม) การปิดตัวไม่ใช่อัตราเท่านี้ทุกครั้ง บางทีก็ไม่เป็น และเมื่อกล้องปิด ก็สามารถกดเข้าเมนูกล้องขึ้นมาถ่ายใหม่อีกรอบได้ทันที ไม่ต้องรอเครื่องเย็น

 

ปล.การใช้เครื่องโดยไม่ใส่ซิม จะร้อนน้อยกว่าใส่ซิม (แต่ถ้าไม่ใส่ซิม ก็ไม่รู้ว่าจะซื้อโทรศัพท์มาเพื่ออะไร)

 

เรื่อง 2 ซิม

รุ่นนี้ใช้ 2 ซิมแบบ Dual Standby คือรอรับสายได้สองซิม แต่คุยได้ทีละซิม เวลาโทรออกหรือส่ง Message จะมีให้เลือกทุกครั้งว่าใช้ซิมไหน (เวลามีสายเข้า, call log, หรือ message เข้า ก็จะบอกว่ามาจาก Sim ไหน ตามสี่เหลี่ยมสีแดงที่ตีกรอบไว้ในรูป) ต่างจากระบบ 2 ซิมของ LG ที่ตั้ง Default ได้ ว่าจะใช้เบอร์ไหนโทร

การใช้ LTE/3G จะใช้ได้แค่ทีละ 1 ซิมเท่านั้น

เมนูการโทร สมุดโทรศัพท์ และ Message

 

Memory ในเครื่อง

ข้อดีหลักๆอีกอย่างที่เพิ่มขึ้นมาใน Z4 ก็คือ Memory ในตัวที่ให้มา 32GB เหมือนคู่แข่งรายอื่นๆในในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ลง App ต่างๆได้เยอะขึ้นมาก เมื่อเทียบกับ 16GB ในรุ่นเก่าๆ (จริงๆแล้ว ใน Android Lollipop สามารถย้าย App ไปเก็บใน SD การ์ดได้แล้ว แต่จากที่ลองใช้จริง เวลาย้ายบาง App ไปแล้วพบว่าข้อมูลก็ยังอยู่ใน Memory ของเครื่องเหมือนเดิม มีแค่ข้อมูลเล็กน้อยที่ย้ายเข้า SD)

 

การใช้งานทั่วไป

การใช้งานทั่วๆไปรวดเร็วดีครับ การเข้าเมนูต่างๆลื่นดี ไม่มีปัญหาอะไร ไม่อืดไม่ช้า ข้อดีในส่วนนี้ของ Xperia ตระกูล Z คือไม่ว่าจะใช้งานไปนานขนาดไหน เมนูก็มักจะไม่ค่อยช้าลง ลื่นอยู่ตลอด การคุยโทรศัพท์ก็เสียงชัดดีปกติ ที่ดีขึ้นมาต่างจาก Z2 และ Z3 คือสั่นแรงขึ้นมาก ทำให้พลาดรับสายน้อยลง ส่วนที่ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ คือรู้สึกว่าเสียงลำโพงสนทนานุ่มขึ้น ไม่ค่อยบาดหูตอนคุยแบบ Z2 หรือ Z3

 

รูปแบบเมนูเครื่อง

รุ่นนี้มีสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาจาก Xperia Z ตัวอื่นๆ คือสามารถปรับขนาด icon ของเมนูได้ (ซึ่งเดิม ก่อนจะเป็น KitKat มือถือ Xperia Z ทุกรุ่น จะใช้ icon ขนาดเล็ก ทั้งหมด หลังจากเป็น KitKat แล้ว icon ของ Z2 จะกลายเป็นแบบอันใหญ่ ส่วน Z และ Z1 ยังเป็นแบบเล็ก แต่เมื่อพอเป็น Lollipop ก็ใช้ icon แบบใหญ่ทั้งหมด เปลี่ยนขนาดไม่ได้) นอกจากนี้ยังตั้งให้เปลี่ยนเมนูเป็นแนวนอนได้ทันทีที่พลิกเครื่อง (ใน Z1-Z3 ต้องต่อช่องชาร์จแม่เหล็ หรือต่อ Dock เท่านั้น ถึงเปลี่ยนเมนูหลักเป็นแนวนอนได้)

ข้อเสียเรื่องหนึ่งที่น่ารำคาญคือ icon ใน Notification Bar ไม่มีปุ่มปิดเสียง ดังนั้นจึงต้องปิดด้วยการกด Volume ค้างไว้ หรือไปหาดาวน์โหลด Widget สำหรับปิดเสียงมาใช้

Theme

ในส่วนของการปรับแต่ง Theme ทาง Sony ใส่ความสามารถนี้มานานแล้ว (แต่น่าจะหลัง LG) ซึ่งทำให้ผู้ใช้มีทางเลือกมาขึ้นในการปรับแต่ง icon ต่างๆในเครื่อง ซึ่งยังมีให้เลือกโหลดไม่มากนักใน Play Store และสามารถสร้างเองได้โดยใช้คอมพิวเตอร์ แต่ค่อนข้างยุ่งยาก

Music

ตรงนี้หลายๆท่านอาจจะไม่ได้สังเกตุ แต่ว่า Sony เลิกใช้ชื่อ Walkman ใน App เล่นเพลงแล้ว และเปลี่ยนเป็น Music ด้วยเหตุผลว่า “ก็มันเอาไว้เล่นเพลง(อ้างอิง xperiablog) ซึ่งทางผู้เขียนเองก็เห็นด้วย เนื่องจากเครื่องเล่น Walkman ที่เป็น Android ของ Sony จริงๆนั้น คุณภาพดีกว่า Xperia อยู่มาก จึงออกแนวทำให้แบรนด์ดูต่ำลงมากกว่า)

หน้าแรก Music

ความน่ารำคาญอย่างหนึ่งของแอพเล่นเพลงที่แถมมากับเครื่อง Xperia คือ เมื่อเรากด Shuffle เพลง แล้วนึกอยากฟังเพลงอะไรเฉพาะขึ้นมาซักเพลง เมื่อไปกดฟังเพลงนั้น การ Shuffle จะหลุดทันที ต้องไปกด Shuffle ใหม่

รูปแบบเมนูหน้าที่ใช้เล่นเพลง icon ที่มุมซ้ายล่างเอาไว้ Shuffle ซึ่งต้องมากดกันบ่อยๆ

ในรุ่น Z3 นั้นจะมีเมนูให้เลือกว่าตอนนี้เราต่อหูฟังรุ่นอะไรอยู่ (มีให้เลือกแต่ของโซนี่) แล้วเครื่องจะปรับเสียงให้ตามหูฟังที่เลือก แต่ใน Z3+ นั้น เมนูนี้จะทำให้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องไปเลือกเองว่าใช้หูฟังรุ่นอะไรอยู่ เครื่องจะตรวจสอบให้เอง ปรับเสียงให้เอง และก็ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นของ Sony

อื่นๆ

ใครได้ลองเสียบสาย USB OTG จะเห็นว่า…มันไม่มีอะไรเกิดขึ้น?

ในส่วนนี้ คือส่วนที่แปลกไปจากรุ่นที่แล้ว ถ้าต้องการใช้ USB OTG ต้องเข้าเมนู Xperia Connectivity (หรือเพิ่ม Shortcut ในหน้า Notification ก็ได้) เพื่อให้มันหาอุปกรณ์ที่ต่อ OTG ก่อน แล้วถึงจะใช้ได้ ไม่ได้ทำแค่ครั้งเดียว แต่ต้องทำทุกครั้งที่จะเชื่อมต่อ

ตกลงว่าดีขึ้นอยู่หน่อยเดียว ถ้าเทียบกับตัวเก่าๆ?

ก็ประมาณนั้นครับ หลักๆคือ เมมในเครื่องเพิ่ม เอาฝาปิด USB ออก แล้วก็มีการ Suppot LDAC ที่เอาไว้ฟังเพลงคุณภาพสูงแบบไร้สาย (กับหูฟังไร้สายของ Sony) ในเรื่องความเร็ว เอาจริงๆแล้ว Xperia Z2 หรือ Z3 มันก็ไม่ได้ช้าอะไรอยู่แล้ว เร็วเหมือนกันทั้งหมด ในเรื่องการทดสอบเปิด App พวกเกม เวลาที่ใช้ไม่ค่อยต่างกัน ซึ่งทดสอบเปิดแอปเทียบกับ Z3 ด้วยโปรแกรมต่างๆก็ได้ผลออกมาประมาณนี้

  • Final Fantasy3, Hitman Go, Sonic Jump ซึ่ง Xperia Z3+ เปิดเร็วกว่า Z3 นิดเดียว(จริงๆ)

  • เกม Monument Valley Z3 เฉลี่ยแล้วเปิดเร็วกว่า

  • App พื้นฐานเช่น Dialer, Phonebook พวกนี้ผมลอง Clear/ไม่ Clear Task แล้วเปิดปิดอยู่หลายรอบ โดยรวมๆต้องบอกว่าพอๆกัน

  • View Finder ของกล้อง (กดกล้องส่องไปมาโดยไม่ได้กดถ่าย) ในส่วนนี้ความเร็ว Z3+ > Z3 > Z2 ค่อนข้างชัดเจน แต่เวลากดถ่ายจริง Z3+ เซฟรูปได้ช้ากว่า Z3 หน่อยนึง

 

แล้วกล้องเป็นอย่างไร?

เนื่องจากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ก็ไม่กล้าบอกว่ามันดีขึ้นหรือไม่ (ในแง่ของการเทียบกันเองระหว่าง Z ตัวอื่นๆ) แต่บอกได้ว่า หลังจากลองถ่ายมุมเดียวกันหลายรูป พบว่ารูปที่ได้ระหว่าง Z3+ และ Z3 ไม่เหมือนกันค่อนข้างชัดเจน ลองพิจารณาได้ตามรูปเลยครับ (ถ่าย mode Intelligent Auto ทั้งคู่ ไม่ปรับอะไรนอกจากเปิด/ปิดแฟลชครับ)

ทดสอบแบบเปิดแฟลช ถ่ายตอนกลางคืน ใต้แสงหลอด LED

ไม่เปิดแฟลช

สถานที่เดิม

ถ่าย Close-up แสงค่อนข้างน้อย

ถ่ายมุมมืดแสงน้อยมาก

กลางแจ้ง ช่วงบ่ายแก่ๆ

กล้องหน้า

กล้องหน้าใน Xperia Z3 นั้น มีความละเอียด 2ล้านพิกเซล ในขณะที่ Z3+ ให้มา 5ล้านพิกเซล โดยรวมแล้วดีขึ้นแบบเห็นได้ค่อนข้างชัด

ในการทดสอบถ่ายวัตถุ (กระป๋องน้ำอัดลม) จะเห็นได้ว่ากล้อง Z3+ ให้สีที่สดกว่าชัดเจน

ในการทดสอบถ่ายหน้าคนนั้น นายแบบไม่เต็มใจนัก จึงขอ Censor บางส่วนเอาไว้ ตรงนี้จะเห็นได้ถึงสีที่ดูสดใสขึ้น และการพอกหน้าอัตโนมัติที่ดูเนียนกว่า Z3 อย่างชัดเจน

 

แล้วมีอะไรแย่ลงหรือไม่ ถ้าเทียบกับ Xperia Z รุ่นเก่าๆ

ในส่วนของจอนั้นมีความเปลี่ยนแปลงไปบ้าง โดยโทนสีนั้น Z3 สีขาวจะค่อนไปทางฟ้า ส่วน Z3+ สีขาวจะค่อนไปทางเหลือง ซึ่งไม่ใช้ฟ้าแปร๋น หรือเหลืองอ๋อย ตรงส่วนนี้น่าจะแล้วแต่ความชอบของแต่ละคน แต่ที่ต่างกันจริงๆคือความสว่างที่ลดลงจากเดิม 866 nits ใน Z3 เหลือ 789 ใน Z3+ ซึ่งจะบอกว่าแย่ลงก็คงบอกไม่ได้เต็มที่เช่นกัน เพราะความสว่างระดับ 789 nits นั้น ก็มากกว่า ทั้ง iPhone 6/6+, Galaxy Note4, Galaxy S6/S6 EDGE, และ LG G4 แล้ว

เร่งไฟสุด ซ้าย Z3 ขวา Z3+

เร่งไฟสุด บน Z3 ล่าง Z3+ ดูแบบนี้ไม่ค่อยต่าง แต่ดูด้วยตาเปล่าแล้วเห็นชัด ว่า Z3+มืดกว่า และสีก็ไม่เหมือนกัน

 

ส่วนที่แย่ลงแล้วเห็นได้ชัด คือลำโพง กลายเป็นว่าลำโพงเบา และมีมิติน้อยกว่า Z2 เสียอีก ใกล้เคียงกับเสียงเคาะประป๋องสังกะสีเข้าไปทุกที (ซึ่ง Z2 ก็แย่กว่า Z3) แต่สิ่งที่ทำให้ผมแปลกในคือเสียง Ringtone (ที่ออกมาจากลำโพงล่างเพียงอย่างเดียว) ไพเราะขึ้น

เรื่องขอเสริม

ผมว่าลำโพงเดี่ยวของ G4 เพราะกว่าลำโพงคู่ Z3 อีก แล้วดังกว่าด้วย

 

เรื่องแบตเตอรี่(update ข้อมูลหลังใช้มาประมาณ 2-3 สัปดาห์)

เกริ่นนิดๆหน่อย

ในช่วงแรกที่ทำรีวิวนี้ ทางผู้เขียนเห็นว่าความทนของแบตฯนั้น Z2 ดูจะมากกว่า Z3 อยู่พอสมควร แต่จริงๆแล้ว มีปัจจัยหนึ่งที่ลืมนึกไป ซึ่งทำให้เกิดการลองทดสอบใหม่อีกรอบ นั่นคือ Z3 ของผู้เขียนเป็นรุ่น 2 sims มันจึงบริโภคพลังงานมากกว่ารุ่น 1 sim พอสมควร ซึ่งหลังจากทดสอบแบบใช้แค่ซิมเดียว ก็พบว่า ความทนทานของแบตเตอรี่ ไม่ค่อยต่างจาก Z2 เท่าไหร่

กลับเข้าเรื่อง Z3+

รุ่นนี้แบตลดลงจาก 3000 mAh ใน Z3 เป็น 2930 (หายไป 1,070 mA) ในช่วงแรกๆที่ได้เครื่องมา ยังไม่รู้สึกว่าต่างจาก Z3 มากนัก ส่วนหนึ่งเพราะบังเอิญไม่ได้เล่นอะไรมากมาย ปรากฎว่าในช่วงที่ได้ใช้อย่างจริงๆจังๆติดต่อกันนานๆ พบว่า แบต Z3+ หมดเร็วกว่า Z3 มากๆ คือแย่ลงจนน่าใจหาย จากที่การใช้งานแบบพร้อมกันสองซิม Z3 จะอยู่ยาวตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม สบายๆ แบตเหลืออีกนิดหน่อย กลายเป็นตอนนี้ Z3+ หกโมงเกลี้ยง แปลงร่างเป็นรุ่นขวัญใจปลั๊กไฟไปเรียบร้อยโรงเรียนโซนี่

จุดนี้ยังไม่เข้าใจว่า การที่แบตลดลงไปแค่นิดหน่อย ทำไมการใช้งานโดยรวมลดลงได้มากขนาดนี้

ถ้าให้ลองเทียบกับยี่ห้ออื่น เนื่องจากผู้เขียนเคยใช้ LG G4 อยู่ประมาณ 4วัน ด้วยการใช้งานแบบเดียวกับที่เคยใช้ Z3 พบว่าประมาณ 5 โมง LG G4 ก็จะหมดพลังงานแล้ว

 

สรุป

สำหรับท่านที่ใช้ Z2 หรือ Z3 อยู่นั้น ผมยังไม่เห็นเหตุผลที่ดีที่ควรจะเปลี่ยนไปใช้ Z3+ นอกจากจะอยากได้ Internal Memory 32GB, กล้องหน้าที่ดีขึ้น, และรำคาญการเปิด/ปิดจุกยาง หรือการใช้ Magnetic Charger เนื่องจากแทบไม่ได้มีอะไรดีขึ้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราวนัก (และส่วนที่น่าหงุดหงิดที่สุด สำหรับการเปลี่ยนมาใช้ Z3+ คือการที่แบตมันแย่ลงแบบสะเทือนใจพอสมควร)

ในส่วนของผู้ที่ไม่เคยใช้ Xperia มาก่อน หรือใช้ Xperia รุ่นเก่าๆลงไป ความคุ้มของ Z3+ อยู่ตรงวัสดุและงานประกอบที่ดูดีมาก ขนาดเครื่องเพรียวบาง กันน้ำได้โดยไม่สร้างความวุ่นวายกับผู้ใช้และยังคงความบางของเครื่องไว้ได้ ถึงแม้ว่าการกันน้ำจะไม่ใช่ feature ที่ถูกใช้กันบ่อยๆ แต่ส่วนตัวแล้ว ผมเคยไปเที่ยวแนว Adventure แบบพายเรือล่องลำน้ำ ซึ่งก็ได้ Xperia Z เก็บภาพตอนนั้นไว้ ก็ทำให้มีรูปภาพประกอบเรื่องราวความประทับใจ (ที่ไม่ได้มีโอกาสจะได้ไปบ่อยๆ) เก็บไว้ดูเล่นในอนาคตครับ

ถ้าไม่ติดใจเรื่องประกันศูนย์ไทยมากนัก ตัวเลือกอีกตัวที่น่าแนะนำคือ Xperia Z3 เครื่องหิ้วจากญี่ปุ่น ที่มี Rom มาให้ 32GB เท่า Z3+ ซึ่งนอกจากเรื่องฝาปิดช่อง USB แล้ว อย่างอื่นดีกว่า Z3+ เกือบหมด (ในแง่การใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวันนะครับ ในส่วนที่เอาไปรันเกมหนักๆ ยังไม่เคยได้ทดสอบ แต่ตามการคาดเดา Snap 810 ควรจะต้องดีกว่า 801)

ถ้าว่ากันด้วยเรื่อง Hardware Spec โดยตรงแล้ว Xperia Z3+ ก็พอจะชนกับตัว Top ยี่ห้ออื่นได้บ้าง (HTC One M9, LG G4, iPhone6, Galaxy S6) แต่ก็ไม่ได้มี Function อะไรพิเศษ อย่างเช่น Scan ลายนิ้วมือ กล้องขั้นเทพ ลำโพงขั้นเทพ ที่ดีไปกว่ายี่ห้ออื่นๆในตลาด

ขอจบ Mini Review เพียงเท่านี้ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ