โลกออนไลน์ทุกวันนี้น่ากลัวไม่ใช่เล่นเลยนะคะ เพราะมีข่าวเรื่องการหลอกลวงออกมามากมายให้เราได้เห็นเป็นตัวอย่างไม่เว้นวัน อีกทั้งยังมีการพัฒนาเป็นกลลวงในรูปแบบใหม่ ด้วยการล่อลวงเด็กๆ ผ่านโลกออนไลน์ว่าเป็นแมวมองกำลังค้นหาดาราหน้าใหม่ เพื่อหลอกทั้งเงินจากพ่อแม่ หรือแย่กว่านั้นคือตัวเด็กอาจโดนใช้คลิปวิดีโอขู่แบล็กเมลได้อีกด้วย

ถนนสู่ดวงดาว กรณีการล่อลวงรูปแบบใหม่บนโลกออนไลน์

ถนนสู่ดวงดาว เป็นรูปแบบใหม่ของการหลอกลวงผ่านทางออนไลน์ ซึ่งคนร้ายได้สร้างบัญชีโซเชียลมีเดียปลอมขึ้นมา แล้วอ้างว่าตนเป็นแมวมอง กำลังค้นหาดารานักแสดงหน้าใหม่ แต่จะพูดคุยทักทายผ่านทางออนไลน์พร้อมทั้งนัดหมายให้เด็กๆ ที่มีความสนใจอยากจะเป็นดารานักแสดงเดินทางมาพบ โดยอ้างว่าเดินทางมาเพื่อทำการคัดเลือกนักแสดงค่ะ

กรณีตัวอย่างจากข่าว สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ Sanook.com 

เข้าใจนะคะ สมัยนี้ใครๆก็อยากให้ลูกเข้าวงการบันเทิงเป็นดารากันทั้งนั้น ไม่ว่าจะผลักดันรูปแบบไหน พ่อแม่ก็พร้อมจะสนับสนุนให้หมดทุกทาง จนบ่อยครั้งความตั้งใจหรือความหวังดีทั้งหมดนี้ ก็อาจกลายเป็นเรื่องอันตราย ที่ผู้ใหญ่ทั้งหลายหยิบยื่นให้ลูกซะเอง

จากถนนสู่ดวงดาว กลายเป็น หนทางสู่การเป็น”เหยื่อ”

ถึงแม้ว่าจะเป็นภัยที่มาในรูปแบบใหม่ แต่ก็มีแต่ที่ตกเป็นเหยื่อสูงถึง 1,000 คนเลยนะคะ โดยหลังจากที่พ่อแม่ได้ส่งลูกไปหาโมลเดลลิ่งจอมปลอมแล้วเนี่ย เด็กๆก็จะได้อยู่กับคนร้ายตามลำพัง ทำให้คนร้ายใส่ยานอนหลับเพื่อที่จะทำการล่วงละเมิดเด็กเหล่านี้แล้วก็บันทึกภาพหรือวิดีโอเก็บเอาไว้ แล้วนำไปแชร์ในกลุ่มลับในโลกออนไลน์ต่อไป

กรณีตัวอย่างจากข่าว สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่  ไทยรัฐออนไลน์ 

หรือที่เลวร้ายกว่านั้น คือ อาจจะนำคลิปวิดีโอดังกล่าวนั้นมาข่มขู่แบล็กเมล โดยอาศัยข้อมูลจากใบสมัครที่กรอกไว้ในการติดต่อเหยื่อ ทำให้เหยื่อหวาดกลัวและต้องรีบโอนเงินให้เป็นค่าปิดปาก ซึ่งภายหลังที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุมคนร้าย ทำให้พบว่ากรณีถนนสู่ดวงดาวนี้มียังมีเด็กอีกมากมายที่ตกเป็นเหยื่อ (ปล. Online Modelling ที่ทำแบบถูกต้อง และสร้างรายได้จริงก็มีอยู่ ไม่ใช่ทุกเจ้าจะทำมาเพื่อหวังล่อลวงเด็กนะคะ)

แต่…ยังไม่หมดเพียงเท่านี้

นับตั้งแต่การก่อตั้ง คณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) ในปี พ.ศ. 2558 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ได้มีการจับกุมดำเนินคดีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต จำนวน 212 คดี มีผู้ต้องหาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จำนวน 245 คน มากไปกว่านั้น คดีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตนี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าสื่อออนไลน์ในปัจจุบันนี้สามารถเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น

แล้วคนร้ายเข้าถึงข้อมูลได้อย่างไร?

ข้อมูลส่วนบุคคลของเราที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตเนี่ย ไม่มีอะไรปลอดภัยทั้งนั้นค่ะ นอกซะจากว่าจะไม่มีข้อมูลที่เป็นจริงอยู่เลย (อย่างพวกอวตารทั้งหลาย) แค่มีข้อมูลพวกนามสกุล ที่อยู่ ภาพถ่าย ประวัติการศึกษา ประวัติการรักษาพยาบาล หรือแม้กระทั่ง cookie ซึ่งเป็นไฟล์ข้อมูลขนาดเล็กที่ทำหน้าที่จดจำข้อมูลต่างๆก็ด้วย ถ้าหากข้อมูลเหล่านี้ถูกกรอกลงไปในแบบฟอร์มหรือถูก เผยแพร่ลงในโซเชียลมีเดียอย่างไม่ระมัดระวัง ก็อาจมีผู้ไม่หวังดีแอบคัดลอกข้อมูลนำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสมได้

แต่ อย่าพึ่งตกใจกลัวไปค่ะ ไม่ใช่ว่ามันจะไม่ปลอดภัยขนาดนั้น เพราะปัจจุบันได้มีการพัฒนาระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล อย่างการใช้รหัส OTP หรือ One Time Password ที่เป็นการยืนยันตัวตน 2 ขั้นตอนเพื่อเป็นการตรวจสอบและยืนยันตัวตน เพิ่มการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลได้อยู่ และเราขอแนะนำให้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กใช้การยืนยันตัวตนแบบ 2 ขั้นตอนนี้มากๆเลยล่ะค่ะ

แล้วจะปกป้องเด็กๆให้ห่างไกลจากอันตรายบนโลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างไร

..มรกต แสงสระคู และ ดร.ศรีดา ตันทะอธิพาณิช ผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ผู้ทำงานส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์มากกว่า 16 ปี ได้ให้คำแนะนำแก่เด็กและเยาวชน รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองเพื่อความรอบคอบระมัดระวัง และตั้งข้อสังเกตก่อนตัดสินใจให้ข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์ ดังนี้

  • ท่องให้ขึ้นใจว่า ยิ่งโพสต์และให้ข้อมูลส่วนตัวบนออนไลน์มากเท่าไหร่ ยิ่งเสี่ยงมากเท่านั้น! บอกเลยว่าการโพสต์นี่แหละค่ะ คือสิ่งที่ทำให้เราตกเป็นเหยื่อได้มากที่สุด ปัจจุบันพบว่าเด็กและเยาวชนไทยเนี่ยมักโพสต์ภาพการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่ออวดเพื่อนๆ หรือบอกให้คนในโซเซียลรับรู้ ไม่ว่าจะเป็นโลเคชันที่อยู่ เลขที่หนังสือเดินทาง รวมทั้ง ช่วงเวลาที่ตนและครอบครัวอยู่หรือไม่อยู่บ้าน แต่หารู้ไม่ว่า นอกจากคนในโลกโซเชียลจะรับรู้แล้วเนี่ย โจรที่แฝงมาในกลุ่มเพื่อนเราก็รู้ด้วยเช่นกันนะ
  • มีสติอยู่เสมอไม่ว่าจะเสพหรือส่ง และหากข้อมูลส่วนบุคคลหลุดไปต้องรู้วิธีจัดการ จะทำไรก็ต้องมีสติแหละค่ะ ถึงจะผ่านปัญหาและอุปสรรคไปได้ ในการเล่นโซเชียลมีเดียบนโลกออนไลน์ก็เหมือนกันค่ะ จะต้องมีความระมัดระวังในการให้ข้อมูลต่างๆ มากขึ้น ไม่อย่างงั้นตัวเราเองเนี่ยแหละที่อาจจะเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลนั้นออกไปอย่างไม่ตั้งใจ หรือบางครั้ง เราก็อาจถูกล่อลวง โดยที่ไม่รู้ตัวว่ามีข้อมูลหลุดออกไปก็ได้ และถ้ามีข้อมูลหลุดไปแล้ว อย่างแรกที่ทำก็ขอให้มีสติและรวบรวมหลักฐานให้ได้มากที่สุด แล้วนำไปดำเนินคดีต่อไปนะคะ
  • ร้องขอความช่วยเหลือ หากถูกคุกคามจากมิจฉาชีพที่นำข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้ในทางมิชอบ อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือค่ะ ดีกว่ามานั่งแก้ปัญหาคนเดียว ซึ่งปัจจุบันเด็กและเยาวชนเกือบ 90% เลือกที่จะปรึกษาเพื่อนในวัยเดียวกัน เมื่อเจอปัญหาใหญ่อย่างการถูกคุกคามจากการถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางมิชอบ

การให้คำปรึกษาเพื่อนเป็นสิ่งที่ดีนะคะ แต่ว่าตัวเพื่อนที่ให้คำปรึกษาควรปฎิบัติตนให้เป็นปกติเช่นเดิมกับเพื่อน พยายามหลีกเลี่ยงการพูดถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้น และที่สำคัญ ควรแนะนำให้เพื่อนที่ได้รับความเดือดร้อนได้เข้าถึงความช่วยเหลือเบื้องต้น เช่น

  • การพูดคุยรับฟังอย่างเข้าใจและพร้อมให้ความช่วยเหลือจากพี่ๆ มูลนิธิสายเด็ก หมายเลข 1387 ตลอด 24 ชั่วโมง
  • หากต้องการคำแนะนำเพื่อดูแลปรับสภาพจิตใจและความสัมพันธ์ โทรหาสายด่วนสุขภาพจิต หมายเลข 1323
  • หากต้องการลบภาพการละเมิดทางเพศเด็กออกจากอินเทอร์เน็ต ให้ติดต่อไทยฮอตไลน์ที่เฟซบุ๊กหรือเว็บไซต์ www.thaihotline.org
  • ในกรณีที่ต้องการแจ้งข้อมูลเบาะแสเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ให้แจ้งที่เฟซบุ๊กเพจของคณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC)

นอกจากนี้ในแต่ละจังหวัดยังมีบ้านพักเด็กและครอบครัว ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ที่พร้อมช่วยเหลือเด็กๆ ที่ประสบปัญหาความรุนแรงและถูกละเมิดทุกรูปแบบอยู่อีกด้วย

dtac Yong Safe Internet Leader Cyber Camp

อ่านถึงตรงนี้แล้วก็ อย่าพึ่งเลื่อนหนีไปไหนค่ะ เพราะว่าเรามี 1 ในโครงการดีๆที่ทาง dtac ได้จัดขึ้นให้กับเด็กและเยาวชนไทยอย่างโครงการ dtac Yong Safe  Internet Leader Cyber Camp เป็นค่ายออนไลน์ที่ดีแทคและหน่วยงานพันธมิตร ได้นำระบบ Learning Management System (LSM)  มาใช้ออกแบบกิจกรรมต่างๆ ภายในค่าย เพื่อสร้างให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ใช้อินเทอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ ซึ่งในค่ายก็จะมีการสอน 3 ประเด็นหลักที่เยาวชนควรรู้เท่าทันในโลกออนไลน์ ได้แก่

  • วิชา Diversity and Cyberbullying
  • วิชา Anatomy of Fake News
  • วิชา Online  Privacy and Sexual abuse

นอกจากนี้ ยังมีวิชาที่จะทำให้เด็กๆ ได้เสริมสร้างทักษะ Digital Skill เฉพาะด้านอย่างวิชา Chatbot  วิชา Board Game วิชา Data Visualization วิชา Story telling และวิชา A.I  เป็นต้น ที่นอกจากจะได้ความรู้แล้ว ทาง dtac จะมีการออกใบรับรอง (Certificate) หรือประกาศนียบัตรแต่ละวิชาให้อีกด้วย ซึ่งถ้าหากผู้ปกครองหรือเด็กๆคนไหนสนใจ ก็สามารถสมัครและเข้าเรียนวิชาต่างๆเหล่านี้ได้ที่ www.safeinternet.camp  ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน เป็นต้นไป

เห็นมั้ยคะ ว่าภัยอันตรายในโลกโซเชียลนั้นมีมากมาย อีกทั้งยังเปลี่ยนรูปแบบกลลวงต่างๆออกมาหลอกล่อเราเรื่อยๆ ใครจะไปคิดล่ะคะ ว่าโจรที่จะมาหลอกเด็กเนี่ย จะเข้าทางพ่อแม่ได้อย่างแนบเนียน ซึ่งรู้แบบนี้แล้ว ก็อย่าลืมนำเรื่องเหล่านี้ไปแบ่งปันให้กับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆกันด้วยนะคะ ไม่ใช่แค่กลุ่มผู้ปกครองหรอกค่ะที่ต้องระวัง แต่เป็นเราทุกคนต่างหาก กันไว้ดีกว่าแก้ ก่อนที่จะสายเกินไป รู้เท่าทันไว้จะดีกว่านะคะ

ที่มา : dtac