เชื่อว่าปัจจุบันหลายคนน่าจะไม่ค่อยได้ใช้แผ่นซีดีกันแล้ว เพราะเปลี่ยนไปใช้แฟลชไดรฟ์ หรือคลาวด์กันหมด ทำให้แผ่นซีดีเหล่านี้ค่อย ๆ หายไปจากชีวิตประจำวันเรามากขึ้นเรื่อย ๆ อย่าว่าแต่แผ่นเลย เครื่องเล่นยังไม่ค่อยได้เห็นแล้วด้วย แต่ก็ยังมีคนที่ยังไม่ยอมแพ้ ยังคงพัฒนาเทคโนโลยีที่ตกยุคไปแล้วอยู่เหมือนกัน

ได้มีนักวิจัย จากมหาวิทยาลัยสื่อสารศาสตร์และเทคโนโลยีเซี่ยงไฮ้ ได้พัฒนาแผ่นออปติคัลดิสก์ที่จุข้อมูลได้มากถึง 100 เทราไบต์ (ต่อ 1 ด้าน) รวมสองด้านเท่ากับ 200 เทราไบต์ หรือ 1.6 เพตาบิต สำหรับใช้งานในกลุ่มองค์กร และ Data Center เป็นหลัก

ส่วนวิธีที่ทำให้สามารถบันทึกข้อมูลได้มากขนาดนี้คือ การใช้สถาปัตยกรรมการบันทึกแบบ 3D planar เทคโนโลยีนี้ใช้ฟิล์มโฟโตเรซิสต์โปร่งใสสูง เติมด้วยสีย้อมเรืองแสง และกระตุ้นด้วยเลเซอร์ เลยทำให้สามารถบรรจุเลเยอร์ข้อมูลได้มากขึ้น

โดยข้อมูลในแต่ละด้านของแผ่นจะถูกซ้อนกัน 100 เลเยอร์ และแต่ละเลเยอร์จะเว้นระยะห่างกันเพียงหนึ่งไมโครเมตร ทำให้แม้ว่าจะจุข้อมูลได้เยอะมาก แต่มีความหนาประมาณแผ่น DVD หรือ Blu-ray

ซึ่งถ้าเทียบแล้วจะพบว่าแผ่น Blu-ray รองรับการซ้อนเลเยอร์ได้สูงสุดแค่ 4 เลเยอร์ และโดยทั่วไปจะมีความจุรวมประมาณ 100 กิกะไบต์เท่านั้น นอกจากนี้ นักวิจัยยังเคลมว่า นอกจากความจุเยอะแล้วยังทนทานด้วย โดยหนึ่งแผ่นสามารถใช้งานได้นาน 50 ถึง 100 ปี เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน เช่น อัตราการอ่านเขียนข้อมูลที่แผ่นนี้ทำได้ เพราะต่อให้มีพื้นที่เยอะเหลือเฟือยังไง ถ้าความเร็วการอ่านเขียนต่ำก็อาจจะติดปัญหาคอขวดได้ และราคาต่อหนึ่งแผ่นจะอยู่ที่เท่าไหร่ แน่นอนว่าคงไม่ถูกแบบแผ่น CD, DVD แน่นอน

และสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป ยังมีเรื่องของเครื่องอ่านแผ่นเหล่านี้อีก ที่ไม่รู้ว่าจะมีราคาสูงเท่าไหร่ เพราะสเปคแผ่นออกจะเทพขนาดนี้ เครื่องอ่านก็ต้องมีสเปคที่ไม่แพ้กันด้วย ตอนนี้โปรเจกต์ดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนวิจัยและพัฒนา ไม่ได้มีการผลิตออกมาใช้จริง ไม่รู้เหมือนกันว่าในอนาคตจะไปต่อได้ไกลแค่ไหน และพวกเราจะได้ใช้หรือเปล่านะ

ที่มา : techspot