ความคืบหน้ากรณี กมธ.คุ้มครองผู้บริโภคได้เชิญ Sony เข้าร่วมประชุมฯ เกี่ยวกับประที่ถูกร้องเรียนเรื่อง “ลูกค้าไม่สามารถสั่งจองเครื่องเกมคอนโซล PlayStation 5 ได้” ล่าสุดพบว่า มีจดหมายตอบรับจากบริษัทฯ ที่ส่งกลับไปตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 แต่พึ่งถูกนำมาเผยแพร่ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 นี้ ซึ่งทาง DroidSans ได้สรุปรายละเอียดสำคัญต่าง ๆ ของเรื่องราวทั้งหมดมาให้เรียบร้อยแล้ว

การประชุมฯ ถูกเลื่อนไปสิ้นเดือน – Sony ไม่ทราบ จึงปฏิเสธเข้าร่วม

ในเบื้องต้น Sony ได้ปฏิเสธคำเชิญเข้าร่วมประชุมของ กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 บริษัทฯ ได้มีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้านอยู่ ประกอบกับได้รับหนังสือเชิญในระยะเวลาที่กระชั้นชิดเกินไป จึงไม่สะดวกเข้าร่วมประชุมในวันและเวลาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม วันและเวลาดังกล่าวที่ Sony เอ่ยถึง คือ วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.30 น. ตามกำหนดการนัดหมายเดิม แต่ทั้งนี้มีคำสั่งออกมาให้งดการประชุมรัฐสภา 2 สัปดาห์ และมีผลต่อ กมธ.คุ้มครองผู้บริโภคด้วย โดยการประชุมฯ จะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 29 – 30 กรกฎาคม 2564 ซึ่งทาง สมเกียรติ ถนอมสินธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคก้าวไกล หรือ ส.ส.เป้ กล่าวว่า บริษัทฯ อาจยังไม่ทราบเรื่องเลื่อนการประชุมฯ ในขณะที่ส่งจดหมายมา

คำชี้แจงจาก Sony ประเด็น PS5 ขาดตลาดและพ่อค้ารีเซล

จดหมายจาก Sony มีการชี้แจงถึงประเด็นหลัก ๆ ใน 3 หัวข้อ คือ รายละเอียดการเปิดจอง ข้อมูลผู้สั่งจองในแต่ละรอบ และแนวทางแก้ไขปัญหา โดยมีใจความสำคัญ ดังนี้

  • รายละเอียดการเปิดจอง
    – Sony แจ้งว่า ใช้หลักการ มาก่อน-ได้ก่อน โดยอ้างอิงจากเวลายืนยันชำระเงินตามข้อมูลที่ปรากฏในระบบ
    – บริษัทฯ ไม่ได้เป็นผู้ขาย PS5 แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ลูกค้าสามารถไปเลือกซื้อกับดีลเลอร์ต่าง ๆ ได้ตามสะดวก
  • ข้อมูลผู้สั่งจอง
    – ลูกค้าทุกคนสามารถจอง PS5 ได้ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน ไม่มีแบ่งแยก ไม่มีเลือกปฏิบัติ
    – ด้วยเหตุผลข้างต้น Sony จึงไม่อาจทราบได้ว่า ลูกค้าคนไหนซื้อ PS5 ไปเพื่อเล่นเกมจริง ๆ หรือเพื่อซื้อไปขายต่อ
    – ข้อมูลผู้จอง PS5 เป็นข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า Sony ไม่สามารถเปิดเผยได้
  • แนวทางแก้ไขปัญหา
    – Sony จำกัดการซื้อ PS5 เอาไว้ที่ 1 คนต่อ 1 เครื่อง
    – ลูกค้าคนไหนที่ต้องสงสัยว่า ใช้ช่องโหว่ของระบบแล้วสั่งซื้อ PS5 แบบผิดเงื่อนไข จะโดนบริษัทฯ ยกเลิกออร์เดอร์ แล้วคืนเงินให้ในภายหลัง
    – บริษัทฯ จะพยายามอย่างเต็มที่ในการติดต่อประสานงานกับผู้ผลิต เพื่อนำเครื่อง PS5 เข้ามาวางขายในประเทศไทยให้ได้เยอะ ๆ

แม้จะไม่ได้พูดตรง ๆ แต่พอจะสรุปได้ว่า Sony ปฏิเสธข้อครหาเรื่องมีนายหน้าที่รู้กันกับบริษัทฯ กว้านซื้อ PS5 ไปเพื่อกักตุนแล้วปั่นราคา ส่วนที่ถูกกล่าวหาว่า ไม่พยายามทำอะไรเลยเกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น ดูจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะมีนโยบายจำกัดการซื้อ 1 คนต่อ 1 เครื่องแล้ว  และการขายก็ทำถูกต้องตามเงื่อนไขที่ประกาศทุกอย่าง แต่ลูกค้าคนไหนซื้อแล้วเอาเครื่องเกมไปขายต่อ อันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

ส.ส.เป้ ถามกลับ – Sony มีความจริงใจกับลูกค้าจริง ๆ หรือไม่

ในขณะที่ สมเกียรติ ถนอมสินธุ์ ได้มีคอมเมนต์ตอบกลับไปยัง Sony ดังนี้

  • Sony ไม่ได้ขาย PS5 แต่เพียงผู้เดียวตามที่แจ้งมาก็จริง แต่น่าจะเป็นผู้นำเข้ารายเดียวในประเทศไทย จึงน่าจะได้โควต้าสินค้ามากที่สุด แล้วค่อยกระจายสินค้าไปให้ดีลเลอร์รายย่อยอีกที
  • บริษัทฯ ไม่ได้ชี้แจงถึงจำนวน PS5 ที่เปิดจองในแต่ละรอบตามที่มีการร้องขอ
  • นโยบายจำกัดการซื้อ PS5 ที่ 1 คนต่อ 1 เครื่อง ยังไม่รัดกุมพอ แม้จะไม่มีข้อมูลว่า ใครซื้อไปเล่นหรือใครซื้อไปขายต่อในการสั่งซื้อรอบแรก ๆ จริง (ซึ่งไม่มีใครตำหนิในเรื่องนี้) แต่ครั้งต่อ ๆ ไปน่าจะมีข้อมูลในระบบแล้ว
  • ไม่มีใครอยากรู้ข้อมูลส่วนตัวหรือขอให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า สิ่งที่อยากทราบคือจำนวนเครื่อง PS5 ที่เปิดจองในแต่ละรอบต่างหาก
  • ลูกค้าที่ถูกยกเลิกออร์เดอร์ ได้รับเงินคืนจริง แต่ Sony ดำเนินการล่าช้า บางรายต้องรอนานถึง 2 – 3 เดือน
  • พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า วิกฤติเซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลนนั้นใช่สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาที่เกิดขึ้นหรือเปล่า เพราะ PS5 มียอดขายทั่วโลกตั้งแต่เปิดตัวปาเข้าไป 7.8 ล้านเครื่องแล้ว ในขณะที่ PS4 มียอดขายในปีงบประมาณที่ผ่านมาอยู่ที่ 5.7 ล้านเครื่อง (อ่านเพิ่มเติม)


PS5 ที่ถูกพ่อค้านำไปรีเซล ราคาพุ่งจากปกติไป 1.5 – 2.5 เท่า เคยสูงสุดทะลุ 4 หมื่นบาท

สุดท้าย ส.ส.เป้ ได้ตั้งคำถามไปยัง Sony ว่า มีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาจริง ๆ หรือไม่ เพราะถ้าบริษัทฯ มีความจริงใจต่อผู้บริโภคจริง ๆ ปัญหาคงไม่หนักหน่วงอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ และได้ฝากเอาไว้ว่า วัตถุประสงค์ที่ไล่บี้ในประเด็นนี้คือ “อยากให้ผู้เล่นเกมตัวจริงได้เครื่อง PlayStation 5 แบบแฟร์ ๆ ในราคาแฟร์ ๆ ครับ”