หลังกูเกิลเปิดตัว Pixel 9 และ Pixel 9 Pro ไปในงาน Made by Google ไม่กี่วันที่ผ่านมา ทำให้ตอนนี้เริ่มมีผลเบนช์มาร์กของชิปเซต Tensor G4 ไปโผล่บนฐานข้อมูล Geekbench มากขึ้นเรื่อย ๆ พบว่าตัวเลขเฉลี่ยใกล้เคียงกับผลลัพธ์ที่เคยหลุดออกมาในช่วง 1 – 2 เดือนก่อน หากดูจาก ‘คะแนนดิบ’ เพียงอย่างเดียว Tensor G4 จะมีความแรงใกล้เคียงกับชิป A14 Bionic บน iPhone 12 ที่เปิดตัวในปี 2020

Pixel 9 และ Pixel 9 Pro แรงแค่ไหน

  • Geekbench :
    • Single-core : 1,700 ~ 1,900 คะแนน
    • Multi-core : 4,400 ~ 4,700 คะแนน
  • AnTuTu : 1,150,000 คะแนน

*คะแนนโดยเฉลี่ย

จุดสังเกตคือ Pixel 9 รุ่นมาตรฐาน มีคะแนน Geekbench ใกล้เคียงกับ Pixel 9 Pro Fold ที่เป็นจอพับ ส่วนตัวท็อป Pixel 9 Pro และ Pixel 9 Pro XL จะได้คะแนนดีกว่าเล็กน้อย

จากตัวเลขข้างต้น คงพอสรุปได้ว่า Tensor G4 บน Pixel 9 และ Pixel 9 Pro ไม่ได้แรงขึ้นจาก Tensor G3 จากปีก่อนเท่าไหร่นัก และยังตามหลังคู่แข่งค่ายอื่นอยู่พอสมควร รวมถึง Pixel 9 Pro Fold ที่ใช้ชิปเซตเดียวกัน ทว่า กูเกิลก็ไม่เคยชูจุดเด่นในด้านนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว และแฟน ๆ มือถือ Pixel โดยมากก็ทราบเรื่องนี้กันดี

สิ่งที่กูเกิลชูเป็นจุดขายให้ Tensor G4 คือ การประมวลผลด้าน AI โดยมีการพัฒนาชิปเซตร่วมกับทีม DeepMind เพื่อให้สามารถรันโมเดล Gemini Nano จากบนเครื่องได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และเป็นรุ่นแรกที่รันแบบ multimodality ได้ สามารถทำความเข้าใจอินพุตหลายประเภทพร้อมกันได้ในคราวเดียว เช่น ข้อความ เสียง รูปภาพ และวิดีโอ ซึ่งในส่วนนี้ถือว่าสำคัญมากกับฟีเจอร์ Pixel Screenshorts ที่ต้องคำนึงถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน

โดย TPU ของ Tensor G4 มีเอาต์พุตอยู่ที่ 45 โทเคนต่อวินาที สูงกว่าทั้ง Snapdragon 8 Gen 3 และ Dimensity 9300 ที่ทำได้ 15 และ 20 โทเคนต่อวินาที ตามลำดับ นอกจากนี้ กูเกิลยังบอกว่า Tensor G4 จัดการพลังงานได้ดีขึ้นด้วย เมื่อเทียบกับ Tensor G3

ส่วนคนที่คาดหวังกับความแรงด้านการประมวลผลทั่ว ๆ ไป หรือการเล่นเกม คงต้องไปรอลุ้นเอากับ Pixel 10 series ในปีหน้า เพราะตอนนี้แหล่งข่าวทุกสำนัก บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า Tensor G5 จะเป็นชิปที่กูเกิลออกแบบเองทั้งหมด ไม่คัสตอมมาจากชิป Exynos ของ Samsung เหมือนที่ผ่านมาอีกต่อไป

จุดสำคัญกว่านั้นคือ Tensor G5 จะถูกผลิตที่กระบวนการขนาด 3 นาโนเมตร พร้อมเปลี่ยนมือผู้ผลิตเป็น TSMC ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ทางสถาปัตยกรรม และในทางเทคนิคแล้ว ย่อมส่งผลให้ชิปมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิมในทุกแง่มุม

อ้างอิง : Geekbench | NanoReview