ยังคงมีแคมเปญโชว์ความถึกของ Redmi Note 7 ออกมาได้เรื่อยๆ โดยล่าสุดการทรมานเครื่องด้วยวิธีเดิมๆอาจจะดูไม่เร้าใจอีกต่อไป งานนี้ทาง Xiaomi เลยจัดหนักจับส่งออกไปนอกโลกแล้วปล่อยให้ตกลงมาซะเลย และแน่นอนว่าเมื่อตกถึงพื้นสภาพของมือถือนั้นยังเปิดติดใช้งานได้ปกติ แม้จะผ่านสภาพอุณหภูมิและแรงกดดันอันหฤโหดมาก็ตาม

หลายคนน่าจะได้เคยเห็นข่าวที่ CEO ของ Xiaomi ได้ทำการทดสอบความแกร่งของ Redmi Note 7 ว่ารุ่นนี้มันแข็งแรงมากๆ ด้วยกระจกหน้าจอ Gorilla Glass 5 ไม่ว่าจะกระโดดเหยียบ กลิ้งลงจากบันได ใช้เป็นเขียงหั่นผลไม้ ใช้ทุบแตงโม และทุ่มด้วยทุเรียน! มือถือก็ยังคงใช้ได้ปกติไม่เป็นไรเลย แต่ภารกิจส่ง Redmi Note 7 ออกไปนอกโลกนี้เรียกว่าเป็นคนละเรื่องกันเลย เพราะการทดสอบนี้ไม่ใช่เพียงแค่ต้องการให้เห็นถึงความทนต่อรอยขีดข่วนของหน้าจอและตัวเครื่อง Redmi Note 7 เท่านั้น แต่ยังทำให้เห็นถึงความทนทานต่อสภาพแวดล้อมอันหฤโหดต่างๆ ระหว่างการขึ้นไปท่องอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันที่มากมาย และอุณหภูมิอันหนาวเหน็บนั่นเอง


สำหรับคลิปที่มาที่ไปก่อนจะมาเป็นคลิปข้างต้น ทาง Lu Weibing, CEO ของ Redmi ได้ทำการโพสต์เพิ่มเติมลงบนช่องทาง Weibo ของเขา เผยให้เห็นขั้นตอนที่ Redmi Note 7 ถูกส่งขึ้นไปบนอวกาศโดยทำการยึดติดกับบอลลูน ลอยขึ้นไปตามชั้นบรรยากาศของโลก ถึงระดับความสูงที่ 35,375 เมตร ในความดันบรรยากาศ 1 KPa บอลลูนจึงแตกและดิ่ง Redmi Note 7 กลับมาบนพื้นโลกอีกครั้ง ซึ่งแม้ว่าตัวเครื่อง Redmi Note 7 จะดับลงไประหว่างภารกิจ แต่เมื่อตกลงมาก็สามารถเปิดใช้งานได้อีกครั้ง ส่วนภาพที่เก็บมาได้แม้ว่าจะไม่ได้มีอะไรพิเศษกว่าภาพถ่ายนอกโลกอะไร แต่แค่บทพิสูจน์ว่าตัวเครื่องราคาไม่กี่พันสามารถทนอุณหภูมิ -58 องศาเซลเซียสที่ระดับความสูงกว่า 31,000 เมตร ได้ ก็ถือว่าเทพโคตรๆแล้วล่ะ

สำหรับภาพที่ได้จาก Redmi Note7 นี้ได้ถูกเผยแพร่ลง Twitter ทางการของ Xiaomi ด้วย

อย่างไรก็ดีแม้ว่านี่จะไม่ใช่การส่งสมาร์ทโฟนขึ้นไปถ่ายภาพจากนอกโลกเป็นครั้งแรก แต่ที่ผ่านมาเป็นการส่งเฉพาะรุ่นเรือธงราคาแพงๆเท่านั้น เรายังไม่เคยเห็นการทดสอบกับสมาร์ทโฟนราคาไม่กี่พันแบบ Redmi Note 7 มาก่อน ก็ต้องบอกว่าอึดถึกทน สมฉายา “คิงคองน้อย” ที่ได้ถูกตั้งไว้เลย

**ข้อมูลเพิ่มเติมที่เป็น Fast Fact ของภารกิจนี้ ซึ่งทาง Xiaomi Thailand ได้ส่งมาให้

  • Redmi Note 7 จำนวน 5 เครื่อง ที่ถูกส่งขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศเป็นเครื่องที่วางจำหน่ายทั่วไป ไม่ได้มีการปรับแต่งหรือเสริมความทนทานใดๆ โดย 3 ใน 5 เครื่อง ที่ถูกส่งไปได้ถูกนำมามอบให้กับ Mi Fans ชาวอังกฤษอีกด้วย
  • บอลลูนตรวจอากาศที่ใช้ในการทดสอบจำนวน 1 ลูกในครั้งนี้ บรรจุแก๊สฮีเลียม ปริมาณเยอะถึง 8,500 ลิตร เพื่อขึ้นไปแตะชั้นบรรยากาศโลก
  • เครื่องโทรศัพท์ที่ใช้สำหรับถ่ายภาพถูกบรรจุไว้ในกล่องโฟม XPS ที่มีความหนาแน่นสูง ออกแบบขึ้นมาเป็นพิเศษสำหรับภารกิจครั้งนี้
  • มีการใช้งานแอปพลิเคชัน intervalometer สำหรับตั้งเวลาถ่ายภาพ ควบคุมจากระยะไกลในการบันทึกภาพทุก 10 วินาที
  • ภารกิจครั้งนี้ใช้เวลาทั้งสิ้น 2 ชั่วโมง 3 นาที โดยใช้เวลาในการลอยขึ้นไปผ่านชั้นบรรยากาศทั้งสิ้น 1 ชั่วโมง 27 นาที และใช้เวลาหล่นลงสู่พื้นดินทั้งสิ้น 36 นาที
  • ระยะทางตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดภารกิจ 193 กิโลเมตร
  • ภาพถ่ายโลกถูกถ่ายที่ชั้นความสูงประมาณ 35,100 เมตร ซึ่งมีสภาพอากาศ -55 องศาเซลเซียส
  • บอลลูนสำรวจอากาศสามารถขึ้นไปในชั้นบรรยากาศสูงถึง 35,375 เมตร ก่อนที่บอลลูนจะแตกและดิ่งลงพื้นด้วยอุปกรณ์ร่มชูชีพที่ติดไปกับบอลลูน โดยจุดที่มีอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ -58 องศาเซลเซียส
  • ไม่มีการชาร์จแบตเตอรี่เครื่องโทรศัพท์ตลอดระยะเวลาในการทำภารกิจ โดยหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจมีแบตเตอรี่เหลืออยู่ถึง 60% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอึดของแบตแม้จะถูกถ่ายรูปทุกๆ 10 วินาที ก็ตาม

ที่มา: gsmarena , xiaomi , Weibo