เปิดตัวกันไปสด ๆ ร้อน ๆ กับ Android 11 เมื่อช่วงเที่ยงคืนวันพุธที่ผ่านมา เพื่อน ๆ น่าจะได้ทราบถึงฟีเจอร์และความสามารถใหม่ ๆ ของมันกันไปแล้วในบล็อกสรุปรายละเอียดก่อนหน้านี้ โดยส่วนตัวผมเองมีโอกาสได้ใช้งาน Android 11 มาระยะหนึ่งแล้วตั้งแต่ช่วง beta ซึ่งจะมีอะไรเจ๋ง ๆ เด็ด ๆ เพิ่มเติมเข้ามาบ้าง สามารถติดตามได้ในบทความรีวิวนี้เลยครับ

การสนทนาได้รับการจัดหมวดหมู่ใหม่และเพิ่มฟีเจอร์ Bubbles

การปรับปรุงคุณสมบัติเกี่ยวกับการแชทดูจะเป็นอะไรที่เด่นชัดที่สุดบน Android 11 คือ ณ ตอนนี้การแจ้งเตือนด้านการสนทนาทั้งหมดจะถูกแยกออกเป็นหมวดหมู่ conversations เฉพาะของตัวเอง ไม่ปะปนกับการแจ้งเตือนทั่วไปที่จะอยู่ในหมวดหมู่ notifications ทำให้การแจ้งเตือนแต่ละแบบไม่ปะปนกัน ซึ่งการแจ้งเตือนจากแอปแชทจะอยู่ที่ด้านบนสุดเสมอ เพื่อให้เราสามารถโต้ตอบกับคู่สนทนาได้ง่ายและทันท่วงที


แบ่งหมวดหมู่การแจ้งเตือนอย่างชัดเจน ตอบกลับแชทได้ในทันทีจากตรงนี้โดยไม่จำเป็นต้องเปิดแอป

ทาง Google ให้เหตุผลว่า ทุกวันนี้เราคุยกันผ่านการแชทเยอะมาก และส่วนมากก็จะเป็นการคุยกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็จะมีการแจ้งเตือนเด้งขึ้นมาบ่อย ๆ ดังนั้น Google จึงได้ตัดสินใจที่จะให้ความสำคัญกับการแจ้งเตือนประเภทการสนทนาเป็นพิเศษ

ฟีเจอร์ใหม่ที่เรียกว่า Bubbles เป็นอีกหนึ่งทีเด็ดบน Android 11 ที่ Google ดูจะภูมิใจนำเสนอมาก ๆ ซึ่งอันที่จริงมันเป็นสิ่งที่ทาง Google ซุ่มพัฒนามานานแล้ว มีมาตั้งแต่ Android 10 beta แต่สุดท้ายมันได้ถูกตัดออกไปในภายหลัง

แม้ดูเผิน ๆ Bubbles จะไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากฟีเจอร์ Chat Heads ของทางแอป Messenger ที่ผู้ใช้งาน Android คุ้นเคยกันดีอยู่แล้วก็จริง แต่ฟีเจอร์ Bubbles นี้จะฝังมาในระดับ OS เลย จึงทำให้แอปแชทตัวอื่น ๆ สามารถนำคุณสมบัตินี้ไปใช้งานกับแอปของตัวเองได้ ตั้งค่าแยกแต่ละแชทได้ว่า จะให้การแจ้งเตือนไหนเป็น Bubbles บ้าง แต่แอปแชทยอดนิยมในบ้านเราอย่าง LINE ยังไม่สามารถใช้งานได้ ต้องรอการอัปเดตจากทางผู้พัฒนากันไปก่อน


เมนูการตั้งค่า Bubbles

หากสังเกตดี ๆ ในส่วนของรูปโปรไฟล์ของคู่สนทนาได้ถูกปรับให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อย และเราสามารถจัดลำดับความสำคัญของการแชทด้วยตัวเองได้อีกต่างหาก วิธีการก็ง่าย ๆ แค่แตะค้างไปยังการแจ้งเตือนของแชทที่เราต้องการ จากนั้นเลือก priority ก็จะเป็นการปักหมุดแชทนั้น ๆ เอาไว้ที่ด้านบนสุด อีกทั้งยังเป็นการเปิดใช้งานฟีเจอร์ Bubbles ไปในตัว รวมถึงสามารถแจ้งเตือนแม้จะอยู่ในโหมด Do Not Disturb ได้ด้วย


ซ้าย : รูปโปรไฟล์มีขนาดใหญ่ขึ้น / ขวา : เมนูการตั้งค่า priority

ปรับปรุงการควบคุมมีเดียและอุปกรณ์สมาร์ทโฮมให้รวมอยู่ในที่เดียว

สิ่งถัดมาที่ถูกปรับปรุงครั้งใหญ่บน Android 11 คือ ฟีเจอร์เกี่ยวกับการควบคุมสิ่งต่าง ๆ เริ่มจากการควบคุมมีเดีย (media) กันก่อน โดยในตอนนี้แผงมีเดียคอนโทรลจะถูกย้ายจากแถบการแจ้งเตือนขึ้นไปอยู่ที่ด้านบนร่วมกับแถบ Quick Settings แล้ว และไม่ว่าเราจะเล่นเพลงหรือวิดีโอจากแอปไหนก็ตาม แผงควบคุมทั้งหมดก็จะยังคงรวมกันอยู่ในที่เดียว ไม่ซอยแบ่งเป็นชั้น ๆ ซ้อนกันรก ๆ เหมือนอย่างที่แล้วมา แต่เราสามารถสลับการควบคุมแต่ละแอปได้อย่างรวดเร็วโดยการปัดซ้ายหรือขวา เช่น สลับไปมาระหว่าง Spotify กับ YouTube Music


สลับการควบคุมเพลงจากแต่ละแอปได้อย่างรวดเร็ว โดยการปัดซ้าย-ขวา


หน้าตามีเดียคอนโทรลโฉมใหม่ เรียบง่ายและดูดีขึ้นมาก

บริเวณมุมขวาบนของแผงควบคุมจะมีการแสดงผลอุปกรณ์ของเราที่กำลังเล่นเพลงอยู่ในขณะนั้น เช่น ถ้าฟังจากลำโพงเครื่องก็จะขึ้นว่า Phone speaker (ดังภาพด้านบน) พอเราแตะไปก็จะเข้าสู่หน้าต่างการควบคุมเสียงและการเชื่อมต่อ ตรงนี้เป็นอะไรที่สะดวกมาก ๆ สำหรับใครที่มีอุปกรณ์ฟังเพลงหลาย ๆ ชิ้น เช่น หูฟังไร้สาย ลำโพงไร้สาย และอุปกรณ์จำพวกสมาร์ทโฮมต่าง ๆ ที่รองรับการเล่นมีเดีย รวมทั้งสามารถปรับระดับเสียงจากตรงนี้ได้ในทันทีโดยที่ไม่ต้องไปปรับที่ตัวอุปกรณ์ให้วุ่นวาย


ลดขั้นตอนในการสลับอุปกรณ์ฟังเพลงลงอย่างมาก แถมยังควบคุมระดับเสียงของทุกอุปกรณ์ได้จากตรงนี้เลยด้วย

หน้าตาของพาวเวอร์เมนู (power menu) บน Android 11 เป็นจุดที่ได้รับการยกเครื่องครั้งใหญ่เหมือนกัน ย้ายเมนูทั้งหมดไปอยู่ที่ด้านบนสุด แล้วแทนที่ด้วยแผงควบคุมอุปกรณ์สมาร์ทโฮมและสมาร์ทดีไวซ์ สำหรับประเทศที่รองรับการจ่ายเงินด้วย Google Pay ก็จะปรากฏเมนูควบคุมบัตรเครดิต/เดบิตที่หน้าจอนี้ด้วยเช่นกัน ในส่วนของประเทศไทยก็อดไปตามระเบียบ

ยกระดับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว

การอนุญาตให้สิทธิการเข้าถึงเป็นสิ่งที่ Google พัฒนาและให้ความสำคัญมาโดยตลอด ในคราวนี้บน Android 11 ได้ทำให้มันรัดกุมและปลอดภัยยิ่งขึ้นด้วยการเพิ่ม one-time permissions หรือการให้สิทธิ์เพียงครั้งเดียวเข้ามาเป็นอีกหนึ่งในตัวเลือกการอนุญาต แต่ตัวเลือกนี้จะปรากฏให้เราเห็นก็ต่อเมื่อแอปมีการร้องขอสิทธิ์การเข้าถึง ไมโครโฟน กล้อง และการระบุตำแหน่ง แค่ 3 อย่างนี้เท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวและละเอียดอ่อนมากที่สุด


เมื่อแอปมีการร้องขอสิทธิ์ในการเข้าถึง ไมโครโฟน กล้อง และการระบุตำแหน่ง ก็จะปรากฏ pop-up แบบนี้ขึ้นมา

นอกจากนี้ แอปที่ไม่ได้ใช้งานมาเป็นเวลานานจะถูกรีเซ็ตสิทธิ์ในการเข้าถึงโดยอัตโนมัติ แต่คุณสมบัตินี้สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปคงยังไม่มีใครได้ทดลอง เนื่องจากจำเป็นต้อง “รอ” ให้เวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งก่อน ระบบถึงจะทำการรีเซ็ตสิทธิ์ในการเข้าถึงให้ ในส่วนนี้ Google ไม่ได้ระบุรายละเอียดถึงระยะเวลาที่ชัดเจน อย่างไรก็ดี จากวิดีโอเปิดตัว Android 11 เผยให้เห็นถึงการรีเซ็ตสิทธิ์ในการเข้าถึงของแอปที่ไม่ได้ใช้งานเป็นเวลา 3 เดือน

ฟีเจอร์และการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ที่น่าสนใจบน Android 11

บันทึกวิดีโอหน้าจอ – ฟีเจอร์ที่ชาว Android เรียกร้องกันมานานหลายปี ในที่สุดก็ได้เปิดให้ใช้อย่างเป็นทางการแล้ว สามารถเรียกใช้งานการบันทึกวิดีโอหน้าจอได้จากเมนู Quick Settings มีตัวเลือกการปรับแต่งเพียงแค่การแสดงจุดสัมผัสและการบันทึกเสียงเท่านั้น โดยสามารถเลือกได้ว่า จะบันทึกเสียงจากไมโครโฟน จากตัวเครื่อง จากทั้งสองอย่าง หรือไม่บันทึกเสียงเลยก็ได้


ฟีเจอร์บันทึกวิดีโอมีตัวเลือกการปรับแต่งหลัก ๆ เพียงแค่ 2 รายการ

ภายในการตั้งค่าจะไม่สามารถเลือกความละเอียดของวิดีโอได้ ซึ่งจากการทดสอบด้วย Pixel 4 XL ที่มีหน้าจอความละเอียด 1440 x 3040 พิกเซล วิดีโอที่บันทึกออกมาก็มีความละเอียดเท่ากัน จึงน่าจะสรุปได้ว่า มันจะบันทึกวิดีโอด้วยความละเอียดสูงสุดของหน้าจออุปกรณ์เสมอ ส่วนคุณภาพที่ออกมานั้นก็จัดว่าดีเยี่ยมเลยทีเดียว


บันทึกด้วยความละเอียดสูงสุดของหน้าจอเสมอ และคุณภาพที่ได้ก็สูงมาก

ประวัติการแจ้งเตือน – หรือในชื่อเดิมคือ notification log เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ได้ถูกเปิดให้ใช้งานอย่างเป็นทางการบน Android 11 แล้ว โดยผู้ใช้งาน Android หลาย ๆ คน น่าจะเคยพลั้งมือกด clear all ลบการแจ้งเตือนทั้งหมดทิ้งไป จนทำให้พลาดการแจ้งเตือนสำคัญ แต่ตอนนี้ไม่ต้องกังวลกับเรื่องดังกล่าวอีกต่อไป เพราะประวัติการแจ้งเตือนจะถูกเก็บไว้ในเครื่องให้เรียกดูทีหลังได้ แถมยังใช้แอบอ่านแชทได้โดยที่ไม่ต้องเข้าแอปอีกด้วยนะ (ฮา) แต่มีข้อจำกัดเล็กน้อย หากเป็นประโยคที่พิมพ์มายาว ๆ มันจะแสดงผลเป็น “You have a new message” แทน ไม่สามารถแอบอ่านได้


ดูประวัติการแจ้งเตือนย้อนหลังได้ละเอียดยิบ แต่จำกัดแค่ 24 ชั่วโมง สามารถเลือกเปิด-ปิดฟังก์ชั่นนี้ได้ตามใจ

Android Auto ไร้สาย – อุปกรณ์ Android 11 จะรองรับการเชื่อมต่อ Android Auto แบบไร้สาย เชื่อมต่อกับรถยนต์ได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว แต่ตัวอุปกรณ์ที่ใช้งานต้องรองรับ Wi-Fi 5 GHz นะครับ

Airplane mode ไม่ตัดการทำงานของ Bluetooth – การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ที่ถูกใส่เพิ่มเข้ามาบน Android 11 ในขณะที่มีการเชื่อมต่อหูฟังหรือเครื่องช่วยฟังอยู่กับอุปกรณ์ของเราผ่าน Bluetooth แล้วมีการเปิดใช้งานโหมดเครื่องบิน (airplane mode) ระบบจะไม่ตัดการทำงานของ Bluetooth ทำให้เราสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ถูกขัดจังหวะ

ปักหมุดแอปบน sharesheet – เราสามารถปักหมุดตัวเลือกปลายทางการแชร์ได้จากหน้าจอ sharesheet โดยการกดค้าง เพิ่มความสะดวกในการแชร์คอนเทนต์ไปยังแอปที่เราใช้งานบ่อย ๆ


แชร์คอนเทนต์ผ่านแอปไหนบ่อย ๆ ก็ปักหมุดลงไปเลย

Icon shape – บน Android 11 มีการเพิ่ม icon shape เข้ามาอีก 3 รูปแบบ ได้แก่ pebble, vessel และ cropped แต่ดูเหมือนว่า รูปแบบ square ที่เคยมีจะหายไปแล้ว


มี  icon shape เพิ่มเข้ามาใหม่ 3 รูปแบบ

แม้ว่า Android 11 ในภาพรวมไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ อะไร โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นการนำเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาและปรับปรุงให้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้น เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น แต่เมื่อได้ลองใช้งานจริงมาสักพักแล้วก็ต้องบอกว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ Android น่าใช้ขึ้นมากอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว สำหรับใครกำลังสงสัยว่า สมาร์ทโฟนที่กำลังถืออยู่ในมือของตัวเองจะได้รับอัปเดตเป็น Android 11 รึเปล่า ? ก็สามารถดูรายละเอียดได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้ได้เลย

เผยรายชื่อมือถือกว่า 100 รุ่น ที่คาดว่าจะได้รับการอัปเดต Android 11 ในอนาคต