เห็นราคาแล้วถึงกับตกใจ ปกติแล้วโน้ตบุ๊คที่เป็น ซีรีส์ ZenBook จะถือเป็นตัวพรีเมียมราคาสามสี่หมื่นอัพ แต่คราวนี้ ASUS ได้เปิดตัวเจ้า ZenBook Flip 14 UM462DA ที่เป็นโน้ตบุ๊ค 2-in-1 หน้าจอสัมผัส พับได้ 360 องศา ดีไซน์แบบใหม่ ขอบจอบางทั้ง 4 ด้าน น้ำหนักเบาเพียง 1.4 กิโล สเปคก็ถือว่าใช้ได้ มีปากกาให้พร้อม โดยตัวราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ 19,990 บาทเท่านั้น

สเปคเบื้องต้น

  • CPU : AMD Ryzen 5 3500U / AMD Ryzen 7 3700U
  • GPU : AMD Radeon RX Vega 8 / Vega 10 (On Board)
  • Ram : 8 GB DDR4, 2400 MHz (On Board)
  • Storage :  SSD m.2 PCIe ขนาด 512 GB
  • Display : จอสัมผัส 14 inch (1920×1080) Full HD IPS 60 Hz
  • Network : Wi-Fi 802.11 ac (2×2) Bluetooth 4.2
  • Interface : COMBO audio jack, USB 3.1 Type-A, USB 3.1 Type C, USB 2.0 Type A และ HDMI
  • Weight : 1.40 Kg
  • Warranty : 2 Years
  • OS : Windows 10 Home
  • Price : 19,990 บาท (Ryzen 5) / 22,990 บาท (Ryzen 7)

ดีไซน์ตัวเครื่อง

ตัวเครื่องที่ทีมงานได้มารีวิวนั้นจะเป็น ASUS ZenBook Flip 14 UM462DA ที่เป็นรุ่นท็อปใช้ซีพียูเป็น Ryzen 7 ซึ่งดีไซน์ทั้งตัว Ryzen 5 และ Ryzen 7 จะเหมือนกันต่างกันแค่สติ๊กเกอร์ เรามาเริ่มกันดูจากวัสดุบอดี้ตัวเครื่องกันก่อน ทั้งหมดเป็นอะลูมิเนียมผิวด้าน สีไม่เป็นรอยนิ้วมือง่าย สัมผัสได้ถึงความพรีเมียมที่สมกับเป็นซีรีส์ ZenBook แต่ฝาหลังไม่ได้มีลายเป็นวงๆ เหมือนรุ่นก่อนซึ่งดูแล้วรุ่นนี้เน้นความเรียบง่ายเสียมากกว่า

แกนฝาพับตัวเครื่องจะเป็นลักษณะสี่เหลี่ยม 2 แกนพับได้ 360° ซึ่งทาง ASUS เคลมไว้ว่าตัวเครื่องผ่านการทดสอบ US Military-Grade (MIL-STD-810G) สามารถเปิดปิดบิดพับหน้าได้มากกว่า 20,000 ครั้ง จะเปิดปิดหมุนพับบ่อยๆ ได้ไม่ต้องกลัวพัง พร้อมมียางรองแบบ ErgoLift ไว้สำหรับยกตัวเครื่องให้สูงขึ้นทำมุม 135° เพื่อช่วยให้ข้อมือเวลาพิมพ์อยู่ในลักษณะที่ถูกต้องและใช้ในเรื่องของการระบายความร้อนอีกด้วย

คีย์บอร์ดตัว ASUS ZenBook Flip 14 จะให้มาแบบเป็นไซต์มาตรฐานตามหน้าจอ 14 นิ้ว ไม่มี numpad มีไฟ Backlit สีขาวปรับได้ 3 ระดับ ทัชแพทก็จะอยู่ด้านล่างคีย์บอร์ดมีปุ่มคลิกซ้ายคลิกขวาเป็นแบบซ่อนปุ่ม ใช้งานมัลติทัชได้ลื่นไหลปกติไม่มีปัญหา

ทางหน้าหน้าจอสังเกตว่าตัวเครื่องทำมาเป็น NanoEdge หรือขอบจอบางทั้งสี่ด้าน ทำให้มีสัดส่วนพื้นที่หน้าจอถึง 90% ของพื้นที่ทั้งหมด พร้อมกับมีกล้อง IR ที่ใช้สำหรับปลดล็อคหน้าจอผ่านใบหน้าได้ (สังเกตไฟสีแดง) โดยรวมแล้วลักษณะการดีไซน์เจ้า ASUS ZenBook Flip 14 รุ่นใหม่นี้ถือว่าทำได้ดีเลย ทั้งงานประกอบที่แข็งแรงและดีไซน์ที่เรียบง่าย แต่ตัวเครื่องด้านข้างอาจจะหนาไปสักนิด

พอร์ตเชื่อมต่อ

พอร์ตเชื่อมต่อ ASUS ZenBook Flip 14 ให้มาแบบพอดีๆ คือด้านขวาตัวเครื่องจะมี Micro SD Card, USB 2.0 Type-A, Headset 3.5 mm, ไฟแสดงสถานะ และปุ่มเปิดปิดเครื่อง ส่วนทางด้านซ้ายก็จะมี ช่องเสียบสายชาร์จ, HDMI, USB 3.1 Type A และ USB 3.1 Type C 3.1 แอบเสียดายนิดๆ ที่ตัวเครื่องไม่มีพอร์ต Lan มาให้ เพราะอุตส่าห์ทำเครื่องหนามาแล้วน่าจะใส่มาให้สักหน่อย

แกะเครื่อง / การอัปเกรด

 ASUS ZenBook Flip 14 เห็นเครื่องหนาแบบนี้ใช่ว่าจะแกะง่าย ถ้าจะแกะต้องแงะยางรองด้านหลังฝั่งแกนฝาพับออก 2 ตัวด้วย ซึ่งหากใครจะแกะทำความสะอาดหรืออัปเกรดต้องค่อยๆ ทำใจเย็นๆ นะครับ โดยตัวเครื่องจะสามารถอัปเกรดได้แค่ SSD m.2 เท่านั้น คือถอดอันเก่าออกใส่อันใหม่เข้าไป ส่วน Ram ฝังบอร์ดอยู่แล้ว 8GB ไม่สามารถใส่เพิ่มได้

การระบายความร้อน ASUS ZenBook Flip 14 มีพัดลมระบายความร้อน 1 ตัว ฮีทไปป์เส้นใหญ่ 1 เส้น แบตเตอรี่ใช้ขนาด 3,550 mAh ลำโพงอยู่ด้านล่างซ้ายขวา ซึ่งใช้การจูนเสียงของ Harman/Kardon ด้วย

ทดสอบประสิทธิภาพ

ด้วย ASUS ZenBook Flip 14 เป็นโน้ตบุ๊ค 2-in-1 ทำให้สามารถใช้งานได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นโน้ตบุ๊คโน้ตบุ๊คธรรมดา, พับเป็นแท็บเล็ต หรือตั้งสแตนด์ไว้วาดรูป โดยตัวปากกา ASUS Pen จะใช้ถ่าน AAAA 1 ก้อน (แถมมาให้เลย) รองรับการเขียนและวาดภาพได้ดีระดับหนึ่ง ซึ่งรองรับแรงกดได้สูงสุด 1,024 ระดับ

สเปค CPU ด้านในตัวเครื่อง ASUS ZenBook Flip 14 รุ่นที่ทีมงานได้มารีวิวจะใช้เป็น Ryzen 7 3700U ความเร็ว 2.30 – 4.00 Ghz แบบ 4 Core/ 8 Thread ขนาด 12nm TDP 15w การ์ดจอออนบอร์ดใช้เป็น AMD Radeon RX Vega 10 ส่วน Ram ตัวเครื่องจะเป็น On Board 8 GB (ใส่เพิ่มไม่ได้) และ SSD m.2 NVMe ใช้ของ WDC PC SN520 ขนาด 512 GB ด้วยกัน

ทดสอบความเร็วของ SSD m.2 512 GB ได้ค่า Read อยู่ที่ 1742.6 MB/s และ Write อยู่ที่ 1458.0 MB/s ถือว่าค่อนข้างแรงในเลยทีเดียวทั้งอ่านและเขียน ส่วนความจุจาก 512 GB จะสามารถใช้งานได้สูงสุด 476 GB

ทางด้านระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ ทีมงานทดสอบโดยการต่อ Wifi ดู YouTube ปรับแสงหน้าจอระดับกลาง เปิดโหมดประหยัดพลังงาน ผลปรากฏว่าสามารถใช้งานได้สูงสุดอยู่ที่ 7 ชั่วโมง 16 นาที

คราวนี้มาทดสอบเล่นเกมกับบ้างโดยทีมงานได้ทำการทดสอบเล่นเกม DOTA 2 โดยปรับตั้งค่าแบบ Normal ผลเป็นดังนี้คือ ค่า FPS เฉลี่ยอยู่ที่ 51 ต่ำสุด 31 สูงสุด 73 ซึ่งถือว่าการ์ดจอออนบอร์ดตัว Vega 10 สามารถทำได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ถ้าหากปรับกราฟิกสูงกว่านี้ก็ไม่ไหวเหมือนกัน

หลังจากที่ทดสอบเล่นเกมไปยาวๆ 2 ชั่วโมงติด มาดูที่อุณหภูมิตัวเครื่อง ASUS ZenBook Flip 14 กันบ้าง จะเห็นว่าซีพียูวิ่งไปสูงสุดอยู่ที่ 87 องศา (การ์ดจอเป็นออนบอร์ดตัวเดียวกับซีพียู) การระบายความร้อนสามารถทำได้ดีเลยทีเดียว ด้วยซีพียู Ryzen ใหม่ขนาด 12 nm พัดลม 1 ตัว ฮีทไปป์ 1 เส้น ใครที่ติดภาพว่า AMD ร้อนนี่ควรลบภาพเดิมๆ ทิ้งไปได้แล้วครับ ส่วนบอดี้ตัวเครื่องจะร้อนขึ้นบริเวณฝั่งด้านบนซ้ายคีย์บอร์ดนิดหน่อยเวลาใช้งานหนักๆ นานๆ (เรื่องปกติของบอดี้โลหะ)

สรุป

ตลอดระยะเวลาการใช้งาน ASUS ZenBook Flip 14 ส่วนตัวถือว่าค่อนข้างประทับใจเลยทีเดียว ทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพเครื่อง อายุการใช้งานแบต และการพกพาไปไหนมาไหน ทุกอย่างดูลงตัวไปหมด สเปคที่ให้ก็ไม่เลวเลยที่ได้ทั้ง Ryzen 7 3700U รุ่นใหม่ขนาด 12 nm ทำให้กินไฟน้อยลงและมีความร้อนลดลงด้วย ส่วน Ram ก็ให้มา 8GB กับ SSD m.2 512GB เพียงพอต่อการทำงานทั่วไปเหลือๆ หรือจะเอามาเล่นเกมเบาๆ ก็สามารถทำได้โอเคเหมือนกัน

ในเรื่องของอายุการใช้งานแบตก็เปิดดู YouTube ได้ยาวๆ ระดับ 7 ชั่วโมงขึ้นไป อะแดปเตอร์ไฟก็มีขนาดเล็กบวกกับตัวเครื่องน้ำหนักแค่ 1.4 กิโล ทำให้พกพาไปทำงานที่ไหนก็สะดวก และที่สำคัญคือโน้ตบุ๊ครุ่นใหม่ๆ มี Windows 10 แท้ติดมากับเครื่อง ไม่ต้องไปจ้างร้านลงหรือซื้อเพิ่ม เปิดใช้งานกดติดตั้งนิดหน่อยใช้งานได้ทันทีไม่ยุ่งยากอะไร

นอกจากนี้การใช้งานเรื่องของหน้าจอสัมผัสก็สามารถทำได้ดี ลื่นไหลแทบไม่ต่างกับหน้าจอมือถือในปัจจุบัน คีย์บอร์ดเวลาพิมพ์งานเร็วๆ ก็มันมือใช้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ASUS ZenBook Flip 14 ก็ยังพอมีข้อสังเกตอยู่บ้านคือในเรื่องของความหนาส่วนตัวมองว่าตัวเครื่องอาจจะหนาไปสักหน่อย บาลานซ์เครื่องยังทำได้ไม่ค่อยดีนัก กับเรื่องหน้าจอกระจกเวลาใช้งานที่แสงเยอะจะสะท้อนหน้าจอเยอะไปหน่อย

และหากใครที่สงสัยว่า ASUS ZenBook Flip 14 มี 2 รุ่น จะซื้อรุ่นไหนดีระหว่างตัว Ryzen 5 3500U กับ Ryzen 7 3700U ส่วนตัวทีมงานแนะนำตัว Ryzen 5 3500U ก็พอ เพราะสเปค Ram, SSD และอื่นๆ เท่ากันหมดมีปากกาให้เหมือนกัน จุดแตกต่างจริงๆ คือ การ์ดจอออนบอร์ด APU Vega 8 กับ Vega 10 (ต่างกันเรื่องเล่นเกม) และคล็อคสปีดของซีพียูนิดหน่อยเท่านั้นครับ

จุดเด่น

  • บอดี้อะลูเนียมทั้งตัวเครื่อง งานประกอบทำได้แน่น แข็งแรงดีมาก
  • หน้าจอสัมผัสทัชได้ลื่นไหล และรองรับมัลติทัช
  • ซีพียูเป็น Ryzen ตัวใหม่ 12 nm ความร้อนน้อยลง ประหยัดไฟขึ้น
  • ความจุตัวเครื่องให้เป็น SSD m.2 PCIe 512GB เหลือๆ และอ่านเขียนแรงใช้ได้
  • มีระบบ IR Camera สแกนใบหน้าปลดล็อคหน้าจอ
  • น้ำหนักเบา 1.4 กิโลกรัม
  • ลำโพงใช้การจูนเสียง Harman Kardon ให้คุณภาพเสียงที่ดี
  • แบตเตอรี่ถึก ใช้ดู YouTube ได้นานเกิน 7 ชั่วโมง

ข้อพิจารณา

  • ตัวเครื่องค่อนข้างหนา และบาลานซ์เครื่องยังทำได้ไม่ค่อยดีนัก
  • ไม่สามารถอัปเกรด Ram เพิ่มได้
  • หน้าจอเป็นแบบกระจกทำให้จอสะท้อนแสงเวลาใช้งานที่สว่างๆ (แก้ได้โดยการติดฟิล์มด้าน)