จากที่ กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับ KBank เปิดตัวแอปฯ หมอ กทม. เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนไข้ที่เข้ารับบริการตามโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 11 แห่ง โดยมีฟีเจอร์ทั้งการรับคิวตรวจ, บันทึกใบนัดหมาย, ปรึกษาแพทย์ผ่านวิดีโอคอลล์ หรือจะเป็นการเรียกรถฉุกเฉินมารับได้อย่างแม่นยำด้วยการกดแค่จึ๊กเดียว ซึ่งหากใครอยากรู้ว่าแอปฯ นี้จะทำอะไรได้บ้าง วันนี้เราก็ขอเอามารีวิวให้ดูกันครับ
แอปฯ หมอ กทม.เป็นแอปฯ ที่ทางกรุงเทพมหานครอยากจะให้เข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหาความแออัดเวลาที่เราต้องไปรอคิวตรวจในโรงพยาบาล พร้อมช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องอื่น ๆ ด้วย จึงได้ชวน KBank ที่มีประสบการณ์ในการนำดิจิตัลเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับให้บริการของสาธารณสุขกับโรงพยาบาลรัฐหลาย ๆ แห่งมาร่วมกันพัฒนา โดยการใช้งานแอปฯ นี้นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกจากการใช้บริการของโรงพยาบาลแล้ว มันยังสามารถเชื่อมข้อมูลต่างๆ ระหว่างโรงพยาบาลกับคนไข้ เช่น ประวัติการรักษา, การรับ-จ่ายยา, ระบบชำระเงิน ฯลฯ ให้เป็นระบบเดียวกัน เพื่อที่เราจะได้ใช้ข้อมูลนี้ได้เมื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น ๆ ได้ง่าย โดยไม่ต้องเสียเวลามาขอประวัติซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วย
สำหรับการใช้งานของผู้ป่วยใหม่ที่เพิ่งใช้งานแอปฯนี้เป็นครั้งแรก จะต้องมี HN หรือเลขประจำตัวผู้ป่วยของโรงพยาบาล และจะต้องมีการทำ consent กับโรงพยาบาลที่เวชระเบียนซะก่อน โดยสามารถลงทะเบียนด้วยหมายเลขบัตรประชาชนและเบอร์มือถือ พร้อมเลือกโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ที่มีอยู่ทั้งหมด 11 แห่ง ก็คือเราอยู่ใกล้หรือสะดวกใช้บริการโรงพยาบาลไหนก็เลือกเอาโรงพยาบาลนั้นได้เลยครับ
รายชื่อโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร
- โรงพยาบาลกลาง
- โรงพยาบาลตากสิน
- โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
- โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ
- โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์
- โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร
- โรงพยาบาลราชพิพัฒน์
- โรงพยาบาลสิรินธร
- โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน
- โรงพยาบาลคลองสามวา
- โรงพยาบาลบางนากรุงเทพมหานคร
หน้าจอหลัก
เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยแล้วก็จะเข้าสู่หน้าหลักของแอปฯ ซึ่งจะมีตัวเลือกสำหรับใช้งานด้านต่าง ๆ มีทั้ง ข้อมูลส่วนตัว ที่เราควรจะเข้าไปกรอกซะก่อน เพื่อที่ข้อมูลดังกล่าวจะได้เป็นข้อมูลเบื้องต้นเพื่อใช้เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมาแล้วต้องไปใช้บริการจากโรงพยาบาล ก็จะสามารถดึงข้อมูลของเรามาได้เลย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของผู้ติดต่อ, ที่อยู่, อาหาร / ยาที่แพ้, โรคประจำตัว เป็นต้น
รายการหลัก
หัวข้อ รายการหลัก ก็จะเป็นตัวเลือกสำหรับการใช้งานต่าง ๆ ของแอปฯ หมอ กทม. ก็จะมีทั้ง…
- การลงทะเบียนตรวจรักษา : ในตัวเลือกนี้เราสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการตรวจได้ตั้งแต่ที่บ้านเลย ว่าต้องการรับบริการด้านไหน ไม่ว่าจะเป็นอายุรกรรมทั่วไป, ตา หู คอ จมูก, โรคเลือด / มะเร็ง, ตรวจสุขภาพ ฯลฯ นอกจากนี้ยังเลือกได้อีกว่าจะนำผู้ป่วยไปด้วยวิธีไหน เดินมาเองได้, ต้องอุ้ม, ต้องใช้รถเข็น หรือรถนอน เมื่อตอนที่มาถึงโรงพยาบาลแล้วทางเจ้าหน้าที่จะได้จัดเตรียมอุปกรณ์เอาไว้ให้นั่นเองครับ
- ตรวจสอบสิทธิ์ : บอกข้อมูลของสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลที่เราสามารถใช้ได้ อย่างเช่น สิทธิ์ประกันสังคม สิทธิ์บัตรทอง สิทธิ์ข้าราชการ เป็นต้น
- ตรวจสอบรายการนัดหมาย : แจ้งเตือนการนัดหมายและกดรับรหัสรับบริการในแอปฯ โดยผู้ป่วยไม่ต้องห่วงว่าจะทำใบนัดหายแล้วจำวันที่ที่ต้องมาหมอไม่ได้ เพราะสามารถเปิดดูจากแอปฯ ได้ทันที และในแอปฯ ก็ยังแจ้งเตือนว่าเรามีนัดหมายอีกด้วย
- ตรวจสอบสถานะคิวตรวจ : แจ้งลำดับสถานะของการรอรับบริการและขั้นตอนการใช้บริการในโรงพยาบาลโดยจะมีโชว์ในแอปฯ ซึ่งเราสามารถดูได้เลยว่าตอนนี้ถึงคิวที่เท่าไหร่แล้ว หากยังไม่ถึงคิวเราจะออกไปเข้าห้องน้ำ หรือออกไปซื้อของ ข้างนอกฆ่าเวลาไปก่อนก็ได้ พอใกล้ ๆ ถึงคิวค่อยเดินกลับเข้ามา ไม่ต้องนั่งรอนาน ๆ หน้าห้องตรวจเหมือนเดิม ช่วยลดความแออัดบริเวณหน้าห้องตรวจลงไปได้ เหมาะสุด ๆ กับสถานการณ์ในช่วงนี้
- ชำระเงิน : จะบอกข้อมูลว่าที่เรามารับบริการในวันนี้จะต้องชำระค่าบริการเท่าไหร่บ้าง โดยสามารถเลือกชำระผ่าน K PLUS, โอนเงินผ่าน Thai QR Code หรือจะเลือกชำระด้วยบัตรเครดิต / บัตรเดบิต ผ่านทางแอปฯ หมอ กทม. ก็ได้
สำหรับฟีเจอร์การชำระเงินจะเปิดให้เริ่มใช้ได้ช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งฟีเจอร์นี้ทาง KBank พัฒนาขึ้นเพื่อให้ตอบโจทย์ยุค Cashless Society เพื่อเลี่ยงการสัมผัสเงินสดนั่นเอง
- Tele-medicine : หรือบริการตรวจรักษาด้วยระบบโทรเวชกรรม ตัวเลือกนี้จะเป็นการพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาผ่านวิดีโอคอลล์ ฟีเจอร์นี้จะเป็นการทำงานร่วมกับแอปฯ MorBMA ที่มีการให้บริการอยู่แล้ว (โหลดจาก Google Play Store / App Store ได้เลย) ซึ่งการใช้งาน Tele-medicine ทางแพทย์จะเป็นคนวิดีโอคอลล์ไปหาคนไข้ตามที่ได้นัดเวลากันเอาไว้ (จะมีรหัสยืนยันก่อนเข้าวิดีโอคอลล์ด้วย) โดยฟีเจอร์นี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ต้องรักษาต่อเนื่องและต้องให้แพทย์ติดตามอาการในกรณีที่ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง จะได้ไม่ต้องออกจากบ้านเพื่อไปโรงพยาบาลเอง และหลังจากนั้นสามารถเลือกรับยาทางไปรษณีย์ หรือร้านขายยาใกล้บ้านได้เลยด้วย
- แจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน : ที่เป็นปุ่มแดง ๆ มีรูปรถพยาบาล อันนี้ถ้าไม่ฉุกเฉินจริงอย่าไปโดนเข้านะครับ เพราะเมื่อกดแล้วมันจะส่งข้อมูลของคนไข้พร้อมตำแหน่งไปที่ศูนย์เอราวัณเพื่อสอบถามและประเมินอาการเบื้องต้น หากจำเป็นก็จะส่งรถมารับคนไข้ทันที ซึ่งคราวนี้ไม่ต้องคอยนั่งบอกทางให้วุ่นวายแล้ว เพราะแอปฯ นี้จะระบุพิกัดของผู้ใช้งานได้เลย โดยมันจะทำงานร่วมกับ Google Maps นั่นเองครับ
ประวัติการรักษา
ในหัวข้อ ประวัติการรักษา จะเป็นข้อมูลที่เราเคยได้รับบริการหรือรับการรักษาก่อนหน้านี้ ซึ่งจะถูกบันทึกเอาไว้ในฐานข้อมูลของโรงพยาบาลด้วย เพิ่มความสะดวกสบายในการเข้ารับบริการครั้งต่อไป เพราะบุคลากรทางการแพทย์จะสามารถเรียกดูได้เลยว่าเราเคยผ่านการวินิจฉัยโรคอะไรมาบ้างก่อนหน้านี้ แถมตัวเราเองก็จะได้เข้ามาดูได้ว่าเคยกินยาอะไรไปบ้าง, เคยผ่าตัดตรงไหน, เคยเป็นโรคอะไรมาก่อน ฯลฯ
และทั้งหมดนี้ก็คือฟีเจอร์หลัก ๆ ของแอปฯ หมอ กทม. ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้บริการกับโรงพยาบาลภายใต้สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ทั้ง 11 แห่ง นอกจากนี้ยังเพิ่มความปลอดภัยในกรณีที่เราต้องการเข้ารับบริการจากโรงพยาบาลอื่น ๆ ที่เรายังไม่เคยมีประวัติด้วย เพราะบุคลากรทางการแพทย์จะสามารถเรียกดูข้อมูลทางด้านสุขภาพของเราได้จากฐานข้อมูลระเบียนสุขภาพส่วนบุคคล (Personal Health Record) ได้เลยนั่นเอง…เป็นแอปฯ ที่แนะนำว่าควรมีติดเครื่องเอาไว้เพราะมันจะช่วยได้มากเลยล่ะ เวลาที่เราต้องรับบริการทางการแพทย์ทั้งแบบฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉิน
สามารถดาวน์โหลดมาติดตั้งกันได้แล้ววันนี้ผ่าทาง Google Play Store สำหรับระบบ Android และ App Store สำหรับระบบ iOS ครับ
Comment