ย้อนกลับไปในปี 2019 ที่ Google Pixel Buds 2 ที่เปิดตัวไปพร้อมกับ Google Pixel 4 และ 4 XL จนถึงช่วงกลางปี 2020 ที่เริ่มวางขายกัน และผมก็เป็นคนหนึ่งที่อยากจะซื้อมาลองใช้เหมือนกัน แต่ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันทำให้การหามาใช้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายซักเท่าไร จนในที่สุดเจ้า Google Pixel Buds 2 ก็ได้เดินทางมาจนถึงมือของผมที่พร้อมจะหยิบมารีวิวให้ได้อ่านกันแล้ว

ถ้าเข้าไปดูในหน้าเว็ป Google Store ก็จะเห็นว่าตัวนี้มีชื่อเป็น Pixel Buds แต่ส่วนใหญ่จะเรียกกันว่า Pixel Buds 2 เพราะก่อนหน้านี้ทาง Google เคยทำหูฟังไร้สายแบบมีสายคล้องคอโดยใช้ชื่อว่า Pixel Buds เหมือนกัน (ไม่รู้ว่าทำไมถึงใช้ชื่อเดิมให้ชวนสับสน) และสำหรับ Pixel Buds 2 ตัวนี้ก็ได้พัฒนาจากแบบมีสายคล้องคอมาเป็น True Wireless เหมือนกับหูฟังตัวอื่นๆที่นิยมกันในปัจจุบันเป็นที่เรียบร้อยในราคา $179

รูปร่างหน้าตา

ตัวกล่องจะมีขนาดเล็กกระทัดรัดที่ออกแบบตามสไตล์ของ Google Pixel โดย Pixel Buds จะมีสีให้เลือกระหว่าง Clearly White, Oh So Orange, Quite Mint และ Almost Black ซึ่งตัวที่ผมสั่งมาใช้นั้นจะเป็นสี Clearly White

โดยข้างในกล่องจะประกอบไปด้วย กล่อง + หูฟัง Pixel Buds, สาย USB-C to USB-A, จุกหูฟัง (Eartip) สำหรับเปลี่ยน และคู่มือการใช้งาน

ตัวกล่องใส่หูฟังจะมีขนาดกว้าง 4.7cm สูง 6.3cm และหนา 2.5cm เป็นรูปทรงวงรีเหมือนไข่ มีขนาดเล็กกระทัดรัดพกพาได้ง่าย สามารถใช้นิ้วโป้งดันเพื่อเปิดได้เหมือนกับหูฟัง True Wireless ตัวอื่นๆ และก็จะเจอกับหูฟังทั้ง 2 ข้างที่ถูกเก็บไว้อยู่ข้างในกล่อง ซึ่งน้ำหนักรวมกันระหว่างกล่องและตัวหูฟังจะอยู่ที่ 66.6g ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆไม่ได้หนักหรือเบาจนเกินไป

จะเห็นว่าหูฟังของ Pixel Buds ถูกออกแบบมาให้เก็บไว้ในกล่องที่เป็นรูปทรงไข่ได้อย่างเต็มพื้นที่ เพราะใช้ประโยชน์จากตัวหูฟังที่เป็นรูปทรงวงกลม ทำให้ไม่มีพื้นที่เสียเปล่าข้างในกล่องเลย โดยที่ตัวกล่องจะมีไฟบอกสถานะในการชาร์จไฟให้ด้วย โดยที่ตัวหูฟังจะใช้ตัวขับเสียงขนาด 12mm และรองรับการเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth ได้ตั้งแต่ Bluetooth 4.0 ไปจนถึง Bluetooth 5.0

เมื่อหยิบหูฟังออกมาจากตัวกล่องก็จะเห็นว่าบนผิวของตัวหูฟังทั้ง 2 ฝั่งจะมีการสลักให้เป็นร่องลึกลงไปให้เป็นโลโก้ตัว G ของ Google ที่จะหันออกไปด้านนอกของใบหูเมื่อสวมใส่ โดยทั้ง 2 ข้างจะมีน้ำหนักรวมกันอยู่ที่ 5.3g ด้วยน้ำหนักเพียงเท่านี้จึงไม่ได้มีผลต่อความรู้สึกตอนสวมใส่มากนัก และสามารถกันน้ำกับเหงื่อได้ที่ระดับ IPX4

และที่ด้านหลังของหูฟังหรือด้านที่หันเข้าใบหูของเราจะมีก้านยางที่ยื่นออกมาจากตัวหูฟัง ซึ่งเรียกว่า Wing Tip เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของ Pixel Buds ที่จะช่วยให้การสวมใส่มีความแน่นพอดีกับใบหูของเรามากขึ้น โดยไม่รู้สึกอึดอัดใบหูหรือกลัวว่าหูฟังจะหลุดออกจากหูได้ง่าย

ส่วนด้านข้างของตัวหูฟังจะมีช่องสำหรับไมโครโฟนที่ใช้เทคนิค Beamforming เพื่อโฟกัสการรับเสียงจากผู้สวมใส่เป็นหลัก และมี Accelerometer ที่คอยตรวจจับการเคลื่อนไหวจากการขยับกรามเวลาพูด เพื่อให้ได้เสียงพูดของผู้สวมใส่ที่คมชัด ลดเสียงรบกวนจากรอบข้างให้น้อยลง

ที่ขาดไปไม่ได้คือเซ็นเซอร์ตรวจจับด้วยอินฟราเรด ซึ่งจะช่วยให้หูฟังเล่นเสียงหรือเพลงได้ทันทีที่ผู้ใช้สวมใส่ และจะหยุดเล่นเสียงทันทีที่ถอดออก โดยเซ็นเซอร์ตัวดังกล่าวจะอยู่ที่ด้านข้างตัวหูฟังเช่นกัน และ Eartip หรือจุกหูฟังที่ใส่มากับตัวหูฟังในตอนแรกจะเป็นไซส์ M แต่สามารถเปลี่ยนเป็นไซส์ S หรือ L ก็ได้เพื่อให้พอดีกับรูหูของเรา (สำหรับผู้ชายทั่วไปแบบผม ไซส์ M กำลังพอดี)

ส่วนกล่องเก็บหูฟังจะมีผิวเป็นยางแข็ง (แบบเดียวกับ Wireless Charging Stand ของ Pixel 3 เลย) รองรับการชาร์จผ่านสาย USB C และไร้สาย (Qi Certified) มีช่องเสียบสาย USB C ที่ข้างล่างตัวกล่อง และเหนือขึ้นไปด้านหลังจะมีปุ่มสำหรับเริ่มการเชื่อมต่อ Bluetooth กับอุปกรณ์อื่นๆ

แอป Google Pixel Buds

จริงๆแล้ว Pixel Buds นั้นสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆได้เหมือนหูฟังไร้สายทั่วๆไป แต่ถ้าอยากจะใช้ความสามารถของ Pixel Buds ให้คุ้มค่าที่สุดก็ต้องเชื่อมต่อ Android เพราะจะมีแอป Google Pixel Buds ให้ดาวน์โหลดเพื่อใช้งานร่วมกับ Pixel Buds โดยเฉพาะ

โดยเราจะสามารถควบคุมการทำงานด้วยการแตะบนพื้นตรงโลโก้ตัว G ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการแตะครั้ง 1 ครั้งเพื่อเล่น/หยุดเพลง, 2 ครั้งเพื่อเปลี่ยนเป็นเพลงถัดไป หรือ 3 ครั้งเพื่อย้อนกลับไปเล่นเพลงก่อนหน้า และการปัดไปข้างหน้าหรือข้างหลังเพื่อเพิ่ม/ลดระดับเสียง นอกจากนี้ยังสามารถแตะค้างเพื่อเรียก Google Assistant (Android 6.0 ขึ้นไป) หรืออ่านข้อความใน Notification ได้อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งได้เองตามใจชอบ

แต่สำหรับ EQ หรือ Equalizer จะปรับได้แค่ Bass Boost เพื่อเพิ่มเบสให้หนักขึ้น กับ Adaptive Sound เพื่อให้หูฟังปรับระดับเสียงตามเสียงจากสภาพแวดล้อม

นอกจากนี้ก็จะมีฟีเจอร์ Attention Alerts ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการทดสอบ (สามารถเปิดใช้งานได้) ที่จะช่วยลดระดับเสียงให้อัตโนมัติเวลาที่ได้ยินเสียงเด็กร้องไห้, หมาเห่า หรือเสียงกันขโมยจากรถยนต์ (เลือกเปิดได้) เพื่อให้ผู้ใช้สามารถได้ยินเสียงเหล่านี้

Battery สำหรับการใช้งานประจำวัน

จากการทดสอบใช้งานจริงด้วยการเปิดเพลงอย่างต่อเนื่องที่ระดับความดังประมาณ​ 90% จะใช้ได้ประมาณ 3-4 ชั่วโมง และใช้เวลาชาร์จในแต่ละครั้งสำหรับแบตเตอรีที่ต่ำกว่า 10% จนถึง 100% จะใช้เวลาประมาณ 30-40 นาที โดยกล่องชาร์จที่มีแบตเตอรีเต็ม 100% จะใช้ชาร์จได้ประมาณ 3-4 ครั้ง

จึงมั่นใจได้ว่าจะใช้ได้นานมากพอสำหรับการใช้งานทั่วๆไปใน 1 วันที่ไม่ได้ใช้งานหูฟังตลอดเวลา

ไมค์จับเสียงได้ดี รายละเอียดเสียงมาครบ แต่เสียงเบาไปหน่อย

โดยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบหูฟังที่สามารถเก็บรายละเอียดได้ครบ เพื่อให้ได้อรรถรสโดยรวม ดังนั้นรายละเอียดเสียงที่ได้จาก Pixel Buds จึงถือว่าโอเคสำหรับผม หรือจะปรับให้เบสหนักกว่าปกติก็ต้องเปิด Bass Boost แทน แต่พบว่าระดับเสียงจะเบากว่าหูฟังทั่วๆไปรวมไปถึงตัวที่ผมใช้อยู่ (จึงเป็นที่มาว่าตอนที่ทดสอบแบตเตอรีของ Pixel Buds ถึงปรับเสียงที่ 90%)

แต่เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดมากขึ้นจึงขอเปรียบเทียบกับ Apple AirPods ด้วย ซึ่งหูฟังทั้ง 2 ตัวจะเชื่อมต่ออยู่บน Android เครื่องเดียวกัน (เครื่องที่ใช้รองรับ Dual Audio จึงสามารถต่อหูฟังไร้สาย 2 ตัวพร้อมกันได้)

สำหรับ AirPods จะให้เสียงเบสที่หนักกว่า Pixel Buds ถึงแม้ว่าจะเปิด Bass Boost แล้วก็ตาม ส่วนรายละเอียดเสียงของ Pixel Buds จะเก็บได้ดีกว่าเล็กน้อย แต่ทว่า Audio Latency ของ AirPods สามารถทำได้ต่ำกว่าถึงแม้ว่าจะต่อกับ Android ก็ตาม

จริงๆแล้วหูฟังประจำตัวของผมเป็น Sony WF-1000XM3 แต่จะหยิบมาเทียบกับ Pixel Buds ก็ออกจะเหมือนมวยคนละรุ่นไปหน่อย เพราะทุกอย่างนั้นไม่สามารถเทียบได้ รวมไปถึงราคาของ WF-1000XM3 ที่ตอนนี้ลดจนถูกกว่า Pixel Buds แล้ว

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่า Pixel Buds นั้นสามารถทำได้ดีมากๆนั่นก็คือการตัดเสียงรบกวนรอบๆเวลาใช้คุยโทรศัพท์ จากการทดสอบกลางสถานีรถไฟฟ้า BTS สยามที่มีเสียงประกาศจากสถานีและผู้คนรอบข้าง โดยเทียบกับ WF-1000XM3 ที่เจอปัญหาว่าเสียงรอบข้างเข้ามาในไมค์พอสมควร ในขณะที่ Pixel Buds สามารถตัดเสียงรบกวนรอบข้างได้ดีกว่า ทำให้ปลายสายได้ยินเสียงของผมชัดกว่า

โดยรวมๆนั้นโอเค ยกเว้นราคา

ถึงแม้ว่า Pixel Buds จะถือเป็นหูฟังที่ทำได้ดีสำหรับการใช้งานทั่วไปสำหรับผม แต่ถ้าเทียบราคากับหูฟังยอดนิยมตัวอื่นๆในปัจจุบันแล้วก็ต้องบอกว่า Pixel Buds นั้นอยู่ในระดับกลางๆและมีราคาแพงกว่าหรือเทียบเท่า ในขณะที่มีจุดเด่นที่เหนือกว่าแค่เพียงไม่กี่อย่าง ถึงแม้ว่าจะมี Smart Feature ที่น่าสนใจพอสมควร แต่ก็ไม่ทำให้ถึงกับรู้สึกว่าจะต้องไปหาซื้อมาใช้มากขนาดนั้น

ข้อดี

  • ดีไซน์สวย และถ้าใช้คู่กับ Google Pixel มีสีเดียวกันจะเข้ากันสุดๆ
  • ขนาดกระทัดรัด น้ำหนักกำลังดี ใส่แล้วแน่นหูไม่ต้องกลัวหลุด
  • ไมค์ตัดเสียงรบกวนรอบข้างได้ดีมาก
  • Touch Sensor ตอบสนองได้ดี (รุ่นแรกมีปัญหาว่าเพี้ยนบ่อย)
  • กันน้ำกันเหงื่อระดับ IPX4
  • ฟีเจอร์ Attention Alerts ที่หูฟังส่วนใหญ่ไม่มี
  • กล่องเก็บหูฟังสามารถชาร์จไร้สายได้

ข้อเสีย

  • เสียงเบาจนต้องปรับระดับเสียงให้สูงกว่าปกติ
  • Audio Codec เป็น AAC
  • Audio Latency เยอะกว่าตัวอื่นๆที่ใช้เปรียบเทียบ
  • คุณภาพเสียงโดยรวมไม่ได้โดดเด่นมากขนาดนั้น
  • ราคาสูงเมื่อเทียบกับคุณภาพ
  • หาซื้อยาก (ยิ่งเป็นช่วงนี้ ยิ่งยากมากกว่าเดิม)

ทั้งนี้ทั้งนั้นลักษณะเสียงจากหูฟังก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมความชอบของแต่ละคน ถึงแม้ว่าความเห็นของผมจะบอกว่ากลางๆกำลังดี ไม่ถึงกับโดดเด่น แต่สำหรับบางคนก็อาจจะชอบ และบางคนก็อาจจะไม่ชอบไปเลย ดังนั้นถ้าคุณกำลังเป็นคนหนึ่งที่ตัดสินใจที่จะซื้อ Google Pixel Buds อยู่ ก็ขอแนะนำให้หาข้อมูลเพิ่มเติม (ถ้ามีโอกาสได้ลองก็จะดีมาก) ก่อนจะตัดสินใจซื้ออีกทีนะครับ 😉