ในยุคนี้ที่มือถือรุ่นใหม่ๆเริ่มมีการตัดช่องหูฟังออกไปในหลายๆรุ่น (อย่างเช่น Pixel 3 ของผม) จึงทำให้เดี๋ยวนี้การใช้หูฟังไร้สายแทบจะเป็นเรื่องปกติ โดยล่าสุดทาง Sony ก็ได้เปิดตัวหูฟังรุ่นใหม่ที่เป็น True Wireless ที่ใช้ชื่อว่า WF-1000XM3 (แต่จริงๆ ทาง Sony เค้าศัพท์เฉพาะเรียกว่า Wire Free นะ) และผมก็เป็นคนหนึ่งที่หลงใหลในหูฟังของ Sony มาตลอดอยู่แล้ว จึงตัดสินใจเปลี่ยนจากตัวเก่ามาใช้เป็นตัวนี้แทน ซึ่งตอนนี้ก็ใช้มา 1 สัปดาห์แล้ว ก็เลยขอเล่าความประสบการณ์ในการใช้งานให้ได้อ่านกันครับ

และเหตุผลที่ทำให้ผมตัดสินใจเลือกเจ้าหูฟังตัวนี้ ก็เพราะว่า

  • ตัวหูฟังเป็นแบบ In-ear
  • รองรับ Active Noice Cancelling (ขอเรียกสั้นๆว่า ANC)
  • มี Quick Attention และ Ambient Sound ให้ใช้แบบเดียวกับ WH-1000XM3
  • เชื่อมต่อด้วย Bluetooth 5.0
  • รองรับการสั่งงานด้วยเสียงของ Google Assistant
  • ใช้สาย USB-C ในการชาร์จให้กับกล่องชาร์จ
  • เพราะมันเป็น Sony ไงล่ะ!!

แกะกล่องดูหน้าตา

เมื่อเปิดกล่อง WF-1000XM3 ออกมาก็จะพบกับกล่องชาร์จ, หูฟัง, สายชาร์จ USB-C ยาว 20cm, จุกหูฟังสำรอง และคู่มือต่างๆ โดยจะมีให้เลือกสองสีระหว่างสีดำกับสีเงิน ซึ่งผมได้สั่งสีดำมาใช้

เห็นขนาดหูฟังใหญ่ขนาดนี้ แต่มีน้ำหนักแค่ 8.5 กรัมเท่านั้นนะ

ด้านนอกของหูฟังจะมีพื้นที่วงกลมสำหรับแตะสั่งงานด้วยนิ้ว ถัดมาก็จะเป็นรูไมค์ที่มีทั้ง 2 ข้าง และตามด้วยโลโก้ Sony และยังมีไฟแสดงสถานะการชาร์จและการเชื่อมต่ออยู่ที่ลงปลาย Logo ด้วย

จะเห็นว่าหูฟังรุ่นนี้ทาง Sony ได้ใส่ลูกเล่นให้กับสีด้วย ถึงแม้ว่าตัวนี้จะเป็นสีดำก็จริง แต่มีการใช้สีทองแดงตัดเพื่อเพิ่มความหรูหราให้กับตัวหูฟัง ซึ่งสังเกตได้จากรูไมค์และโลโก้ Sony

ด้านข้างของหูฟังจะมีการบอกให้อย่างชัดเจนว่าข้างในเป็นข้างซ้ายและข้างขวา ยังไม่พอ มีการใช้สีของสัญลักษณ์ที่ต่างกันอีกด้วย โดยด้านซ้ายจะเป็นวงกลมสีขาว ส่วนข้างขวาจะเป็นวงกลมสีแดง จะได้ไม่ต้องมานั่งเพ่งดูว่าเป็นตัว R หรือ L กันแน่

สำหรับด้านในของหูฟังจะมีจุดต่อกับกล่องชาร์จเป็นขั้วทองแดง 3 จุด ส่วนข้างบนเป็นตำแหน่งของเซ็นเซอร์ที่เอาไว้ตรวจจับว่ามีการสวมใส่หูอยู่หรือไม่ และถึงแม้ว่าจะดูดีแบบนี้ แต่ WF-1000XM3 ไม่ได้กันน้ำ บอกไว้ก่อน

ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือจุกหูฟังสำรองที่ WF-1000XM3 ให้มาถึง 6 คู่ ที่ให้มาเยอะกว่าปกติแบบนี้ก็เพราะว่าจะมีให้เลือกว่าจะใช้เป็นจุกโฟมและจุกยางเพื่อความเหมาะสมกับแต่ละคน โดยแต่ละแบบก็จะมีให้เปลี่ยน 3 ขนาดด้วยกันคือ S, M และ L

สำหรับกล่องชาร์จนั้นต้องบอกว่ามีขนาดที่ใหญ่กว่าชาวบ้านมาก โดยที่ตัวกล่องเป็นสีดำและฝากล่องเป็นสีทองแดง

ลองเทียบขนาดกับ Apple AirPods และ Samsung Galaxy Buds ดู

ในช่องใส่หูฟังของกล่องชาร์จจะมีแม่เหล็กติดอยู่ด้วยเพื่อให้หูฟังติดอยู่ในกล่องไม่หลุดออกมาง่ายๆ มีไฟแสดงสถานะการชาร์จให้เห็นด้วย และที่ขาดไปไม่ได้ก็คือตำแหน่ง NFC เพื่อเชื่อมต่อกับหูฟังได้ง่ายๆ เพียงแค่นำมือถือที่รองรับ NFC มาแตะที่ตัวกล่องชาร์จ

 

ไม่ต้องกลัวหูฟังหล่นจากกล่อง

แต่ถ้าใช้ NFC ไม่ได้ก็เพียงแค่หยิบหูฟังออกมาแล้วแตะข้างไว้ทั้งสองข้างเป็นเวลา 7 วินาที ตัวหูฟังก็จะเข้าสู่โหมด Bluetooth Pairing ในทันที

การชาร์จแบตให้กับกล่องชาร์จจะใช้สาย USB-C ซึ่งสะดวกมากในยุคนี้ที่อุปกรณ์พกพาเริ่มเปลี่ยนเป็น USB-C แล้ว เพราะของเดิมผมจะต้องพกทั้งสาย Micro USB และ USB-C คู่กันอยู่ตลอดเวลา

ที่แอบขัดใจก็คือฝากล่องชาร์จนั้นเรียบจนสามารถวางคว่ำได้ แต่ใต้กล่องชาร์จกลับโค้ง ซึ่งดูเหมือนว่ากล่องชาร์จจะถูกออกแบบให้วางแนวนอนมากกว่า แต่ฝากล่องเรียบจึงทำให้สามารถวางคว่ำได้เช่นกัน

ในการใช้งานผมแนะนำให้ติดตั้งแอพ Headphones Connect ของ Sony ไว้ด้วย เพราะการตั้งค่าการทำงานของหูฟังจะต้องทำผ่านแอพตัวนี้เท่านั้น

 

หูฟัง In-ear แบบนี้จะหลุดง่ายหรือป่าวนะ?

เนื่องจากเป็น In-ear ดังนั้นส่วนที่ทำให้หูฟังติดอยู่กับหูของเรามากที่สุดก็คือยางหูฟังนั่นเอง ส่วนรองลงมาจะเป็นส่วนที่ใกล้ๆกับขั้วหูฟังซึ่งเป็นผิวยางเช่นกัน ตรงส่วนนี้จะแนบอยู่กับใบหูของเราเพื่อช่วยให้หูฟังติดอยู่กับหูของเรามากขึ้น ไม่ต้องกลัวว่าจะเผลอทำหลุดออกมาได้ง่ายๆ

 

โดยทาง Sony ได้บอกไว้ว่าหูฟังตัวนี้ใช้โครงสร้างในการออกแบบเป็น Tri-hold ที่มีจุดสัมผัสกับหูอยู่ทั้งหมด 3 จุดด้วยกันซึ่งทำให้แน่นมากพอที่จะไม่หลุดง่ายๆ (แต่จากที่ผมลองใส่ดู ผมรู้สึกว่ามันสัมผัสโดนหูผมแค่ 2 จุดแฮะ)

แต่ผมยังไม่แน่ใจว่าถ้าเราใส่ออกกำลังกายแล้วเหงื่อออกเยอะๆจะมีปัญหาหูฟังหลุดออกมาได้ง่ายเกินไปหรือไม่ ที่ผ่านมาก็แค่ใส่เดิน วิ่งเหยาะๆ และซ้อนมอเตอร์ไซค์เท่านั้น

 

ระบบตัดเสียงรบกวน

ตอนแรกก็ไม่ได้รู้สึกว่าจำเป็นซักเท่าไร แต่ก่อนหน้านี้ผมใช้เจ้า WI-H700 ที่อยู่ในซีรีย์ h.ear มาตลอด ซึ่งมันมีปัญหาว่าไม่มี ANC จึงทำให้ผมตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้เป็น WF-1000XM3 แทน

ในการใช้งานเราสามารถเลือกได้ว่าจะให้หูฟังทำงานแบบไหน โดยมี 3 แบบด้วยกันคือ

  • Noise Cancelling
  • Ambient Sound
  • Ambient Sound Control Off

Noise Cancelling เป็นการเปิด ANC แบบเต็มที่ เพื่อให้เราฟังเสียงจากหูฟังได้เต็มอรรถรส ซึ่งผมชอบเปิด ANC เวลาเปิดเพลงตอนทำงาน เพราะมันจะตัดเสียงรบกวนจากภายนอกออกให้หมดเลย ทำให้มีสมาธิการในนั่งทำงานมากขึ้น หรือถ้าไม่อยากฟังเพลงก็สามารถเปิดแต่ ANC ทิ้งไว้ได้เช่นกัน (แต่จะรู้สึกเหมือนหูอื้อตลอดเวลา)

Ambient Sound เป็นการตั้งค่าการทำงานของ ANC ตามพฤติกรรมในขณะนั้น โดยแบ่งเป็น

  • Staying – ตอนที่เราอยู่เฉยๆ
  • Walking – กำลังเดินอยู่
  • Running – กำลังวิ่งอยู่
  • Transportation – กำลังเดินทางด้วยยานพาหนะฃ

ซึ่งในแต่ละพฤติกรรมเราสามารถกำหนดได้ว่าอยากจะให้เราได้ยินเสียงที่อยู่ในระยะไกลแค่ไหน หรือจะกำหนดให้กรองเฉพาะเสียงพูดคุยก็ได้เช่นกัน ดีงามสุดๆ

Ambient Sound Control Off ก็คือการปิด ANC และ Ambient Sound นั่นเอง

และนอกจากนี้ยังมี Quick Attention ให้ใช้ด้วย ซึ่งจะให้เราใช้นิ้วแตะที่หูฟังค้างไว้เพื่อปิด ANC ชั่วคราว และเมื่อเอานิ้วออกก็กลับเปิด ANC เหมือนเดิม ซึ่งสะดวกมากเวลาที่ผมเปิด ANC อยู่แล้วมีคนเข้ามาคุยด้วยชั่วคราว ผมก็ไม่ต้องมานั่งเปิดปิด ANC ให้เสียเวลา

 

การควบคุมต่างๆบนตัวหูฟัง

วิธีการควบคุมจะขึ้นอยู่กับการตั้งค่าของเราในแอพบนมือถือ โดยสามารถตั้งค่าแยกระหว่างหูฟังข้างซ้ายกับข้างขวาได้ โดยจะมีให้ตั้งค่าทั้งหมดดังนี้

  • Playback Control
  • Ambient Sound Control
  • Google Assistance
  • None Assigned

Playback Control แตะ 1 ครั้งเพื่อหยุดหรือเล่นเพลง แตะ 2 ครั้งเพื่อเล่นเพลงถัดไป และเมื่อมีสายโทรเข้า เวลาแตะ 2 ครั้งจะเป็นการรับสาย ถ้ากดในระหว่างโทรคุยอยู่จะเป็นการวางสาย

Ambient Sound Control แตะ 1 ครั้งเพื่อเปลี่ยนไปโหมดการทำงาน (Noise Cancelling, Ambient Sound และ Ambient Sound Control Off)

Google Assistance แตะ 2 ครั้งเพื่อให้ Google Assistant บอกเวลาและอ่านแจ้งเตือนในมือถือ แตะค้างเพื่อสั่งงาน Google Assistant ด้วยเสียง

None Assigned ไม่ทำอะไร

 

เชื่อมต่อด้วย Bluetooth 5.0

สิ่งหนึ่งที่ผมสนใจในเจ้าหูฟังตัวนี้ก็คือมันเชื่อมต่อด้วย Bluetooth 5.0 ซึ่งเดี๋ยวนี้เริ่มมีหูฟังไร้สายที่เป็น Bluetooth 5.0 เพิ่มมากขึ้นแล้ว โดยระยะทางในการเชื่อมต่อกับ WF-1000XM3 นั้นจะอยู่ที่ 10 เมตรเท่านั้น ซึ่งไม่แปลกใจมากนักเพราะว่าหูฟังแบบนี้ควรเน้นที่การประหยัดแบตมากกว่าระยะทาง

แต่ทว่าในตอนใช้งานจริงก็ไม่รู้สึกว่าแตกต่างจากของเก่าเลย ยังมี Latency ที่ไม่แตกต่างอะไรไปจาก Bluetooth เวอร์ชันก่อนๆ แต่ที่มีผลแน่นอนก็คือประหยัดแบตมากขึ้น เพราะ Bluetooth 5.0 จะรับส่งข้อมูลเสียงผ่าน Bluetooth Low Energy ได้แล้ว

ส่วนจะส่งผลเรื่องคุณภาพเสียงมั้ยอันนี้ก็บอกไม่ถูก เพราะถึงแม้ว่า Bluetooth 5.0 จะมี Bandwidth ที่เพิ่มมากขึ้น แต่ WF-1000XM3 ใช้ Codec เป็น AAC ซึ่งไม่ได้มีผลอะไรกับ Bandwidth ที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งผมก็แอบเสียใจนิดหน่อยที่ไม่ใช้ LDAC ที่เป็น Codec เฉพาะของ Sony ที่ให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า (ไม่มี AptX เช่นกัน) เพราะตัวเก่าของผมก็ใช้เป็น LDAC และ Android 8.0 Pie ก็รองรับ LDAC แล้วด้วย ส่วนของ DSEE HX นั้นที่ใช้ปรับคุณภาพเสียงนั้นสามารถเลือกเปิด Auto ได้

ที่ผมประทับใจมากๆตอนใช้งานจริงก็คือตัวหูฟังเชื่อมต่อกับมือถือแยกกัน ดังนั้นเราจึงสามารถใช้แค่หูฟังข้างไหนก็ได้แค่ข้างเดียว ไม่ว่าจะตอนฟังเพลงหรือคุยโทรศัพท์ เพราะว่า WF-1000XM3 มีการปรับปรุงวิธีการทำงานในส่วนนี้ใหม่ จากเดิมที่ WF-1000X ในรุ่นก่อนหน้าจะใช้หูฟังฝั่งซ้ายเป็นตัวเชื่อมต่อกับมือถือแล้วส่งสัญญาณไปให้หูฟังฝั่งขวา

(A) การรับส่งข้อมูลใน WF-1000X (B) การรับส่งข้อมูลใน WF-1000XM3

ถึงแม้ว่าจะเป็น Bluetooth 5.0 ที่ส่งสัญญาณได้ดีขึ้นกว่าเดิม ประหยัดแบตมากกว่าเดิม แต่ด้วยความเป็น True Wireless ที่มีรูปทรงกระทัดรัด รวมไปถึงตัวรับส่งสัญญาณ จึงทำให้มีปัญหาสัญญาณขาดๆหายๆในที่ที่มีสัญญาณรบกวนเยอะอยู่ดี

 

คุณภาพเสียงและไมค์

ในเรื่องของคุณภาพเสียงนั้นต้องบอกว่า WF-1000XM3 นั้นทำได้ดีพอสมควรเมื่อเทียบกับบรรดา True Wireless ที่มีอยู่ในท้องตลาด น้ำหนักของเสียงเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นไม่ได้หนักมากและไม่ได้แห้งจนเกินไปเช่นกัน ด้วยข้อจำกัดของ Codec ที่เป็นแบบ AAC จึงเสียงไม่ใสและชัดเท่าตอนที่ผมใช้ LDAC แต่พอเทียบกับคุณสมบัติของ True Wireless กับคุณภาพเสียงที่ได้ถือว่าโอเคมากๆ เลยล่ะ

ส่วนตัวไมค์ก็ใช้งานได้ดี พูดคุยรู้เรื่อง โดยมี ANC ช่วยลดเสียงรบกวนภายนอกเข้าไมค์ให้น้อยลง แต่ถ้าเป็นสถานที่เสียงดังมากๆ ก็อาจจะเอาไม่อยู่

 

แบตเยอะพอสำหรับการใช้งานนานๆ

ให้มามากพอสำหรับ 1 วัน โดยตัวหูฟังที่ชาร์จจนเต็มเมื่อฟังเพลงแบบปิด ANC จะใช้งานได้นานถึง 8 ชั่วโมง แต่ถ้าเปิด ANC ก็จะใช้งานเหลือแค่ 6 ชั่วโมง ส่วนกล่องชาร์จก็สามารถชาร์จหูฟังจนเต็มได้ถึง 3 รอบ นั้นหมายความว่าถ้าตอนฟังเพลงไม่ได้เปิด ANC จะใช้งานได้นานสุดถึง 32 ชั่วโมง และถ้าปิด ANC ก็จะใช้งานได้ถึง 24 ชั่วโมง ซึ่งบอกเลยว่าแค่นี้ก็เพียงพอสุดๆสำหรับผมแล้ว

และในขณะเดียวกันก็สามารถเปิดทิ้งไว้ได้นานถึง 15 ชั่วโมงแบบปิด ANC และถ้าเปิด ANC ไว้ตลอดเวลาก็ยังเปิดทิ้งไว้ได้นานถึง 9 ชั่วโมง

ส่วนการชาร์จเต็มๆใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งอ้างอิงจากหน้าเว็ปของ Sony ซึ่งผมยังไม่ได้ทดลองชาร์จตั้งแต่  0-100 จริงๆ เพราะว่าที่ผ่านมายังไม่ได้ใช้จนแบตหมดเลยซักครั้ง เวลาไม่ได้ใช้งานก็เก็บไว้ในกล่องชาร์จตลอด จึงทำให้ตัวหูฟังมีแบตเต็มอยู่ตลอดเวลา

 

ปัญหาที่เจอ

  • การแตะ 1 ครั้งจะต้องแตะแล้วยกนิ้วออกให้เร็วกว่าที่ควรจะเป็น จึงทำให้มีบางครั้งที่แตะเพื่อสั่งงานแล้วไม่ติด ต้องแตะใหม่ให้เร็วขึ้น
  • ตำแหน่งที่แตะบนหูฟังเพื่อสั่งงาน รู้สึกว่ากดโดนยากไปนิดหน่อย ต้องใช้ความเคยชิน
  • กล่องชาร์จพกใส่กระเป๋ากางเกงลำบากเพราะมีขนาดใหญ่เกินไป
  • ลองต่อกับ iOS เพื่อทดสอบการใช้งาน Siri แต่กลับใช้ไม่ได้ และแอพของ Sony บน iOS ขึ้นแสดงเป็นคำว่า Google Assistant ซะงั้น (เอ๊ะ หรือว่าเค้ายังทำไม่เสร็จ?) ทั้งๆที่บนหน้าเว็ปอธิบายการใช้งานก็มีอธิบายการใช้งานกับ Siri ซึ่งผมทำแล้วแต่ก็ยังใช้งานไม่ได้ (https://bit.ly/2Zg0rJT)

 

สรุป

WF-1000XM3 ก็เป็น In-ear True Wireless จาก Sony ที่ปรับปรุงจากรุ่นเก่าให้ดีขึ้นในหลายๆด้าน ซึ่งมีจุดเด่นในเรื่องของ Noise Cancelling ที่ทำงานได้ดีมาก และลูกเล่นอย่าง Quick Attention หรือการตั้งค่าในการสั่งงานหูฟังได้ตามต้องการ แบตเตอรีที่ใช้งานได้นานแบบหายห่วง รวมไปถึงรองรับ Google Assistant อย่างสมบูรณ์แบบ และมีการปรับให้กล่องชาร์จใช้สาย USB-C ตามยุคสมัย

ด้วยราคาเปิดตัวในไทย 8,990 บาทอาจจะทำให้รู้สึกว่าแพงไปหน่อย แต่เมื่อเทียบกับความสามารถและคุณภาพที่ได้ ก็ถือว่าถูกกว่าและไม่ได้แพงไปกว่าหูฟังตัวอื่นๆที่เทียบเท่ากันเลย

Play video

สุดท้ายนี้ ต้องขอบอกว่าตัวผมไม่ได้เล่นหูฟังเป็นเรื่องเป็นราวซักเท่าไรนัก เน้นการใช้ทั่วไปเป็นหลัก และการรีวิวนี้ก็เป็นการบอกเล่าถึงความสามารถที่หูฟังมีให้ใช้งาน ข้อดีข้อเสียในแต่ละด้าน ความคิดเห็นส่วนหนึ่งจากประสบการณ์ที่ได้ใช้งานหูฟังตัวนี้ แต่การจะบอกดีหรือไม่ดีนั้นก็ขึ้นอยู่กับรสนิยม ความชอบ และการใช้งานของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ถ้าผู้อ่านคนไหนกำลังมองหาหูฟัง True Wireless ดีๆซักตัวก็อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจ แนะนำให้ไปลองดูของจริงก่อนว่าตรงกับที่เราต้องการจริงๆหรือไม่ ทั้งในแง่ของการใช้งานและคุณภาพเสียง จะได้ไม่ผิดหวังทีหลังครับ 😉