HUAWEI Band 6 สายรัดข้อมืออัจฉริยะที่มากับฟีเจอร์เอาใจคนรักสุขภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจแบบ real-time, ฟีเจอร์วัดค่าออกซิเจนในเลือด SpO2 (ที่หลาย ๆ คนอยากได้กันอยู่ในช่วงนี้), โหมดออกกำลังกายมากมาย และฟีเจอร์อื่น ๆ อีกเพียบ โดยเปิดตัวในบ้านเรามาในราคาไม่แรง แค่ 1,899 บาท เท่านั้น แต่รับรองว่าคุ้มค่าด้วยฟีเจอร์ที่อัดแน่นจริง ๆ ว่าแล้วก็มาดูกันเลยดีกว่าว่าจากการใช้งานจริงเนี่ย เจ้า HUAWEI Band 6 เป็นยังไงบ้างครับ
ดีไซน์เรียบหรูดูดี
HUAWEI Band 6 มีรูปร่างหน้าตาที่ต่างไปจาก HUAWEI Band 4 Series เล็กน้อย (ข้ามรุ่น Band 5 มาเป็น 6 เลย) ด้วยหน้าจอที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 1.47 นิ้ว จากรุ่นที่แล้วที่มีหน้าจอขนาดแค่ 0.95 นิ้ว และมีขอบจอแบบโค้ง 2.5D เพิ่มความหรูหราซู่ซ่า
เฟรมเครื่องทำจากวัสดุประเภทโพลีเมอร์พื้นผิวแบบขัดมันสไตล์ Metallic ขอบเครื่องด้านขวามีปุ่มสำหรับเข้าโหมดต่าง ๆ 1 ปุ่ม น้ำหนักของ HUAWEI Band 6 อยู่ที่ 18 กรัมเท่านั้น ซึ่งเบามาก ๆ จนบางทีก็ลืมไปว่าใส่อยู่ที่ข้อมือ
สายเป็นซิลิโคนยืดหยุ่นแต่แข็งแรง ซึ่งสามารถถอดเปลี่ยนได้ด้วย
วิธีถอดสายก็แค่งัดตัวล็อคด้านล่างออกมา และดันสายขึ้นไปทางด้านบนก็ออกมาได้ง่าย ๆ เลยครับ
เอาเล็บงัดตรงนี้ออกมา (ระวังเล็บหักนะจ๊ะ)
หน้าปัดนาฬิกายังมีให้เลือกเปลี่ยนได้หลากหลายสไตล์เป็นร้อย ๆ แบบ แถมยังเปลี่ยนได้ฟรีอีกต่างหาก โดยเข้าไปโหลดเปลี่ยนกันได้ในแอป HUAWEI Health ครับ
หน้าปัดหลายร้อยแบบให้ได้เลือกเปลี่ยนไม่ซ้ำ
หน้าจอ AMOLED ใหญ่เต็มตา
หน้าปัด หรือหน้าจอของ HUAWEI Band 6 ยังคงใช้พาเนลประเภท AMOLED อยู่เหมือนรุ่นที่แล้ว โดยหน้าจอแบบนี้จะให้สีสันที่สดใสและสว่างจนใช้กลางแดดได้สบาย ๆ โดยจากการทดสอบมีความสว่างให้ปรับทั้งหมด 5 ระดับ ถ้าอยู่กลางแจ้งจะปรับไว้ซัก 4 ก็เห็นได้ชัดแล้ว แต่มีจุดสังเกตคือดันไม่มีระบบปรับแสงสว่างอัตโนมัติมาให้ด้วย ทำให้ต้องคอยเปลี่ยนระดับแสงเอาเอง
ความสว่างระดับ 5 เห็นชัดแจ๋วกลางแดด
ระบบสัมผัสค่อนข้างลื่นติดนิ้ว ตั้งแต่ใช้มายังไม่เจออาการหน่วงจากการไถหน้าจอใด ๆ และปุ่มต่าง ๆ บนหน้าจอก็กดได้ง่ายดี เพราะอานิสงส์จากขนาดจอที่ใหญ่ขึ้นนั่นเอง
มาตรฐาน 5ATM
HUAWEI Band 6 ได้รับมาตรฐานกันน้ำระดับ 5ATM ทำให้มันสามารถลงน้ำจืดได้ลึกถึง 50 เมตร ทำให้เราใส่ว่ายน้ำเพื่อวัดการเต้นหัวใจหรือระยะทางได้แบบไม่มีปัญหาเลย
เชื่อมต่อกับมือถือผ่าน HUAWEI Health
ก่อนหารใช้งาน HUAWEI Band 6 จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับแอป HUAWEI Health ซะก่อน เพื่อประสิทธิภาพในการใช้งานสูงสุดนะครับ โดยแอปจะรองรับมือถือระบบ Android 6 ขึ้นไป และ iPhone ระบบ iOS 12 ขึ้นไป นอกจากนี้ยังมีบางฟีเจอร์ที่จะรองรับการใช้งานกับ EMUI 8.1 ขึ้นไปเท่านั้นด้วย
โหมดออกกำลังกายเพียบ เกือบ 100 แบบ
รับรองว่าถูกใจคนชอบออกกำลังกายแน่นอน เพราะ HUAWEI Band 6 มากับโหมดออกกำลังมากถึง 96 โหมด โดยโหมดเบสิคอย่างการวิ่งบนลู่, วิ่งกลางแจ้ง, เดิน, ว่ายน้ำ, ปั่นจักรยาน, ว่ายน้ำ จะมีอยู่ในเมนู Workout อยู่แล้ว
แต่ถ้าใครอยากเล่นกีฬานอกเหนือจากนั้นให้เข้าไปที่เมนู Widgets ด้านล่างสุดในหน้า Workout จากนั้นกดเครื่องหมาย + เพื่อเลือกการออกกำลังกายประเภทอื่น ๆ เพื่อเอาไปวางไว้ที่หน้า Workout ได้เลยมีทั้ง โยคะ, Pilates, ต่อยมวย, เทควันโด้, ฟันดาบ, เต้น และอื่น ๆ อีกเพียบบบบ
สำหรับการออกกำลังประเภทวิ่ง, เดิน, ปั่นจักรยาน หรืออื่น ๆ ที่ต้องอาศัยการวัดระยะทางด้วย จะต้องเชื่อมต่อกับ GPS ผ่านทางมือถือด้วยนะครับ มันถึงจะคำนวณระยะทางได้
ซึ่งจากการทดสอบตีปิงปองเป็นเวลาประมาณ 13 นาที ก็จะได้ค่าต่าง ๆ ออกมาตามนี้ ว่าในช่วงเวลาที่ออกกำลังทั้งหมด หัวใจเราเต้นแรงตอนไหนบ้าง และมีช่วงวอร์มอัป ช่วงเผาผลาญ และอื่นๆ แบ่งออกเป็นกี่นาทีครับ
เซ็นเซอร์วัดชีพจรแบบ real-time
ฟีเจอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจของ HUAWEI Band 6 สามารถวัดแบบ real-time ได้เลยโดยปัดที่หน้าจอไปทางซ้าย 1 ที ก็จะพบกับหน้าจอของฟีเจอร์ดังกล่าว ที่จะบอกอัตราการเต้นทั้งตัวเลข bpm (beats per minute) และยังมีบอกเป็นกราฟให้ดูในแต่ละช่วงเวลาด้วย ส่วนตัวเลขด้านล่าง rhr (resting heart rate) คืออัตราการเต้นหัวใจตอนที่เราพักผ่อนอยู่เฉย ๆ
วัดค่าออกซิเจนในเลือด SpO2
หนึ่งในฟีเจอร์ที่หลาย ๆ คนถามหากันในช่วงเวลานี้ก็คือการวัดค่าออกซิเจนในเลือด ซึ่งสามารถบอกในเบื้องต้นได้ว่าเรามีปัญหาสุขภาพอยู่รึเปล่า แถมยังใช้บอกคร่าว ๆ ได้ว่าเราอาจมีความเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 อยู่ก็เป็นได้ โดยคนปกติทั่วไปเวลาที่อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ออกแรงทำอะไรค่าออกซิเจนในเลือดควรอยู่ที่ 95 – 99% ยกเว้นเวลาออกกำลังกายถึงจะหล่นลงมาอยู่ที่ประมาณ 88% ซึ่งหากค่าออกซิเจนต่ำกว่ามาตรฐาน แสดงว่าร่างกายรับออกซิเจนไม่เพียงพออาจจะเป็นสัญญาณของโรคต่าง ๆ ได้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ใจว่าเราเป็นอะไรจริงหรือไม่ครับ
วิธีการใช้ฟีเจอร์นี้ก็ง่าย ๆ แค่กดปุ่มด้านข้างเข้าไป เลือกเมนู SpO2 จากนั้นกด Measure เพื่อเริ่มวัดค่าได้เลย (ระหว่างวัดค่าควรนั่งอยู่เฉย ๆ นะครับ) รอซักแป๊บเดียวประมาณ 10 กว่าวินาที ก็จะได้ค่าออกซิเจนในเลือดออกมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ค่า SpO2 ที่วัดได้จาก HUAWEI Band 6 อาจจะตรงหรือไม่ตรงกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้สำหรับการวัดค่าออกซิเจนโดยเฉพาะก็ได้นะครับ เพราะฉะนั้นใครที่มีโอกาสก็ลองเอาไปค่าที่ได้จาก HUAWEI Band 6 ไปเทียบกับอุปกรณ์ทางการแพทย์อีกที เพื่อดูว่ามีความคลาดเคลื่อนมากน้อยแค่ไหน สำหรับใช้ในการอ้างอิงคราวหลังครับ
ตรวจคุณภาพการนอนหลับ
ถ้าใครต้องการตรวจสอบคุณภาพการนอนของตัวก็จะต้องใส่ HUAWEI Band 6 ตอนนอนด้วยนะ แล้วพอตื่นเช้ามาก็สามารถกดดูคุณภาพการนอนของเราเองได้จากตัว Band เลยว่าเมื่อคืนหลับไปกี่ชั่วโมง ตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง
แต่หากต้องการดูให้ละเอียดกว่านั้นก็ต้องดูผ่านหน้าแอป Health ที่จะบอกหมดเลยว่าเราหลับลึกกี่ชั่วโมง, หลับตื้นกี่ชั่วโมง, มีช่วง REM (หลับแบบลูกตากรอกไปมาอย่างรวดเร็ว) กี่ชั่วโมง, สะดุ้งตื่นกี่ครั้ง รวมถึงระหว่างนอนมีคุณภาพการหายใจเป็นยังไงบ้าง และมีการให้คะแนนตุณภาพการนอนในแต่ละคืนอีกด้วย จะได้เอามาเทียบกันได้ว่าแต่ละคืนเรานอนหลับดีแค่ไหน
การวัดความเครียด
ฟีเจอร์วัดความเครียดก็จะอาศัยการวัดค่าจากอัตราการเต้นของหัวใจด้วย โดยก่อนที่จะวัดค่าดังกล่าว จะต้องทำแบบสอบถามกันซักหน่อยก่อน ประมาณว่าช่วงนี้กำลังใจจดใจจ่อกับอะไรอยู่หรือไม่, เวลามีปัญหา ยังมองโลกในแง่ดีได้หรือไม่ ฯลฯ
แบบสอบถามก่อนการวัดความเครียด (ซ้าย) ผลการวัดความเครียด (ขวา)
เมื่อตอบแบบสอบถามหมดแล้วก็เริ่มกดทดสอบ Stress test ได้จากตัว Band หรือจากแอปมือถือก็ได้ โดยเราจะต้องอยู่นิ่ง ๆ ประมาณ 1 นาที ก็จะได้ระดับความเครียดของเราออกมาเป็นตัวเลข
ฟีเจอร์อื่น ๆ
ควบคุมแอปเล่นเพลง
ฟีเจอร์ควบคุมแอปเล่นเพลงจากมือถือบนหน้าจอของ HUAWEI Band 6 จะใช้ได้เฉพาะกับมือถือระบบ Android เท่านั้น โดยจากหน้าจอแรกให้ปัดไปทางซ้าย 4 ครั้ง ก็จะเจอกับหน้าควบคุมเพลงแล้ว โดยควบคุมได้แค่เล่นเพลง, หยุดเพลง และเลื่อนเพลงเท่านั้น ส่วนแอปที่ทดสอบมี Spotify และ YT Music ใช้ได้ปกติครับ
Remote Camera Shutter
ส่วนฟีเจอร์ใช้กดชัตเตอร์ระยะไกลสำหรับกล้องมือถือนี้ น่าเสียดายที่มันใช้ได้กับเฉพาะมือถือ HUAWEI หรือ Honor ที่ใช้ระบบ EMUI 8.1 ขึ้นไปเท่านั้นครับ
ค้นหาอุปกรณ์
ฟีเจอร์ค้นหาอุปกรณ์นี้ หากว่าเราหามือถือไม่เจอ ก็ให้กดปุ่มบนตัว Band แล้วเลื่อนลงไปด้านล่างสุดเพื่อเข้าฟีเจอร์ Find Phone พอกดปุ๊บ ก็จะมีเสียง “I’m Here” เล่นขึ้นมาจากลำโพงมือถือที่เราจับคู่เอาไว้ จนกว่าเราจะกดหยุดจากหน้าจอ Band หรือเวลาผ่านไปแล้ว 15 วินาที ซึ่งการค้นหาอุปกรณ์แบบนี้จะต้องอยู่ในระยะที่มือถือและ Band เชื่อมต่อกันผ่าน Bluetooth อยู่เท่านั้นนะครับ
แบตเตอรี่อึด
แบตเตอรี่ของ HUAWEI Band 6 เคลมว่าสามารถใช้งานได้สูงสุดถึง 14 วัน ภายใต้เงื่อนไข เปิดเซ็นเซอร์วัดชีพจรและตรวจจับการนอนตลอดเวลา, เปิดหน้าจอดูสั้น ๆ 200 ครั้ง (ใน 14 วัน), มีข้อความเข้า 50 ครั้ง, สายเข้า 6 ครั้ง, แจ้งเตือนวันละ 3 ครั้ง, ใช้ออกกำลังสัปดาห์ละ 30 นาที
ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่ได้ทดสอบจริงว่ามันอยู่ได้ถึง 14 วันหรือเปล่า แต่จากการใช้งานจริงที่เปิดความสว่างหน้าจอไว้ที่ระดับ 4, เปิดเซ็นเซอร์หมดทุกอย่าง, ใส่นอน, ใส่ออกกำลังบ้าง, มีข้อความ และแจ้งเตือนจากแอปต่าง ๆ เข้าวันละหลายรอบ พบว่าผ่านไป 6 วันเต็ม ๆ แบตเตอรี่ยังเหลืออยู่ถึง 57% คาดว่าเอาจริง ๆ น่าจะลากได้ 14 วันตามที่เคลมหรือไม่ก็เกือบ ๆ ล่ะ
นอกจากนี้ยังรองรับการชาร์จไว หากรีบ ๆ ต้องออกไปธุระแล้วแบตเตอรี่เกิดหมดขึ้นมา แค่เสียบชาร์จไว้ซัก 5 นาที ก็ใช้งานต่อได้ถึง 2 วันเลยทีเดียว
สรุป
ข้อดี
- หน้าจอสวยและใหญ่ดูข้อมูลถนัดไม่ต้องเพ่งมาก
- หน้าจอสว่างสู้แสงได้ดี
- ตัวเครื่องเบามาก
- ดีไซน์เรียบหรูดูดี
- โหมดออกกำลังกายเยอะมาก
- กันน้ำ 5ATM
- ตรวจจับก้าวเดินแม่นยำ
- แบตเตอรี่อึดจริง
- วัดการเต้นของหัวใจแบบ real-time
- วัดค่า SpO2 ได้
- ราคาไม่แรงมาก (1,899 บาท)
ข้อสังเกต
- หน้าจอไม่มีระบบปรับแสงตามสภาพแวดล้อม
- ไม่มีโหมดตั้งเวลาปิดเซ็นเซอร์หน้าจออัตโนมัติเวลายกแขน (เวลานอนพลิกไปมาแล้วหน้าจอติดแสงแยงตา)
- ฟีเจอร์ Remote Camera Shutter จำกัดเฉพาะอุปกรณ์ระบบ EMUI 8.1
นับว่า HUAWEI Band 6 เป็นสายรัดข้อมืออัจฉริยะที่ให้ฟีเจอร์สำหรับดูแลสุขภาพมาได้แบบจัดเต็มจริง ๆ แถมยังมีฟีเจอร์วัดออกซิเจน SpO2 มาให้ใช้ในสถานการณ์แบบนี้อีกต่างหาก และด้วยค่าตัวที่ไม่ถึง 2,000 บาท ทำให้มันกลายเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจมากขึ้นไปอีกครับ
น่าสนใจตรงวัด spO2 นี่แหละ