เปิดตัวและวางจำหน่ายกันมาได้สักระยะแล้วสำหรับ Motorola One สมาร์ทโฟนรุ่นแรกของ Motorola ที่เป็น Android One และยังเป็นรุ่นแรกที่ถูกออกแบบให้มี Notch ด้วย ซึ่งในไทยนั้นก็ได้วางจำหน่ายแบบ Exclusive กับ Truemove H ด้วยราคา 7,990 บาท หลังจากที่เรา แกะกล่องไปเมื่อตอนนั้น วันนี้ก็ถึงเวลาจะมาแชร์ประสบการณ์รีวิวและใช้งานอย่างเต็มรูปแบบให้อ่านกันค่า ~

ก่อนอื่นเรามาทวนสเปคของ Motorola One กันอีกซักรอบ ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจหลักๆ ก็คือเรื่องของความเป็น Android One ที่นอกจากจะได้ไปต่อใน OS รุ่นถัดไปแบบแน่นอนแล้ว ยังได้รับความเป็น Pure Anroid มาเต็มๆ ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องความหนักหน่วง หรือโดนถ่วงจากแอปพลิเคชั่นที่ฝังมาจากค่ายผู้ผลิตได้เลย (แต่จริงๆ Moto เดิมก็ไม่ค่อยมีอยู่แล้วนะ)

สเปค Motorola One

DS_motorolaone_30

  • ระบบปฏิบัติการ Android OS 8.1 (Oreo)
  • หน้าจอ LTPS IPS LCD  ขนาด 5.9 นิ้ว ความละเอียด HD+ (1520 x 720) พิกเซล (~287 ppi ) อัตราส่วน 19:9
  • CPU: Qualcomm Snapdragon 625 Octa-core 2.0 GHz Cortex-A53
  • GPU: Adreno 506
  • RAM 4GB
  • หน่วยความจำภายใน: 64GB + รองรับ microSD สูงสุด 256GB
  • กล้องหลังคู่ (Dual-Camera): ความละเอียด 13 MP (f/2.0) + 2 MP (f/2.4)
  • กล้องหน้า: ความละเอียด 8 MP (f/2.2)
  • รองรับ 2 ซิม (nanoSIM) เฉพาะ Truemove H
  • การเชื่อมต่อ: Wi-Fi 802.11 a/b/g/n, dual-band, WiFi Direct, hotspot, Bluetooth 5.0, A2DP, LE, EDR, NFC, USB 2.0, Type-C 1.0 reversible connector
  • เซนเซอร์: Fingerprint reader, Proximity sensor, Accelerometer, Ambient Light sensor, Magnetometer, Gyroscope
  • แบตเตอรี่:  Li-Ion ความจุ 3,000 mAh (รองรับTurbo Power)
  • ขนาดเครื่อง: 149.9 x 72.2 x 8 มม., หนัก 162 กรัม
  • สีที่วางจำหน่ายในไทย: สีดำ

 

ฟีเจอร์พื้นฐานของ Motorola One

DS_motorolaone_04

สำหรับ Motorola One เครื่องที่เราใช้รีวิวนี้ยังเป็นระบบปฏิบัติการยังคงเป็น Android OS 8.1 (Oreo) โดยแพทช์ที่อัพเดตล่าสุดคือเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่แอบเห็นข่าวแว้บๆ ว่าบางรุ่นก็ได้รับอัพเดทกันไปมั่งแล้ว ยังไงก็น่าจะรอกันอีกไม่นาน และนอกจากเรื่องของระบบปฏิบัติการแล้ว หน้าตา UI ก็จะดูเรียบๆ คลีนๆ แป้นพิมพ์ หรือ แถบ Navigator และฟีเจอร์ต่างๆ ก็ได้รับเหมือนกับสมาร์ทโฟน Pure Android เลย

DS_motorolaone_01

ทั้งวิธีการเปิดหน้าแอปที่ใช้นิ้วปัดขึ้น หรือฟีเจอร์ Split Screen แบ่งสองจอในการใช้งานก็ได้มาเหมือนกัน

DS_motorolaone_02

แน่นอนว่า Motorola One ก็มาพร้อมกับ AI ผู้ช่วยคนเก่งอย่าง Google Assistant ด้วย และถ้าปัดทางขวา ก็จะมีหน้าต่างรวบรวมสิ่งที่เราสนใจ คล้ายๆ กับหน้าต่างของ Bixby

DS_motorolaone_25

และสามารถใช้งาน Google Lens ฟีเจอร์กล้องส่องเพื่อช่วยค้นหาข้อมูลของสิ่งของหรือสถานที่นั้นๆ ได้ เหมือนที่ใช้ Google ค้นหาข้อมูลเลย (แต่เท่าที่ลองเล่นก็บางอย่างก็แอบไม่ตรงบ้าง ก็ปล่อยให้ AI มันเรียนรู้ไป)

DS_motorolaone_31

สำหรับเรื่องการรักษาความปลอดภัยต่างๆ Motorola One ก็สามารถตั้งค่าได้แบบทั่วไป คือให้เลือกใช้ได้ทั้ง Pin, Pattern, Password และ แสกนลายนิ้วมือ (Fingerprint scanner) ที่อยู่ตรงตัว M ด้านหลังเครื่อง ซึ่งค่อนข้างประทับใจกับความแม่นยำและรวดเร็วพอสมควร แตะตึ๊ดเดียวก็ปลดล็อคได้แล้ว 

 

Moto Action ฟีเจอร์สั่งงานผ่านการขยับ

DS_motorolaone_03

ส่วนฟีเจอร์ที่เป็นของ Motorola ก็มีอยู่หน้าในหน้าแรกตั้งแต่เปิดเครื่องเลย โดยหลักๆ แบ่งเป็น Moto Action  ซึ่งเป็นพวก Gesture อย่าง เขย่าเครื่องเพื่อเปิด – ไฟฉาย หรือ พลิกข้อมือไปมาเพื่อเข้ากล้อง อีกส่วนคือฟีเจอร์ของ Moto Display ซึ่งเราจะมาเล่นให้ฟังในหมวดถัดไปกันค่ะ 

 

ว่าด้วยตัวเครื่องและงานประกอบ

DS_motorolaone_08

ตัวเครื่องของ Motorola One เป็นกระจกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทำให้ตัวเครื่องสีดำดูวาววับสวยงาม แต่อย่างที่เคยพูดไปเมื่อตอนแกะกล่อง คือติดรอยนิ้วง่ายมาก การใส่เคสไว้ก็ช่วยป้องกันได้ทั้งตัวเครื่องและรอยนิ้วมือ แม้ว่าตัวเคสใสที่แถมมาก็ดันติดรอยนิ้วง่ายเช่นกัน  แต่อย่างน้อยก็ใส่ไว้อุ่นใจ ป้องกันเวลาเผลอทำหลุดมือได้ล่ะนะ

นอกจากนี้ Motorola One ยังมีมาตรฐานกันน้ำ “P2i (Splash-resistant)” ก็คือจะช่วยกันละอองฝน หรือน้ำกระเซ็นที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้อีกนิดหน่อยด้วย

 

หน้าจอ

DS_motorolaone_05

Motorola One มาพร้อมหน้าจอ ขนาด 5.9 นิ้ว เป็น Max Vision Display อัตราส่วน 19:9 ความละเอียด HD+ (1520 x 720) พิกเซล รวมถึงมีรอยแหว่ง (Notch) เป็นที่อยู่ของแฟลช เซนเซอร์ ลำโพง และกล้องหน้า เมื่อเราใช้งานแอปทั่วๆ ไป ส่วนพื้นที่หน้าจอบริเวณข้าง Notch ทั้งสองฝั่งก็จะทำหน้าเป็นแถบโชว์ข้อมูลอย่าง เวลา Notifications สัญญาณโทรศัพท์ WiFi และแบตเตอรี่ หรือไม่ก็ดับกลืนไปกับพื้นที่ของ Notch เลย เวลาที่เราดูคลิป หรือเล่นเกม

DS_motorolaone_12

วัสดุหน้าจอของ Motorola One เป็น กระจก Corning Gorilla Glass 2.5D ทำให้ตัวขอบจอดูโค้งรับกับตัวเครื่องเล็กน้อย แต่เวลาจับถือถ้าไม่ได้ใสเคสคลุมก็จะรู้สึกสะดุดขอบนิดหน่อย และด้วยความที่เป็นกระจกก็จะแอบมีการสะท้อนบ้าง แต่เมื่อเราเปิดความสว่างจอสูงๆ หรือปรับ Auto ไว้ ตอนออกไปกลางแจ้งก็พอสู้แสงได้อยู่ค่ะ (แต่ถ้าดูจากภาพถ่ายจะดูเหมือนจอมืดๆ ไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่)

DS_motorolaone_07

นอกจากยังมีโหมด Night Light ช่วยตัดแสงสีฟ้า เพื่อให้ใช้งานได้สบายตาขึ้นในที่แสงน้อยหรือตอนกลางคืนก่อนนอน โดยสามารถเลือกปรับความเข้มข้นของสีเหลืองได้ รวมถึงตั้งเวลาให้เปิดได้ หรือตั้งให้เปิดใช้อัตโนมัติ ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดิน – พระอาทิตย์ขึ้นในเช้าวันใหม่

Moto Display

DS_motorolaone_18

ฟีเจอร์ที่เป็นลูกเล่นบนหน้าจอขณะที่ดับอยู่ของ Motorola เมื่อหยิบเราหยิบเครื่องขึ้นมา Always On Display ก็โชว์เวลา วันที่ และเปอร์เซ็นต์ของแบตเตอรี่ และยังมีฟีเจอร์แจ้งเตือน (Notification) ขึ้นเป็นไอคอนวงกลมด้านล่าง โดยสามารถกดค้างเพื่อดูเนื้อหาข้างใน และลากนิ้วปัดขึ้นเพื่อโต้ตอบได้เลยโดยไม่ต้องปลดล็อคจอหน้าจอ  (แต่ต้องเข้าไปเปิดฟีเจอร์ก่อนนะ)

DS_motorolaone_06

อย่างเช่น มีแจ้งเตือนจาก Messenger ก็สามารถกดค้างเพื่อดูเนื้อหาก่อนได้ ถ้าสำคัญเราสามารถลากนิ้วไปที่ไอคอน reply เพื่อตอนกลับได้เลย หรือจะเลือกกด Like กด Mute ข้อความ หรือลากนิ้วลงล่างไป Dismiss ไว้ก่อน ค่อยมาตอบทีหลังก็ได้

ระบบเสียงและลำโพง

DS_motorolaone_10

Motorola One มาพร้อมลำโพงตรงท้ายเครื่องเสียงข้างดังกระหึ่ม ทั้งตอนเล่นเกม ดูคลิป หรือแม้กระทั่งตอนฟังเพลงปกติ แต่เสียงจะใสๆ แบบขาดเสียงเบสไปนิด ซึ่งอันนี้แนะนำให้ลองไปปรับเล่นในโหมด Dolby Audio ซึ่งใช้ได้ทั้งลำโพงปกติ และหูฟังเลย

DS_motorolaone_11

สำหรับโหมด Dolby Audio ก็มีให้เลือกทั้ง Movie, Music, Game, Voice และแบบให้เลือก Custom ได้เองอีกสองหมวด ซึ่งแต่ละหมวดก็จะแตกต่างกันไป ทั้งนี้ใส่หูฟังแล้วปรับก็จะได้ยินความต่างชัดขึ้นค่ะ

 

ประสิทธิภาพและการเล่นเกม

DS_motorolaone_29

สำหรับผลคะแนนการทดสอบ Benchmark ด้วย Antutu ก็ออกมาที่ 81608 ซึ่งก็ถือว่าโอเคตามมาตรฐานของชิปรุ่นกลางอย่าง Snapdragon 625 เลยค่ะ ส่วนประสิทธิภาพการใช้งานจริงก็มาดูกันในหมวดต่อไปเล้ยย ~

ในการทดสอบครั้งนี้ก็เลือกเป็น 3 เกมฮิต (มั้ยนะ?) ที่หลายคนกำลังเล่นกันอย่าง ROV, PUB G, และก็ Ragnarok M สรุปรวมๆ ก็คือเจ้า Motorola One เล่นได้ทั้ง 3 เกมเลย แม้ว่ากราฟิกอาจจะไม่งามกริ๊บ และมีอาการกระตุก หรือหน่วงบ้างพอกรุบกริบ

DS_motorolaone_15

เริ่มกันที่ PUB G เริ่มเข้าเกมก็แนะนำให้เลือก Default กราฟิกระดับต่ำเลย ตอนเข้าหน้าหลักเกมครั้งแรกแอบกระตุกบ้าง รู้สึกปุ่มที่อยู่ริมๆ จอแอบกดไม่ค่อยติด ต้องกดย้ำอยู่หลายครั้ง แต่พอเข้าไปเล่นเกมก็สามารถเล่นได้เรื่อยๆ แม้ว่าจะแอบมีกระตุกบ้างนิดหน่อย

DS_motorolaone_17

มาต่อกันที่ ROV เข้าเกมครั้งแรกก็เจอบั๊กค้างอยู่หน้าเลือกตัวละครจนต้องออกเข้าใหม่ (แต่สำหรับเกมนี้เหมือนก็เป็นในหลายๆ รุ่น) ซึ่งครั้งแรกที่เล่นก็ตะกุกตะกักอยู่ แต่พอเริ่มเล่นครั้งที่ 2 ก็ไม่ค่อยมีอาการกระตุกมากแล้ว แม้ว่าจะเปิดทั้งกราฟิกสุด เปิดภาพแบบ HD ด้วยก็ตาม เฟรมเรตก็วิ่งขึ้นลงอยู่ที่ 28 – 30 fps และตาหลังๆ จากนั้นมาก็ไม่เจออาการสะอึกแบบครั้งแรก

DS_motorolaone_16

สำหรับ Ragnarok M นี่เพิ่งเข้ามาเล่นครั้งแรกเลย ส่วนตัวคิดว่าตัวกราฟิกก็ไม่ได้ดูแย่มากถึงแม้ Default จะเป็น Low ก็ตาม แต่ถือว่าพอใช้ได้เลย ชอบตรงที่เปิด Auto ให้ตีมอนได้เรื่อยๆ แบตก็ลดไม่ค่อยเยอะ  มีกระตุกมากหน่อยก็ตอนเดินเข้าเมืองที่คนเยอะๆ แต่สำหรับเกมนี้เราอาจจะพึ่งเริ่มต้นได้เลเวล 10 เอง เลยอาจจะยังไม่เจอโซนที่คนเยอะๆ หรือที่ที่อาจจะมีกราฟิกหนักๆ ด้วยก็เป็นได้

 

แบตเตอรี่และอายุการใช้งาน

ความจุของแบตเตอรี่ Motorola One ให้มาที่ 3,000 mAh ด้วยพลังการทำงานของชิป Snapdragon 625 และความเป็น Android One ที่ขึ้นชื่อเรื่องการจัดสรรทรัพยากรและพลังงานที่ค่อนข้างดี ทำให้ใช้งานได้ยาวๆ เลย แถมเครื่องไม่ค่อยร้อนอีกด้วย

DS_motorolaone_13

เริ่มต้นชาร์จแบตเตอรี่ด้วย Adapter Turbo Power (15 W) และใช้สายชาร์จที่ให้มาพร้อมกับเครื่อง ตั้งแต่ 0% เวลาประมาณ 12.31 น. จนถึง 100% ในเวลา 14.24 น. ใช้เวลารวมๆ ประมาณ 2 ชั่วโมงพอดี

DS_motorolaone_14

นั่งดูวิดีโอต่ออีกนิดจนแบตลดเหลือ 13% ตอน 01.47 น. 

ในส่วนของการใช้งาน Motorola One ก็ลองนู่นลองนี่ใช้งานตามปกติไปเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นยิงยาวต่อเนื่องจนไม่ได้พัก โดยเริ่มใช้ตั้งแต่เวลา 15.09 น. ลองเทสลำโพงฟังเพลง ลองเล่นเกมทั้ง ROV, Ragnarok (อันนี้คือเปิดหน้าจอทิ้งไว้เป็นชั่วโมง แบตลดลงไปประมาณ 10%) แล้วก็ต่อด้วย PUBG อีก 2-3 ตา และก็นั่งเล่นแอป ZEPETO อยู่เป็นชั่วโมงเหมือนกัน ก่อนจะสลับมาดู Youtube บ้าง จนแบตเหลือ 18% ตอนประมาณ ตี 01.15 น. รวมทั้งหมดก็อยู่ได้สบายๆ ประมาณ 10 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าโอเคเลย หากใช้งานแบบปกติทั่วๆ ไป เล่นโซเชียลบ้าง เกมบ้าง ก็น่าจะสามารถใช้งานได้เต็มวันแบบสบายๆ

 

กล้องหลังคู่ (Dual Camera)

DS_motorolaone_26

หน้าตา UI กล้องหลังของ Motorola One

กล้องหลังของ Motorola One นั้นเป็นแบบกล้องคู่ (Dual-Camera) ความละเอียด 13 MP + 2 MP มาพร้อมกับฟีเจอร์เด่นๆ ตามสมัยนิยมเลย คือ สามารถถ่ายภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอ (โหมด Portrait) ได้ ส่วนคุณภาพที่ออกมาก็ถือว่าไม่แย่มากสำหรับภาพถ่ายกลางแจ้ง หรือที่มีแสงหน่อย ส่วนภาพที่ถ่ายในที่แสงน้อย หรือภาพกลางคืน ชัตเตอร์ก็จะช้าๆ หน่อย Noise ก็จะเริ่มเห็นได้ชัด (ดูได้ในภาพตัวอย่างเลย)

DS_motorolaone_24

หน้าตา UI ของโหมด Manual

ซึ่งสามารถปรับได้ทั้ง White Balance, Speed Shutter, ISO, Manual Focus และ ค่าชดเชยแสง

หากเปิด HDR ไว้ ภาพที่ออกมาก็จะมีการดึงสีและรายละเอียดจนเหมือนผ่านการปรับแต่งมาบ้างแล้ว ส่วนภาพแบบ Original ก็อาจจะดูขุ่นๆ เล็กน้อย เมื่อมองเทียบกับภาพ HDR ตามภาพด้านล่าง

ภาพเปรียบเทียบระหว่างเปิด HDR กับ ไม่ได้เปิด HDR

DS_motorolaone_20

โหมดกล้องของ Motorola One ก็มีมาให้เล่นพอสมควร ทั้ง Portrait, Spot Color, Cinemagarph และ Panorama ส่วนวิดีโอก็สามารถถ่าย Slow-mo และ Timelapse ได้ (อันนี้ยังไม่ได้ลองจริงจัง)

 

โหมด Portrait 

DS_motorolaone_22

โหมด Portrait ตอนแรกที่ใช้งานแอบอ๊องๆ ไปเล็กน้อย โดยพอพลิกจากแนวนอนเป็นแนวตั้งแถบปรับแสงกับความเบลอดันไปซ้อนกันซะอย่างนั้น จนต้องออกเข้าใหม่ แล้วก็ระบบออโต้โฟกัสของรุ่นนี้รู้สึกจะแอบงงๆ ถ้าไม่กดเองคือก็จะไปโฟกัสอะไรไม่รู้ แต่ภาพที่ออกมาสำหรับโหมดนี้ส่วนตัวก็ถือว่าพอใช้ได้ บางรูปก็เกือบๆ เนียนอยู่

ภาพตัวอย่างโหมด Portrait 

โหมด Spot Color ก็คือการถ่ายแบบเลือกให้มีสีเฉพาะในจุดที่เราเลือก ส่วนอื่นในภาพก็จะกลายเป็นขาวดำ โดยสามารถเลือกระดับสีที่เราต้องการให้ปรากฎในภาพได้

DS_motorolaone_21

ภาพตัวอย่างโหมด Spot Color

หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินการถ่ายภาพแบบ Cinemagraph กันมาบ้างแล้ว ซึ่งแต่ก่อนเวลาใช้กล้องถ่ายแล้วมา Process ทีหลังก็ค่อนข้างจะยุ่งยาก แต่ Motorola One ก็มีโหมดนี้มาให้เล่นกัน

DS_motorolaone_23

โดยใช้วิธีกดถ่ายเป็นภาพต่อเนื่องรัวๆ แล้วมาจิ้มเลือกบริเวณที่ต้องการให้ขยับทีหลัง แล้วเซฟออกมาเป็นไฟล์นามสกุล .Gif ค่ะ

ภาพตัวอย่างโหมด Cinemagraph

ภาพตัวอย่างจากกล้องหลัง Motorola One

กล้องหน้า

DS_motorolaone_27

กล้องหน้าของ Motorola One ให้ความละเอียดมาที่ 8 ล้านพิกเซล ซึ่งสาวๆ ที่ชอบถ่ายเซลฟี่อาจจะไม่ค่อยปลื้มเท่าไหร่ เพราะแม้กระทั่งเปิดโหมด Face Beauty แล้วก็ยังไม่ช่วยกลบความโทรมเลย สีที่ออกมาก็เหมือนจะติดฟ้าหน่อยๆ แต่ก็ยังเกลี่ยหน้าให้เนียน ปรับตาโต หน้าเรียวให้ได้อยู่ สำหรับคุณภาพดูได้ตามภาพข้างล่างเลยค่า

ภาพตัวอย่างจากกล้องหน้า

 

ข้อจำกัดของการใช้ซิม

 DS_motorolaone_28

Motorola One ที่จำหน่ายในประเทศไทยเป็นรุ่น 2 ซิม (nanoSIM) ที่ทางผู้ให้บริการเครือข่ายที่นำเข้าล็อคไว้ให้ใช้งานได้เฉพาะซิมของค่าย แต่เราก็ได้ลองจับเอาของค่ายอื่นมาลองใส่ดูด้วย ผลปรากฎออกมาตามนี้เลยค่ะ …

  • ช่องซิม 1 สามารถใส่ได้เฉพาะซิมของค่าย Truemove H เท่านั้น!! (ถ้าใส่ซิมของค่ายอื่นก็จะขึ้นเตือนว่าล็อคไม่สามารถใช้งานทันที)
  • ช่องซิม 2 สามารถใส่ซิมของค่ายอื่นได้ แต่! สามารถใช้รับสายกับข้อความได้อย่างเดียว ไม่สามารถใช้โทรออกได้
  • ถ้าเป็นซิมของค่าย Truemove H เองก็จะสามารถใช้งานได้ปกติทั้งซิม 1 และ ซิม 2 โดยขึ้นเป็น 4G/3G สามารถเลือกสลับใช้งานได้ โดยซิมหลักก็จะรับ 4G ซิมรองก็เป็น 3G ค่ะ

 

สรุปการใช้งาน

DS_motorolaone_09

ข้อดีของ Motorola One คือ ความเป็น Pure Android ไม่มีที่ค่ายมือถือชอบแถมมาให้หนักเครื่อง แม้สเปคที่ให้มาจะไม่ได้โดดเด่นมากเทียบกับค่ายอื่นๆ ในช่วงราคานี้ แต่มีการจัดการพลังงานที่ค่อนข้างดีเลยค่ะ เครื่องไม่ค่อยร้อนเวลาเล่นเกม แบตก็อยู่ทนนานใช้ได้แบบเต็มๆ วัน แต่สำหรับเรื่องกล้องและข้อจำกัดของซิมก็อาจทำให้คิดหนักอยู่เหมือนกัน คือถ้าไม่ใช่ลูกค้า True ก็คงไม่เหมาะจะซื้อไปใช้อย่างแรง อีกทั้งตัวเลือกในช่วงราคาเท่านี้ตอนนี้ก็ถือว่าจัดจ้านไม่หยอก อย่างไรก็แล้วแต่จะพิจารณากันความชอบเลยค่ะ

 

หากใครสนใจครอบครองเจ้า Motorola One ตอนนี้ก็ยังมีโปรโมชั่นสำหรับลูกค้า Truemove H เมื่อซื้อเครื่องพร้อมแพ็คเกจรายเดือน 4G Fun Unlimited ราคา 499 บาท ขึ้นไป รวมทั้งจ่ายค่าบริการล่วงหน้า 1,000 บาท (ติดสัญญา 12 เดือน) ก็จะได้เป็นเจ้าของ Motorola ในราคาพิเศษ 3,990 บาท ค่ะ