สวัสดีปีใหม่เพื่อนสมาชิก Droidsans ทุกท่านครับ ช่วง 2-3 สัปดาห์ผมมีโอกาสได้รีวิวมือถือรุ่นหนึ่งจากประเทศจีน อยากมาแนะนำให้เพื่อนสมาชิกได้รู้จักกัน มันคือ OnePlus 2 สมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นที่ 2 จากค่ายมือถือ OnePlus น้องใหม่จากประเทศจีน โดยสโลแกนการตลาดของมือถือรุ่นนี้คือ “2016 Flagship Killer” หรือ “เพชรฆาตเรือธง 2016” ซึ่งต้องถือว่าคนตั้งมั่นใจมากและกล้ามาก โดยอาจจะหวังเรียกกระแสความสนใจจากคนทั่วไป แต่สุดท้ายมือถือรุ่นนี้จะดีสมกับสโลแกนที่บอกหรือเปล่า? มาหาคำตอบกัน

ก่อนอื่นขอขอบคุณพี่ HD_Mania เจ้าพ่อโคตรรีวิวของ Droidsans เจ้าของเครื่องที่ใจดีให้น้องนุ่งเอามารีวิวแบบตามสบาย ผมก็เป็นคนขัดใจใครไม่ค่อยเป็น พี่ว่าไง น้องก็ว่างั้น ก็เลยรับมารีวิวซะเลย อิอิ

กลับมาเรื่องรีวิว OnePlus 2 นั้นเป็นมือถือที่ OnePlus หมายมั่นปั้นมืว่าจะสานต่อกระแสความสำเร็จจากรุ่นพี่ OnePlus One ได้ มั่นใจถึงขนาดตั้งฉายาว่า 2016 Flagship Killer เลย และมันก็เรียกกระแสความสนใจได้พอสมควร แต่ออกไปทางลบซะมากกว่า โดนส่วนตัวผมก็รู้สึกว่าจริงๆใช้ Flagship Killer หรือ 2015 Flagship Killer ก็พอได้ คนไม่หมั่นไส้ด้วย แต่ถ้าเรามองข้ามเรื่องการตลาดนี้ไป OnePlus 2 ยังคงคุณสมบัติความคุ้มค่า เป็นมือถือที่ดีระดับเรือยอร์ช แต่ขายราคาเรือหางยาวแบบที่เขียนในหัวบทความนั่นแหละครับโดยรุ่น 64GB นี้ได้มาเพียง 13,xxx บาทเท่านั้น ลองมาดูความน่าสนใจของมือถือรุ่นนี้กันดีกว่า

 

สเปกของ OnePlus 2

อย่างที่บอกไปว่า OnePlus 2 นั้นเป็นมือถือระดับเรือธง ดังนั้นสเปกที่อัดมานั้นเรียกว่าจัดเต็มสำหรับมือถือปี 2015 ได้เลย ทั้งหน่วยประมวลผล Snapdragon 810, RAM 4GB, ROM 64GB, รองรับ LTE และมีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ เรามาดูสเปกแบบละเอียดกันเลยครับ

 

  • ชื่อและรหัสเครื่อง : OnePlus 2 (A2005)

  • สัดส่วน : 151.8 x 74.9 x 9.85 มิลลิเมตร

  • น้ำหนัก : 175 กรัม

  • หน้าจอ : LTPS IPS LCD 5.5 นิ้ว ความละเอียด FullHD 1920 x 1080 พิกเซล

  • เครือข่ายที่รองรับ:

    • 4G : LTE band 1(2100), 2(1900), 4(1700/2100), 5(850), 7(2600), 8(900), 12(700), 17(700)

    • 3G : WCDMA 850 / 900 / 1700(AWS) / 1900 / 2100

    • 2G : GSM 850 / 900 / 1800 / 1900

  • SIM : 2 SIM แบบ Nano SIM

  • CPU : Qualcomm Snapdragon 810 MSM8994 1.8GHz Octa-core

  • GPU : Adreno 430

  • RAM : 4GB LPDDR4

  • หน่วยความจำภายใน : 64GB eMMC v5.0

  • กล้องหน้า : 5 ล้านพิกเซล f/2.2

  • กล้องหลัง : 13 ล้านพิกเซล f/2.0 OIS พร้อม Dual-LED flash และ Laser-focus

  • แบตเตอรี่ : 3300mAh (ถอดเปลี่ยนเองไม่ได้)

  • OS : Android 5.1.1 Lollipop พร้อม OxygenOS

  • NFC : ไม่มี

  • OTG : มี

  • เซ็นเซอร์และการเชื่อมต่ออื่นๆ:

    • เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ Fingerprint ID

    • A-GPS, GLONASS, Digital compass

    • Wi-Fi 802.11b/g/n 2.4GHz และ 802.11a/n/ac 5GHz

    • Bluetooth 4.1 BLE, A2DP

    • USB Type-C 2.0

    • หูฟัง 3.5 มิลลิเมตร

 

OnePlus 2 มีกี่รุ่น?

OnePlus 2 มีอยู่ทั้งหมด 3 รุ่น 3 รหัสด้วยกัน คือ A2001, A2003 และ A2005 โดยทั้งสามรุ่นจะมีรูปร่างและสเปกเหมือนกันทั้งหมด สิ่งที่แตกต่างกันจะเป็นเพียงเครือข่ายที่รองรับไม่เหมือนกันเท่านั้น ดังนี้

  • A2001 – China model สำหรับใช้งานประเทศจีน

    • FDD-LTE : Bands 1/3/7

    • TDD-LTE : Bands 38/39/40/41

    • TD-SCDMA : Bands 34/39

    • WCDMA: 850 / 900 / 1900 / 2100

    • GSM: 850, 900, 1800, 1900 MHz

  • A2003 – Europe / Asia model สำหรับใช้งานในทวีปยุโรปและเอเชีย

    • FDD-LTE: Bands 1/3/5/7/8/20

    • TDD-LTE: Bands 38/40/41

    • WCDMA: 850 / 900 / 1900 / 2100

    • GSM: 850, 900, 1800, 1900 MHz

  • A2005 – North America model สำหรับใช้งานในอเมริกา

    • FDD-LTE: Bands 1/2/4/5/7/8/12/17

    • WCDMA: 850 / 900 / 1700(AWS) / 1900 / 2100

    • GSM: 850, 900, 1800, 1900 MHz

ดังนั้นเครื่องที่เหมาะจะใช้ในประเทศไทยคือ A2003 ที่รองรับ LTE band ของประเทศไทยทั้งหมด คือ LTE band 1(2100), 3(1800), 5(850), 7(2600) และ 8(900) แต่สำหรับเครื่องรีวิวเป็น A2005 สำหรับอเมริกาซึ่งไม่รองรับ 4G ที่คลื่น 1800 ดังนั้นใครจะหาซื้อให้เช็คเลขรุ่นให้ดีด้วย เดี๋ยวจะหาว่าไม่บอกกัน

 

แกะกล่อง OnePlus 2

กล่องของ OnePlus 2 นั้นมีความโดดเด่นด้วยการเลือกใช้สีแดงสดซึ่งเป็นสีของ OnePlus อยู่แล้ว ตัวกล่องทำด้วยกระดาษแข็ง สัมผัสเรียบลื่น ไม่สากนิ้ว ถือว่าออกแบบได้โอเคเลย

 

สำหรับอุปกรณ์ทั้งหมดในกล่องของ OnePlus 2 มีอยู่ไม่มาก ประกอบด้วย

  • ตัวเครื่อง OnePlus 2

  • สายข้อมูลแบบ USB Type-C

  • หัวชาร์จ 5V 2A

  • คู่มือและใบรับประกัน

 

สายชาร์จเป็นสีแดงสดทั้งเส้นตัดกับหัวทั้งสองด้านที่เป็นสีขาว นอกจากนั้นยังมียางสีขาวเอาไว้สำหรับรวบสายไม่ให้พันกันเวลาเก็บอีกด้วย ไอเดียดีครับ

 

ด้านที่เสียบกับโทรศัพท์จะเป็นหัวเสียบ USB Type-C สามารถเสียบด้านไหนก็ได้ ไม่ต้องกลับให้ถูกด้าน

 

หัวชาร์จสามารถจ่ายไฟได้ 5V 2A จำทำให้ชาร์จได้เร็วกว่ามือถือทั่วไป แต่ก็ไม่เร็วเท่าพวกที่เป็นเทคโนโลยีชาร์จเร็ว เช่น VOOC Flash Charge, Quick Charge หรือ Fast Charge นะครับ

 

ต่อไปเรามาดูงานออกแบบของมือถือรุ่นนี้แบบละเอียดมากขึ้นดีกว่า

 

งานออกแบบและงานประกอบ OnePlus 2

ในเรื่องงานออกแบบของ OnePlus 2 หากเทียบกับรุ่นแรกอย่าง OnePlus One ถือว่ามีการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างชัดเจน ในขณะที่ OnePlus One เลือกใช้วัสดุเป็นพลาสติก แต่ OnePlus 2 จะมาพร้อมเฟรมของตัวเครื่องที่เป็นโลหะทั้งชิ้นเวลาจับถือแล้วรู้สึกได้ถึงความพรีเมียมและมีราคา ส่วนฝาหลังก็สามารถถอดเปลี่ยนได้ โดยฝาหลังมาตรฐานของ OnePlus 2 ที่ให้มาคือ Sandstone Black นะครับ แต่พี่ HD_Mania ยังแถมฝาเคสหรือ StyleSwap Cover มาให้ลองเล่นอีก 2 รุ่นคือ Bamboo และ Rosewood ดังรูป (*ฝาหลัง Rosewood ของจริงมันผิวด้านมาก และเป็นเนื้อไม้แท้ๆ เลย แต่ที่เห็นเป็นเงาแบบในภาพเพราะมีการเอาไปเคลือบมาเองนะครับ)

 

สำหรับฝาหลัง Sandstone Black นั้นเป็นสีดำล้วน และมีผิวสัมผัสหยาบๆคล้ายกับกระดาษทราย รับรองว่าติดมือไม่ลื่นหลุดง่ายแน่นอน

 

ส่วนฝาหลัง Bamboo นั้นก็ทำมาจากไม้ไผ่ “์Nan Bamboo” ที่ปลูกในเมือง Taojiang ประเทศจีน โดยฝาหลังแต่ละอันนั้นจะมีลักษณะเฉพาะของตัวเองไม่มีอันไหนที่เหมือนกันเลย

 

ฝาหลัง Rosewood หรือ ไม้ชิงชัน นั้นถูกเลือกมาทำเพราะมีลายไม้ที่ชัดเจน และเป็นลายที่คุ้นตาสำหรับคนทั่วไป เนื่องจากเป็นไม้ที่นิยมนำมาทำเครื่องเรือนและเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เหมาะสำหรับคนที่อยากให้มือถือตัวเองดูธรรมชาติมากๆ (*ย้ำกันอีกที ฝาหลัง Rosewood ของจริงมันผิวด้านมาก และเป็นเนื้อไม้แท้ๆ เลย แต่ที่เห็นเป็นเงาแบบในภาพเพราะมีการเอาไปเคลือบมาเองนะครับ)

 

สำหรับงานประกอบนั้นทำได้ดีมาก ถึงแม้จะถอดฝาหลังได้ แต่ก็ไม่มีช่องอากาศหรือช่องว่างที่ไม่แนบสนิทของฝาหลังกับตัวเครื่อง ยกเว้นช่องว่างที่เอาไว้แงะฝาหลังเท่านั้น ถือว่าเนี๊ยบจริงสำหรับงานประกอบ เมื่อถอกฝาหลังออกเราจะเห็นว่าด้านในตัวเครื่องของ OnePlus 2 เป็นพลาสติกสีดำ โดยมุมซ้ายบนจะมีช่องถาดซิมให้เอานิ้วเขี่ยออกมาได้ ซึ่งมือถือรุ่นนี้รองรับ 2 ซิมแบบ Nano ครับ

 

สำหรับขนาดของ OnePlus 2 ถือว่าไม่ใหญ่มากสำหรับมือถือที่มีหน้าจอขนาด 5.5 นิ้ว โดยขอบจอที่มีไม่มากช่วยเรื่องขนาดไปได้พอสมควร แต่สำหรับความหนา 9.85 มิลลิเมตรนั้นถือว่าหนาเหมือนกัน รวมไปถึงน้ำหนัก 175 กรัมก็ถือว่าหนักกว่ามือถือทั่วไปแบบรู้สึกได้ แต่โดยรวมขนาดและน้ำหนักของมือถือรุ่นนี้ ทำให้เวลาถือแล้วรู้สึกว่าเป็นมือถือที่มีราคาค่าตัวพอสมควร ไม่ใช่มือถือราคาถูกๆทั่วไป การจับถือก็เข้ามือดี ไ่ลื่นหลุดได้ง่าย แต่การใช้งานมือเดียวก็ต้องระวังสักหน่อย เพราะบางจุดจะเอื้อมนิ้วไม่ถึง

 

ลัดเลาะรอบตัวเครื่อง

ด้านขวาของตัวเครื่องจะมีปุ่ม Power และปุ่มปรับเสียงอยู่ตามมาตรฐานของมือถือ Android ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดแล้วในความเห็นของผม โดยปุ่มทั้งสองก็ทำมาจากโลหะเหมือนเฟรมของตัวเครื่องเลย

 

ด้านซ้ายของตัวเครื่องจะมีปุ่ม Slider ที่สามารถเลื่อนขึ้นลงเพื่อเปิดปิดเสียงการแจ้งเตือนได้ 3 ระดับไล่จากบนลงล่าง ได้แก่

  • ปิด คือ ปิดเสียงการแจ้งเตือนทั้งหมดรวมถึงระบบสั่นด้วย

  • Priority คือ เปิดใช้งานโหมด Priority Interruption ที่จะอนุญาตให้มีการแจ้งเตือนบางอย่างเท่านั้น ซึ่งเราสามารถตั้งค่าโหมดนี้ได้ใน settings

  • เปิด คือ เปิดเสียงการแจ้งเตือนทั้งหมด

สาวก iPhone มาเห็นเจ้าปุ่ม Slider นี้คงจะรู้สึกว่ามันคุ้นๆ เพราะมันอีหรอบเดียวกับปุ่ม Mute ของ iPhone เลยนี่นา จริงๆ OnePlus ก็คงต่อยอดมาจากไอเดียของ iPhone นั่นแหละครับ ผมชอบไอเดียนี้ซะด้วยสิ มีประโยชน์ใช้งานได้จริง

 

ด้านล่างของตัวเครื่องจะมีพอร์ต USB Type-C ซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่ของพอร์ต USB ที่เราจะได้เห็นในมือถือรุ่นใหม่ๆในปีหน้านี้ ประโยชน์หลักของ USB Type-C คือเราสามารถเสียบปลั๊กได้โดยไม่ต้องห่วงว่าจะเสียบผิดด้าน เพราะทั้งสองด้านนั้นเหมือนกัน เป็นการขจัดปัญหา classic ของพอร์ต USB แบบเก่าได้เป็นอย่างดี สำหรับข้อเสียอย่างเดียวสำหรับ USB Type-C ตอนนี้คือ ยังไม่มีอุปกรณ์ออกมารองรับมากนัก และก็ต้องใช้สายที่เป็น Type-C เท่านั้น ดังนั้นเราไม่สามารถเอาสาย USB ของมือถือยี่ห้ออื่นหรือที่วางขายกัยเกลื่อนตลาดมาใช้กับมือถือรุ่นนี้ได้เลย ต้องใช้สายที่แถมมาเท่านั้น นอกจากพอร์ต USB แล้วก็ยังมีช่องไมโครโฟนอยู่ทางด้านซ้ายและช่องลำโพงอยู่ทางด้านขวาด้วย

 

ด้านบนของตัวเครื่องจะมีช่องเสียบหูฟัง 3.5 มิลลิเมตรอยู่ ส่วนรูเล็กๆนั่นคือ ไมค์ตัดเสียงรบกวน

 

พลิกมาดูด้านหน้าของตัวเครื่อง ส่วนบนจะมีลำโพงสำหรับสนทนาและกล้องหน้าอยู่ นอกจากนั้นยังมี Notification LED หรือไฟแจ้งเตือน อยู่ข้างซ้ายของกล้องหน้าด้วย

ตำแหน่ง Notification LED

 

ส่วนด้านล่างของหน้าจอจะมี เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ อยู่ตรงกลาง โดยเป็นเซ็นเซอร์แบบสัมผัสตามมือถือยุคใหม่ทั่วไป และการรับรู้ลายนิ้วมือก็ทำได้รวดเร็วดีเช่นกัน ซึ่งการสแกนลายนิ้วมือจะถูกนำไปใช้ในการปลดล็อคเครื่องหรืออนุมัติการจ่ายผ่าน app ต่างๆที่รองรับได้ นอกจากนั้นตัวเซ็นเซอร์ยังใช้ทำหน้าที่เป็น ปุ่ม Home แบบสัมผัสอีกด้วย

 

ด้านหลังของตัวเครื่องจะมีส่วนของโมดูลกล้องหลังอยู่ โดยโลโก้ OnePlus อยู่ด้านหลังสุด ในส่วนของกล้องนั้นด้านบนจะเป็นไฟแฟลชแบบ Dual-LED สองดวง และส่วนด้านล่างของกล้องเป็นช่องยิงแสง Laser สำหรับ Autofocus นั่นเอง

 

หน้าจอที่สวยงาม

OnePlus 2 มาพร้อมกับหน้าจอ IPS LCD แบบ in-cell ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียด Full HD 1080p โดย OnePlus มีการปรับจูนหน้าจอให้สว่างเป็นพิเศษเพื่อสู้แสงแดดในที่กลางแจ้งได้ โดยหน้าจอมีมุมมองกว้างถึง 178 องศา นอกจากนั้นในที่มืด หน้าจอของ OnePlus 2 ก็ลดแสงได้น้อยมาก เพื่อช่วยถนอมสายตาเวลาใช้งานมือถือก่อนนอนด้วย ถึงแม้หน้าจอจะมีความละเอียดเพียง Full HD แต่ภาพนั้นมีความชัดเจน สีสันสวยงามดีมาก ผมว่าหน้าจอของ OnePlus 2 เป็นหน้าจอที่ดีมากเลย ยิ่งเทียบกับราคาของมือถือด้วยแล้ว

 

ทาง OnePlus ระบุสเปกของหน้าจอว่ามีค่า Contrast ratio 1500:1 ซึ่งสามารถให้สีดำที่ดำกว่าหน้าจอทั่วไปและสีสันอื่นๆก็มีความสดใสชัดเจนมากกว่า และให้ความสว่างได้มากถึง 600 nit เลยทีเดียว

 

ระบบซอฟต์แวร์

OnePlus 2 มาพร้อมระบบปฏิบัติการ Oxygen OS ที่พัฒนาบน Android 5.1.1 Lollipop ตั้งแต่เปิดตัวเมื่อตอนเดือนสิงหาคม โดยปัจจุบัน Android 6.0 Marshmallow ก็เปิดตัวออกมาแล้ว ดังนั้นคงอีกไม่นาน OnePlus 2 ก็น่าจะได้อัพเดตด้วย

 

สำหรับ Oxygen OS นั้นหน้าตาโดยรวมไม่ได้แตกต่างไปจาก Android มาตรฐานสักเท่าไหร่ แต่จะมีการเสริมฟีเจอร์เข้ามาเพิ่มเติมแทน เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของ Oxygen OS นั่นหมายความว่า ถ้าเราคุ้นเคยกับการใช้าน Android ทั่วไปอยู่แล้ว การใช้ Oxygen OS ก็ไม่ยุ่งยากเลย เพราะ Oxygen OS ก็ทำมาจาก AOSP นั่นแหละครับ Vanilla Android ดีๆนี่เอง

 

Shelf

ฟีเจอร์เสริมที่เห็นเป็นอย่างแรกใน Oxygen OS คือ “Shelf” เป็นหน้าจอพิเศษที่อยู่ทางด้านซ้ายสุดของ Homescreen โดย Shelf จะเป็นหน้าจอที่แบ่งเป็นชั้นๆ ชั้นบนสุดจะเป็นพยากรณ์อากาศ ถัดลงมาจะเป็นรายชื่อ app ที่เราใช้งานบ่อยๆ และถัดลงมาอีกจะเป็นรายชื่อ contact ที่ได้เราโทรหาบ่อยๆ เช่นกัน นอกจากนั้นเรายังสามารถเพิ่ม Widget เข้าไปใน Shelf ได้เองด้วยถ้าเราต้องการ อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่ไม่ชอบก็สามารถปิดฟีเจอร์นี้ได้ใน setting ของ Homescreen นะครับ

 

SwiftKey Keyboard

ปกติมือถือ Android ทุกรุ่นจะมี Google Keyboard ติดมาให้ใช้งานเป็นค่ามาตรฐานอยู่แล้ว แต่เกือบทุกยี่ห้อก็จะมี Keyboard ที่ทางผู้ผลิตใส่เข้ามาเพิ่มให้ สำหรับ Oxygen OS ของ OnePlus 2 นั้นเลือกใช้ SwiftKey Keyboard ซึ่งเป็น keyboard ที่ผมใช้งานเป็นหลักอยู่แล้ว และนี่ก็เป็นมือถือรุ่นแรกที่ผมเห็นว่าเลือกใช้ SwiftKey ด้วย สำหรับ SwiftKey นั้นรองรับภาษาได้หลายภาษาแต่จุดเด่นจะอยู่การลากนิ้ว (swipe) แทนการพิมพ์ และมีการเดาคำที่ค่อนข้างแม่นยำ นอกจากนั้นยังมี Theme มาให้เลือกเปลี่ยนได้หลากหลายทั้งฟรีและไม่ฟรี

 

Gestures

Oxygen OS นั้นมีระบบ Gestures มาให้ใช้งานตอนที่หน้าจอดับอยู่ด้วย โดยจะมีอยู่ 4 แบบด้วยกันคือ

  1. Double tap to wake แตะหน้าจอ 2 ครั้งเพื่อเปิดหน้าจอ

  2. Open camera เปิดกล้องด้วยการวาดตัวอักษร O บนหน้าจอ

  3. Toggle flashlight เปิดไฟฉายด้วยการวาดตัวอักษร V บนหน้าจอ

  4. Music control ใช้สองนิ้ววาดเส้นตรง || พร้อมกันเพื่อเปิดเพลง โดยสามารถวาด < หรือ > เลื่อนเพลงได้ด้วย

 

Buttons

เราสามารถปรับการใช้งานปุ่มต่างๆของ OnePlus 2 ได้ค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว

  • On-screen navigation bar การเปิดใช้งานปุ่ม Soft Keys ด้านล่างหน้าจอ สำหรับคนที่ถนัดใช้งานปุ่ม software มากกว่าปุ่มจริง

  • Swap buttons การสลับปุ่ม Recent และปุ่ม Back ที่อยู่ด้านซ้ายและขวาของปุ่ม Home

  • Backlight เปิดไฟ backlight ของปุ่มสัมผัสด้านล่างหน้าจอ

นอกจากนั้นเรายังสามารถปรับการใช้งานปุ่มสัมผัสทั้ง 3 ปุ่มด้านล่างหน้าจอได้เพิ่มเติม เช่น แตะปุ่ม Home 2 ครั้งเพื่อเปิดกล้องได้ หรือ แตะค้างที่ปุ่ม Back เพื่อเปิด app อันล่าสุด เป็นต้น

 

Fingerprint

OnePlus 2 นั้นมาพร้อมกับเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ แต่ก่อนจะใช้งานได้เราต้องลงทะเบียนนิ้วมือให้ระบบจดจำลายนิ้วมือเราได้ก่อน โดยเราจะลงทะเบียนนิ้วได้ทั้งหมด 5 นิ้ว เทคนิคการลงทะเบียนลายนิ้วมือคือ พยายามเอานิ้วแตะในมุมต่างๆ อย่าพยายามแตะอยู่ท่าเดียว ระบบจะรับรู้ลายนิ้วมือเราได้ง่ายขึ้น

 

LED notifications

เราปรับสีของแสงไฟแจ้งเตือนหรือ LED notification ได้ โดยจะมีให้เลือกทั้งหมด 8 สี ได้แก่ น้ำเงิน, ฟ้า, ส้ม, เขียว, แดง, เหลือง, ม่วง และชมพู และสามารถตั้งค่าได้ 4 เหตุการณ์คือ

  • Global notification : ไฟแจ้งเตือนสำหรับการแจ้งเตือนโดยรวม

  • Battery full : ไฟแจ้งเตือนตอนแบตเตอรี่เต็ม

  • Battery charging : ไฟแจ้งเตือนตอนชาร์จแบตเตอรี่

  • Battery low : ไฟแจ้งเตือนตอนแบตเตอรี่เหลือน้อย

 

โดยรวมการใช้งาน Oxygen OS บน OnePlus 2 นั้นสามารถใช้งานได้ดี ลื่นไหลตามสไตล์ของ Vanilla Android แต่ฟีเจอร์ที่ OnePlus ใส่เข้ามาเพิ่มนั้นถือว่าไม่มากแต่ก็สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ หรือถ้าไม่ชอบก็สามารถปิดได้ ไม่ได้บังคับหรือยัดเยียดผู้ใช้จนเกินไปครับ

 

ประสิทธิภาพและความอึดของแบตเตอรี่

OnePlus 2 นั้นเป็นมือถือที่จัดสเปกระดับเรือธงมาให้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น CPU Snapdragon 810 ตัวแรงของปี 2015 และ RAM 4GB อัดแน่นมาขนาดนี้ประสิทธิภาพไม่ใช่เรื่องที่ต้องห่วงเลย การใช้งานทั่วไปและเล่นเกมส์ก็ทำได้เต็มประสิทธิภาพ ลื่นไหล สมกับเป็นมือถือเรือธง สำหรับคะแนนที่ได้จากการวัด benchmark ผ่าน 3 แอพชื่อดัง อย่าง Antutu, Geekbench และ 3DMark ก็ไม่มีอะไรให้แปลกใจ ถือว่าได้ตามมาตรฐานมือถือเรือธง

Antutu Benchmark

 

Geekbench 3

 

3DMark : Slingshot

 

แต่จริงๆ OnePlus 2 ก็มีอาการสะดุดเหมือนกันในบางจุด เช่น การแตะปุ่ม Home นั้นจะไม่ตอบสนองในทันที จะมีอาการหน่วงอยู่แป๊บนึงถึงจะกลับสู่หน้า Home ได้ นอกจากนั้นเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วก็ไม่ทำงานในบางครั้ง ทำให้ไม่สามารถปลดล็อคเครื่องโดยใช้ลายนิ้วมือได้ ต้องใส่รหัส PIN แทน ส่วนเรื่องความร้อนที่ขึ้นชื่อกับ Snapdragon 810 ในมือถือรุ่นอื่นๆ เท่าที่ผมใช้งานมาไม่พบว่ามีอาการร้อนจนจับถือไมได้ เต็มที่ก็แค่อุ่นๆตอนที่ถ่ายวิดีโอ 4K เท่านั้น ถือว่ามีการจัดการความร้อนที่ดีพอสมควร

 

สำหรับแบตเตอรี่ขนาด 3300mAh ที่ให้มานั้นถึงจะดูมากแต่ก็เพียงพอต่อการใช้งานในหนึ่งวันเท่านั้น ถึงแม้ว่าหน้าจอ(ซึ่งเป็นตัวกินแบตอย่างหนึ่ง)ของ OnePlus 2 จะมีความละเอียดแค่ Full HD ก็ไม่ช่วยสักเท่าไหร่ คาดว่าน่าจะเป็นที่ตัว CPU Snapdragon 810 นั้นบริโภคพลังงานมากพอสมควร และถึงแม้ OnePlus 2 จะถอดฝาหลังออกมาได้ แต่แบตเตอรี่นั้นฝังอยู่ด้านใน ไม่สามารถเปลี่ยนได้เอง และก็ไม่มีระบบชาร์จเร็วหรือชาร์จไร้สายมาให้ด้วย แต่นี่มันมือถือราคาหมื่นต้นๆ จะเอาอะไรมากมายล่ะเนอะ

 

กล้องและตัวอย่างภาพถ่าย

OnePlus 2 ให้กล้องหลังมาที่ความละเอียด 13 ล้านพิกเซล ถือว่าเป็นความละเอียดที่น้อยกว่ามือถือเรือธงหลายๆรุ่น แต่ยุคนี้หลายท่านคงจะเข้าใจแล้วว่า คามละเอียดไม่ใช่สิ่งเดียวที่กำหนดคุณภาพของภาพถ่าย และ 13 ล้านพิกเซลก็ไม่น้อยนะครับ และกล้องของ OnePlus 2 ก็ถ่ายภาพออกมาได้คุณภาพสูงเลยล่ะ

สำหรับเซ็นเซอร์กล้องของ OnePlus 2 นั้นเป็นยี่ห้อ Omnivision (ที่ OPPO นำมาใช้ในมือถือของตัวเองบ่อยๆ) ขนาดเซ็นเซอร์อยู่ที่ 1/2.6 นิ้ว และขนาดพิกเซลที่ 1.3 ไมครอน ถือว่าใหญ่กว่ามือถือตัวท็อปหลายรุ่นเลยทีเดียว โดยพิกเซลยิ่งใหญ่ก็จะรับแสงได้มากกว่า dynamic range ดีกว่า คุณภาพของภาพถ่ายก็จะดีตามไปด้วย นอกจากนั้น OnePlus 2 ยังมี hardware มาช่วยการถ่ายรูปให้ดีขึ้นไปอีกทั้ง Laser focus, OIS และ Dual-LED flash

แอพกล้องของ OnePlus 2 นั้นทำมาให้ใช้งานได้ง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อน จริงๆหน้าตา UI มันก็คล้ายกับของ Google Camera อยู่เหมือนกัน แต่เพิ่มโหมดกับลูกเล่นเข้าไปนิดหน่อย โหมดที่มีให้เล่น ได้แก่ Time-lapse, Slow motion, Photo, Video, Manual และ Panorama

 

นอกจากนั้นยังมี option เสริมให้เลือก effect ได้อีก ได้แก่ Clear image, HDR และ Beauty

 

สำหรับโหมด Manual ก็มีค่าให้ปรับได้ครบที่ควรจะเป็นทั้ง ระยะโฟกัส, ความเร็วชัตเตอร์, WB และ ISO โดย UI ในการปรับค่าจะเป็นแบบล้อหมุน คนที่ชอบปรับค่าเพื่อถ่ายรูปเองน่าจะพอใจในส่วนนี้ อย่างเช่น ความเร็วชัตเตอร์ก็ปรับได้นานถึง 30 วินาที

 

คุณภาพของภาพถ่ายจากกล้องของ OnePlus 2 นั้นถือว่าดีมาก ภาพนั้นมีรายละเอียดที่ดี สีที่ถูกต้อง สำหรับตอนถ่ายกลางวัน เรียกว่าไว้ใจกล้องของมือถือรุ่นนี้ได้เลย ส่วนภาพกลางคืนนั้นจะถ่ายยากขึ้นสักิด เพราะ UI กล้องจะช้าลงอย่างเก็นได้ชัด การกดชัดเตอร์อาจจะไม่ได้หมายความว่าจะได้รูปทันที ต้องรออีกนิดก่อนจะกระตุกมือออก แต่คุณภาพของภาพถ่ายในที่แสงน้อยก็ทำได้ดีเช่นเดียวกัน ลองมาดูตัวอย่างกันครับ

สภาพแสงปกติ

 

สภาพแสงน้อย

 

สำหรับการถ่ายวิดีโอนั้น OnePlus 2 สามารถถ่ายได้ที่ความละเอียดสูงสุดคือ 3840×2160 พิกเซล หรือ 4K นั่นเอง โดยสามารถถ่ายได้สูงสุดไม่เกิน 10 นาทีนะครับ แต่ก็พบปัญหานิดหน่อยเรื่อง refocus ที่เกิดขึ้นบ่อยมากระหว่างถ่ายวิดีโอ ลองมาดูตัวอย่างวิดีโอ 4K จาก OnePlus 2 กัน

Play video  

Play video  

 

แถมท้ายเรื่องกล้อง ถ้าใครสนใจการเปรียบเทียบภาพถ่ายจากของ OnePlus 2 กับมือถือเรือธงระดับแถวหน้ารุ่นอื่นๆ แบบละเอียดยิบๆ ขอเชิญไปอ่านบทความ ทดสอบกล้อง 8 สุดยอด Smartphone แห่งปี 2015 แบบจัดเต็มละเอียดยิบ รุ่นไหนถ่ายรูปออกมาสวยที่สุดในตอนนี้ ของพี่ HD_Mania ได้เลยครับ

 

บทสรุป

OnePlus 2 เป็นมือถือเรือธงที่จัดว่าโดดเด่นรุ่นหนึ่งของปี 2015 ด้วยราคาเพียง $329 (ประมาณ 11,xxx บาท) สำหรับความจุ 16GB / RAM 3GB และราคา $389 (ประมาณ 13,xxx บาท) สำหรับความจุ 64GB / RAM 4GB นั้นถือว่าคุ้มค่าอย่างที่สุด เพราะสเปก, งานประกอบ และวัสดุที่ใช้นั้นเทียบชั้นกับมือถือเรือธงราคา 20,xxx บาทได้เลย กล้องของ OnePlus 2 ก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม ถึงแม้จะมีปัญหา UI ช้ากระตุกบ้างตอนสภาพแสงน้อย แต่คุณภาพของภาพนั้นดีจริงๆ โดยพอจะสรุปจุดเด่นและจุดด้อยของมือถือรุ่นนี้ได้ดังนี้

 

จุดเด่น

  • สเปกต่อราคาคุ้มค่ามากสมกับสโลแกน Flagship killer

  • หน้าจอสวย ทั้งสีสันและความคมชัด

  • กล้องดี ภาพดี ถ่ายวิดีโอ 4K ได้

  • ใช้วัสดุพรีเมียม

  • ปุ่ม Slider สำหรับควบคุมการแจ้งเตือน

จุดด้อย

  • เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือไม่ทำงานบางครั้ง

  • ตัวเครื่องมีน้ำหนักทำให้ถือลำบากนิดๆ

  • ปุ่ม Home หน่วง

  • ไม่มีช่อง microSD

 

สำหรับประเทศไทยนั้นมีข่าวลือว่า OnePlus เตรียมบุกไทยอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว แต่ก็เงียบไป เข้าใจว่าอาจจะกำลังตั้งหลักรอทำตลาดกันในปี 2016 นี้ โดยยังไม่แน่ชัดว่าจะมีรุ่นไหนมาจำหน่ายบ้าง แต่ก็อยากให้ OnePlus 2 ได้เข้ามาจำหน่ายในไทยเป็นทางการเหมือนกันครับ คงต้องรอฟังข่าวกันอีกที สำหรับวันนี้ผมขอลาไปก่อน สวัสดีครับ

  Play video