กลับมาอีกครั้ง กับการทดสอบกล้องถ่ายรูปบนสมาร์ทโฟน ที่รวมเอาเหล่ารุ่นเรือธงที่ได้รับการยอมรับจากหลายสื่อทั้งไทยและเทศ มาเปรียบเทียบกันให้เห็นแบบชัดๆ ลงลึกทุกรายละเอียด เก็บทุกสภาพแสง กลั่นออกมาเพื่อหาคำตอบให้กับเหล่าผู้ที่กำลังเล็งหาสมาร์ทโฟนที่กล้องที่ดีที่สุดในปี 2015-2016 ให้ได้ทราบกัน ส่วนว่าจะมีรุ่นไหนที่เราได้เลือกมาทดสอบบ้างนั้น เดี๋ยวไปดูกันเลยดีกว่าครับ

1. Panasonic CM1 – ตัวนี้ถือว่าเกิดมาเพื่อเป็นกล้องโดยเฉพาะ เปรียบเสมือนว่าเป็นกล้องแล้วใส่ฟังชั่นมือถือเข้ามา สำหรับรายละเอียดของ Smartphone ตัวนี้ พร้อม Unbox อ่านได้ ที่นี่ https://droidsans.com/unbox-panasonic-lumix-cm1

2. iPhone 6s Plus – ใหม่ล่าสุด ดีที่สุดจากค่าย Apple ในเวลานี้ ยังไงก็ไม่พลาดที่จะเอามาร่วมทดสอบด้วย สำหรับใครที่อยากดูทดสอบ iPhone 6s Plus เทียบกับ iPhone 6 Plus และ Samsung Galaxy Note 5 ในรอบที่แล้ว สามารถดูได้ ที่นี่ https://droidsans.com/camera-compare-iphone6s-iphone6splus-note5

3. Samsung Galaxy Note 5 – ตัวล่าสุดและดีที่สุดจากทาง Samsung โดยที่ตัวนี้มีการปรับปรุงจากตัว Samsung Galaxy S6 โดยมีการเพิ่มโหมดโปร ที่สามารถถ่าย Manual และ Raw File เพิ่มขึ้นมา

4. Nexus 6P – ล่าสุดของ Google ตระกูล Nexus โดยรอบนี้ให้ทาง Huawei ผลิตให้ รอบนี้ทาง Google ตั้งใจที่จะทำมาเพื่อลบจุดอ่อนในเรื่องกล้องให้ได้ โดยใช้หลักการไม่เน้นความละเอียดสูงมาก แต่ขยายขนาดแต่ละจุดให้ใหญ่ขึ้น เพื่อเพิ่มคุณภาพของภาพ จะทำได้ดีขนาดไหน เดี๋ยวมาลุ้นกันครับ

5. Sony Xperia Z5 Premium – ตัวล่าสุดจากค่าย Sony โดยรอบนี้ตั้งใจมาเต็มที่ เน้นการถ่ายภาพเร็ว และมีการร่วมพัฒนากับฝ่ายกล้องเพื่อตั้งใจปรับปรุงคุณภาพของภาพให้ดีที่สุด

6. LG V10 – ตัว Premium ล่าสุดจากค่าย LG โดยตัวนี้ในส่วนของกล้องมีการเพิ่มความสามารถเมื่อเทียบกับ G4 โดยกล้องหน้าจะมีกล้อง 2 ตัว เพื่อสามารถเก็บภาพได้มุมที่กว้างขึ้น ส่วนกล้องหลังมีเพิ่มโหมด Manual เวลาถ่าย VDO ขึ้นมา 

7. HTC One A9 – ตัวใหม่จากทาง HTC ถึงจะไม่ใช่เรือธง แต่ก็ถือว่าเป็นตัวที่ปรับปรุงเรื่องกล้องมาแล้ว เลยเอามาร่วมทดสอบด้วยครับ

8. OnePlus 2 – เรือธงจากค่ายจีนน้องใหม่ที่มาแรง โดยกล้องก็คือว่าเป็นจุดขายของค่ายนี้ด้วย เลยเอามาร่วมทดสอบด้วยครับ

 

เอาล่ะครับ ทีนี้มาดูคุณสมบัติในส่วนของกล้องกันบ้าง ตามตารางนี้เลยครับ

สำหรับรายละเอียดการอ่านคุณสมบัติว่าค่าแต่ละตัวมันคืออะไร ผมเคยมีอธิบายไว้ในการทดสอบรอบที่แล้ว สามารถไปอ่านได้ ที่นี่ https://droidsans.com/compare-9-top-smartphone-camera 

 

ในการทดสอบรอบนี้ จะเห็นได้ว่าแนวโน้มของ Raw File เริ่มมีใช้กันเยอะขึ้นมาก โดยในรอบนี้จะมีแค่ 2 ตัวที่ไม่สามารถถ่าย Raw File ได้ ซึ่งต่างจากรอบที่แล้วอย่างชัดเจน ที่มีแค่ 2 ตัวที่ถ่ายได้ และอีกเรื่องนึงก็คือขนาดของจุด ซึ่งผมเชื่อว่าแนวโน้มในการแข่งความละเอียดจะไม่สำคัญอีกต่อไป และผู้ผลิตจะให้ความสำคัญกับการขยายขนาดของจุดมากกว่า โดยจะเห็นกว่ายี่ห้อแรกที่ทำคือ HTC UltraPixel ซึ่งถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ และตอนนี้ Nexus 6P และ 5X ใช้วิธีการขยายขนาดของจุดเป็นตัวชูโรงในการปรับปรุงคุณภาพของภาพถ่าย และผมเชื่อว่าหลายๆยี่ห้อจะทำตามในเร็วๆนี้ ผมเลยจะขออธิบายเพิ่มเติมว่าทำไม Raw File กับการขยายขนาดของจุดถึงมีความสำคัญกับภาพถ่ายตรงไหนบ้าง อย่างไร

 

ทำไมถึงต้อง Raw File แล้วมันดียังไง

ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า Raw File คืออะไร แปลกันตรงตัวก็คือไฟล์ดิบ ความหมายก็คือไฟล์ที่ยังไม่มีการปรับแต่งใดๆ เซนเซอร์รับภาพมายังไงก็เก็บไว้อย่างนั้น ยังไม่มีการปรับความเข้มของสีหรือ White Balance ใดๆ แต่ว่า Raw File ก็มีการฝังค่า white balance หรือการปรับแต่งสีเก็บไว้ในไฟล์ด้วย เพื่อให้เราสามารถดูภาพได้จาก Smartphone ของเรา ส่วนตัวไฟล์ดิบจริงๆเราก็สามารถเอาไปปรับแต่งได้ภายหลัง 

แล้วไฟล์ดิบมันดียังไง เพื่อให้เห็นภาพง่ายๆ ผมจะเปรียบเทียบเสมือนเนื้อดิบละกันครับ ผมเปรียบว่าไฟล์ Jpeg แบบที่เราใช้กันอยู่ทั่วไป เปรียบเสมือนเนื้อที่ปรุงมาแล้ว พ่อครัวที่ปรุงเนื้อมาให้เราก็เปรียบเสมือน Software ของกล้อง ถ้า Software เก่ง ก็เหมือนว่าพ่อครัวเก่ง เราก็จะได้เนื้อที่ปรุงสุกมาแล้วอย่างดี โดยที่เราสามารถจะแต่งเติมภาพได้ตามใจชอบ แต่ก็เกิดกรณีที่เราไม่ถูกใจ เช่นสุกเกินไป หรือเค็มจัด เปรี้ยวจัด หวานจัด เราแทบจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้มาก แต่ถ้าเรามีเนื้อดิบอยู่ เราก็สามารถปรุงใหม่ให้ถูกใจเราได้

 

มายกตัวอย่างคร่าวๆให้เห็นภาพกันดีกว่าครับ มาดูภาพนี้กัน เป็นไฟล์ Jpeg จาก Samsung Galaxy Note 5

ภาพนี้ถ่ายในสภาพแสงที่ยากมาก คือแดดแรงจัด ทำให้มีส่วนที่โดนแสงเต็มๆ และส่วนที่อยู่ในเงามืด จะเห็นได้ว่าใบไม้เหนือน้ำตก รวมไปถึงตึกด้านหลัง โดนแสงจนรายละเอียดหาย ส่วนเงามืดก็ดำสนิทจนแทบไม่เห็นรายละเอียดใดๆ

ทีนี้ผมลองเอา Raw File มาปรับภาพแบบพยายามดึงรายละเอียดในส่วนสว่างที่รายละเอียดหายไปกลับมาดู โดยที่ไม่ได้ยุ่งเรื่อง White Balance ใดๆ ออกมาได้แบบนี้ครับ


มาลองครอปดู 100% กันดู 

 


แบบ Jpeg

 


แบบ Raw File

 

จะเห็นว่ารายละเอียดของแสงที่หายไป สามารถดึงกลับมาได้บางส่วน รวมไปถึงรายละเอียดความคมชัดก็ดีขึ้น และรายละเอียดในส่วนมืดก็ดีขึ้นเช่นกัน

ตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมาเป็นแค่ส่วนหนึ่งของประโยชน์จาก Raw File เท่านั้น ถ้าจะพูดถึงเรื่องนี้ให้ละเอียด คงจะยาวเกินไป เอาไว้เป็นบทความแยกไปเลยจะดีกว่าครับ มาดูเรื่องต่อไปกันเลย

 

ขนาดของจุด ดูอย่างไร และดีอย่างไร

ทีนี้มาดูตัวอย่างจากภาพกันก่อน

 

จะเห็นว่าขนาดของจุดจะสัมพันธ์กับความละเอียดและขนาดของเซนเซอร์ ในกรณีที่ขนาดเซนเซอร์เท่ากัน ตัวที่ความละเอียดต่ำกว่า จะได้ขนาดเซนเซอร์ที่ใหญ่กว่า จากในรูป ทั้งสองตัวขนาดเซนเซอร์เท่ากัน แต่ว่าเซนเซอร์ B มีความละเอียดต่ำกว่า เลยทำให้ขนาดของเซนเซอร์ใหญ่กว่า

 

ทีนี้มาดูต่อที่รูปนี้ครับ

จะเห็นได้ว่าขนาดจุดที่ใหญ่กว่า จะได้เปรียบในเรื่องของประสิทธิภาพในการเก็บแสงได้มากกว่า นั่นก็จะทำให้ Dynamic Rage ของภาพดีกว่า และความสามารถในการถ่ายภาพในที่มืดก็จะดีกว่า

 

แล้วความละเอียดเท่าไหร่ถึงจะพอ

จะเห็นว่าทุกวันนี้ การตลาดเรื่องความละเอียดยิ่งมากยิ่งดี ยังได้ผลอยู่เสมอ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป เราจะต้องถามตัวเองก่อนว่าทุกวันนี้เราถ่ายรูปแล้วเอาไปใช้อะไร ถ้าเราใช้แค่เอาภาพลง Social Network ทั่วๆไป ใช้ความละเอียดแค่ 2 ล้านก็พอ หรือถ้าจะเอาภาพลง Facebook โดยใช้คอมพิวเตอร์เพื่อจะเก็บภาพแบบ HD รายละเอียดสูง ก็ใช้แค่ 4 ล้านก็เพียงพอ ดังนั้นแล้ว ความละเอียดระดับ 8 ล้านก็ถือว่าเพียงพอกับการใช้งานทั่วไป แต่ถ้ากรณีที่เราชอบครอปภาพมาใช้งาน หรือชอบซูมภาพเยอะๆ แบบนี้ละเอียดกว่าถึงจะได้เปรียบครับ แล้วยิ่งละเอียดมากยิ่งกินพื้นที่หน่วยความจำมาก ก็จะทำให้หน่วยความจำของเราเต็มเร็วกว่า

 

กล้องสมัยก่อน ความละเอียดต่ำ ขนาดจุดใหญ่ แสดงว่าดีกว่าเดี๋ยวนี้หรือ?

ไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป เพราะว่าเซนเซอร์ของกล้องไม่ได้ดูแค่ขนาดของจุดอย่างเดียว แต่เซนเซอร์ของกล้องเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอย่างมาก เหมือน CPU สมัยนี้ เล็กกว่าเมื่อก่อนเยอะมาก แต่ก็เร็วกว่าเยอะมากเช่นกัน ดังนั้นเซนเซอร์กล้องก็เป็นแบบนั้นด้วย การเปรียบเทียบเซนเซอร์ของกล้อง ต้องเปรียบเทียบในของที่ผลิตในยุคสมัยเดียวกัน ถึงจะพอเทียบกันได้ครับ

 

ถ้าเซนเซอร์ผลิตในยุคเดียวกัน แสดงว่าขนาดจุดใหญ่กว่าย่อมดีกว่าขนาดจุดที่เล็กกว่า? 

อันนี้ก็ไม่แน่เสมอไปอีกเหมือนกัน บริษัทที่ผลิตเซนเซอร์ก็มีผล รวมไปถึง Software ในการประมวลผลภาพก็มีผลต่อคุณภาพของภาพอย่างมาก ดังนั้นการจะเปรียบเทียบกันว่าตัวไหนดีกว่ากัน เราต้องมาดูเทียบกันที่ภาพไปเลย

 

เริ่มทดสอบ

มาทำความเข้าใจการทดสอบในครั้งนี้กันก่อนครับ การทดสอบในครั้งนี้ ผมจะเน้นทดสอบเรื่องกล้องหลังเป็นหลัก โดยที่ไม่ได้ทดสอบในเรื่องการถ่ายวีดีโอ และเนื่องจากผู้ใช้ส่วนใหญ่ไม่ใช่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านถ่ายภาพ ผมจึงตัดสินใจทดสอบโดยใช้โหมดออโต้ในการทดสอบทั้งหมด โดยจะไม่ได้ใช้โหมด Pro หรือโหมด Manual ใดๆทั้งสิ้น เพื่อเป็นการจำลองการถ่ายภาพโดยผู้ใช้ทั่วไปเป็นหลัก 

การทดสอบครั้งนี้จะมีการแบ่งออกเป็น 10 หัวข้อ มีคะแนนหัวข้อละ 10 คะแนน ดังนี้

  1. สี สภาพแสงกลางแจ้ง
  2. รายละเอียด สภาพแสงกลางแจ้ง
  3. สี สภาพแสงในร่ม
  4. รายละเอียด สภาพแสงในร่ม
  5. สี สภาพแสงน้อยถึงน้อยมาก
  6. รายละเอียด สภาพแสงน้อยถึงน้อยมาก
  7. จุดรบกวน (Noise)
  8. Dynamic Range
  9. กล้องหน้า
  10. ความง่ายและสะดวกในการใช้งาน

การให้คะแนนในเรื่องสี จะเป็นการให้คะแนนโดยอิงจากสภาพแสงสีที่เห็นตรงหน้าเป็นหลัก และในหลายๆหัวข้อที่มีการถ่ายหลายรูป จะเป็นการให้คะแนนโดยการเฉลี่ยคะแนนกันนะครับ

 

เอาล่ะครับ มาเริ่มเปรียบเทียบกันเลย

หัวข้อที่ 1 สี สภาพแสงกลางแจ้ง

มาดูรูปของทุกตัวกัน เรียงตามลำดับตัวหนังสือนะครับ

 

รูปที่ 1

สภาพแสงกลางแจ้งแบบนี้ ถือว่าทุกตัวตัวทำได้ดีใกล้เคียงกัน แต่จะมี iPhone ที่สีท้องฟ้าจะเด่นกว่าตัวอื่นนิดหน่อยกับ Nexus 6P ที่เด่นรองลงมานิดๆ ส่วนเรื่อง White Balance มีแตกต่างกันบ้าง แต่กรณีนี้ถือว่าสวยกันคนละแบบ แล้วแต่ว่าจะชอบแบบไหน รูปนี้จึงไม่เอา White Balance มาคิดคะแนน

 

รูปที่ 2

รูปนี้ก็ถือว่าทำได้ดีทุกรูปเช่นกัน แต่จะมี iPhone กับ OnePlus 2 ที่สีทองโดดเด่นออกมา ส่วนตัวอื่นๆถือว่าใกล้เคียงกันครับ

 

รูปที่ 3 

รูปนี้สภาพแสงจะยากขึ้นมาอีก ช่วงแสงเป็นช่วงเย็น และใบไม้มีเงาที่ย้อนแสงให้เห็นชัดเจน รูปนี้ทุกกล้องจะวัดแสงที่ใบไม้ทางมุมซ้ายตรงจุดที่โดนแสง รูปนี้ Nexus 6P ให้ภาพออกมาใกล้เคียงกับที่ตาเห็นมากที่สุด ส่วน iPhone กับ Note 5 คอนทราสของภาพอ่อนกว่าแสงจริงพอสมควร (เพราะส่วนมืดของของโดนเร่งความสว่างขึ้นมา)

 

รูปที่ 4

รูปนี้ถ่ายช่วงเย็น ย้อนแสง จะเห็นว่าภาพจาก Panasonic CM1 กับ Sony Z5 Premium ให้ภาพออกมาธรรมชาติที่สุด ส่วน HTC A9 ออกมาม่วงเกินไป นอกนั้นภาพพอจะดูออกว่าใช้โหมด HDR และภาพจาก OnePlus 2 อมไปทางเขียวนิดๆในโทนมืดของภาพ

 

มาสรุปหัวข้อที่ 1 สี สภาพแสงกลางแจ้ง ตามนี้เลยครับ

 

มาต่อที่หัวข้อที่ 2 รายละเอียดสภาพแสงกลางแจ้ง

มาดูรวมๆกันเลยนะครับ ผมจะครอปภาพแบบซูม 100% มาให้ดูทุกภาพ ตั้งแต่รูปที่ 1 ถึงรูปที่ 4

 

รูปที่ 1 

 

รูปที่ 2

 

รูปที่ 3 

 

รูปที่ 4

 

ก่อนอื่นผมอยากให้แยกระหว่างรายละเอียดกับการเร่งความคมของภาพออกจากกันก่อน ผมจะดูจากรายละเอียดเล็กๆน้อยๆของภาพว่าสามารถเก็บรายละเอียดได้ดีขนาดไหน ผมจะไม่ได้ดูว่าภาพไหนเร่งความคมมากกว่ากัน วิธีง่ายๆที่ดูคือภาพที่รายละเอียดไม่ดีแล้วเร่งความคม จะกลายเป็นภาพที่ดูไม่เป็นธรรมชาติ ตามขอบๆของรายละเอียดในภาพจะมีเส้นๆขึ้นเป็นขอบ แต่ถ้าไม่มากจะเกินไป ผมถือว่าผ่าน แต่ถ้ามากเกินไปจนผิดธรรมชาติก็จะมีการหักคะแนนบ้าง

จากภาพทั้งหมด จะเห็นว่าภาพจาก Panasonic CM1 จะมีรายละเอียดมากที่สุด และไม่มีการเร่งความคมของภาพสักเท่าไหร่ ดูแล้วเป็นธรรมชาติมากที่สุด ส่วนตัวอื่นๆดูแล้วดีใกล้เคียงกันมาก แต่ภาพจาก iPhone จะมีจุดเสียตรงรูปที่ 1 ภาพใบไม้ดูเป็นภาพวาดสีน้ำไปหน่อย 

มาสรุปคะแนนหัวข้อที่ 2 รายละเอียด สภาพแสงกลางแจ้งกันเลย

 

มาต่อที่หัวข้อที่ 3 สี สภาพแสงในร่ม

มาดูรูปกันเลยครับ

 

รูปที่ 5

รูปนี้ผมถือว่าทำได้ดีเหมือนกันหมด ดูแล้วไม่มีจุดที่จะติดขัดอะไร ส่วนเรื่อง White Balance ที่ต่างกันบ้าง ผมไม่ได้เอามานับเป็นคะแนนนะครับ

 

รูปที่ 6 

รูปนี้ก็ถือว่าดีใกล้เคียงกันทั้งหมด แต่บางภาพก็จะมีสว่างกว่าบ้าง มืดกว่าบ้าง แต่ไม่อยู่ในจุดที่ทำให้รูปเสียหาย โดยรวมถือว่าใกล้เคียงกันครับ

 

รูปที่ 7

รูปนี้เป็นรูปดอกไม้ ออกโทนม่วงอ่อนจนถึงม่วงเข้มกับสภาพแสงไฟสีเหลือง เพื่อจะดูว่าแต่ละตัวจะให้สีที่เป็นอย่างไรบ้าง

 

จะเห็นว่า Nexus 6P กับ Sony Z5 Premium ให้สีดอกไม้ที่ตรงจริงที่สุด ส่วน Note 5 ถือว่าอมเหลืองกว่าแค่นิดเดียวเท่านั้น ส่วน Panasonic ออกแนวธรรมชาติมาก ดูแล้วจืดไปนิดนึง ส่วน HTC กับ OnePlus ถือว่าสีสดเกินจริงไปเยอะ โดยเฉพาะ HTC สดเกินจริงไปมาก ส่วน V10 คือจืดไปมากและโทนสีกลืนกันมากไปหน่อย

 

รูปที่ 8

รูปนี้ถ่ายถ่านไฟร้อนๆ มาดูกันว่าสีถ่านไฟร้อนจะออกมาเป็นยังไง

จะเห็นว่า iPhone กับ Nexus 6P ออกมาใกล้เคียงกับตาเห็นที่สุด ส่วน HTC A9 เพี้ยนไปทางม่วงแดง ส่วน Note 5 เพี้ยนหนักไปทางม่วงจืดๆ นอกนั้นก็ถือว่าทำได้ดี โทนสีตรงกับที่เห็น เพียงแต่สีไฟยังไม่เข้มแบบที่เห็นนัก และ Panasonic CM1 วัดแสงออกมาสว่างไปหน่อย แต่โทนสียังถูกต้องอยู่

 

รูปที่ 9

รูปนี้ Note 5 กับ Sony Z5 Premium สีตรงที่สุด ส่วน iPhone สีออกมาทึมๆเหมือนเนื้อไม่สด และ OnePlus 2 ก็สดเกินไปมาก นอกนั้นใกล้เคียงกัน แต่ LG V10 ออกจะจืดไปนิด

 

มาสรุปคะแนนหัวข้อที่ 3 สี สภาพแสงในร่มกันเลย

 

มาต่อที่หัวข้อที่ 4 รายละเอียดสภาพแสงในร่ม

เป็นรูปครอปจากรูปในหัวข้อที่แล้ว มาดูรูปกันเลยครับ

 

รูปที่ 5

จะเห็นว่ารูปจาก Panasonic CM1 เก็บรายละเอียดได้ครบถ้วน เส้นด้ายแทบทุกเส้นยังเห็นรายละเอียดแบบธรรมชาติ ส่วน Note 5 ก็ถือว่าทำได้ดี ถึงภาพจะมีการเร่งความคมเยอะ ส่วน OnePlus 2 รายละเอียดถือว่าน้อยที่สุด

 

รูปที่ 6

รูปนี้ Panasonic CM1 ก็ยังทำได้ดี ส่วน iPhone ถือว่ารายละเอียดน้อยที่สุด แต่ Sony Z5 Premium ภาพที่ถ่ายมาหลายๆรูป รูปนี้ถือว่าสั่นน้อยที่สุดแล้ว คงเป็นเพราะระบบกันสั่นด้วย Software เลยประสิทธิภาพไม่ดีเท่ากับกันสั่นด้วย Hardware ครับ

 

รูปที่ 7 

รูปนี้ Panasonic CM1 ก็ยังทำได้ดีที่สุดเหมือนเดิม รายละเอียดครบถ้วน ดูเป็นธรรมชาติ

 

รูปที่ 8 

รูปนี้ Panasonic CM1 ก็ยังทำได้ดีกว่าตัวอื่นนิดๆครับ

 

รูปที่ 9

รูปนี้ก็ยังออกมาในแนวทางเหมือนข้างบนอยู่ครับ

 

มาสรุปคะแนนหัวข้อที่ 4 รายละเอียดสภาพแสงในร่มกันครับ

 

มาต่อที่หัวข้อที่ 5 สี สภาพแสงน้อยถึงน้อยมาก

มาดูรูปกันเลยครับ

 

รูปที่ 10

สีจาก Panasonic CM1 ก็ยังตรงกับที่ตาเห็นที่สุด ส่วนตัวอื่นๆก็ถือว่าดีรองๆลงมา แต่สีจาก iPhone และ Note 5 จะออกเพี้ยนนิดๆครับ 

 

รูปที่ 11

รูปนี้ มีแค่แสงไฟจากนีออนดวงเล็กๆเท่านั้น และรูปนี้ OnePlus 2 ทำได้ดีที่สุด ส่วน Note 5 ถือว่าใกล้เคียง และ iPhone ออกเหลืองมากไป แต่ HTC สีจานเพี้ยนหนัก ออกไปทางม่วงชมพู

 

รูปที่ 12

รูปนี้ Nexus 6P สีตรงจริงที่สุด ส่วนตัวอื่นๆก็ถือว่าดีรองๆลงมา แต่ Panasonic CM1 วัดแสงออกมาสว่างไปนิด 

 

รูปที่ 13

รูปนี้ถือว่าสุดยอดแสงน้อย วัดกันไปเอาอยู่หรือไม่ จะเห็นว่า Nexus 6P ดีโดนเด่นออกมาที่สุด ส่วน Sony Z5 Premium นอกจากจะมืดแล้วยังมีขอบม่วงอีกด้วย

 

มาสรุปคะแนนหัวข้อที่ 5 สี สภาพแสงน้อยถึงน้อยมาก

 

มาต่อที่หัวข้อที่ 6 รายละเอียดสภาพแสงน้อยถึงน้อยมาก

เป็นรูปครอปจากรูปในหัวข้อที่แล้ว มาดูรูปกันเลยครับ

 

รูปที่ 10 

มาถึงเรื่องรายละเอียด Panasonic CM1 ก็ถือว่าดีที่สุด ส่วน Nexus 6P ถือว่าทำได้ดีใกล้เคียง ส่วน Sony ละเอียดกว่าแต่รายละเอียดกลับสู้ตัวอื่นไม่ได้

 

รูปที่ 11 

รูปนี้ก็ออกมาคล้ายๆกับรูปที่ผ่านมาครับ แนวเดียวกันมาเลย

 

รูปที่ 12

ก็ยังออกแนวเหมือนข้างบนครับ

 

รูปที่ 13

รูปนี้ Nexus 6P ทำได้ดีกว่าตัวอื่นๆ ส่วน Sony นอกจากจะมืดแล้วรายละเอียดแทบไม่มีเหลือครับ

 

มาสรุปคะแนนหัวข้อที่ 6 รายละเอียดสภาพแสงน้อยถึงน้อยมาก

 

มาต่อหัวข้อที่ 7 Noise (จุดรบกวน)

หัวข้อนี้จะมาดูเรื่องจุดรบกวนของภาพ ดูเฉพาะเรื่อง Noise เลยนะครับ เพราะเรื่องสีหรือรายละเอียดก็มีคะแนนในหัวข้ออื่นกันแล้ว หัวข้อนี้ให้ย้อนกลับขึ้นไปดูรูปในหัวข้อที่ 5 และ 6 เพื่อให้เห็นภาพนะครับ

โดยรวมแล้ว Panasonic CM1 กับ Nexus 6P ทำได้ดีใกล้เคียงกัน ส่วน LG V10 กับ OnePlus 2 ทำได้ดีรองๆลงมา ส่วน HTC มี Noise เยอะที่สุดครับ

 

มาสรุปคะแนนหัวข้อที่ 7 Noise (จุดรบกวน)

 

มาต่อหัวข้อที่ 8 Dynamic Range

Dynamic Range ก็คือความสามารถในการเก็บรายละเอียดแสงทั้งในโทนมืดและโทนสว่าง และในหัวข้อนี้จะใช้รูปกลางแจ้ง รูปที่ 2 และรูปที่ 4 เพื่อตัดสินนะครับ โดยจะเอารูปไปเข้าโปรแกรมแต่งภาพ และทำการดึง Level ไปทางมืดสุดและสว่างสุด เพื่อใช้วัดว่ารูปนี้มีส่วนที่รายละเอียดหายไปแล้วทั้งในโทนมืดและโทนสว่างมากน้อยเท่าใด 

 

รูปที่ 2 ก็คือรูปนี้ 

 

รูปที่ 4 ก็คือรูปนี้

 

หลังจากดึง Level เรียบร้อย ก็ถึงตอนให้คะแนนล่ะครับ

 

มาสรุปคะแนนในหัวข้อที่ 8 Dynamic Range กันเลย

 

มาต่อหัวข้อที่ 9 กล้องหน้า 

หัวข้อนี้จะใช้รูปเดียว ให้คะแนนทั้งเรื่องสี และเรื่องรายละเอียด แล้วเอาคะแนนมาเฉลี่ยกันนะครับ

มาดูรูปกันเลย

 

รูปที่ 14

จะเห็นว่ากล้องหน้าของ Panasonic CM1 ทางผู้ผลิตคงไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้เลย จริงๆถ้าทำ Software มาช่วยเรื่องจุดรบกวนก็น่าจะดีกว่าดีพอสมควร เอาล่ะมาดูสีกล้องหน้าของ iPhone จะเห็นว่าสีทึมๆ ส่วน LG V10 สีซีดๆ ส่วน Sony สีเหลืองจนเหมือนดีซ่าน ส่วนตัวอื่นๆก็ถือว่าสอบผ่านครับ

 

ต่อไปมาดูรายละเอียดของกล้องหน้ากันบ้าง มาดูรูปกันเลย 

รูปครอป 

จะเห็นว่า Nexus 6P ให้รายละเอียดทีที่สุดและดูเป็นธรรมชาติที่สุด ส่วน Note 5 ยังมีการเกลี่ยหน้าให้เนียนขึ้นชัดเจน ทั้งๆที่ปิดโหมด Beauty ไปแล้ว แต่ผมขออธิบายการให้คะแนนกล้องหน้าไว้ก่อนนะครับ ว่าผมจะให้คะแนนโดยเน้นความสมจริง ไม่ใช่ว่าใครถ่ายแล้วฟรุ้งฟริ้งกว่ากันนะครับ

 

มาสรุปคะแนนในหัวข้อที่ 9 กันเลย 

มาถึงหัวข้อสุดท้าย หัวข้อที่ 10 ความง่ายและสะดวกในการใช้งาน

 

หัวข้อนี้ ผมจะให้คะแนนในมุมมองของผู้ใช้งานทั่วไปนะครับ เน้นว่าถ่ายง่าย ยกขึ้นมาถ่ายเลย โฟกัสเร็ว ภาพชัด วัดแสงแม่น มาดูอธิบายในหัวข้อนี้ของแต่ละตัวกันเลย (เรียงตามชื่อ)

1. HTC One A9 – กล้องใช้งานง่าย ยกแล้วกดโฟกัส ถ่ายได้เลย โฟกัสได้เร็ว แต่ยังไม่เร็วที่สุด 

2. Panasonic CM1 – ใช้งานแบบกล้องแท้ๆ สำหรับมือใหม่คงต้องศึกษาเพิ่มเติมนิดหน่อย แต่สำหรับมือโปร ตัวนี้คือสวรรค์เลย เพราะปรับได้ทุกอย่างเหมือนกล้องจริง และโฟกัสได้เร็ว

3. iPhone 6s Plus – ใช้งานง่ายๆ ยกแล้วกดโฟกัส ถ่ายได้เลยเช่นกัน โฟกัสเร็วแต่ก็ยังไม่เร็วที่สุด

4. Samsung Galaxy Note 5 – ใช้งานง่าย โฟกัสเร็วเกือบที่สุด วัดแสงแม่น ไม่วูบวาบ ใช้งานสนุก

5. Nexus 6P – ใช้งานง่ายเช่นกัน โฟกัสเร็ว แต่ยังช้ากว่า Note 5

6. OnePlus 2 – ใช้งานเหมือน Nexus เพียงแต่โฟกัสช้ากว่านิดหน่อย

7. LG V10 – ใช้งานง่าย โฟกัสเร็วพอๆกับ Note 5 ระบบกันสั่นดีที่สุด

8. Sony Z5 Premium – ตัว update กล้องล่าสุดทำให้ใช้งานง่ายขึ้นมาก โฟกัสเร็วที่สุดในพริบตา แต่ว่าจะโฟกัสใหม่ทุกครั้งเวลากดถ่ายบนจอ หลายๆคนอาจจะไม่ชินกับระบบแบบนี้ แต่ถ้าเช้าใจ หรือใช้ปุ่มถ่ายช่วย ก็จะทำให้ถ่ายได้ง่ายขึ้น

 

มาถึงสรุปคะแนนในหัวข้อที่ 10 กันแล้ว โดยรวมต้องถือว่าแทบทุกตัวใช้งานได้ง่ายใกล้เคียงกัน แต่ Note 5 กับ LG V10 โฟกัสได้เร็วกว่าคนอื่น ยกเว้น Sony ที่โฟกัสเร็วที่สุด แต่ว่าการใช้งานที่ต้องโฟกัสใหม่ทุกครั้งที่กดถ่ายบนจออาจจะต้องปรับตัวกันเล็กน้อย

 

 

ต่อไปมาถึงสรุปรวมคะแนนกันทั้งหมดแล้วนะครับ

ก่อนที่จะสรุปคะแนนกัน ขอทำความเข้าใจข้อจำกัดในการทดสอบครั้งนี้อีกครั้งก่อนนะครับ 

1. การทดสอบครั้งนี้ไม่มีการทดสอบ วีดีโอ – เนื่องจากต้องการเน้นการทดสอบในเรื่องชองกล้องเป็นหลักก่อนครับ

2. การทดสอบครั้งนี้ เน้นการใช้งานโหมดออโต้ – เนื่องการการทดสอบครั้งนี้เน้นถึงการใช้งานในมุมมองของผู้ใช้ทั่วไปเป็นหลัก ดังนั้นกล้องตัวไหนที่ต้องใช้โหมดต่างๆเพื่อรีดคุณภาพของกล้องออกมาสูงสุดก็จะไม่ได้ใช้ประสิทธิภาพตรงนั้น โดยเฉพาะ Panasonic CM1 จะมีผลมาก เพราะการใช้งานตัวนี้สามารถ Custom White Balance เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่านี้มาก และอีกอย่างนึง การจะใช้โหมดต่างๆในการทดสอบกล้องแต่ละตัวในแต่ละสภาพแสง เป็นเรื่องใช้เวลาในการถ่ายมากกว่าปกติไม่น้อย ดังนั้นการจะคุมให้แสงอยู่ในสภาพเดียวกันตั้งแต่ตัวแรกจนถึงตัวสุดท้ายจะใช้เวลานานมาก และจะเป็นการคุมแสงได้ยากอีกด้วย 

3. การทดสอบครั้งนี้ไม่มีการทดสอบมิติของภาพ – ตรงนี้สำหรับกล้องมือถือทั่วๆไปไม่ค่อยมีผลมาก แต่กับกล้องมือถืออย่าง Panasonic CM1 จะมีผลอย่างมาก เพราะกล้องตัวนี้ให้มิติของภาพดีกว่ากล้องมือถือทั่วไปอย่างมาก แต่จะไม่มีคะแนนตรงนี้

4. การวัดแสง – ใช้จิ้มไปบนจอที่จุดเดียวกันกับทุกตัว เพื่อให้วัดแสงในจุดเดียวกันทั้งหมด 

5. จำนวนรูปที่ถ่ายต่อ 1 รูป – ทุกรูปที่ถ่าย จะกดจุดวัดแสงบนจอและโฟกัสแล้วถึงกดถ่าย ทั้งหมด 3 รอบเป็นอย่างน้อย แล้วเลือกรูปที่ดีที่สุด เพื่อให้การทดสอบมีความแม่นยำมากขึ้น

 

เอาล่ะครับ เมื่อเข้าใจตรงกันแล้วก็มาดูสรุปคะแนนกันเลย 

ผมจะแบ่งคะแนนออกเป็น 2 แบบ คือ

1. คะแนนรวมในทุกการทดสอบ

2. คะแนนรวมในทุกการทดสอบ ยกเว้นกล้องหน้า เพื่อวัดประสิทธิภาพของกล้องหลังอย่างเดียว

 

มาดูคะแนนในแบบแรกกันก่อนครับ

 

และมาดูคะแนนในแบบที่สองกัน

 

จากสรุปคะแนนตรงนี้ อย่าคิดว่ากล้องมือถือที่ได้คะแนนน้อยที่สุดไม่ดีนะครับ เพราะว่ากล้องมือถือในการทดสอบครั้งนี้พูดได้เลยว่าดีทุกตัวจริงๆ ถ้าถ่ายดีๆสามารถให้ภาพที่สวยมากได้ทุกตัว และสำหรับใครที่ไม่สนใจในหัวข้อไหน สามารถเอาคะแนนไปรวมใหม่โดยตัดหัวข้อที่ไม่สนใจออกได้เอง หรือบางคนอาจจะดูรูปทั้งหมดเอง และตัดสินใจเองว่าชอบตัวไหนที่สุดเองก็ได้นะครับ 

จบล่ะครับ ใครมีคำถามก็ถามมาด้านล่างนี้ได้เลยครับ จะพยายามตอบให้ทุกคำถามครับ