ยุคนี้การจะหาโน้ตบุ๊คราคาหลักหมื่นต้นถึงปลายสักเครื่องที่ได้ทั้งหน้าจอใหญ่, แบตอึด, พอร์ตเยอะ แถมดีไซน์ยังดูดีมีราคาอีก บอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว จะมีก็แต่แบรนด์ผู้ผลิตสินค้าราคาถูกครอบจักรวาลอย่าง Xiaomi เท่านั้นที่กล้าที่จะทำอะไรแบบนี้ ซึ่งก็ทำออกมาไม่ผิดหวังจริง ๆ กับ RedmiBook 15 โน้ตบุ๊คสายทำงานสุดคุ้ม มาในภาพรวมที่เห็นแล้วต้องขยี้ตาอีกรอบว่าทำได้ยังไงกับราคาเท่านี้ พูดแล้วจะหาว่าคุย ไปดูรายละเอียดกันดีกว่าว่าเป็นยังไง

ก่อนจะเข้าเรื่องการใช้งาน ขออนุญาตเหลาสเปคของเจ้า RedmiBook 15 เครื่องนี้กันก่อน แต่แนะนำว่าอย่าอ่านแค่สเปคแล้วตัดสินใจอย่างเดียวล่ะ เพราะรุ่นนี้ยังมีจุดเด่นอื่นให้พูดถึงอีกเพียบเลย รับรองว่าไม่ผิดหวังแน่นอน

เปิดตัว RedmiBook 15 โน้ตบุ๊คที่มากับ 11th Intel Core ราคาพิเศษเริ่มต้นเบา ๆ เพียง 13,990 บาท

สเปค RedmiBook 15

  • ซีพียู Intel Core i3-1115G4 (2C/4T) / Core i5-11300H (4C/8T)
  • การ์ดจอ Intel UHD Graphics Xe G4 / Iris Xe Graphics
  • Ram 8GB DDR4 Bus 3200 (เป็นออนบอร์ดใส่เพิ่มไม่ได้)
  • SSD M.2 PCIe 3.0 256 / 512GB (อัปเกรดเพิ่มไม่ได้)
  • จอ 15.6” Full HD (1,920 x 1,080) IPS 16:9 รองรับ DC Dimming
  • Wi-Fi 5, Bluetooth 5.0
  • แบตเตอรี่ 46 Wh / 3,090 mAh (อะแดปเตอร์ 65W)
  • น้ำหนัก 1.8 กิโลกรัม
  • สักส่วน 36.38 x 24.35 x 1.99 ซม.
  • พอร์ต USB-A 3.2 x2, USB-A 2.0 x1, HDMI 1.4, LAN, Card Reader (รองรับ SD 3.0) และ Headset 3.5
  • Windows 11 Home
  • ราคา 13,990 บาท / 19,990 บาท

 

แกะกล่อง ด้านในมีอะไรบ้าง

เปิดขึ้นมาแรกสุดก็จะเจอกับตัวเครื่องแพ็กไว้กับโฟมหนาอย่างดี มาพร้อมกับสายไฟเป็นปลั๊ก 3 ตา, อะแดปเตอร์ขนาด 65W และซองคู่มือ

 

ดีไซน์ตัวเครื่อง

RedmiBook 15 เปิดวางขายในไทยอยู่สีเดียวคือ Charcoal Gray เป็นสีเทาด้านเข้ม ๆ เหมือนกันทั้งบอดี้ ยกเว้นขอบจอจะเป็นสีดำ ดีไซน์ฝาหลังรวมถึงตัวเครื่องทำมาจากพลาสติก แต่ให้ฟีลลิ่งทั้งภาพลักษณ์และความแข็งแรงเหมือนพวกโน้ตบุ๊คทำงานหรู ๆ อย่าง Huawei MateBook หรือ MacBook Pro ยังไงอย่างงั้นเลย

ด้านหน้าฝั่งหน้าจอจะใช้ขอบเป็นพลาสติกสีดำทึบคนละแบบกับบอดี้เครื่อง แอบมองว่าขอบยังค่อนข้างหนาไปหน่อยเทียบกับเทรนด์โน้ตบุ๊คปี 2022 ด้านบนสุดมีกล้องเว็บแคม 720p มาให้ พร้อมรูไมค์อีก 2 ช่องสำหรับใช้ประชุมออนไลน์ ด้านล่างสุดก็จะเป็นโลโก้ Redmi สกรีนสีขาว

ส่วนด้านล่างเครื่องฝั่งคีย์บอร์ด จะใช้วัสดุเป็นพลาสติกเกรดพรีเมียมทั้งแผง งานประกอบค่อนข้างเนี้ยบ จับดูแล้วแข็งแรงไม่ยวบยาบ แต่จะเป็นรอยนิ้วมือง่ายนิดนึง จะเห็นว่าทัชแพดมีขนาดค่อนข้างใหญ่เกือบจะเท่าด้านกว้างคีย์บอร์ดอยู่แล้ว ขณะที่คีย์บอร์ดก็ถูกขุดร่องลึกลงไปให้ปุ่มขนานกับพื้นพอดี เวลาพับปิดก็จะได้ไม่นูน และล่างสุดก็จะมีที่เซาะร่องไว้สำหรับง้างเปิดเครื่องให้ด้วย นอกนั้นไม่มีอะไรให้รกเกะกะตา เน้นความคลีนอย่างเดียว

 

แกนฝาพับใช้เป็นแบบแกนเดียวปิดลงด้านหลัง สามารถกางได้กว้างสูงสุดประมาณ 120 องศา บาลานซ์ตัวเครื่องเท่าที่ลองสามารถดันเปิดขึ้นลงด้วยมือเดียวได้ง่าย ๆ แบบพลิกเร็ว ๆ เลย ช่วง 0-90 องศาแรก แต่พอเลยจากนั้นขึ้นไปก็จะมีอาการกระดกเล็กน้อย เรียกว่ายังทำได้กลาง ๆ ละกันไม่ได้แย่

ด้านใต้ท้องตัวเครื่องสังเกตว่ามีขายาง (rubber feet) มาให้ด้วยทั้งหมด 4 จุด โดย 2 จุดด้านบนจะสูงกว่าด้านล่างเล็กน้อยเพื่อเว้นช่องให้ระบายความร้อน เพราะอย่างที่เห็นว่าช่องระบายลมรุ่นนี้จะเป็นแผงยาวอยู่ใต้ตัวเครื่องพอดี แถมด้านในมีแผ่นกันฝุ่นมาให้ด้วย ซึ่งถ้าใช้งานหนัก ๆ ก็ไม่แนะนำให้เอาไปวางเตียงเล่นเท่าไหร่

นอกจากช่องระบาย ลำโพงของรุ่นนี้ก็เป็นแบบสเตอรีโอคู่ 2 ข้างวางอยู่ใต้เครื่องเหมือนกัน (คุณภาพเดี๋ยวไปว่ากันอีกที) ส่วนงานประกอบอย่างที่บอกก็คือเนี้ยบมากทั้งบนทั้งล่าง สามารถแกะฝาหลังเองได้โดยขันน็อตหัวแฉกทั้ง 9 ตัว แต่น่าเสียดายที่รุ่นนี้อัปเกรดทั้งแรมและ SSD เพิ่มไม่ได้เลย ทำได้แค่เอา SSD M.2 เดิมออกแล้วเอาอันใหม่ใส่เข้าไปแทนเท่านั้น

ตัวเครื่องน้ำหนัก 1.8 กิโลกรัม ก็ถือว่าไม่เบาและไม่หนักจนเกินไป พกพามือเดียวเดินยังสบายอยู่เทียบกับขนาดจอที่ใหญ่ถึง 15.6 นิ้วแบบนี้ ที่สำคัญสันเครื่องทั้งบนทั้งล่างก็มีความโค้งมนทั้งหมด ขอบก็ถูกเจียมาให้เรียบเนียนแล้วทุกมุม ถือท่าไหนก็สบายไม่มีรู้สึกระคายเคืองหรือบาดมือแน่นอนครับ

 

พอร์ตเชื่อมต่อ

ด้านซ้ายตัวเครื่องจะประกอบด้วยพอร์ตต่าง ๆ ไล่จากซ้ายไปขวา ได้แก่ ช่องเสียบสายชาร์จแบบกลม, USB 3.2 Type-A, HDMI และ USB 3.2 Type-A อีกช่อง

ด้านขวาตัวเครื่อง ได้แก่ Headset 3.5, Card Reader (รองรับ SD 3.0), USB 3.2 Type-A, พอร์ต LAN หรือ RJ45 และมุมสุดเป็นพอร์ต Kensington Lock สำหรับซื้อสายเฉพาะมาใช้ล็อกเครื่องไว้กับโต๊ะ กันขโมยได้ไม่ต้องกลัวหาย

น่าเสียดายที่รุ่นนี้ไม่มีพอร์ต USB Type-C มาให้เลย ซึ่งดูไม่เข้าเทรนด์กับโน้ตบุ๊คยุคใหม่เท่าไหร่ เพราะคู่แข่งมีกันหมดแล้ว แต่ก็แลกมากกับการได้พอร์ตอื่นมาเยอะแทนทั้ง HDMI, LAN, Card Reader และ USB-A ถึง 3 ช่องในเครื่องเดียว ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นอะไรที่หายากมาก ๆ ในโน้ตบุ๊คทำงานยุคนี้ เหมาะกับคนทำงานทั่วไปหรือเด็กมหาลัยที่น่าจะใช้เป็นตัวจบได้เลย

 

แป้นคีย์บอร์ด / ทัชแพด

RedmiBook 15 ให้คีย์บอร์ดมาเป็นขนาดมาตรฐาน ไม่มีนัมเบอร์แพดพิมพ์เลขมาให้ แต่ก็แลกมากับขนาดปุ่มที่ค่อนข้างใหญ่ เว้นช่องระหว่างปุ่มให้ห่างกว่ารุ่นอื่น ซึ่งบอกเลยว่าพิมพ์ได้สะดวกขึ้น ฟีลลิ่งการกดก็ดีมากด้วยระยะกดปุ่ม (key travel) ที่ค่อนข้างลึก 1.5 มม. การตอบสนองก็ค่อนข้างมันส์ ๆ ปนนุ่ม ๆ พิมพ์งานได้ทั้งวันไม่มีเบื่อเลย

ส่วนข้อเสียก็คือรุ่นนี้จะไม่มีไฟ backlit มาให้ ทำให้เอาไปพิมพ์งานในที่มืดได้ไม่สะดวกเท่าไหร่ ที่สำคัญปุ่ม Delete ยังไปอยู่แถวบนสุดใกล้กับปุ่ม Power ซึ่งใครรีบกดก็อาจจะพลาดไปโดนผิดกันได้หน่อย แต่ยังดีที่มีปุ่มฟังก์ชันสลับใช้งานกับปุ่ม F-Key มาให้แบบครบถ้วน และก็มี Fn Lock ติดตั้งมาให้ด้วยนะ

ส่วนทัชแพด อย่างที่ไปบอกว่ารุ่นนี้ให้มาค่อนข้างใหญ่เกือบเท่าด้านกว้างคีย์บอร์ด ฟีลลิ่งการสัมผัสก็ทำได้ลื่นไหลไม่ฝืด การเลื่อนระหว่างนิ้วกับ cursor อาจจะไม่รู้สึกติดนิ้วมาก แต่ก็ใช้งานได้ดีอยู่ ส่วนการคลิกอันนี้ชอบเป็นพิเศษเลย ให้ความรู้สึกเด้งตอบสนองนิ้วดีมากทั้งคลิกซ้ายและขวา แต่จะกดได้เฉพาะตั้งแต่กลางแผ่นลงมาเท่านั้น ส่วนการจิ้มอันนี้ไม่มีปัญหา ทำได้ทั่วแผ่นอยู่แล้ว

 

หน้าจอ

สำหรับหน้าจอของ RedmiBook 15 มีความละเอียดแบบ Full HD อัตราส่วน 16:9 บนพาแนล IPS ใช้งานจริงกลับรู้สึกว่าไม่น่าประทับใจเท่าไหร่ เพราะว่าสีสันค่อนข้างซีดเมื่อเทียบกับหลายรุ่นในตลาด แต่เรื่องความสว่างต้องยอมรับว่าทำได้ดีมาก และยังรองรับเทคโนโลยี DC Dimming ซึ่งปกติจะอยู่บนหน้าจอ OLED ซะเยอะ ก็เอามาใช้กับรุ่นนี้ด้วยเพื่อลดความเมื่อยล้าของสายตาเวลาจ้องจอนาน ๆ และพอเอามาใช้จริงก็รู้สึกว่าช่วยได้มากเลยทีเดียว

ลำโพง

ลำโพงรุ่นนี้ให้มาเป็นแบบสเตอรีโอคู่วางอยู่ใต้เครื่องซ้ายขวา ข้อดีก็คือไม่ต้องไปอยู่ด้านข้าง ช่วยให้เครื่องมีพอร์ตเยอะขึ้น แต่ข้อเสียก็คือถ้าวางเล่นกับเตียงเราก็อาจจะต้องเปิดให้เตียงฟังแทน ส่วนเราไม่ได้ยิน จึงเหมาะกับการฟังบนโต๊ะเท่านั้น หากใครไม่สะดวกก็ยังมีช่องหูฟัง 3.5 แถมมาให้อยู่

ด้านคุณภาพเสียงถือว่าทำออกมาได้พอใช้ไม่หวือหวา มีเสียงแหลมนำเป็นหลัก ขาดย่านเบสกับกลางไปซะเยอะ มิติกับอิมแพ็คของเสียงกลองก็ไม่ได้รุนแรงมาก อาจจะใช้ฟังเพลงที่เน้นพาร์ทดนตรีได้ไม่เพราะเท่าไหร่ แต่เรื่องความดังพอเร่งสุดแล้วกลับเสียงชัดดีมาก ฟังแล้วไม่แตก ใช้ดูหนังหรือซีรีส์ที่เน้นเสียงพูดได้สบายหายห่วงครับ

 

กล้องเว็บแคม

คุณภาพกล้องเว็บแคมความละเอียด 720p หากใช้ในห้องที่สว่างหน่อยคุณภาพถือว่ากลาง ๆ พอใช้เรียนหรือประชุมออนไลน์ได้ สีสันก็ไม่ได้ถึงกับซีด ตอนนั่งย้อนแสงก็ยังควบคุมบาลานซ์ได้ดี ไม่ได้ทำให้หน้าหรือฉากหลังมืดสนิทไปเลย แต่ถ้าใช้งานในที่แสงน้อยอันนี้ไม่ค่อยแนะนำเลย เพราะนอยซ์จัดซะเหลือเกิน

 

ซีพียู

อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่ารุ่นนี้จะมี 2 สเปคซีพียูให้เลือก คือ Core i3-1115G4 และ Core i5-11300H ซึ่งเป็นตัวที่ทีมงานได้มารีวิว ข้อดีของตัว i3 รหัส G4 ก็คือจะเน้นประหยัดพลังงาน ใช้งานจริงได้นานกว่า ขณะที่ i5 รหัส H มันคือซีพียูตัวแรงที่ใช้กันในพวกโน้ตบุ๊คเล่นเกม ประสิทธิภาพต้องถือว่าใช้งานทั่วไปได้เหลือ ๆ เลย แถมเอาไปตัดต่อเบา ๆ, ทำกราฟิกต่าง ๆ หรือกระทั่งเล่นเกมหนักเครื่องสักเกมก็ยังพอไหวด้วย

 

การทดสอบประสิทธิภาพ

นอกจากซีพียู Core i5 รุ่นนี้ยังมาพร้อมกับสเปคการ์ดจอออนบอร์ด Intel Iris Xe Graphics แรมตัวเครื่องขนาด 8GB แบบ DDR4 Bus 3200 พร้อม SSD แบบ M.2 PCIe 3.0 ขนาด 512GB การใช้งานระดับทั่วไปบน Windows 11 เช่น พิมพ์งาน, เปิดเบราว์เซอร์ หรือก๊อปปี้ย้ายไฟล์ไปมาในเครื่อง บอกเลยว่าไม่มีปัญหา ไม่เจออาการกระตุกให้เห็นเลย แต่ถ้าเป็นระดับ export วิดีโอหรือเล่นเกมที่หนักขึ้น สเปคเท่านี้จะเอาอยู่รึเปล่า เดี๋ยวต้องมารอดูกันครับ

ผลทดสอบประสิทธิภาพของซีพียูบนโปรแกรม Cinebench R23 ได้คะแนน Single-Core อยู่ที่ 1,376 pts ส่วนคะแนน Multi-Core อยู่ที่ 4,549 pts ซึ่งจัดว่าแรงสมชื่อรหัส H จริง ๆ เดี๋ยวลองเอาไปตัดต่อวิดีโอดูว่าจะใช้เวลา export ไฟล์นานขนาดไหน

สำหรับการทดสอบ export วิดีโอจะใช้ไฟล์งานบน Adobe Premiere Pro ความยาว 10 นาที มีฟุตเทจอยู่ค่อนข้างเยอะ เรนเดอร์ออกมาเป็นแบบ H.264 หรือไฟล์ mp4 ขนาด 1080p สามารถทำเวลารวม export ไปได้ 15 นาที 36 วินาที ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของซีพียูรหัสนี้ เอามาใช้งานจริงได้ดีเลยทีเดียว

ผลทดสอบความเร็วของ SSD ได้ค่า Read อยู่ที่ 1,763.32 MB/s และ Write อยู่ที่ 1,317.14 MB/s ซึ่งตีเป็นความเร็วระดับเริ่มต้นค่อนกลางพอใช้งานได้ ส่วนความจุ 512GB ใช้งานได้จริงอยู่ที่ 475 GB

ต่อมาเป็นการทดสอบแบตเตอรี่แบบใช้งานทั่วไป โดยเลือกปรับแสงหน้าจออยู่ที่ 30% ลำโพง 30% และต่อ WiFi ดู YouTube ทางทีมได้ใช้เองจริง ๆ ตั้งแต่แบตเต็ม 100 จนถึงเครื่องดับเลย ผลปรากฏว่าใช้ต่อเนื่องได้ 5 ชั่วโมง 30 นาทีเป๊ะ แถมแอบดับให้ก่อนตั้งแต่แบตยังเหลือ 3% อีกต่างหาก

ในงานเปิดตัวทาง Xiaomi เคลมว่ารุ่นนี้มีแบต 46 Wh สามารถใช้ต่อเนื่องได้สูงสุดถึง 10 ชั่วโมง ซึ่งก็ต้องยอมรับตามจริงว่าไม่ถึง ด้วยความเป็นซีพียูรหัส H ตัวแรงที่กินไฟเยอะด้วยจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ไม่แน่ว่ารุ่นที่ถึงหรือใกล้เคียงอาจจะต้องเป็นตัว Core i3 ที่ประหยัดแบตมากกว่าก็เป็นได้ ซึ่งถ้าได้ทดสอบตัวนั้นด้วยก็จะเอาข้อมูลมายืนยันกันอีกรอบครับ

อะแดปเตอร์ชาร์จตัวเครื่องที่ให้มาเป็นแบบ 65W ทดสอบชาร์จจริงจาก 3-100% ใช้เวลาอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง 35 นาทีเท่านั้น ซึ่งถือว่าเร็วมาก

 

การระบายความร้อน

ด้านฮาร์ดแวร์ระบายความร้อนในตัวเครื่อง ถ้าแกะฝาหลังออกมาจะเจอพัดลมมา 1 ตัวและฮีตไปป์ 1 เส้น โดยพัดลมจะเป่าระบายออกที่ใต้ท้องตัวเครื่อง ส่วนฮีตไปป์ก็จะเกาะระบายออกทางขอบหลัง

ด้านซอฟต์แวร์ก็มีมาให้ด้วย สามารถตั้งค่าการระบายความร้อนออกเป็น 2 โหมด (กดปุ่ม Fn + K) คือโหมด Balance ที่ใช้งานกันปกติ และโหมด Silence สำหรับคนที่ต้องการให้พัดลมเงียบสนิทจริง ๆ ซึ่งถ้าตั้งโหมดนี้อยู่ ฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ เช่นซีพียูหรือจีพียูก็จะลดระดับการทำงานลงด้วย

ในการใช้งานจริง รู้สึกว่าทั้ง 2 โหมดทำได้เงียบมากทั้งคู่แทบไม่ต่างกัน และต่อให้ใช้งานหนัก ๆ ก็ไม่มีความร้อนส่งขึ้นมาให้รู้สึกบนแป้นหรือบริเวณที่พักมือเลย อันนี้ประทับใจมาก ๆ แต่ถ้าเลือกเปิดโหมด Silence อยู่ จะมีข้อสังเกตคือเครื่องก็จะช้าลงบ้างจริง แต่ก็แลกกับแบตที่อึดขึ้นมาเล็กน้อย ซึ่งแนะนำว่าถ้าชอบทำงานลื่นไหลก็ให้เปิดโหมด Balance ไว้ตลอดเวลาดีกว่าครับ

 

การเล่นเกม

เนื่องจากโน้ตบุ๊คเครื่องนี้เป็นโน้ตบุ๊คทำงาน อาจจะเล่นเกมสเปคหนัก ๆ ไม่ได้ แต่อย่างน้อยในรุ่น Core i5 ก็มีการ์ดจอออนบอร์ด Intel Iris Xe Graphics มาให้ ซึ่งประสิทธิภาพดีพอ ๆ กับการ์ดจอแยกตัวเล็กบางตัวเลย ดังนั้นเกมที่เลือกนำมาทดสอบรอบนี้ก็เป็นเกมที่กินสเปคในระดับกลางอย่าง DOTA 2 และ The Sims 4 มาดูกันว่าจะเล่นได้ดีในระดับไหน

สำหรับเกม DOTA 2 เลือกตั้งค่าเป็นแบบ Medium หรือปรับกราฟิกขึ้นมา 1 ขีด และเช็คเฟรมเรตด้วยโปรแกรม MSI Afterburner พบว่าสามารถเล่นได้ในระดับ 29-44 FPS โดยตอนบวกหนักยังประคองให้อยู่ในระดับ 30 กลาง ๆ ได้ตลอด ถือว่าเยี่ยมมาก

ส่วนในฝั่งเกม The Sims 4 เกมนี้จะค่อนข้างกินสเปคสูงกว่า DOTA 2 โดยเฉพาะฉากเวลาชมวิวมุมสูงที่จะมีรายละเอียดกราฟิกจากวัตถุค่อนข้างเยอะ พอเลือกปรับตั้งค่าเป็น medium สามารถเล่นได้ในระดับ 26-39 FPS ซึ่งยังถือว่าเล่นได้ดี ต่อให้เร่งเวลาเป็น 3 ก็ไม่ค่อยเจออาการเฟรมตก ยังประคองความนิ่งได้ดีเช่นกัน แต่เกมนี้เล่นไปนาน ๆ อาจจะมีอาการเครื่องร้อนหน่อย เพราะมีพัดลมแค่ตัวเดียว แนะนำว่าให้เอาไปเล่นในห้องที่เย็นหน่อย เช่นห้องแอร์ จะช่วยให้เล่นได้นานขึ้นครับ

 

สรุปจุดเด่น

  • ซีพียูรหัส H ตัวแรง (เฉพาะรุ่น Core i5)
  • ดีไซน์ดูพรีเมียม น่าใช้ เหมาะกับคนที่ชอบโน้ตบุ๊คแนวคลีน ๆ
  • จอใหญ่ 15.6 นิ้ว แต่น้ำหนักไม่ถึง 2 กิโลกรัม พกพาไปไหนมาไหนสะดวก
  • พอร์ตเชื่อมต่อเยอะ มีทั้ง HDMI, LAN, Card Reader และ USB-A ถึง 3 ช่องในเครื่องเดียว
  • แบตอึด เคลมใช้ได้นานสูงสุด 10 ชั่วโมง
  • มี Windows 11 แท้มาให้

 

ข้อสังเกต

  • อัปเกรด SSD เพิ่มไม่ได้ ทำได้แค่ถอด M.2 ตัวเดิมออกแล้วเอาตัวใหม่ใส่แทน
  • อัปเกรดแรมเพิ่มไม่ได้ แถมให้มาแค่ 8GB ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการใช้งานในปัจจุบัน
  • แป้นพิมพ์ไม่มีนัมเบอร์แพดสำหรับพิมพ์เลข และไฟ backlit มาให้
  • ไม่มีพอร์ต USB Type-C

 

สำหรับใครที่สนใจหาจับจอง RedmiBook 15 เครื่องนี้มาไว้ในครอบครอง โปรโมชั่นพิเศษมาถึงแล้วสำหรับรุ่น Intel Core i5-11300H ราคาเพียง 19,990 บาท จากปกติ 20,990 บาท พร้อมรับฟรีของแถมมูลค่ารวม 1,280 บาท หากสั่งซื้อภายในวันที่ 6 – 30 มิ.ย. 2565 ผ่านช่องทาง Xiaomi Store และร้านตัวแทนจำหน่ายที่ร่วมรายการเท่านั้น