ถึงแม้ว่ามือถือเกมมิ่งระดับฮาร์ดคอร์อย่าง ROG Phone II จะพึ่งได้ฤกษ์เข้ามาขายในบ้านเราอย่างเป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้ แต่สเปค+ฟีเจอร์ต่างๆ ของมันเรียกได้ว่าแรงสุดๆ ทั้งการใช้งานทั่วไป รวมถึงการเล่นเกมกราฟฟิคโหดๆ แบบปรับสูงสุดได้สบาย…ซึ่งมือถือรุ่นนี้ก็ไม่ได้มีดีแค่เครื่องแรงเท่านั้น แต่ฟีเจอร์อื่นๆ ทั้งกล้องหลัง, ระบบเสียง, หน้าจอ, แบตเตอรี่ ยังอยู่ในระดับดีงามอีกด้วย

สำหรับรีวิว ROG Phone II เราจะเอาทั้งเครื่องที่จำหน่ายในประเทศไทย (12GB/512GB) มาเทียบกับเครื่องหิ้วจากจีนที่เป็น Tencent Version (8GB/128GB) ให้ดูด้วยว่าทั้ง 2 รุ่นแตกต่างกันตรงไหนบ้างครับ

มีอะไรในกล่อง ROG Phone II

กล่องของ ROG Phone II รุ่นที่ขายในบ้านเรา จะแตกต่างจากรุ่น Tencent อย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่กล่องเลย เพราะรุ่นที่ขายในบ้านเราจะเป็นกล่องแบบ 6 เหลี่ยมสุดเท่ที่ต้องเปิดด้วยการสไลด์กล่องด้านในขึ้นมา ส่วนอุปกรณ์ที่แถมมาในกล่องของรุ่นที่ขายในประเทศไทยจะมีทั้งหม้อแปลงชาร์จไว 30W, สายเคเบิลแบบ USB-C > USB-C, เคส และพัดลมระบายอากาศ Aero Active Cooler 2 ให้มาด้วยในกล่องเลย

แต่สำหรับรุ่น Tencent กล่องจะเป็นแบบสี่เหลี่ยมธรรมดาๆ และอุปกรณ์ที่แถมมาก็จะมีแค่ที่ชาร์จ 18W, สายเคเบิล USB-A > USB-C และเคสใสเท่านั้น

ดีไซน์ตัวเครื่อง

ตัวเครื่อง ROG Phone II เรียกว่าเห็นแล้วรู้เลยว่าเป็นมือถือเกมมิ่งของแท้ เพราะไม่ได้มีการเน้นขอบจอบางเลย ยังคงมีขอบจอทั้ง 4 ด้านที่มีความหนาปกติ โดยเฉพาะขอบบน-ล่าง ที่หนากว่าเพื่อนเนื่องจากต้องวางลำโพงสเตอรีโอสุดกระหึ่มเอาไว้ พร้อมกับกล้องเซลฟี่นั่นเอง

พลิกกลับมาดูที่ฝาหลัง ก็จะเจอกับลวดลายที่ดูล้ำสไตล์เกมมิ่ง ด้านขวามือมีแถบเท่ๆ ที่มีสีต่างจากบริเวณอื่นเล็กน้อย และมีแถบสีส้มซึ่งเป็นตะแกรงสำหรับระบายอากาศภายในตัวเครื่อง

กล้องหลังของ ROG Phone II เป็นกล้องหลังคู่แนวนอน พร้อมแฟลช LED คู่ ที่มีการออกแบบรอบข้างแบบล้ำๆ อีกเช่นเคย

จุดเด่นที่สุดก็คือโลโก้ ROG ซึ่งเป็นไฟแบบ RGB เปล่งแสงออกมาเวลาเปิด X Mode เพิ่มประสิทธิภาพการเล่นเกม ซึ่งเราสามารถเปลี่ยนสี และจังหวะการกระพริบได้ด้วย

ดีไซน์ของ ROG Phone II ทั้งรุ่นที่ขายในไทยและรุ่น Tencent แทบจะเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว จะแตกต่างกันก็แค่แถบหลังเครื่องทางด้านขวา ซึ่งรุ่นในบ้านเราใช้วัสดุเป็นกระจก ส่วนรุ่น Tencent ใช้วัสดุเป็นโลหะแบบด้าน และด้านล่างเครื่องจะมีโลโก้บอกว่าเป็นรุ่น Tencent Games หรือรุ่นปกติ Republic of Gamers

ROG Phone II รุ่นที่ขายในบ้านเรา (ซ้าย) / ROG Phone II Tencent Edition (ขวา)

สเปค ROG Phone II

  • หน้าจอ AMOLED ขนาด 6.59 นิ้ว ความละเอียด FHD+ (2340 x 1080) รีเฟรชเรท 120Hz รองรับการแสดงผล HDR
  • CPU : Snapdragon 855+
  • GPU : Adreno 640
  • RAM : 12GB (รุ่น Tencent 8GB)
  • ความจุ : 512GB UFS 3.0 (รุ่น Tencent 128GB)
  • กล้องหลัง : 48MP + 13MP
  • กล้องหน้า : 24MP
  • ระบบเสียง : ลำโพงสเตอรีโอ, DTS:X Ultra 7.1, Hi-Res, วิทยุ FM, รูหูฟัง 3.5 มม.
  • การเชื่อมต่อไร้สาย : WiFi 802.11a/b/g/n/ac (4×4 MIMO), BT 5.0, NFC
  • เซ็นเซอร์ : สแกนนิ้วบนหน้าจอ, Face recognition, Accelerator, E-Compass, Gyroscope, Proximity sensor, Hall sensor, Ambient light sensor, Ultrasonic sensors for AirTrigger II and grip press, Dual vibrators
  • แบตเตอรี่ : 6000 mAh รองรับชาร์จไว HyperCharge 30W

ประสิทธิภาพและการใช้งาน

ROG Phone II เป็นมือถือที่อัดสเปคมาให้ในระดับไฮเอนด์ของปี 2019 แล้ว ไม่ว่าจะเป็นชิป Snapdragon 855+ ผ่านการ Overclock ให้มีความเร็วมากกว่าปกติอยู่ที่ 2.96GHz, RAM 12GB (Tencent 8GB), หน่วยความจำแบบ UFS 3.0 ที่ทำให้การอ่าน-เขียนข้อมูล รวมถึงการโหลดแอปต่างๆ เร็วปรู๊ดปร๊าดสุดๆ

สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพด้วยแอป AnTuTu จะขอทดสอบ 2 ครั้ง คือตอนปิด X Mode และตอนเปิด X Mode เพื่อรีดประสิทธิภาพการทำงานนะครับ

ผลคะแนน AnTuTu ปิด X Mode / เปิด X Mode

 

ส่วนผลการวัดความเร็วในการอ่าน-เขียนข้อมูลด้วยแอป Androbench ก็ออกมาตามนี้ครับ

การเล่นเกมด้วย ROG Phone II ไม่ว่าจะรุ่น RAM 8GB หรือ 12GB เรียกว่าไม่ต้องห่วงเลย เพราะจากการทดสอบด้วยเกมสุดฮิตอย่าง ROV ก็สามารถปรับกราฟฟิคได้สุดทุกอย่าง เล่นได้แบบลื่นปรื๊ดๆ ตอนนัวๆ กันเฟรมเรทก็ไม่ลงไปต่ำกว่า 55 fps เลย

เกมกินสเปคอย่าง PUBG ก็ปรับได้สุดแบบไม่มีปัญหาอีกเช่นกัน

เกม Call of Duty Mobile ปรับไปสุดได้ที่ระดับ MAX เปิดเอฟเฟ็คท์จัดเต็มทุกอย่างทั้ง Ragdoll, Anti Aliasing, Bloom ฯลฯ ก็ไม่เจออาการกระตุกให้เห็นเลย

โหมดสำหรับเล่นเกม

ROG Phone II ไม่ใช่แค่มีสเปคแรงเท่านั้น แต่ยังมีฟีเจอร์ที่เน้นการเล่นเกมโดยเฉพาะอีกด้วย

X Mode

เมื่อเราเปิดฟีเจอร์นี้ปุ๊บไฟ RGB ด้านหลังเครื่องก็จะติดขึ้นมาทันที พร้อมกับหน้าตาของ UI ก็จะเปลี่ยนไปนิดหน่อย เพราะขอบของไอคอนแอปต่างๆ จะมีวงกลมสีแดงขึ้นมาให้เห็น ประมาณว่าตอนนี้เครื่องแรงสุดๆ พร้อมเล่นเกมได้หมดแล้ว ซึ่งโหมดนี้จะเป็นการหน่วยความจำทั้งหมดเพื่อมาลงที่เกมอย่างเดียว

เรายังสามารถเข้าไปตั้งค่าประสิทธิภาพการใช้งานต่างๆ ได้อีกไม่ว่าจะเป็นความเร็ว CPU, อุณหภูมิเครื่อง ฯลฯ หรือถ้าใช้พัดลมระบายอากาศ ก็ยังสามารถปรับแต่งความเร็วของพัดลมได้อีกต่างหาก

Game Genie

ปกติแล้วฟีเจอร์ Game Genie จะเปิดใช้งานอัตโนมัติเมื่อเราเข้าเกม โดยเราสามารถปัดขอบจอด้านซ้ายเข้ามาเพื่อเรียกแถบ Game Genie และตั้งค่าต่างๆ ทั้งการปิดแจ้งเตือนทุกชนิด, ล็อคระดับแสงสว่างหน้าจอ, เช็คข้อมูลเฟรมเรท, อุณหภูมิเครื่อง, ความเร็ว CPU ที่วิ่งอยู่ในขณะนั้น, อัดวิดีโอหน้าจอ ฯลฯ และยังมีฟีเจอร์อย่าง AirTriggers ที่แสนจะมีประโยชน์ให้เราได้เปิดใช้อีกด้วย

AirTriggers

ฟีเจอร์นี้จะทำงานร่วมกับปุ่มสัมผัสที่อยู่ตรงขอบเครื่องฝั่งที่มีปุ่ม Power + ปุ่มปรับเสียง โดย AirTriggers จะอยู่บริเวณหัว-ท้ายของเครื่อง ซึ่งการทำงานของทั้ง 2 ปุ่มนี้ เราสามารถเข้าไปตั้งค่าระหว่างเล่นเกมได้ ว่าเวลากดปุ่มทั้ง 2 นั้น จะเป็นการสัมผัสตรงส่วนไหนของหน้าจอ ยกตัวอย่างเวลาเล่นเกม Call of Duty เราก็ตั้งค่าให้ AirTriggers ด้านขวาคือการกดปุ่มยิงบนหน้าจอ ส่วนปุ่มด้านซ้ายคือการกดปุ่มเล็งบนหน้าจอ…ถ้าหากว่าหัดใช้ให้คล่องๆ แล้ว มันจะถนัดกว่าการกดปุ่มบนหน้าจอมากเลยล่ะ

AirTriggers

ตั้งค่า AirTriggers ลากวงสีแดง สีน้ำเงิน ไปไว้บริเวณที่เราต้องการให้กด

กล้อง ROG Phone II

ถึงแม้ว่า ROG Phone II จะเป็นมือถือที่เน้นประสิทธิภาพในการเล่นเกม แต่เรื่องกล้องก็ไม่ได้แย่เลย เพราะเป็นกล้องตัวเดียวกันกับที่ใช้ใน Zenfone 6 นั่นเอง ประกอบด้วยกล้องหลักความละเอียด 48MP (IMX586) + กล้อง Ultrawide ความละเอียด 13MP แถมยังยกฟีเจอร์กล้องต่างๆ มาจาก Zenfone 6 เช่นกัน ไม่ว่าจะ Motion Tracking (ตามโฟกัสวัตถุแบบอัตโนมัติ) หรือ Night Mode

ROG Phone II สามารถถ่ายภาพนิ่งได้ที่ความละเอียดสูงสุดถึง 48MP แต่ในโหมดปกติจะใช้ระบบ Pixel Binning ที่จะรวมเอา Pixel 4 จุดเข้าเป็นจุดเดียว ทำให้เม็ดพิกเซลมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น เก็บรายละเอียดได้มากขึ้น เก็บภาพในที่มืดได้ดีขึ้น และจัดการกับ Noise ได้ดีกว่า แต่ภาพที่ออกมาจะมีขนาดอยู่ที่ 12MP

โหมดหน้าชัดหลังเบลอ หรือ Portrait ถือว่าทำออกมาได้ดีพอใช้ แต่จะมีบางครั้งที่การตัดขอบวัตถุยังมีเอ๋อๆ ไปบ้าง

การถ่ายภาพในที่มืดด้วย Night Mode สามารถเร่งสีและเพิ่มรายละเอียดให้กับภาพได้ดีกว่าการใช้ AI เพื่อจำแนก Scene ตามปกติ แต่ในบางช็อตเหมือนยังเร่งสว่างไม่ได้เท่าเรือธงรุ่นอื่นๆ แต่รวมๆ ก็ถือว่าทำได้ดี

นอกจากนี้ Night Mode ยังใช้ร่วมกับเลนส์ Ultrawide ได้อีกด้วย ทำให้การถ่ายภาพมุมกว้างในที่มืดออกมาสว่างขึ้น แต่รู้สึกว่าจะจัดการกับ Noise ได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก ยิ่งมืดยิ่งเห็นวุ้น

การถ่ายวิดีโอ

กล้องหลังของ ROG Phone II ถ่ายวิดีโอได้สูงสุดถึง 4K 60fps ซึ่งเรื่องของการกันสั่นนั้นตัว EIS จัดการกับการถ่ายวิดีโอออกมาได้ลื่นไหลจนน่าทึ่ง

Play video

กล้องเซลฟี่

ROG Phone II มากับกล้องเซลฟี่ความละเอียดสูง 24MP ที่ถ่ายได้สวยๆ อยู่เหมือนกัน แต่แปลกๆ อยู่หน่อยที่การปรับบิวตี้ทั้งสีผิว, หน้าใส, ตาโต, คางแหลม ฯลฯ จะมีให้ใช้เฉพาะในโหมด Portrait หรือหน้าชัดหลังเบลอเท่านั้น ในโหมดเซลฟี่ธรรมดาไม่มีอะไรให้ปรับเลย นอกจากเปลี่ยนฟิลเตอร์

ระบบเสียง

ROG Phone II มีลำโพงคู่สเตอรีโออยู่บริเวณหัว-ท้าย มาให้ ซึ่งลำโพงตรงหัวเครื่องเป็นลำโพงที่ใช้สำหรับ Media จริงๆ (ไม่ได้เป็นลำโพงที่ควบกับลำโพงสนทนาในมือถือบางรุ่น ทำให้เสียงออกมาไม่เท่ากัน) แถมแ่ละตัวยังมี Amplifier แยกอีกต่างหาก พลังเสียงของ ROG Phone II เรียกได้ว่าดังลั่นใช้ได้เลย แล้วไม่ได้ดังแบบไม่มีคุณภาพนะ แต่เสียงที่ได้ยังมีความตึ้บ และความใสอยู่พอประมาณเลยล่ะ หรือถ้ายังดังไม่พอก็มีโหมด Outdoor สำหรับการใช้งานในที่กลางแจ้งที่จะเร่งเสียงให้ดังมากขึ้นไปอีก แต่คุณภาพเสียงและรายละเอียดต่างๆ จะลดลงไปพอสมควร

และหากว่าใครยังคงใช้หูฟังแบบมีสายที่มีแจ็ค 3.5 มม. ก็ต้องถูกใจแน่นอน เพราะมือถือรุ่นนี้ยังคงมีรูหูฟังมาให้ด้วย ซึ่งเสียงที่ได้ก็เรียกว่าเด็ดดวงเลยล่ะ

แบตเตอรี่สุดอึด

ROG Phone II อัดแบตเตอรี่มาให้เต็มๆ ถึง 6000 mAh นับว่าเยอะที่สุดสำหรับเหล่ามือถือที่มีสเปคระดับไฮเอนด์ยุคนี้แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าแบตให้มาเยอะขนาดนี้ การใช้งานต่างๆ ก็อึดตามขนาดแบตไปด้วย เพราะจากการทดลองใช้งานด้วยการใส่ซิม 4G สลับกับใช้ WiFi, เปิดหน้าจอแบบ 120Hz ไว้ตลอดเวลา, เล่นเกมบ้าง, ดู YouTube ไปราวๆ ชม. ครึ่ง, ถ่ายรูป + ถ่ายวิดีโอ ไปเกือบๆ ชม., เล่น FB ไปเกือบ ชม., เล่นเน็ตไปราว ชม. ครึ่ง รวมๆ แล้ว Scrren-on Time อยู่ที่ 6 ชม. กับอีก 10 นาที แบตเตอรี่ยังเหลืออยู่ที่ 23% หรือตามที่ระบบคำนวณให้ก็คือใช้ได้อีก 4 ชม. ครึ่งเลยทีเดียว เรียกว่าอึดแบบอึดจริงๆ ไม่ได้โม้ และถ้าหากว่าปรับรีเฟรชเรทให้ต่ำลงมาอีก ก็จะเพิ่มอายุการใช้งานได้อีกด้วย

ROG Phone II รองรับการชาร์จไวสูงสุดที่ระดับ 30W ซึ่งรุ่นที่ซื้อในบ้านเราจะแถมที่ชาร์จ 30W มาให้ในกล่องเลย (แต่สำหรับรุ่น Tencent จะให้ที่ชาร์จมาแค่ 18W เท่านั้น)

รองรับ Widevine L1 ดูหนัง Netflix แบบ HD

ROG Phone II ได้รับมาตรฐาน Widevine L1 ทำให้มันสามารถดูหนังจาก Netflix ได้แบบ HD หรือ HDR สบายๆ รวมถึง iflix หรือ YouTube ก็ยังดูแบบ FHD HDR ได้อีกด้วย

สรุปข้อแตกต่างของ ROG Phone II รุ่นปกติ กับรุ่น Tencent Edition

นอกจากราคาของ ROG Phone II ทั้ง 2 รุ่น จะแตกต่างกันเกือบเท่าตัวแล้ว ยังมีสเปค+ฟีเจอร์บางอย่าง ที่ไม่เหมือนกันอีกด้วย โดยหลักๆ ก็จะมีตามตารางนี้เลยครับ

สเปคROG Phone II
ROG Phone II Tencent Edition
หน้าจอAMOLED ขนาด 6.59 นิ้ว ความละเอียด FHD+ (2340 x 1080) รีเฟรชเรท 120Hz รองรับการแสดงผล HDRAMOLED ขนาด 6.59 นิ้ว ความละเอียด FHD+ (2340 x 1080) รีเฟรชเรท 120Hz รองรับการแสดงผล HDR
CPUSnapdragon 855+Snapdragon 855+
GPUAdreno 640Adreno 640
RAM12GB8GB
ความจุ512GB128GB
กล้องหลัง48MP + 13MP48MP + 13MP
กล้องหน้า24MP24MP
ระบบเสียงลำโพงสเตอรีโอ, DTS:X Ultra 7.1, Hi-Res, วิทยุ FM, รูหูฟัง 3.5 มม.ลำโพงสเตอรีโอ, DTS:X Ultra 7.1, Hi-Res, วิทยุ FM, รูหูฟัง 3.5 มม.
การเชื่อมต่อWiFi 802.11a/b/g/n/ac (4×4 MIMO), BT 5.0, NFCWiFi 802.11a/b/g/n/ac (2×2 MIMO), BT 5.0, NFC
เซ็นเซอร์สแกนนิ้วบนหน้าจอ, Face recognition, Accelerator, E-Compass, Gyroscope, Proximity sensor, Hall sensor, Ambient light sensor, Ultrasonic sensors for AirTrigger II and grip press, Dual vibratorsสแกนนิ้วบนหน้าจอ, Face recognition, Accelerator, E-Compass, Gyroscope, Proximity sensor, Hall sensor, Ambient light sensor, Ultrasonic sensors for AirTrigger II and grip press, Dual vibrators
แบตเตอรี่6000 mAh6000 mAh
ของแถมในกล่องพัดลมระบายอากาศ AeroActive Cooler, Aero Case, ที่ชาร์จไว 30W, สาย USB-C > USB-Cเคสใส, ที่ชาร์จไว 18W, สาย USB-A > USB-C
โหมด WiGIGรองรับไม่รองรับ

ข้อเสียอีก 1 อย่างของเครื่อง Tencent ซึ่งเป็นเครื่องจีนก็คือ ต้องลงรอม Global เอาเอง ซึ่งจะมีปัญหาในเรื่องการอัพเดทเฟิร์มแวร์ทาง OTA เพราะมันจะไม่มีการอัพเดทอัตโนมัติเหมือนเครื่องปกติ แต่จะต้องไปหาโหลดไฟล์อัพเดทมาลงเครื่องเพื่อกดอัพเดทเอาเอง ซึ่งอาจจะเสียงต่อการเครื่อง Brick ได้ หากทำไม่ถูกต้อง ส่วนอีกเรื่องนึงที่ถือเป็นเรื่องใหญ่คือ เวอร์ชั่น Tencent จะไม่มีการรับประกันจาก ASUS ศูนย์ไทยนั่นเอง และมีปัญหาในการโหลด Netflix จาก Playstore

สรุป

ข้อดี

  • หน้าจอ 120Hz ไหลลื่นสุดๆ ทั้งการใช้งานทั่วไป, ดูหนัง และเล่นเกม
  • เครื่องแรงหายห่วง ปรับสุดได้ทุกเกม
  • หน่วยความจำ UFS 3.0 เปิดแอปและเขียนอ่านข้อมูลได้เร็วปรู๊ดปร๊าด
  • ดีไซน์โฉบเฉี่ยวเหมาะกับสายเกมเมอร์ แถมมีไฟ RGB ด้านหลัง (ความชอบส่วนตัว)
  • ลำโพงเสียงดังมาก และเสียงที่ได้จากหูฟังมีสายถือว่าโอเค
  • ถ่ายวิดีโอ 4K 60fps ได้ลื่นและนิ่งมาก
  • มีอุปกรณ์เสริมให้เลือกใช้มากมาย
  • มีปุ่ม AirTriggers เพิ่มความถนัดให้การเล่นเกม
  • ยังมีรูหูฟัง 3.5 มม. ให้อยู่
  • มีพอร์ท USB-C ที่ขอบเครื่องด้านข้างอีก 1 พอร์ท สำหรับเสียบชาร์จเวลาเล่นเกม
  • แบตเตอรี่อึดสุดๆ

ข้อติ

  • ตัวเครื่องหนักและหนา
  • เล่นเกมนานๆ แล้วเครื่องร้อน ถ้าไม่ใช้กับพัดลมระบายอากาศ
  • หน้าจอยังมีขอบที่หนาอยู่ (ที่เค้าออกแบบมาให้ถือเล่นเกมง่าย)
  • ไม่มีมาตรฐานกันน้ำกันฝุ่น
  • กล้องโหมดกลางคืนยังไม่สว่างเท่ากับเรือธงรุ่นอื่นๆ
  • อุปกรณ์เสริมราคาแพงเอาเรื่อง

Play video

ROG Phone II เป็นมือถือที่เรียกว่าอัดสเปคทุกอย่างมาให้ครบจริงๆ เรื่องความแรงในการใช้งานและการเล่นเกมนี่บอกได้เลยว่าหายห่วง เรื่องกล้องก็ถือว่าทำได้ดีในระดับนึง ถ้าหากเทียบว่ามันเป็นมือถือที่เน้นสเปคสำหรับเล่นเกมก็เรียกว่าถ่ายได้สวยดี (ส่วนการถ่ายวิดีโอนี่เข้าขั้นดีเลยนะ) แต่ถึงแม้ว่าสเปคมันจะดีขนาดไหน แต่ ROG Phone II ก็ไม่ใช่มือถือสำหรับคนทั่วไป เพราะฟีเจอร์ + สเปคบางอย่างที่ใส่มาให้ก็เกินความจำเป็นไปหน่อยสำหรับการใช้งานทั่วๆ ไป ยังมีเรื่องของดีไซน์และน้ำหนักที่อาจจะไม่ถูกใจบางคนด้วย (โดยเฉพาะสาวๆ) แต่ถ้าใครที่มองหามือถือเครื่องแรงสุดๆ แบตอึดมากๆ และไม่แคร์น้ำหนักเครื่อง ROG Phone II คือตัวเลือกที่เด็ดและครบเหมือนกัน