เมื่อต้นปีที่ผ่านมานั้นโซนี่ได้เปิดตัวทีวีรุ่นทอปของตัวในไปในงาน CES 2017 นั่นก็คือ BRAVIA OLED A1 ที่เป็นการกลับมาทำทีวีจอ OLED อย่างเป็นทางการของโซนี่ หลังจากเคยทำออกมาสมัยที่ OLED ยังมีราคาแพงมาก โดยนอกจากหน้าจอแล้วก็ยังมีองค์ประกอบอีกหลายๆ อย่างที่น่าสนใจทีเดียว ในไทยเองก็เปิดตัวกันไปแล้วเมื่อช่วงมิถุนายนที่ผ่านมา และตอนนี้ก็วางจำหน่ายแล้ว ทาง Droidsans ได้รับเครื่องมารีวิว เลยจะนำมาบอกเล่ากันครับว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง

สเปคของ SONY BRAVIA OLED A1

รุ่น 55 นิ้ว เทียบกับจอคอม

MODEL : KD-55A1 / KD-65A1

  • Device Type : Android TV
  • Android Version : 7 (32 bit)
  • CPU : SoC MediaTek MT5891
  • GPU : Mali-T860
  • RAM : 2 GB
  • Storage : 16 GB (เหลือราว 8.2 GB)
  • Display :
    • Screen Size : 55” ( KD-55A1) / 65” ( KD-65A1)
    • Resolution : UHD 3840 × 2160
    • HDR Support: HDR10, Hybrid Log-Gamma, DolbyVision
  • Connections
    • USB (FAT16 / FAT32 / exFAT / NTFS)
    • WiFi Direct
    • Bluetooth (BLE Supported)
    • Ethernet
    • WiFi
    • Miracast (Screen Mirroring)
    • Chromecast built-in (Cast Screen)
  • Microphone ในรีโมท

 

ดีไซน์

BRAVIA OLED A1 ตัวนี้มีการปรับดีไซน์ให้แตกต่างไปทางทีวีทั่วไปในท้องตลาดอย่างชัดเจนครับ นั่นก็คือการตัดขาตั้งแบบธรรมดาออกไปเป็นการใช้ตัวเครื่องและขาด้านหลังกางแทน โซนี่ให้เหตุผลการออกไว้ว่าเป็นความพยายามที่จะให้ผู้รับชมทีวี มองแต่เพียงภาพบนจอเท่านั้น ไม่ให้มีช่องว่างด้านล่างที่เกิดจากการใช้ขาตั้งยกจอทีวีขึ้นมา รวมถึงขาหลังของเครื่องยังออกแบบให้ซ่อนเก็บสายไฟต่างๆ ได้อีกด้วย ทำให้ตำแหน่งที่วางเจ้า A1 จะดูสะอาดสะอ้าน มินิมอลสุดๆ ไปเลยครับ

ตอนจะกางขาตั้งออกมาต้องเลื่อนปลดล็อกก่อนะครับ

มีฝาสำหรับปิดบังสายไฟ

ด้วยความเรียบเหมือนเป็นแผ่นจอเปล่าๆ ของมันอาจจะทำให้หลายคนสงสัยว่าแล้วลำโพงมันไปอยู่ตรงไหน คำตอบก็คืออยู่ที่ด้านหลังเครื่องครับ และไม่ใช่ลำโพงแบบธรรมดาเพราะโซนี่ได้ปรับมาใช้เทคโนโลยีเสียงที่เรียกว่า Acoustic Surface ครับ สำหรับรายละเอียดเดี๋ยวผมจะขอพูดถึงอีกทีในส่วนของระบบเสียงละกันครับ

ปุ่มพาวเวอร์อยู่ที่ด้านขวาของขาตั้ง

ด้านหน้าเกลี้ยง ไม่เห็นขาตั้งและสายไฟ

 

รุ่น 55”

  • ขนาด
    • ไม่รวมขาตั้ง 1228 x 711 x 86 มม.
    • รวมขาตั้ง 1228 x 710 x 339 มม.
  • น้ำหนัก
    • 25.0 กิโลกรัม
    • 29.8 กิโลกรัม

ขนาด 65”

  • ขนาด
    • ไม่รวมขาตั้ง 1451 x 834 x 86 มม.
    • รวมขาตั้ง  1451 x 832 x 339 มม.
  • น้ำหนัก
    • ไม่รวมขาตั้ง 28.8 กิโลกรัม
    • รวมขาตั้ง 36.2 กิโลกรัม

 

 

หน้าจอและการแสดงผล

ดูใกล้ๆ จอกับภาพเครื่องแก้ว

หน้าจอของ A1 นั่นถือเป็นจุดเด่นที่สังเกตได้ง่ายที่สุดครับ เพราะโซนี่ได้นำแผงจอแบบ OLED มาใช้ ผมได้สอบถามกับทางทีมงานของโซนี่ จึงได้ข้อมูลว่าจริงๆ แล้วโซนี่ก็เคยทำจอ OLED ขายมาก่อนเมื่อนานมาแล้ว สมัยที่กระบวนการผลิตยังมีต้นทุนที่สูงมาก หน้าจอขนาด 11 นิ้วราคาขึ้นไปหลายแสนบาทเลยครับ แต่ในยุคนี้ที่กระบวนการพัฒนาจอ OLED มีต้นทุนที่ถูกลงไปมากแล้ว โซนี่จึงได้นำกลับมาใช้บนทีวีระดับ consumer นั่นเอง

ผมเชื่อว่าผู้อ่านเว็บ Droidsans น่าจะคุ้นชินกับข้อดีของแผงจอ OLED กันดีอยู่แล้ว นั่นก็คือเรื่องของคอนทราสท์ของภาพ ที่สามารถแสดงสีดำได้อย่างมืดสนิท และแสดงสีสันอื่นๆ ได้สว่างมากกว่าแผงจอแบบ LCD รวมถึงมุมมองรอบจอจะกว้างขึ้นและได้สีสันที่สดใสและแม่นยำ นอกจากนี้แล้วจอนี้ยังเป็นจอมาตรฐาน TRILUMINOS ของโซนี่และรองรับ HDR ได้ครบไม่ว่าจะเป็น HDR10, Hybrid Log-Gamma หรือ Dolby Vision โดยตั้งต้นทีวีจะปรับเป็นแบบอัตโนมัติตามประเภทไฟล์ที่เล่น แต่เราก็สามารถไปปรับเองก็ได้เช่นกันผ่านเมนูของเครื่อง ใครมีเครื่อง PS4 ก็สามารถเล่นเกมที่รองรับ HDR บนจอนี้ได้เลยครับ

เลือกปรับโหมดของ HDR ได้

อาจจะมีหลายคนทราบมาว่าโซนี่เลือกใช้แผง OLED จากทาง LG เลยอาจจะสงสัยกันว่าแล้วมันจะต่างกันทีวี OLED ของ LG ยังไงบ้าง หลังจากที่ผมได้สอบถามกับทางโซนี่และได้สัมผัสด้วยตาตัวเองแล้วผมเห็นว่ามันแตกต่างกันพอสมควรครับ เพราะทีวี BRAVIA ของโซนี่จะมีชิปประมวลผลภาพต่างหากที่ใช้ชื่อว่า 4K HDR Processor X1 Extreme ที่จะคอยปรับความคมชัดของภาพ, การทำ color mapping เพื่อให้ภาพต้นฉบับเข้ากับช่วงสีของจอ TRILUMINOS, การรีมาสเตอร์ภาพธรรมดาให้ใกล้เคียงกับภาพ HDR, การไล่ระดับสีของภาพที่ละเอียดขึ้น กระบวนการทั้งหลายนั้นโซนี่ปรับแต่งด้วยการอ้างอิงจากฐานข้อมูลภาพที่มีอยู่และประมวลผลด้วยชิปก่อนจะส่งสัญญาณภาพออกมาแสดงให้เราเห็น ทั้งหมดนี้โซนี่บอกว่าเป็นเอกลักษณ์หลักของทีวี BRAVIA ที่แบรนด์อื่นๆ ไม่ได้ทำหน่วยประมวลผลมาเสริมเช่นนี้

 

เสียง

Subwoofer ข้างหลังเครื่อง ตรงขาตั้ง

โซนี่ได้เปลี่ยนระบบเสียงของ A1 ใหม่จากลำโพงทั่วไป กลายมาเป็นระบบเสียง Acoustic Surface ที่มีวิธีการให้กำเนิดเสียงที่แตกต่างออกไปจากทีวีทั่วไปในท้องตลาดอย่างมากครับ เจ้าตัว A1 ตัวนี้จะมีแหล่งกำเนิดเสียง 2 แบบครับ นั่นก็คือ Subwoofer กลางหลังเครื่อง และ Actuator ที่เป็นแผ่นยาวๆ แปะอยู่ด้านหลังแผงจอจุดเด่นของระบบ Acoustic Surface ก็อยู่ที่ Actuator นี้แหละครับ เพราะมันจะสั่นกำเนิดคลื่นไปกระทบกับแผงหน้าจอจนเกิดเป็นเสียงดังออกมาตามผิวหน้าจอ (Surface) นั่นเอง นอกจากนี้แล้วมันยังสามารถส่งแรงสั่นเป็นทิศทางในลักษณะของสเตอริโอได้ด้วย รวมถึงมีการวิเคราะห์ภาพบนหน้าจอว่ามีวัตถุเคลื่อนไหวบริเวณไหนของหน้าจอ Actuator ก็จะสั่นให้กำเนิดเสียงในทิศทางที่ใกล้เคียงกับบริเวณของภาพได้ด้วย

ตัว actuator ที่ยาวตลอดหลังจอ เพื่อสั่นให้เกิดคลื่นกระทบจอ

 

โซนี่ยังบอกอีกด้วยครับว่าการใช้ Actuator นั้นต้องเลือกใช้กับแผง OLED เท่านั้น หากนำไปใช้กับ LCD ที่โครงสร้างข้างในมีของเหลว แรงสั่นสะเทือนแรงๆ บ่อยๆ อาจจะทำให้ของเหลวในแผงจอ LCD แตกและทำให้เสียได้

ครั้งแรกที่ผมได้อ่านเจอหลักการทำงานของ Acoustic Surface ผมก็สงสัยครับว่าเสียงที่ออกมามันจะเป็นยังไง มันจะสู้ลำโพงตัวใหญ่ๆ ได้หรอ พอผมได้ฟังเองเท่านั้นแหละครับ ผมบอกได้เลยว่ามันสู้กับชุดเครื่องเสียง Home Theater ชุดเล็กๆ ได้เลยครับ ความกระหึ่มของเสียงมันดัง มันชัดเจน และมีการเลือกตำแหน่งของเสียงให้เข้ากับหน้าจอก็ทำให้มีการสลับใช้ทั้งเสียงจาก Actuator และ Subwoofer ได้เข้ากับจังหวะของภาพด้วย เปิดตัวอย่างหนังมาดูนี่ให้อารมณ์เหมือนโรงหนังเลยครับ (ไม่นับทิศทางเสียงที่โรงหนังเค้าอลังการกว่านะครับ ฮ่าๆ )

คลิปตีดาบนี้ ฟังเสียงทุบแต่ละครั้งแล้วมันสั่นไปหมด เพราะ subwoofer เค้ารุนแรงมาก

จากความเจ๋งของ Acoustic Surface ทำให้ A1 ไม่ได้เป็นแค่ทีวีที่ควรค่าใช้งานเพื่อดูหนังอย่างเดียว แต่เราสามารถเปิดเพลงเล่น ไม่ว่าจะผ่านแอป Music หรือว่าต่อกับ Spotify เล่นก็จะได้สัมผัสกับเสียงที่อลังการกว่าทีวีทั่วๆ ไปอย่างแน่นอนครับ ตอนทดสอบได้ลองเปิดเพลง Look What You Made Me Do ของ Taylor Swift ก็ผมว่าจังหวะเบสมานี่เป็นลูกๆ ตึบๆ ติดหูมากครับ (เพลงมันก็ฟังแล้วติดหลอนหูอยู่แล้วด้วยล่ะนะ) ใครที่เดินผ่านโซนี่สโตร์ ผมแนะนำให้เข้าลองเปิดพวกวิดีโอหรือเพลงฟังดูครับ จะเข้าใจว่า Acoustic Surface ของ A1 นั้นไม่ธรรมดาจริงๆ

 

Android TV

BRAVIA OLED A1 นั้นมาพร้อมระบบ Android TV เวอร์ชัน 7 ที่ใหม่ที่สุดจากทางกูเกิล มาพร้อมกับฟีเจอร์ใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไปใน Google I/O กลางปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น Picture-in-picture ที่ย่อเนื้อหาให้เล็กลงแต่ยังคงเล่นต่อเนื่องในขณะที่เราค้นหาข้อมูลอื่นๆ และด้วยความสามารถของ Android TV ก็ทำให้เราสามารถสั่งงานหรือค้นหาด้วยเสียงผ่านรีโมทได้

แน่นอนว่าพอเป็น Android ซะอย่าง แอปต่างๆ นานาก็โหลดมาลงได้ไม่ว่าจะเป็นเกม YouTube หรือแอปดูหนังดูซีรีส์ชื่อดังอย่าง Netflix อ้อ พูดถึง Netflix แล้วก็ต้องบอกไว้หน่อยครับว่า ทาง Netflix เค้าจัดให้ A1 เครื่องนี้เป็นหนึ่งในทีวีที่เค้าแนะนำสำหรับการรับชมคอนเทนท์บน Netflix เลย เพราะรองรับทั้งความละเอียด 4K และยังรองรับ HDR ทั้ง HDR10 และ DolbyVision อีกด้วย (บนรีโมทมีปุ่มกดเข้า Netflix เลยด้วยนะ)

รีโมทที่พร้อมสำหรับการเข้า Netflix

การใช้งานสำหรับดู YouTube สลับไปหน้า Home หรือเปิด App ดูข้อมูลนั้นทำได้ค่อนข้างลื่นไหลครับ แต่ถ้าหากเปิดเกมขึ้นมาก็จะเริ่มพบว่ามีความหน่วงปรากฏให้เห็นบ้าง ในจังหวะโหลดเกม เมื่อเข้าเกมแล้วตัวเกมเล่นได้ค่อนข้างลื่นไหลครับ แต่ ณ จังหวะนี้ ถ้าสลับแอปไปมาจะพบความหน่วงที่อาจจะขัดใจได้ แล้วก็ตัว Web Browser จะกินทรัพยากรพอประมาณครับ เพราะจากที่ได้ทดสอบ พบว่าแค่เข้าไปค้นข้อมูลยังโหลดแสดงผลนานพอสมควรเลยครับ

recent app

จริงๆ ก็คงไม่น่าแปลกใจนักเพราะว่าตัว CPU ของ A1 นั้นไม่ได้อัพเกรดจากรุ่นอื่นๆ แบบก้าวกระโดดอะไรขนาดนั้น เหมือนเป็น Minor Change มากกว่า แต่มีส่วนของ GPU ที่ปรับจาก Mali 624 มาเป็น Mali 820 ซึ่งน่าจะทำให้ส่วนของเกมรันได้ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนๆ

Interface ของ Android TV ทำงานที่ Full-HD

ระบบ Android TV ยังทำให้สามารถรับการต่อ USB พ่วงเมาส์ คีย์บอร์ด หรือจอยคอนโทรลเลอร์เข้ากับทีวีได้ เวลาเล่นเกมกันหลายๆ คนก็สามารถหาจอยมาแจกจ่ายให้ถือกเล่นเลยก็ทำได้ นอกจากนี้แล้ว A1 ยังรองรับการทำ Screen Cast จากแอปต่างๆ ขึ้นจอได้อีกด้วย เพราะว่าเป็นทีวีที่มี Chromecast Built-in หรือจะต้องการทำ Screen Miiroring ก็ทำได้ง่ายๆ ด้วยการใช้แอป Google Home ที่มีอยู่แล้วทั้งแพลคฟอร์ม Android และ iOS ก็สามารถเชื่อมส่งภาพไปแสดงผลบนจอได้ไม่ต่างกันเลย แต่การทำ Mirroring อาจจะมีปัญหาเรื่งดีเลย์ภาพเล็กน้อยครับ

 

สรุป

จากองค์ประกอบต่างๆ ของ BRAVIA OLED A1 ตัวนี้ เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกันแล้ว จะเรียกว่าเป็น Smart TV ที่ดูเจ๋งที่สุดในตลาดตอนนี้เลยก็ว่าได้ครับ เพราะทั้งการออกแบบที่ดูเรียบหรู เทคโนโลยีภาพและการแสดงผลที่ได้นำ OLED มาใช้และให้สีสันคอนทราสท์ที่สูงมาก ระบบเสียงที่แปลกใหม่และทำออกมาได้ดีทั้งในเรื่องของความดัง รายละเอียดเสียงที่ชัดเจน มิติของเสียงที่ละเอียด แถมยังมาพร้อม subwoofer ในตัวที่ทำให้การดูหนังต่างๆ ได้อารมณ์มากกว่าทีวีทั่วๆ ไป คล้ายกับมี Home Theater ขนาดย่อมฝังอยู่ในทีวี และลูกเล่นต่างๆ ของ Android TV ที่ทำให้การเลือกรับชมทีวีปกติและการรับชมผ่านแอปหรือบริการต่างๆ เชื่อมต่อกันได้แบบแนบสนิท ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบันได้ดีครับ

ในส่วนของราคาค่าตัว BRAVIA OLED A1 นั้น ก็มีดังนี้ครับ

  • รุ่น 55 นิ้ว 119,990 บาท
  • รุ่น 65 นิ้ว 229,990 บาท

ราคานั้นอาจจะดูแพงอยู่ แต่ผมก็ว่าสมฐานะกับการเป็นทีวีรุ่นทอปของโซนี่ในตอนนี้ และเทคโนโลยีต่างๆ ที่ใส่มาก็ดูน่าหลงใหล ได้ลองสัมผัสเองแล้วก็รู้สึกว่าสมเหตุสมผลกับราคาที่ตั้งเอาไว้ เพื่อนสมาชิคนไหนอ่านมาจนถึงตรงนี้แล้วสนใจ อยากลองไปสัมผัสด้วยตัวเองล่ะก็ ตอนนี้ตาม Sony Store ก็มีวางโชวืและจำหน่ายแล้ว สามารถไปลองเล่นลองทดสอบด้วยตัวเองได้ตามหน้าร้านเลยครับ