เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทาง Droidsans ได้ทำการนำเสนอข่าวการเปิดตัวของ True IDC Chromebook โน๊ตบุ๊คสายพันธุ์ใหม่ ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Chrome OS ซึ่งใช้งานทุกอย่างผ่านทางเว็บเบราว์เซอร์ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การดูหนัง ฟังเพลง ไปจนถึง การใช้พิมพ์งาน ต่างๆ และตอนนี้ เจ้าเครื่อง Chromebook จาก True IDC ก็มาถึงเราแล้ววว มาดูกันดีกว่าว่ามันคุ้มและเหมาะกับการใช้งานแบบไหนบ้าง

สเปค True IDC Chromebook

  • OS: Chrome OS
  • หน้าจอ: LCD 11.6นิ้ว ความละเอียด 1366 x 768
  • CPU: Rockchip RK3288 Quad-core 1.8GHz
  • GPU: ARM Mali-T764
  • RAM: 2GB DDR3L
  • หน่วยความจำภายใน: SSD 16GB eMMC + Google Drive 100GB  2ปี
  • กล้องหน้า: เว็บแคม HD 720P
  • พอร์ต:
    • ช่องเสียบ USB 2 พอร์ต
    • ช่องเสียบ HDMI 1 พอร์ต
    • ช่องอ่าน microSD 1 ช่อง
    • ช่องเสียง หูฟัง และไมโครโฟน
    • ช่องเชื่อมต่ออุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้า
  • ระบบเสียง:
    • ลำโพงภายใน 2 ตัว
    • ไมโครโฟน 1 ตัว
    • ช่องเสียบหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร
  • การเชื่อมต่อ:
    • Wi-Fi 802.11 a/b/g/n/ac
    • Bluetooth 4.0
  • แบตเตอรี่: 31.08WH Li
  • ไฟฟ้า: 12V 2A
  • ขนาด: 290 x 205 x 21 มิลลิเมตร
  • น้ำหนัก: 1.15 กิโลกรัม

 

ฮาร์ดแวร์

วัสดุของตัวเครื่องที่ใช้จะเป็นพลาสติกทั้งหมด น้ำหนักกำลังดีที่ 1.15 กิโลกรัม ไม่หนักจนเกินไป โดยด้านหลังของจอจะเรียบๆ ไม่มีลวดลาย มีแค่โลโก้ของ Chrome กับ True IDC อยู่คนละฝั่งกัน เท่านั้น แต่รู้สึกว่าฝาผับมันจะปิดไม่ค่อยสนิทนะ

พอเปิดจอขึ้นมาก็จะเจอกับ หน้าจอ LCD ขนาด 11.6นิ้ว ที่มีกล้องเว็บแคมความละเอียด 720p และรูไมโครโฟนอยู่ด้านบน

ตัวเครื่องบริเวณ keyboard และ trackpad จะมีลวดลายเป็นขีดๆ ปิดด้วยพลาสติกใสด้านบนอีกทีหนึ่ง ซึ่งอาจจะทำให้เห็นลายนิ้วมือค่อนข้างง่าย แต่ก็ดูเข้ากันดีกับขอบหน้าจอครับ

Keyboard นั้นสกรีนภาษาไทยมาให้เรียบร้อย แต่ปุ่ม Caps Lock นั้นถูกแทนที่โดย ปุ่ม Search แทน (ไม่ได้สกรีน สระ -ุ นะ แต่ยังใช้งานได้) และไม่มีปุ่ม Windows หรือปุ่ม Command นะ

ส่วนแถวบนก็จะเป็นปุ่มฟังก์ชั่นต่างๆ ที่เอาไว้ใช้กับ Chrome OS แทนที่จะเป็นปุ่ม F1-F12 โดยเริ่มจากการปุ่ม Back-Next สำหรับการใช้งานบนเว็บ ปุ่ม Refresh ถัดมาก็จะเป็น ปุ่ม Full Screen และ ปุ่ม Overview ก่อนที่จะเจอกับ ปุ่มปรับเพิ่มลดความสว่างของหน้าจอ และปุ่มปิดเสียงและปรับเสียงครับ ด้านขวาสุดก็จะเป็นปุ่ม power 

Keyboard ที่มากับตัวเครื่องจะเป็นแนว chiclet หรือแบบที่เราเห็นได้มากมายบนเครื่องโน๊ตบุ๊คในปัจจุบัน แต่เครื่องที่ผมได้มาอาจจะเจอปัญหาเล็กน้อยโดยปุ่ม ctrl ด้านซ้ายของเครื่องที่ผมได้มารีวิว ต้องใช้การกดถึง 2 จังหวะด้วยกัน เพราะกดครั้งแรกมันเหมือนกับติดอะไรอยู่ จึงต้องเพิ่มแรงเข้าไปอีกนิดเพื่อที่จะใช้งานได้ครับ (เครื่องอื่นเป็นมั้ยผมไม่รู้นะครับ) 

เลื่อนลงมาจากคีย์บอร์ดนิดนึงก็จะเป็นในส่วนของ trackpad หรือเม้าส์ นั่นแหละ โดย trackpad ของ True IDC Chromebook รองรับ multitouch ได้ 3 จุด ด้วยกันครับ และถ้าอยากใช้ฟังก์ชั่นคลิกขวาก็ต้องกด 2 นิ้วพร้อมกับ คล้ายๆ กับพวกเครื่อง Macbook ทั้งหลาย ความแม่นยำอยู่ในระดับที่ดีรับได้ แต่ยังไม่นิ่งเท่าที่ควรครับ ยังดีที่ป้องกันการเลื่อนจากฝามือได้ ทำให้ไม่ไปกดโน้น กดนี้ เวลาพิมพ์ ส่วนการใช้ 2 นิ้วเพื่อ scroll up และ scroll down ถือว่าลื่นใช้ได้

มาดูด้านข้างของเครื่องกันบ้าง โดยเราจะเริ่มที่ฝั่งขวาก่อน ด้านขวาของเครื่อง ก็จะมีช่องเสียบสายล็อคตัวเครื่อง พอร์ต USB 2.0 และช่องเสียบหูฟัง

หมุนมาอีกด้านก็จะเจอกับ ช่องเสียบสายชาร์จ ช่องต่อ HDMI พอร์ต USB 2.0 และช่องเสียบ microSD การ์ดครับ

ส่วนด้านล่างของเครื่องก็มีพวก น๊อตสกรูที่เอาไว้แกะเปิดเครื่อง อยู่หลายตัว และมีปุ่มยางไว้รองเครื่องอยู่ 4 จุดด้วยกันครับ ส่วนลำโพงก็อยู่ด้านล่างเช่นเดียวกัน โดยจะมีทั้งหมด 2 ตัวครับ เสียงที่ได้จากลำโพงจะไม่ได้กระหึ่มหรือเสียงใสมากนัก ถ้าวางบนโต๊ะจะได้เสียงที่โอเค แต่ถ้าหากว่าวางบนเตียงหรือบนตักละก็เสียงจะโดนปิดและหายไปเลย และเมื่อเปิดเสียงดังมากๆ ก็จะมีเสียงแตกๆ อยู่บ้าง

 

Chrome OS

Chromebook นั้นขึ้นชื่อว่า boot เครื่องเร็วมาก เพราะด้วยความที่ Chrome OS นั้นมีขนาดที่เบาสุดๆ (ก็มันมีแค่เบราว์เซอร์นิ) จากที่ลอง boot เครื่องดูก็ใช้เวลาประมาณ 6-8 วินาที ตั้งแต่กดเปิดเครื่องมาจนถึงหน้า log in ครับ

ถ้าเปิดเครื่องเป็นครั้งแรก จะเห็นว่าจอความละเอียด 1366 x 768 ของ True IDC Chromebook จะออกสีอมฟ้า คนที่ทำงานเกี่ยวกับกราฟฟิคหรือต้องการความถูกต้องของสีเยอะอาจจะหงุดหงิดเล็กน้อย (แต่ถ้าต้องการเยอะขนาดนั้นก็ไม่น่าจะเลือกใช้ Chromebook แล้วล่ะมั้ง) หลังจากนั้นก็จะเจอกับหน้าเลือกภาษาและตั้งค่า Wi-Fi ต่อมาก็ทำการ sign in เข้าแอคเค้าท์ Google ของเราครับ

เมื่อทำการ sign in เสร็จสิ้น ทุกอย่างที่ผูกติดกับแอคเค้าท์ของเรา ไม่ว่าจะเป็น bookmark, extensions หรือ apps ต่าวๆ ก็จะมาโผล่บนเครื่อง Chromebook ของเราเลย เสร็จแล้วครับ ไม่มีอะไรต้องรีวิวต่อแล้ว เพราะหลังจากนี้เป็นการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วๆ ไป… เดี๋ยวๆๆ ล้อเล่นนนน ยังไม่จบครับ

Interface หรือหน้าตาของ Chrome OS ก็ดูเรียบง่ายครับ ด้านล่างซ้าย จะเป็นปุ่มค้นหา และก็จะมีพวกเว็บแอปที่เราได้ทำการลงไว้เรียงๆ ถัดมาด้านขวาจาก แอป Chrome ครับ

ด้านขวาจะเป็นส่วนที่บอกเวลา, Wi-Fi, แบตเตอรี่, ภาษาของ keyboard ผู้ใช้งานปัจจุบัน และการตั้งค่าอื่นๆ

หากว่ากดบริเวณแถบด้านล่างขวา ก็จะมีเมนูและสถานะต่างๆ เพิ่มขึ้นมาจากเดิม โดยจะมี ปุ่ม sign out ออกจากแอคเค้าท์ปัจจุบัน, ปุ่มเปลี่ยนภาษาของ keyboard, ปุ่มเลือกเชื่อมต่อ Wi-Fi, ปุ่มเปิดปิด Bluetooth, แถบเพิ่มลดเสียง, ปุ่มตั้งค่า และสถานะของแบตเตอรี่

ปุ่มช่วยเหลือ, ปุ่มปิดเครื่อง และปุ่มล็อคเครื่องจะอยู่ทางด้านล่างสุดครับ

เราดูระบบปฏิบัติการ Chrome OS ไปคร่าวๆ แล้ว เรามาดูว่ามันทำอะไรได้บ้างกันต่อเลยครับ โดยจะเริ่มที่ปุ่ม search ด้านซ้ายล่างก่อนเลย

เมื่อเรากดปุ่ม search แล้ว มันก็จะขึ้นหน้าตาให้เราพิมพ์เพื่อค้นหาใน Google ซึ่งถ้าอยากจะเปลี่ยนเป็น Search Engine อื่นก็ทำได้นะ แต่นอกจากช่องค้นหาแล้ว ด้านล่างจะแสดงแอปที่เราเปิดใช้ล่าสุด 4 แอปด้วยกัน ส่วนทางด้านขวาก็จะเป็นปุ่มที่เอาไว้แสดงแอปทั้งหมดที่เราได้ทำการติดตั้งไว้กับแอคเค้าท์ที่เราใช้อยู่

กดปุ่ม All Apps ปุ๊บ แอปต่างก็จะโผล่ขึ้นมาเต็มเลย ส่วนแอปที่ในสังกัด Google Drive อย่าง Drive, Docs, Sheets และ Slides จะรวมไปอยู่ในโฟลเดอร์เดียวกัน

ส่วนแอปอื่นๆ ถ้าเรากดเข้าไปก็จะเปิดในหน้า Chrome ของเรา หรือถ้าเป็น standalone แอป ก็จะทำการเปิดหน้าต่างใหม่ขึ้นมาเองครับ 

โดย Chrome OS นั้นจะมี file manager ที่เราสามารถเก็บไฟล์ที่เราดาวน์โหลดไว้ในเครื่องได้ และเราสามารถที่จะดูได้ด้วยว่า Chromebook ของเราเหลือพื้นมาน้อยเพียงใด และยังมีพื้นที่บน Google Drive ที่เหลืออยู่ ซิงค์มาให้ดูด้วย เพราะตัวมันเองเน้นเก็บของทุกอย่างเอาไว้บน Cloud มากกว่าบนเครื่อง เพื่อความปลอดภัย เครื่องหายไฟล์ก็ยังอยู่ เพราะเก็บเอาไว้บน Cloud นั่นเองครับ

นอกจากนี้ก็มี media player ในตัวเช่นกันครับ ซึ่งเราก็สามารถจะดูหนัง ฟังเพลง แบบออฟไลน์ได้ ไม่ต้องกลัวว่าไม่ได้ต่อเน็ตแล้วจะง่อย 

 

การใช้งานจริง

มาพูดถึงการใช้งานจริงกันบ้างดีกว่าครับ หลังจากที่ผมใช้งาน Chromebook มาเป็นเวลา 2 สัปดาห์เต็ม ผมบอกได้เลยว่า Chromebook นั้นไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน โดยเฉพาะคนที่ต้องการใช้โปรแกรมเฉพาะ หรือโปรแกรมที่กินทรัพยากรของเครื่องสูงๆ อาจจะต้องมองข้ามไป

แต่สำหรับคนที่ใช้งานหลักๆผ่านเว็บตลอดเวลาอย่างผม ก็ถือว่า Chromebook นั้นตอบโจทย์เลยครับ เพราะผมเปิดเว็บเพื่ออ่านข่าว เขียนบล็อกก็ใช้ Evernote หรือ Google Docs นอกจากนั้นก็เป็นการเปิดดูยูทูป เล่นเฟส เล่นไลน์ ซะเป็นส่วนใหญ่ สามารถหาดาวน์โหลดแอปเพิ่มเติมได้จาก Chrome Web Store ที่มีแอปให้เลือกใช้เยอะในระดับที่ตอบโจทย์การใช้งานตามบ้านและโรงเรียนได้สบาย มีเกมส์ให้เลือกเล่นก็ไม่น้อย ส่วนถ้าใครต้องการแต่งรูปก็ไปโหลดเอา Pixlr Editor มาใช้งานได้ ซึ่งหน้าตาจะคล้ายๆ Photoshop พอสมควร อาจจะไม่ได้ดีเท่า แต่ก็พอใช้งานคร่าวๆตัดแปะ ปรับแสง เติมสี ใส่ข้อความ ได้สบายๆเลยครับ

สำหรับการเปิดใช้งานหลายๆ แท็บก็มีอาการค้างให้เห็นบ้าง

แบตเตอรี่ขนาด 31.08 WH ถือว่าอึดใช้ได้เลย ตอนที่ใช้งานปกติ ไม่ได้เปิดยูทูป และปรับความสว่างตามสถานการณ์ สามารถใช้งานได้ประมาณ 5-6 ชั่วโมง แต่ว่าถ้าเปิดดูยูทูปอย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถใช้งานได้ประมาณ 3 ชั่วโมง ครับ 

 

สรุป

Chromebook ถือว่าเป็นอุปกรณ์รูปแบบใหม่ในบ้านเรา ซึ่งเน้นการใช้งานแบบที่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นหลัก แบตใช้งานได้นาน เบาพกพาสะดวก โดย True IDC Chromebook เครื่องนี้วางขายผ่าน www.itruemart.com ในราคา 8,990 บาท ครับ

ข้อดี:

  • น้ำหนักเบา พกพาสะดวก
  • เปิดเครื่องเร็วมาก 6-7 วินาที ก็ใช้งานได้แล้ว
  • แบตอึด ใช้งานทั่วไปได้ถึง 5-6 ชั่วโมง

ปัญหาที่พบ:

  • ราคาสูงไปนิด
  • มีอาการกระตุก และค้าง เมื่อเปิดหลายๆ แท็บ
  • Keyboard ยังกดไม่ค่อย smooth
  • ต้องต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อใช้งานเป็นหลัก
  • ช่องลำโพงอยู่ใต้เครื่อง อาจไปปิดเสียงได้