ปกติจะรีวิวแต่มือถือเรือธงสเปคโหดๆ ราคาแพงๆ กันซะเป็นส่วนใหญ่ วันนี้มาถึงคิวของมือถือระดับเริ่มต้นราคาสบายกระเป๋ากันอย่าง Wiko Power U20 กันบ้างดีกว่า โดยส่วนตัวผมถือรุ่นนี้ใช้งานตั้งแต่ช่วงต้นปีใหม่ ใช้ควบคู่กับเครื่องส่วนตัว เล่นโซเชียล เล่นเกม ใช้งานทั่วไปแบบจัดเต็ม ก็เลยถือโอกาสมาเขียนบทความบอกเล่าถึงประสบการณ์การใช้งานให้กับเพื่อนๆ ได้อ่านกันครับ

แกะกล่องและสัมผัสแรก | FIRST IMPRESSION

แม้ว่าค่าตัวของ Wiko Power U20 จะแสนถูกเพียงแค่ 2,999 บาท แต่ว่าของแถมภายในกล่องก็ใส่มาให้แบบไม่กั๊กจริงๆ ไล่ตั้งแต่

  • เคสใส
  • หัวชาร์จ
  • สายชาร์จ
  • หูฟัง
  • ฟิล์มกันรอย

เรียกว่าแทบไม่ต้องเสียเงินซื้ออุปกรณ์เสริมเพิ่มเลย ในกล่องมีมาให้หมดทุกอย่างแล้ว อันนี้ถือว่าดี อยากให้หลายๆ แบรนด์หันมาทำแบบนี้บ้าง เพราะบางรุ่นฟิล์มกันรอยก็หาติดยากแบบสุดๆ ไหนจะเคสอีกที่บางทีไปเดินหาซื้อแทบจะทั่วประเทศแล้วยังหาไม่เจอ ต้องซื้อออนไลน์อย่างเดียว

ตัวเครื่องของ Wiko Power U20 จะดีไซน์มาแบบมนๆ จับถือง่าย ไม่ลื่นหลุดมือ หน้าจอที่ให้มาเป็นแบบ LCD และมีติ่งหยดน้ำเล็กๆ สำหรับวางกล้องหน้า ด้วยความที่มันเป็นมือถือรุ่นเริ่มต้น ทำให้ขอบจอถือว่าค่อนข้างหนาอยู่พอสมควร โดยเฉพาะด้านล่าง แต่ในส่วนนี้ไม่ส่งผลใดๆ ต่อการใช้งานนะ เป็นแค่การออกแบบเท่านั้น

พลิกมาด้านหลัง จะเจอกับคำสกรีนตัวใหญ่ๆ ว่า “let’s POWER-UP” อันนี้ส่วนตัวมองว่าสวยดี กล้องหลังมีมาให้ 3 ตัว วางอยู่บริเวณมุมซ้ายบนของตัวเครื่อง

สัมผัสฝาหลังของ Wiko Power U20 จะเป็นแบบด้านๆ ซึ่งของดีของมันก็คือ จะทำให้มือถือรุ่นนี้เป็นรอยนิ้วมือยากแบบสุดๆ จากที่ใช้งานมาคือฝาหลังเครื่องแทบจะไม่มีคราบมันหรือรอยนิ้วมือติดเลย

Wiko Power U20 มาพร้อมกับปุ่มเรียก Google Assistant โดยเฉพาะ ซึ่งจะอยู่ด้านบนปุ่มเพิ่ม-ลดเสียง ส่วนนี้ขอตินิดนึงว่าตำแหน่งมันน่าจะย้ายไปอยู่คนละฝั่งกับปุ่ม Power นะ เพราะชอบไปกดผิดบ่อยมาก แต่คิดว่าใช้ไปซักพักก็น่าจะชินไปเอง

พอร์ตชาร์จของ Wiko Power U20 ยังให้มาเป็นแบบ microUSB ไม่ใช่ USB-C เหมือนกับมือถือส่วนมากในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม Wiko Power U20 ก็ยังไม่ตัดรูหูฟัง 3.5 มม. ออก

สเปค Wiko Power U20

  • หน้าจอ LCD ขนาด 6.8 นิ้ว ความละเอียด HD+
  • ชิปเซ็ต MediaTek Helio G35
  • RAM 3GB
  • ความจุ 32GB (ใส่ microSD Card ได้สูงสุด 256GB)
  • กล้องหลัง 3 ตัว
    • Wide: 13MP
    • Depth: 2MP
    • AI Lens
  • กล้องหน้า 5MP
  • พอร์ตชาร์จ microUSB, รูหูฟัง 3.5 มม.
  • แบตเตอรี่ 6000 mAh
  • ระบบปฏิบัติการ Android 11

ประสิทธิภาพการใช้งาน | PERFORMANCE

Wiko Power U20 ขับเคลื่อนด้วย Helio G35 ที่ทาง MediaTek เคลมว่าเป็นชิปเซ็ตสำหรับคอเกมโดยเฉพาะ และเมื่อนำไปทดสอบกับแอป Geekbench 5 จะพบว่ามือถือรุ่นนี้สามารถทำคะแนนแบบ Single-Core และ Multi-Core ได้ 151 และ 778 ตามลำดับ

และเมื่อนำไปทดสอบกับ AndroBench ทาง Wiko Power U20 ก็จะได้คะแนนตามนี้เลย ซึ่งถือว่าเป็นไปตามมาตรฐานของมือถือที่ใช้หน่วยความจำ ​eMMC 5.1 นั่นเอง

น่าเสียดายมากๆ ที่ Wiko Power U20 ไม่มีฮาร์ดแวร์ในส่วน Gryoscope มาให้ ทำให้ไม่สามารถเล่นเกมที่มันต้องโยกๆ แบบเกมแข่งรถอะไรแบบนี้ได้

ส่วนคุณภาพการทำงานของ GPS ก็อยู่ในระดับที่บวกลบไม่เกิน 4 – 5 เมตร

การใช้งานทั่วไป | GENERAL USE

หน้าตา User Interface หรือ UI ของ Wiko Power U20 ต้องบอกว่าน่าจะถูกใจสายที่ชอบ Android เพียวๆ ไม่น้อย แถมยังเป็น Android 11 มาตั้งแต่แกะกล่องอีกต่างหาก

มีให้เลือกปรับเป็นโหมดมืดหรือ Dark Mode ได้ แต่ด้วยความที่หน้าจอของ Wiko Power U20 เป็นแบบ LCD การใช้งาน Dark Mode ไม่ได้ทำให้ประหยัดแบตขึ้นเหมือนพวกมือถือที่ใช้จอ OLED นะครับ โดยประโยชน์หลักๆ ของ Dark Mode บนจอ LCD แบบนี้จะมีแค่มันช่วยทำให้เราในฐานะผู้ใช้งานสบายตาขึ้นเฉยๆ

ด้วยความที่ Wiko Power U20 นั้นมีขนาดหน้าจอค่อนข้างใหญ่ที่ 6.8 นิ้ว (อีกนิดเดียวก็เป็นแท็บเล็ตแล้ว) ทำให้การใช้งานมือเดียวเป็นอะไรที่ยากลำบากมากๆ แต่เดชะบุญที่ระบบก็ใส่ฟีเจอร์ One-Hand สำหรับใช้งานมือเดียวมาให้

การทำงานหลักๆ ของฟีเจอร์ One-Hand จะไม่มีอะไรมาก มันจะย่อหน้าจอให้เล็กลงให้พอดีกับการใช้งานมือเดียวนั่นเอง โดยสามารถเลือกปรับได้ว่าจะใช้งานมือซ้ายเป็นหลักหรือมือขวาเป็นหลัก

Wiko Power U20 มาพร้อมกับหน่วยความจำภายในเครื่องขนาด 32GB ซึ่งในส่วนนี้พอเปิดใช้งานมา ระบบก็เอาพื้นที่ไปกินแล้วเกือบๆ 8GB ทำให้เหลือพื้นที่ใช้งานจริงๆ สำหรับลงแอปหรือเก็บข้อมูลต่างๆ ประมาณ 24GB อันนี้ถือว่าเพียงพอต่อการลงแอป-เกมอยู่นะ ไม่ได้มีปัญหาอะไร (แต่ถ้ากลัวไม่พอจริงๆ เราก็สามารถซื้อ microSD Card มาใส่เพิ่มได้ โดยสามารถเพิ่มได้สูงสุดถึง 256GB เลยทีเดียว)

หน่วยความจำของ Wiko Power U20 อย่างที่รู้กันก็คือจะให้มาเป็น eMMC 5.1 กับ CPU ที่ไม่ได้แรงมาก ทำให้การเปิดแอปต่างๆ อาจจะไม่ได้ไว พูดง่ายๆ ให้เห็นภาพก็คือ เปิดแอปแต่ละทีต้องมีรอประมาณ 2 – 3 วินาทีอะ  แต่มันไม่ได้ค้างหรือกระตุกนะ แค่ต้องให้เวลามันนิดนึง

เช่นเดียวกับการเปิดแอปเบื้องหลังทิ้งไว้เยอะๆ Wiko Power U20 มี RAM มาให้ 3GB ทำให้ถ้าเปิดแอปไว้เยอะๆ มือถือจะเริ่มหน่วงขึ้นอย่างชัดเจนแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันนี้ก็แก้ปัญหาด้วยการหมั่นเคลียร์แอปบ่อยๆ นั่นเองครับ

จะแบ่งใช้งาน 2 จอก็ทำได้ โดยวิธีเปิดใช้งานก็คือกด Recent Apps > เลือกแอปที่ต้องการจะแบ่งจอ > เลือกแอปที่ต้องการจะแบ่งเป็นจอที่สอง > เท่านี้ก็เรียบร้อยแล้วครับ

น่าเสียดายที่ Wiko Power U20 ไม่มีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือใส่มาให้ ทำให้การปลดล็อคจอจะเป็นแบบใส่รหัส ใส่พินเท่านั้น จริงๆ น่าจะฝังมาให้ที่ปุ่ม Power หรือแปะไว้ด้านหลังนะ คือมันสะดวกมากพอมีเซ็นเซอร์สแกนนิ้ว พอไม่มีแล้วแบบต้องใส่รหัสทุกครั้ง แต่ก็พอเข้าใจด้วยข้อจำกัดของราคา

ดู Netflix ได้ที่ความละเอียดสูงสุดแค่ SD

Wiko Power U20 สามารถรับชมคอนเทนต์ต่างๆ บนแอปสตรีมมิ่ง (เช่น Netflix) ได้ที่ความละเอียดสูงสุด SD (Standard Definition) เท่านั้น เพราะถอดรหัส Widevide ได้เพียงแค่ L3 เท่านั้น

การเล่นเกม | GAMING PERFORMANCE

เรื่องการเล่นเกมเป็นจุดที่ผมคาดหวังกับ Wiko Power U20 น้อยที่สุด แต่พอเอาไปเล่นจริงๆ ก็ตกใจเล็กน้อย เพราะมือถือรุ่นนี้มี Game Mode ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตัวเครื่องมาให้ด้วย โดยเมื่อเอาไปเล่นเกมดังๆ ก็สามารถปรับกราฟิกได้ตามนี้ ถือว่าปรับได้เกือบสุด

คือถ้าไม่บอกว่าเป็นมือถือราคาต่ำกว่าสามพันก็ไม่เชื่ออะ เพราะเอาไปเล่น RoV, PUBG หรือ Call of Duty แบบปรับกราฟิกดูแล้วเอ้ย มันไหว อาจจะมีอาการเฟรมเรตหล่นช่วงบวกหนักๆ บ้าง แต่รวมๆ ถือว่าเอาไปเล่นเกมได้ค่อนข้างโอเคเลยล่ะ

แต่ก็ต้องขอตินิดนึงตรงที่เวลาเล่นเกมแบบแนวนอน มือมันชอบไปบังลำโพง ทำให้เสียงที่ออกมามันไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่ อันนี้ก็แก้ปัญหาได้ง่ายๆ ด้วยการใส่หูฟังนั่นแหละ ซึ่งอย่างที่บอก ในกล่องของ Wiko Power U20 มีแถมมาให้ด้วย ไม่ต้องซื้อเพิ่ม

กล้องถ่ายรูป | CAMERA

Wiko Power U20 มาพร้อมกับกล้องหลังทั้งหมด 3 ตัว ประกอบด้วยเซ็นเซอร์หลักความละเอียด 13 ล้านพิกเซล, กล้อง Depth จับความลึกความละเอียด 2 ล้านพิกเซล และตัวสุดท้ายเป็น AI Lens สำหรับช่วยประมวลผลต่างๆ ซึ่งจะตั้งอยู่ที่บริเวณมุมซ้ายบนของฝาหลัง ด้านล่างจะมีไฟแฟลชแบบ LED ให้

โดยโหมดกล้องต่างๆ ก็มีมาให้เยอะ ทั้งโหมดปกติ หน้าชัดหลังเบลอ ถ่ายวิดีโอ หรือ Night Mode ก็มีมาให้ ยิ่งไปกว่านั้นโหมด Pro สำหรับสาย Manual ปรับเองก็มีใส่มาให้เช่นกัน

ตัวอย่างภาพถ่าย

กล้องหน้า | SELFIE

มาดูกันที่กล้องหน้ากันบ้าง Wiko Power U20 มาพร้อมกับกล้องเซลฟี่ความละเอียด 5 ล้านพิกเซล มี AI Beauty มาให้ แถมยังมีลูกเล่นฟิลเตอร์น่ารักๆ มาให้เล่นอีกต่างหาก

ตัวอย่างภาพถ่าย 

แบตเตอรี่ | BATTERY

จุดเด่นของ Wiko Power U20 คงหนีไม่พ้นขนาดความจุแบตเตอรี่ที่ใส่มาให้แบบจุใจ 6000 มิลลิแอมป์ ซึ่งบอกเลยว่าตอนทดสอบเรื่องแบต เล่นเอาทีมงานท้อเลยอะ เพราะแบตมันไม่หมดซักที ไหนจะบวกกับการจัดการพลังงานที่ค่อนข้างดีของ Helio G35 อีก (แต่แลกกับประสิทธิภาพที่ลดลั่นลงไป)โอ้ย…ตาย ฮ่าๆ

โดยหลังจากที่เอา Wiko Power U20 ไปเบิร์นแบต ทั้งเปิด YouTube ดู, ไถโซเชียล, เล่นเกมบ้างนิดหน่อย รวมถึงถ่ายวิดีโอ ก็พบว่าเออเจ้านี่มันอึดใช้ได้เลยล่ะ มี Screen on Time (SoT) ถึง 3 ชั่วโมง 49 นาที ขณะที่ยังมีแบตเตอรี่เหลือใช้อยู่ 83% 😳

ซึ่งถ้าเอาไปใช้งานทั่วๆ ไป ไม่ค่อยเล่นเกมล่ะก็ บอกเลยว่ามีอยู่ได้ 2 – 3 วันแบบไม่ต้องชาร์จแบตอะ เรียกว่าใช้แบบเพลินๆ กันเลยทีเดียว

สรุปประสบการณ์การใช้งาน | VERDICT

ข้อดี  

  • จอใหญ่เต็มตา มีฟีเจอร์ One-Hand สำหรับใช้งานมือเดียว
  • ฝาหลังไม่เป็นรอยนิ้วมือง่าย
  • มีปุ่ม Google Assistant แยก เรียกใช้งานสะดวก
  • ฟีเจอร์กล้องค่อนข้างครบ
  • UI เกือบจะเป็น Pure Android คลีนๆ ไม่มี Bloatware
  • รูหูฟัง 3.5 มม.
  • ปรับกราฟิกเกมได้เยอะกว่าที่คิด เล่นลื่นๆ ไม่กระตุก
  • แบตอึดมาก
  • ของแถมในกล่องให้มาแบบจัดเต็มจริงๆ มีทุกอย่างตั้งแต่เคสยันฟิล์มกันรอย

ข้อสังเกต

  • ใช้เวลาเปิดแอปนานไปนิด
  • เปิดหลายแอปทิ้งไว้ อาการหน่วงถามหา
  • พอร์ตชาร์จน่าให้มาเป็น USB-C ได้แล้ว

โดยรวม Wiko Power U20 ถือเป็นสมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้นที่สเปคและฟีเจอร์คุ้มราคา คือจะเอาไปใช้เล่นโซเชียล ถ่ายรูปทั่วไป หรือจะเล่นเกมก็ได้ แถมแบตเตอรี่ก็แบบอึดมากๆ ชนิดที่ว่าใช้งานได้แบบเพลินๆ 2 – 3 วันไม่ต้องชาร์จเลยทีเดียว ในราคา 2,999 บาทเท่านั้น