หลังจากที่เราได้เสนอข่าวแอป Robinhood บริการส่งอาหารน้องใหม่ ที่กำลังจะเปิดให้บริการในเดือนหน้านี้ และมีคนให้ความสนใจอย่างล้นหลาม ด้วยแนวทางที่แตกต่างจากเจ้าอื่นชัดเจน ไม่คิด GP, ไม่คิดค่าสมัคร, โอนเงินให้ร้านไว วันนี้เราได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับทีมผู้พัฒนาบริการนี้แบบเจาะลึก ตอบเกือบทุกคำถามที่หลายคนสงสัยกัน

Robinhood เป็นแอปของใคร มีจุดประสงค์อะไร

Robinhood เป็นแอปภายใต้บริษัท Purple Ventures จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ SCB 10X (บริษัทลูกของทางธนาคารไทยพาณิชย์อีกที ที่แตกไลน์ออกมาลงทุนด้านเทคโนโลยี) ซึ่งตอนแรกแอปไม่ได้ทำออกมาเพื่อเป็น Food Delivery Platform โดยเฉพาะ แต่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ในทีมมีความคิดอยากจะทำอะไรสักอย่างขึ้นมาช่วยผู้ประกอบการร้านอาหาร แทนที่จะต้องใช้บริการของต่างชาติ และมีค่าธรรมเนียม (GP) ที่สูง คนในทีมเลยออกไอเดียอยากทำแอปทางเลือกนี้ขึ้นมา โดยเริ่มทำทุกอย่างใหม่เกือบหมดตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาเท่านั้น รวบรวมคนจากในบริษัทหลายส่วนมาช่วย มีทีมหลักเพียง 6 คนเท่านั้น แต่รวมที่มาช่วยกันแล้วเฉพาะทีมนักพัฒนาก็มีมากกว่า 70 คนแล้ว บางคนยังไม่เคยเจอหน้ากันเลย ได้ยินแต่เสียง หรือเห็นหน้าผ่าน Video Conference เท่านั้น เพราะต่างต้อง Work from Home ด้วยกันทั้งหมด

ไอเดียนี้ถูกขึ้นนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท SCB และต่างเห็นชอบว่าอยากให้ทำกันโดยไม่ได้ถามถึงเรื่องผลกำไร แต่ให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาของผู้ประกอบการเป็นหลัก ต้องการให้เสร็จออกมาใช้งานโดยเร็วที่สุด และถูกวางให้เป็นโครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ประเด็นด้านการสร้างผลกำไรจึงไม่ใช่จุดประสงค์หลักในการลงทุนของทาง SCB

หน้าตาแอป Robinhood ที่น่าจะได้ปล่อยมาให้ใช้งานกันช่วงเดือนกรกฎาคมนี้

งบประมาณปีละร้อยล้าน จะว่าเยอะก็เยอะ จะว่าน้อยก็น้อย

มีการเปิดเผยว่างบที่ทาง SCB ลงทุนใน Robinhood จะอยู่ที่ปีละประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบที่รวมทุกอย่างแล้วทั้งทรัพยากรมนุษย์ ระบบหลังบ้านและเครือข่าย โดยจะมีงบด้านการตลาดอยู่ที่ราว 20 ล้านบาทเท่านั้น ถ้ามองจากมุมมองผู้ใช้ตัวเลข 100 ล้านบาทต่อปี อาจจะดูเยอะ แต่ถ้าเทียบกับเจ้าตลาดในปัจจุบัน แต่ละรายมีเงินลงทุนกันระดับหลายพันล้านบาททั้งสิ้น และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงมีโปรลดแลกแจกแถมกันสะบั้นหั่นแหลกได้นั่นเอง

(เสริมจากผู้เขียน – เท่าที่ทราบมา ค่าส่งต่อครั้งที่ทางแอปต้องจ่ายให้เหล่าไรเดอร์หรือคนขับส่งอาหาร ขั้นต่ำ  คือ 40 บาท แล้วยังมีเงินที่แจกฟรีสำหรับคนสมัครใหม่อีก รวมถึงค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการและพัฒนาแอปอีกมากมาย ทำให้ต้นทุนของแอปในแต่ละปีก็ไม่น้อยเหมือนกัน)

ไม่คิดจะขึ้นที่ 1 แค่ต้องการเป็นทางเลือก

ด้วยงบการตลาดที่น้อยกว่าคู่แข่งมาก Robinhood จึงไม่ได้คาดหวังว่าจะขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง มีส่วนแบ่งที่มากกว่าคู่แข่ง โดยทางผู้บริหารกล่าวว่า “ถ้าเกิดทางผู้ให้บริการรายอื่นมีโปรค่าส่ง 10 บาท ก็เชิญไปใช้เถอะครับ ทางเราไม่แข่งด้วย คุ้มมากจริงๆ ควรไปใช้กัน” เพราะแคมเปญต่าง ๆ ของแต่ละแอปที่เห็นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นโปรส่วนลดค่าส่ง แจกเงินให้สำหรับผู้ใช้ใหม่ และอื่น ๆ จะเป็นการเอาเงินที่ไป Raise Fund จากนักลงทุนหลากหลายแห่งเอามาเผาเพื่อสร้างฐานลูกค้า เฉพาะงบในส่วนนี้ของแต่ละแอปก็มีมูลค่ากันหลักหลายร้อยล้านบาทแล้ว ซึ่ง Robinhood ไม่สามารถทำแบบนั้นได้

ถ้าเกิดทางผู้ให้บริการรายอื่นมีโปรค่าส่ง 10 บาท
ก็เชิญใช้เถอะครับ คุ้มมากจริงๆ ควรใช้แล้ว

เป้าหมายของทางทีมพัฒนา คือ ต้องการสร้างทางเลือกให้กับเหล่าผู้ประกอบการ ให้มีนอกเหนือจากรูปแบบของการเก็บค่าธรรมเนียมที่มีส่วนแบ่งค่อนข้างสูง กลายเป็นไม่เก็บไปเลย รวมถึงรีบโอนเงินให้กับร้านค้าอย่างรวดเร็ว เพราะร้านอาหารรายย่อยส่วนมากต้องการเงินหมุนที่ค่อนข้างรวดเร็ว และไม่สามารถรอกันข้ามวันได้ ซึ่งหากมีคนนิยมใช้ในระดับนึงแล้ว แทนที่แพลตฟอร์มส่งอาหารบ้านเราจะถูกควบคุมโดยแอปที่มีวิธีคิดแบบเดียวกันทั้งหมด ก็จะมีทางเลือกอื่นมาเป็นตัวคานอำนาจเอาไว้ได้อยู่นั่นเอง ปัจจุบันหลังจากเปิดตัวไป มีร้านค้าติดต่อเข้ามาเพื่อขอเข้าร่วมให้บริการมากกว่า 1,000 ร้านค้าต่อวัน

อาจจะกล่าวได้ว่าการเข้ามาของ Robinhood น่าจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแอปเจ้าตลาดอย่าง Grab Get หรือ Foodpanda แต่อย่างไร แต่ที่รับไปเต็มๆ น่าจะเป็นเหล่า Food Delivery รายย่อยเจ้าต่างๆ ซึ่งก็เห็นว่ามีการเข้าไปพูดคุยกันอยู่ ซึ่งหากหาข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันได้ และผลักดันให้ร้านค้าในชุมชนสามารถขายได้เพิ่มมากขึ้นก็น่าจะเป็นการดีไม่น้อยเช่นกัน

คนขับเป็นใคร เยอะแค่ไหน และค่าส่งเท่าไหร่

สิ่งที่หลายคนกังวลกันมากที่สุดเมื่อไม่มีการเก็บค่า GP จากร้านอาหารแล้ว ก็คือฝั่งของผู้ใช้จะต้องเป็นคนที่ออกค่าใช้จ่ายในการขนส่งเองทั้งหมด ซึ่งเมื่อดูเฉพาะค่าส่งจะสูงกว่าแอปอื่น ๆ ทันที ทางผู้บริหารของ Robinhood ก็ยอมรับถึงข้อจำกัดเรื่องนี้ แต่ก็มีการยกตัวอย่างเรื่องการชาร์จเพิ่มของร้านอาหาร จากปกติที่หากขายกัน 100 บาท ก็อาจจะต้องขึ้นไปเป็น 130 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับค่า GP ที่ถูกเรียกเก็บ เมื่อมีการสั่งจำนวนมาก การสั่งผ่าน Robinhood ก็จะประหยัดกว่า โดยเฉพาะรายการที่สูงกว่า 300 บาท รวมถึงอาจจะได้อาหารที่ปริมาณเยอะกว่าอีกด้วย ซึ่งก็จะเป็นเรื่องที่ทางแอปจะต้องพยายามแจ้งให้ผู้ใช้ได้ทราบถึงเรื่องนี้

ซื้ออาหารจาก Robinhood จะคุ้มค่ากว่าเมื่อดูที่ราคารวม
โดยเฉพาะการสั่งซื้อที่ยอด 300 บาท ขึ้นไป

นอกจากนี้ทางแอปกำลังพยายามการตกลงกับร้านอาหารขนาดใหญ่ – กลาง และเหล่า Chain Restaurant หรือเชนร้านอาหารชื่อดังที่มีสาขามากมาย ที่สนใจจะมาร่วมให้บริการ ว่าจะมีการให้ทำโปรโมชั่นพิเศษ หรือส่วนลดค่าส่ง โดยทางร้านเหล่านี้จะมีส่วนต่างจากค่า GP ที่ไม่ต้องจ่ายให้แอป (หรือมีแต่น้อยกว่าแอปอื่น) ทำให้อาจจะได้เห็นแคมเปญบางอย่างที่พิเศษกว่าในแอป Robinhood อีกด้วย

 

Robinhood ได้จับมือกับ Skootar ในการส่งอาหารแต่ยังไม่เปิดเผยตัวเลขค่าส่ง

โดยบริการขนส่งอาหารนี้ทาง Robinhood จะไม่ได้เป็นคนจัดการเอง เหตุเพราะต้นทุนการบริหาร Rider Fleet จะสูงมาก จึงมีการหาพาร์ทเนอร์มาร่วมให้บริการ โดยในช่วงแรกก็ได้บรรลุข้อตกลงกับทาง Skootar เป็นที่เรียบร้อย แต่ยังไม่ได้มีการเปิดเผยตัวเลขค่าส่งมาแต่อย่างใด บอกเพียงแค่ว่าสามารถแข่งขันกับรายอื่น ๆ ได้ และทาง Skootar เองก็มีการปรับ algorithm ของแอปเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม สามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันทาง Skootar มีไรเดอร์อยู่ในแพลตฟอร์มราว 10,000 คัน ให้บริการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น และด้วยเหตุนี้จึงเป็นข้อจำกัดการให้บริการของ Robinhood ที่จะยังไม่มีการให้บริการในต่างจังหวัด แต่ก็มีการให้ข้อมูลว่าภายในสิ้นปี น่าจะมีความพร้อมมากขึ้นและอาจจะได้เห็นขยายไปต่างจังหวัดได้เหมือนกัน

การชำระเงินทั้งหมดจะเป็น Cashless, บัตรเครดิตก็คิดค่าธรรมเนียมจิ๋วๆ

ด้วยความที่เราอยู่ในสถานการณ์โควิด เลี่ยงจับจ่ายด้วยเงินสดก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดี รวมถึงตัวแอปเองก็มาจากทางธนาคารที่ผลักดันการไม่ใช้เงินสด ทำให้ระบบการชำระเงินของ Robinhood จะไม่เปิดให้ไรเดอร์กำเงินสดไปซื้ออาหารให้ก่อนเหมือนบริการอื่น ผู้ใช้จะต้องทำการโอนเงินผ่านแอป SCB Easy หรือจ่ายผ่านบัตรเครดิตเท่านั้นในช่วงแรก โดยจะรองรับการชำระเงินด้วย QR Code เพิ่มเติมในช่วงปลายปี

ฝั่งร้านค้าที่รับชำระผ่าน SCB Easy จะไม่มีค่าธรรมเนียมเหมือนการโอนปกติ รับเงินได้เต็มๆ แต่หากร้านค้าเลือกรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิต ทางธนาคารจำเป็นต้องเก็บค่าธรรมเนียมเหมือนบริการอื่น แต่จะได้เรตที่พิเศษมาก ประมาณ 1% เท่านั้น (ปกติร้านค้าทั่วไปอาจโดนสูงถึง 4-5%) โดยมีการเปิดเผยว่าร้านอาหารหลายเจ้าต่างโอเคกับการไม่ใช้เงินสด เพราะสามารถจัดการได้ง่ายกว่า และปลอดภัยกว่าเดิมอีกด้วย

สนใจอยากจะใช้งาน – ลงทะเบียนร้านอาหารกับ Robinhood ต้องทำอย่างไร

สำหรับผู้ใช้ : รอการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการอีกครั้ง คาดว่าจะเริ่มได้ในเดือนกรกฎาคมนี้

สำหรับร้านค้า : สามารถเข้าไปลงทะเบียนแสดงความสนใจ เพื่อนำร้านของตัวเองเข้าไปสู่ระบบของ Robinhood ได้ผ่านช่องทางต่อไปนี้

  • เว็บไซต์ onboard.robinshood.in.th
  • Call Center เบอร์ 02-777-7564 เปิดให้บริการตั้งแต่ 08.30 – 20.00 น.วันจันทร์ – ศุกร์
  • สาขาของธนาคารไทยพาณิชย์ใกล้บ้าน เห็นว่าทุกสาขาทราบเรื่องอยู่แล้ว และพร้อมจะให้คำแนะนำในการเข้าร่วมเครือข่ายนี้ รวมถึงสอนใช้งาน และสอนวิธีถ่ายรูปอาหารเพื่อนำมาโพสต์ให้ดูน่าสั่งน่ากินขึ้นอีกด้วย

สำหรับบทความชิ้นนี้จะขอจบเอาไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน จะขอแยกประเด็นไม่หวังผลกำไร ที่ทางธนาคารประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้ออกไปอีกบทความ เพราะมีเรื่องที่น่าสนใจค่อนข้างมาก และจะทำให้บทความนี้ยาวเกินไป โดยจะมาไขข้อสงสัยให้ได้ทราบกันว่า มันจะเป็นไปได้อย่างไรกับการทำธุรกิจไม่หวังผลกำไร เอาเงินมาเผาเป็นร้อยล้านแล้วบอกว่าจะให้ใช้ฟรี เป็นไปได้แค่ไหน หรือที่ธนาคารทำแบบนี้ก็เพื่อหวังหาประโยชน์จากข้อมูลของร้านค้า เรามีเรื่องต้องระวังเป็นพิเศษหรือไม่ มารอติดตามอ่านกันต่อได้ครับ