เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา Samsung ประกาศความร่วมมือกับ Google พัฒนาเทคโนโลยีเสียงเชิงพื้นที่สามมิติขั้นสูง Immersive Audio Model and Formats (IAMF) ซึ่งมีจุดเด่น 3 ประการที่เหนือกว่าโซลูชันในปัจจุบัน พร้อมเคลมว่า ‘สมจริงกว่า – คุณภาพดีกว่า’ โดย IAMF รองรับกับคอนเทนต์ที่หลากหลาย ทั้งภาพยนตร์ เกม สตรีมมิง เนื้อหา VR และ AR และอื่น ๆ ครอบคลุมอุปกรณ์จำพวกเครื่องเสียงหลายชนิด รวมถึงสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต

บริษัทผู้ร่วมก่อตั้ง AOMedia

IAMF ถือเป็นมาตรฐานเทคโนโลยีเสียงแบบโอเพนซอร์สมาตรฐานแรกที่ผ่านการรับรองจาก Alliance for Open Media (AOMedia) กลุ่มอุตสาหกรรมไม่แสดงหาผลกำไรที่ก่อตั้งโดยบริษัทชั้นนำ นอกเหนือจาก Samsung และ Google แล้ว ยังมี Apple, Intel, Meta, Microsoft และบริษัทอื่น ๆ ที่เข้าร่วมด้วย (ตามภาพด้านบน)

IAMF คืออะไร พัฒนามาทำไม

Samsung เล่าว่า เทคโนโลยีเสียงสามมิติ เป็นตัวช่วยเพิ่มความดื่มด่ำ ความสมจริง และความมีชีวิตชีวาให้กับประสบการณ์ความบันเทิง ราวกับผู้รับชมกำลังอยู่ในฉากนั้น ๆ จริง ๆ แต่การนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้กับอุปกรณ์เครื่องเสียงภายในบ้านเป็นเรื่องยาก เพราะตอนนี้เครื่องเสียงไม่สามารถตีความข้อมูลเสียงสามมิติจากต้นทางได้อย่างถูกต้อง ส่งผลให้ประสบการณ์เสียงที่ได้รับมีจำกัด และขาดรายละเอียดจากต้นฉบับ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เสียงมีการบิดเบือน และส่งผ่านคุณภาพได้ไม่เต็ม 100%

ภาพอธิบายโครงสร้างสถาปัตยกรรม IAMF

ด้วยเหตุนี้ Samsung จึงได้จับมือกับ Google พัฒนา IAMF ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาข้างต้น โดยมุ่งหวังการส่งมอบเสียงสามมิติที่สมจริงยิ่งขึ้น และมีคุณภาพดีกว่าเดิม

สรุปข้อดีของ IAMF

อ้างอิงตามคำให้สัมภาษณ์ของ WooHyun Nam จากแผนก Visual Technology ในบล็อกโพสต์ของ Samsung เมื่อเดือนที่แล้ว ทาง Samsung ชูจุดเด่นของ IAMF เอาไว้ 3 ข้อ ดังนี้

1. การแสดงเสียงในแนวตั้ง

เทคโนโลยีเสียงเชิงพื้นที่สามมิติที่เป็นโอเพนซอร์สในปัจจุบัน ยังรองรับเฉพาะการแสดงเสียงในระนาบแนวนอนเท่านั้น คือ ซ้าย-ขวา หน้า-หลัง แต่ IAMF จะรองรับความสามารถในการแสดงเสียงในระนาบแนวตั้งเพิ่มเติม คือ บน-ล่าง ดังนั้นมิติเสียงที่ได้จึงมีความสมจริงครบถ้วนมากกว่า

2. การวิเคราะห์ฉากโดยใช้ AI

IAMF มีการนำ AI และการเรียนรู้เชิงลึกในการวิเคราะห์ฉากเพื่อเน้นการแสดงเสียงบางแง่มุมของคอนเทนต์ ยกตัวอย่างเช่น บางฉากเน้นที่ดนตรีประกอบ หรือบางฉากเน้นที่เสียงสนทนาของตัวละคร ซึ่ง IAMF จะคอยปรับสมดุลและความดังของเสียงเหล่านั้นให้สอดคล้องกันโดยอัตโนมัติ ทำให้ผู้รับชมสามารถโฟกัสกับเสียงต่าง ๆ ที่เป็นจุดเด่นในแต่ละฉากได้โดยไม่ต้องคอยปรับระดับเสียงด้วยตนเอง

นอกจากนี้ IAMF ยังมีความสามารถในการวิเคราะห์เพื่อปรับแต่งเสียงให้เหมาะสมตามสภาพเสียงแวดล้อมของอุปกรณ์ หรือตามไดนามิกของห้องที่กำลังรับชมคอนเทนต์อีกด้วย

3. คุณสมบัติการปรับแต่งเสียง

IAMF มีความสามารถตีความข้อมูลเสียงสามมิติจากต้นทาง และอนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถปรับแต่งเสียงได้อย่างอิสระและยืดหยุ่น อย่างเช่นกรณีการดูถ่ายทอดสดกีฬา ซึ่งจะมี ‘เสียงในสนาม’ และ ‘เสียงผู้บรรยาย’ เป็นสองเสียงหลัก กรณีนี้ผู้ใช้งานจะสามารถเลือกเองได้ว่าต้องการให้เสียงใดมีความโดดเด่นมากกว่า อะไรทำนองนี้เป็นต้น

IAMF มาตอนไหน ใครได้ใช้บ้าง

ความตั้งใจของ Samsung คงเป็นการผลักดันการใช้งาน IAMF ควบคู่ไปกับ HDR10+ ของตน เพื่อแข่งขันกับ Dolby Atmos และ Dolby Vision ในอนาคต

คาดว่า Samsung จะมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับ IAMF ภายในงาน CES ช่วงต้นปีหน้า ส่วนอุปกรณ์กลุ่มแรกที่มีแนวโน้มจะรองรับ IAMF คือ ทีวี ซาวด์บาร์ หูฟัง และสมาร์ทโฟน เนื่องจากเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์หลักของ Samsung แต่กับผู้ผลิตรายอื่น ๆ ยังต้องติดตามดูท่าทีและความเคลื่อนไหวกันต่อไป

ที่มา : Samsung | AOMedia