ซัมซุงประกาศประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยี All Lenses on Prism หรือ ALoP เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพกล้องเทเลโฟโตบนมือถือ หลักคิดคือ การปรับโครงสร้างโมดูลกล้องใหม่ จากเดิม ‘ปริซึม → ชุดเลนส์แนวตั้ง → เซนเซอร์แนวตั้ง กลายเป็น ‘ชุดเลนส์แนวนอน → ปริซึม → เซนเซอร์แนวตั้ง’ แทน

โครงสร้างกล้องเทเลโฟโตแบบปริทรรศน์ (periscope) ในปัจจุบัน ทำงานโดยอาศัยปริซึมสะท้อนแสงเข้าสู่ชุดเลนส์ที่ถูกจัดวางในมุม 90 องศา ตั้งฉากกับระนาบเครื่องในลักษณะตัว L ซึ่งทำให้ได้ความยาวโฟกัสเพิ่มขึ้น ซูมได้ไกลขึ้น

แต่โครงสร้างลักษณะนี้พัฒนาต่อได้ยาก เพราะหากเลนส์และเซนเซอร์มีขนาดใหญ่ขึ้นเท่าไหร่ ตัวเครื่องก็จะหนาขึ้นตามเท่านั้น รวมถึงความยาวของโมดูลเองก็ต้องขยายเพิ่ม เพื่อให้ได้ระยะโฟกัสที่ถูกต้องจากระยะห่างระหว่างท้ายเลนส์กับหน้าเซนเซอร์ที่สัมพันธ์กัน เรียกว่า ‘ระยะรีจิสเตอร์’

ซ้าย : กล้อง periscope / ขวา : กล้อง ALoP

ส่วนโครงสร้างแบบ ALoP ทางซัมซุงปรับสูตรการออกแบบใหม่ ย้ายชุดเลนส์มาอยู่เหนือปริซึมที่ตำแหน่งหน้าสุดของโมดูล และจัดวางในแนวนอน 180 องศา ขนานไปกับตัวเครื่อง ทำให้สามารถติดตั้งชิ้นเลนส์ขนาดใหญ่ที่มีรูรับแสงกว้าง ๆ ลงไปได้ โดยไม่ติดอุปสรรคเรื่องความหนาแล้ว

นอกจากนี้ ปริซึมและเซนเซอร์แบบ ALoP ก็ไม่ได้ตั้งฉากกับตัวเครื่องอีกต่อไป แต่ถูกจัดวางให้เอียงเล็กน้อย ที่ 40 องศา และ 10 องศาตามลำดับ ตรงจุดนี้ก็ช่วยให้สามารถขยายขนาดเซนเซอร์เพิ่มได้เช่นกัน หรือหากใช้เซนเซอร์ขนาดเดิม ความหนาก็จะลดลงเมื่อเทียบกับโมดูลปริทรรศน์แบบเก่า

สำหรับเซนเซอร์ ISOCELL รุ่นต้นแบบที่ออกแบบโดยเทคโนโลยี ALoP จะมีความยาวโฟกัส 80 มม. รูรับแสง 𝑓/2.58 โมดูลสั้นลง 22% และบางลง แต่รายละเอียดส่วนหลัง ซัมซุงไม่ได้เปิดเผยตัวเลขที่ชัดเจน และยังไม่มีข้อมูลว่าจะนำไปใช้กับมือถือรุ่นใดเป็นรุ่นแรก

โมดูลกล้องโดยรวมมีขนาดเล็กลง บางลง จากเทคโนโลยี ALoP

ที่มา : Samsung