Counterpoint จัดงาน Global Mobile Camera Trends 2022: Innovation Talk พูดคุยเกี่ยวกับภาพรวมและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีกล้องมือถือในปีนี้ พร้อมหารือถึงแนวโน้มการพัฒนาในปีหน้าและปีถัด ๆ ไป มีทั้งคนจาก DXOMARK, Samsung และ TECNO เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งฝ่ายหลังสุดมีการนำเสนอที่น่าสนใจ ถึงกับออกปากว่า ตอนนี้มีนวัตกรรมเจ๋ง ๆ ในมือแล้ว เช่น เซนเซอร์ RGBW และระบบกันสั่น Sensor Shift โดยอาจได้เห็นใส่มาในสมาร์ทโฟน TENCO ในปี 2565 เลย

เซนเซอร์ RGWB ไวแสงมากกว่าเดิม 60%

TECNO กล่าวว่า เซนเซอร์ RGBW ที่บริษัทฯ พัฒนาขึ้นมาเองมีความก้าวหน้าไปไกลมากแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอัลกอริทึมเรนเดอร์พิกเซลย่อยแบบพิเศษ ช่วยให้เซนเซอร์ CMOS ไวแสงมากกว่าเดิม 60% นอกจากนี้ยังเพิ่มการรับแสงได้อีก 30% ด้วยเทคโนโลยี G+P หรือการใช้ชิ้นเลนส์จากแก้วเข้ามาแทนพลาสติกในบางส่วน ทำให้ประสิทธิภาพการรับแสงโดยรวมขยับขึ้นเป็น 200%

ทั้งนี้ TECNO ถือเป็นผู้ผลิตมือถือรายที่ 3 ที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับเซนเซอร์ RGBW ต่อจาก vivo เมื่อปลายปีก่อนและ OPPO เมื่อกลางปีนี้ ซึ่งทั้ง 3 รายเคลมตัวเลขความไวแสงเพิ่มขึ้น 60% เท่ากันเป๊ะ แต่ยังไม่มีเจ้าไหนที่นำออกมาใช้งานกับผลิตภัณฑ์จริง ส่วน Samsung เคยมีข่าวอย่างหนักกับเทคโนโลยีนี้เหมือนกัน แต่สุดท้ายเงียบหายไปเสียเฉย ๆ

ยกระดับการส่งผ่านแสงด้วยเลนส์จากแก้วแท้ ๆ

การนำเลนส์แก้วมาใช้มีข้อได้เปรียบจากความใสของเนื้อวัสดุ ส่งผลในทางบวกต่อการส่งผ่านแสงและความคมชัดของภาพ รวมถึงช่วยลดอาการฟุ้งแสงด้วย แต่เนื่องจากผลิตได้ยากและมีต้นทุนสูงจึงอาจยังเป็นเรื่องที่ดูแปลกใหม่ในอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟน เท่าที่เห็นผ่านตายังมีแค่ไม่กี่รุ่น เช่น Xperia PRO-I ของ Sony กับ X70 Pro+ ของ vivo รุ่นอื่น ๆ ที่เหลือในตลาดแทบทั้งหมดใช้เป็นกระจกแค่ชั้นนอกสุด แต่เลนส์ของโมดูลด้านในเป็นพลาสติก

ส่วนนี้น่าจับตามองไม่เบา เพราะดูแล้วยังเป็นจุดที่ไปต่อได้อยู่ ไม่ใช่กับแค่ TECNO เพียงแต่ฝั่งผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอาจต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าของคุณภาพกล้องที่ได้มาต่อต้นทุนที่ต้องจ่ายมากขึ้น

เลนส์ซูมแบบยืดหดได้ รูรับแสงกว้าง กล้องไม่ค่อยนูน

TECNO ยังบอกอีกด้วยว่า ตอนนี้มีกล้องเทเลโฟโตยืดหดได้ที่ใช้เทคโนโลยีโฟกัสแบบ Back Focal Length (BFL) ที่พัฒนาจนเอามาใส่ในมือถือต้นแบบได้แล้ว แบบเดียวกับที่ Xiaomi เคยเอามาโชว์ให้ดู การออกแบบลักษณะนี้ทำให้เวลากล้องไม่ถูกเรียกใช้งานจะไม่ยืดยาวออกมาจากตัวเครื่องให้เกะกะ อีกทั้งยังสามารถใส่เลนส์รูรับแสงกว้างเข้าไปได้ด้วย

ระบบกันสั่นบนเซนเซอร์อาจมาสู่ Android เร็ว ๆ นี้

ระบบกันสั่น Sensor Shift แตกต่างจาก OIS ตรงที่อาศัยการขยับของเซนเซอร์ภาพทั้งชิ้นแทนการขยับเฉพาะตัวเลนส์ ในทางเทคนิคแล้วเทคโนโลยีนี้จะกันสั่นได้หลายสเตปมากกว่าเนื่องจากข้อได้เปรียบเรื่องพื้นที่ในการขยับของฮาร์ดแวร์ ตามที่เราได้เห็นกันไปแล้วใน iPhone 12 Pro Max และ iPhone 13 ทุกรุ่นในซีรีส์ ซึ่ง TECNO มีแนวโน้มเป็นเจ้าแรก ๆ สำหรับฝั่ง Android ที่นำมาใช้งานในปีหน้าถ้าพัฒนาอัลกอริทึมควบคุมความแม่นยำการทำงานเสร็จทันเวลา

ปูทางสู่กล้อง 576MP ถ่ายวิดีโอ 8K ซูมแล้วภาพไม่แตก

นอกเหนือจากทั้งหมดที่กล่าวมา ยังมีประเด็นเกี่ยวกับความพยายามในการอัดความละเอียดสูง ๆ ลงบนเซนเซอร์ที่มีพื้นที่จำกัดจำเขี่ย โดยมีตัวตั้งตัวตีคือ Samsung ซึ่งยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีสัญชาติเกาหลีรายนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในช่วงหลัง ว่าโฟกัสไปที่เรื่องนี้ เช่น การเปิดตัว ISOCELL HP1 ที่มีขนาดพิกเซล 0.64μm บนความละเอียด 200MP รีดตัวเซนเซอร์ออกมาได้บางเฉียบโดยไม่สูญเสียคุณภาพ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี ISOCELL 2.0 เปลี่ยนวัสดุผนังกั้นแสงในแต่ละพิกเซลใหม่ ทำให้มีสีสันเที่ยงตรงกว่าเดิมและไวแสงมากขึ้น

เป้าหมายต่อไปของ Samsung คือ กล้องความละเอียด 576MP เทียบเคียงดวงตามนุษย์ ถ่ายวิดีโอ 8K ซูมแบบดิจิทัลแล้วภาพไม่แตก แต่กว่าจะได้เห็นคงต้องรอถึงปี 2568 เพราะปัจจุบันยังติดข้อจำกัดด้านขนาดที่กินพื้นที่ราว 12% ของตัวเครื่องหากนำมาใส่ในมือถือ แถมยังหนาเกิน 2 ซม.อีกต่างหาก

 

ที่มา : Counterpoint