Samsung Advanced Institute of Technology (SAIT) จับมือ Mark Brongersma วิศวกรจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประกาศความสำเร็จในการร่วมกันพัฒนาหน้าจอ OLED ที่มีความหนาแน่นสูงถึง 10,000 พิกเซลต่อนิ้ว (PPI) ถือเป็นความหนาแน่นที่สูงที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา โดยการนำเทคโนโลยีจากการผลิตแผงโซลาร์เซลล์แบบบางเฉียบมาใช้
หน้าจอ OLED ดังกล่าว ใช้ฟิล์มเป็นแหล่งกำเนิดแสงสีขาว ขนาบข้างด้วยเลเยอร์ 2 ฝั่ง ทั้งหน้าและหลัง โดยชั้นหนึ่งทำมาจากเงิน ในขณะที่อีกชั้นหนึ่งทำมาจากโลหะที่มีพื้นผิวเป็นลักษณะลูกฟูกขนาดเล็กในระดับนาโน มีคุณสมบัติในการเปลี่ยนแสงที่มาตกกระทบแล้วสะท้อนกลับไปเฉพาะแสงสีที่ต้องการได้ ด้วยเทคนิคนี้ส่งผลให้หน้าจอมีความหนาแน่นของพิกเซลสูงขึ้น โดยยังคงรักษาระดับความสว่างเอาไว้ได้อีกด้วย
Pixels per inch (PPI) เป็นหน่วยที่บ่งบอกถึงความหนาแน่นของจุดพิกเซลบนหน้าจอแสดงผลต่อความยาว 1 นิ้ว ตัวเลขยิ่งสูงเท่าไหร่ก็จะยิ่งแสดงผลได้คมชัดมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งความคมชัดจะสัมพันธ์กับระยะห่างระหว่างดวงตากับจอภาพด้วย
ปัจจุบันนี้ จอภาพที่อยู่บนอุปกรณ์จำพวก ทีวี มอนิเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ ต่างก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรในเรื่องความหนาแน่นของพิกเซล เพราะสามารถทำความคมชัดได้สูงมากพอ จนการมองในระยะปรกติแล้วไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างได้
ภาพตัวอย่างเปรียบเทียบความหนาแน่นของพิกเซลต่อความยาว 1 นิ้ว
อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์จำพวกแว่น VR นั้นเป็นข้อยกเว้น เพราะอุปกรณ์ชนิดนี้มีจอภาพที่ใกล้ดวงตาในระยะหลักเซนติเมตร จึงทำให้สามารถมองเห็นระยะห่างระหว่างพิกเซลแต่ละจุดได้ชัดเจน (ลักษณะแบบนี้มีชื่อเรียกว่า Screen Door Effect เนื่องจากมันให้ความรู้สึกเหมือนการมองผ่านมุ้งลวด ที่จะเห็นภาพเป็นตารางถี่ ๆ) ส่งผลให้ภาพดูเบลอ ไม่คมชัด ไม่สมจริง และอาจรำคาญสายตา ดังนั้น หากหน้าจอ OLED ที่มีระดับความหนาแน่นพิกเซลสูงขนาดนี้ถูกพัฒนาจนสามารถนำมาใช้ได้จริงและผลิตออกสู่ตลาดได้ อาจเป็นการพัฒนาและยกระดับวงการ VR และ AR ไปอีกขั้นได้เลยทีเดียว
ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่ต้องคิดต่อไปอาจเป็นเรื่องประสิทธิภาพในการประมวลผลของฮาร์ดแวร์ เนื่องจากจำนวนพิกเซลที่มากขนาดนี้ ส่งผลให้ต้องการพลังในการประมวลผลสูงตามไปโดยปริยาย ซึ่งเรื่องนี้เราก็ต้องติดตามดูกันต่อไปในอนาคตว่า เจ้าเทคโนโลยี OLED สุดล้ำนี้จะนำไปใช้งานจริงได้อย่างไรและตอนไหนครับ
ที่มา : Stanford University
ทำไมผมรู้สึกว่าข้อมูลข่าวนี้มันดูแปลก ๆ
10,000 พิกเซลต่อตารางนิ้ว แปลว่าเท่ากับ 100 x 100 พิกเซล บนพื้นที่ 1 ตารางนิ้ว นั่นคือ บนความยาว 1 นิ้ว มีแค่ 100 พิกเซล
แต่ทุกวันนี้ samsung s20 จอละเอียด 511 PPI นั่นคือ บนความยาว 1 นิ้ว มี 511 จุด
ดังนั้นผมคิดว่า ข่าวนี้ที่ถูกต้องคือ 10000 จุดต่อความยาว 1 นิ้วมากกว่า
ใช่ครับ ต้องเป็นต่อนิ้ว ไม่ใช่ต่อตารางนิ้วครับ ช่างสังเกตดีจริงๆ 55
เป็นความสับสนของผมเอง ทำการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ขอบคุณที่แจ้งเข้ามาครับ
ตัวหนาย่อหน้าแรกบรรทัดที่ 5 ด้านบนก็ยังผิดอยู่จ้า แก้อีกรอบนาาา
ยังคงวนๆอยู่กับ VR ทั้งที่ตลาดนี้เล็กมาก เรียกได้ว่า 4 ปีมานี้ถ้าพูดในแง่การใช้งานจริง
อุปกรณ์พกพาไม่ได้มีพัฒนาการเปลี่ยนประสบการณ์การใช้งานแบบก้าวกระโดดอะไรอีกแล้ว
อุปกรณ์พกพา เพื่อการใช้งานในชีวิตปกติ หน้าจอความละเอียดแค่ 300 PPI ขึ้นมา นี่ก็คือตามนุษย์แยกความต่างไม่ออกแล้ว