เริ่มแล้ว ช้อปดีมีคืน 2566 (ระยะโครงการวันที่ 1 ม.ค. 66 – 15 ก.พ. 66) มาตรการพยุงเศรษฐกิจ ที่ประชาชน ผู้เสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคลธรรมดา จะได้ใช้สิทธินำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงการเติมน้ำมัน เพื่อไปลดหย่อนภาษีเงินได้ ปี 2566 ที่จะยื่นในช่วง ม.ค.-มี.ค. 2567 ซึ่งลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงสูงสุด 40,000 บาท
มาตรการช้อปดีมีคืน 2566 มีเงื่อนไข ดังนี้
1.ซื้อสินค้า หรือบริการ ในช่วงวันที่ 1 ม.ค. 66 – 15 ก.พ. 66
2.ต้องซื้อสินค้าหรือใช้บริการจากร้านที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มีใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ได้ทั้งแบบกระดาษและอิเล็กทรอนิกส์ ยกเว้นการซื้อสินค้า OTOP และหนังสือหรือ E-book ให้ใช้ใบเสร็จรับเงินได้
3.สินค้าและบริการที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ต้องเป็นสินค้าและบริการที่เสียภาษี VAT หากได้รับการยกเว้นภาษี VAT จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนได้
สินค้าที่ร่วมรายการช้อปดีมีคืน
-สินค้า-บริการทั่วไปที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
-หนังสือ (รวมถึง e-book)
-สินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชน
-ค่าน้ำมันทั้งรถยนต์ และรถจักรยานยนต์
โดยในปีนี้ เป็นปีแรกที่ค่าน้ำมันทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ โดยจะต้องมาจากสถานบริการน้ำมัน ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีได้
สินค้าที่ไม่ร่วมรายการช้อปดีมีคืน
– ค่าซื้อสุรา
– ยาสูบ
– รถยนต์
– หนังสือพิมพ์และนิตยสาร
– ค่าบริการจัดนำเที่ยว
– ค่าที่พักในโรงแรม
– ค่าสาธารณูปโภค
-ค่าบริการสัญญาณ
– ค่าบริการอินเทอร์เน็ต
– ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
– ทองคำแท่ง
– ค่ารักษาพยาบาล
– ค่าทำศัลยกรรม
– ผักผลไม้สด
– เนื้อสัตว์สด
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่นำไปลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงสูงสุด 40,000 บาท นั้น ได้แบ่งเป็น 2 ก้อน ดังนี้
- 30,000 บาท แรก (ใช้ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ/ใบเสร็จ ได้ทั้งรูปแบบกระดาษ หรือรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร)
- อีก 10,000 บาท (ใช้ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ/ใบเสร็จ รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากรเท่านั้น)
เช่น หากซื้อสมาร์ทโฟนราคา 40,000 บาท โดยใช้ใบกำกับภาษีแบบกระดาษ จะใช้ได้เพียง 30,000 บาท เท่านั้น หากอยากใช้สิทธิเต็มวงเงินครบ 40,000 บาท จะต้องซื้อและใช้ใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์
ช้อปดีมีคืน 2565 คืนภาษีสูงสุดเท่าไร?
ไม่ใช่ว่าช้อป 40,000 บาท แล้วจะได้เงินคืน 40,000 บาทนะ โดยการคืนเงินจะเป็นการคืนตามอัตราภาษี ดังนี้
- เงินได้สุทธิต่อปี 0-150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี (ไม่ได้สิทธิคืนภาษี)
- เงินได้สุทธิต่อปี 150,001-300,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 5% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 2,000 บาท)
- เงินได้สุทธิต่อปี 300,001-500,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 10% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 4,000 บาท)
- เงินได้สุทธิต่อปี 500,001-750,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 15% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 6,000 บาท)
- เงินได้สุทธิต่อปี 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 20% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 8,000 บาท)
- เงินได้สุทธิต่อปี 1,000,001-2,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 25% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 10,000 บาท)
- เงินได้สุทธิต่อปี 2,000,001-5,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 30% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 12,000 บาท)
- เงินได้สุทธิต่อปี 5,000,001 บาทขึ้นไป อัตราภาษีเงินได้ 35% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 14,000 บาท)
ยกตัวอย่าง หากมีเงินได้สุทธิ 400,000 บาท ฐานภาษีอยู่ที่ 10% หากใช้จ่ายช้อปดีมีคืน 2566 เต็มวงเงิน 40,000 บาท จะหักลดหย่อนภาษีได้ 4,000 บาท
หรือหากใครไม่รู้ ว่าปีนี้ เราต้องเสียภาษีขั้นไหนเสียเท่าไร ก็ลองไปคำนวณภาษีออนไลน์ เพื่อได้ทราบจำนวนคร่าวๆ ก่อน ซึ่งเราได้แนะนำไว้ทั้งหมด 9 ช่องทาง ตามแต่สะดวกกันเลย
รวม 9 โปรแกรมคำนวณภาษีออนไลน์ ช่วยคิดลดหย่อนภาษี มีทั้งแบบเว็บและแอปพลิเคชัน
ใบกำกับภาษีรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) คืออะไร?
ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และ ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) คือ การจัดทำข้อมูลใบกำกับภาษี ให้อยู่ในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เป็นไฟล์ Microsoft Word, Excel หรือ PDF ที่มีการลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) หรือประทับรับรองเวลา (Time Stamp) ผ่านระบบ e-Tax Invoice by Email ก่อนส่งมอบให้ผู้ซื้อสินค้าและบริการ เพื่อเป็นหลักฐานในการขายสินค้าและการให้บริการทุกครั้ง เมื่อมีการชำระเงิน โดยเอกสารที่ส่งนั้นจะต้องไม่ใช่ไฟล์รูปภาพ ห้ามใช้การถ่ายภาพหรือแปลงมาจากเอกสารแบบกระดาษ
สามารถดูรายชื่อผู้ประกอบการที่จัดทำใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร https://bit.ly/3GeYX9x
Comment