ช่วงนี้ กระแสโซลาร์เซลล์บ้านเราก็ยังมีมาเรื่อยๆ อาจจะไม่ได้เปรี้ยงปร้างเท่าช่วงแรกๆ ที่เข้ามา เพราะแต่ละบ้าน เหมือนยังชั่งใจอยู่ ว่าติดแล้วจะคุ้มไหม กับราคาที่ต้องจ่าย จะคืนทุนเมื่อไหร่ หรือติดแบบไหนดี วันนี้ เราจะมาเพิ่มทางเลือกการตัดสินใจให้อีกอย่าง กับการเลือกติดแบบเต็มระบบแบรนด์เดียว หรือติดแบบผสม มีจุดเด่นจุดด้อย หรือแบบไหนเหมาะกับใครมากกว่า มาเป็นทางเลือกในการตัดสินใจ

ระบบโซลาร์เซลล์แบบแบ่งตามการทำงาน

โดยทั่วไป ลำดับแรกในการตัดสินใจติดโซลาร์เซลล์ นอกจากงบประมาณ คือการเลือกว่าจะติดระบบโซลาร์เซลล์ตามการทำงานแบบไหน ซึ่งแบ่งเป็น 3 แบบ ได้แก่
- ระบบออนกริด (On-grid) ไม่มีแบตเตอรี่สำรองไฟ สามารถขายไฟส่วนเกินให้การไฟฟ้าได้
- ระบบออฟกริด (Off-grid) มีแบตเตอรี่สำรองไฟ ใช้ตอนกลางคืนและไฟดับได้
- ระบบไฮบริด (Hybrid) เป็นระบบผสมออนกริดและออฟกริด มีแบตเตอรี่สำรองไฟ ดึงมาใช้ได้เฉพาะตอนฉุกเฉิน เช่น ไฟดับ ระบบซับซ้อน และค่าใช้จ่ายสูงสุด
พอตัดสินใจได้แล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การเลือกระบบจากแหล่งผลิตอุปกรณ์ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ
- ระบบโซลาร์เซลล์แบรนด์เดียว
- ระบบโซลาร์เซลล์ผสมแบรนด์
ค่อยเป็นการเลือกแบรนด์ที่จะใช้ตามมา แต่ก่อนที่เราจะไปพูดถึง ระบบโซลาร์เซลล์แบรนด์เดียว และระบบโซลาร์เซลล์ผสมแบรนด์ เรามาดูส่วนของอุปกรณ์ ที่แปลงแสงแดดเป็นพลังงานไฟฟ้ากันก่อน
ส่วนประกอบหลัก อุปกรณ์ของระบบโซลาร์เซลล์

ซึ่งจะประกอบไปด้วย 3 ส่วนประกอบหลักๆ คือ
- แผงโซลาร์เซลล์ (Solar Panel)
- หน้าที่: เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง (DC)
- อินเวอร์เตอร์ (Inverter)
- หน้าที่: แปลงไฟฟ้ากระแสตรง (DC) จากแผงให้เป็นกระแสสลับ (AC) สำหรับใช้งานในบ้าน
- แบตเตอรี่ (Battery) (เฉพาะระบบ Off-grid หรือ Hybrid)
- หน้าที่: เก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้ตอนกลางคืนหรือไฟดับ
บอกจากนี้ ยังมีส่วนประกอบเสริมอื่นเพิ่มเติมอีก ยกตัวอย่างเช่น
- ระบบควบคุมการชาร์จ (Charge Controller)
- หน้าที่: ควบคุมแรงดันไฟฟ้าที่เข้าสู่แบตเตอรี่ เพื่อป้องกันการชาร์จเกินหรือจ่ายไฟเกิน
- Surge Protector (อุปกรณ์ป้องกันไฟกระชาก)
- หน้าที่: ป้องกันความเสียหายจากไฟกระชาก เช่นฟ้าผ่า
- มิเตอร์วัดพลังงาน (Energy Meter / Net Meter)
- หน้าที่: ใช้วัดพลังงานที่ผลิตได้ หรือไฟที่ขายคืนให้การไฟฟ้า (กรณีระบบออนกริด)
แล้วยังมีส่วนประกอบเสริมอื่นๆ อีกหลายตัว ตามแต่ผู้ใช้งานต้องการที่จะเสริมเข้าไป เมื่อเรารู้แล้วว่าระบบหลักๆ ที่จำเป็น คือ แผงโซลาร์เซลล์, อินเวอร์เตอร์ และแบตเตอรี่ แล้วเลือกได้ว่าจะติดแบบระบบการใช้งานแบบไหน
ก็มาถึงการที่เราจะไปดูว่า เราจะเลือกซื้อจากแบรนด์เดียวเต็มระบบ หรือเลือกสเปคตามที่ชอบแบบผสมแบรนด์ แล้วแต่ละแบบมีจุดเด่นจุดด้อยยังไง ไปดูกัน
ระบบโซลาร์เซลล์แบบแบ่งตามแหล่งผลิต
- ระบบโซลาร์เซลล์แบรนด์เดียว
- ระบบโซลาร์เซลล์ผสมแบรนด์
ถ้าจะให้นึกภาพตามง่ายๆ ก็คงเป็นเหมือนคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป กับคอมพิวเตอร์แบบประกอบเอง

ระบบโซลาร์เซลล์แบรนด์เดียว คืออะไร?
ระบบโซลาร์เซลล์แบรนด์เดียว (Branded Solar System) คือ การใช้อุปกรณ์จากแบรนด์เดียวทั้งชุด เช่น แผงโซลาร์ อินเวอร์เตอร์ แบตเตอรี่ ตลอดจนบริการติดตั้ง รับประกัน บริการหลังการขาย มักถูกออกแบบมาเป็นชุดพร้อมใช้งาน มีมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ
ข้อดีของระบบแบรนด์เดียว
- อุปกรณ์ถูกออกแบบให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการทดสอบจากโรงงาน
- มั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัย และความเข้ากันของระบบ
- ติดตั้งง่าย จบในเจ้าเดียว ไม่ต้องประสานหลายฝ่าย
- การอัปเดตเฟิร์มแวร์หรือแก้ไขระบบ ทำได้ง่าย เพราะจะรองรับไปในทิศทางเดียวกัน
- รับประกันทั้งระบบ สบายใจเมื่อเกิดปัญหา ติดต่อเจ้าเดียวจบ
- เหมาะกับผู้ไม่มีความรู้ด้านเทคนิค ต้องการความสะดวก ไม่อยากเลือกอุปกรณ์แยกเอง
ข้อด้อย
- ราคาโดยรวมมักจะสูงกว่าระบบผสมแบรนด์ เพราะรวมค่าออกแบบ-ติดตั้ง-รับประกันครบวงจร
- ความยืดหยุ่นน้อย เปลี่ยนสเปคไม่ได้มาก
- ถ้ามีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ อาจได้ประสิทธิภาพที่ไม่สูงสุดเท่าที่ต้องการ
ระบบโซลาร์เซลล์ผสมแบรนด์ คืออะไร?
ระบบผสมแบรนด์ (Assembled Solar System) คือการเลือกใช้อุปกรณ์จากหลายแบรนด์ เช่น แผงจากแบรนด์ A อินเวอร์เตอร์จากแบรนด์ B แบตเตอรี่จากแบรนด์ C เพื่อให้ได้สเปคตรงกับความต้องการ หรือควบคุมงบประมาณ
ข้อดีของระบบผสมแบรนด์
- ปรับแต่งได้ตามงบและสเปคที่ต้องการ
- เลือกอุปกรณ์ได้อิสระ หลากหลาย มีความยืดหยุ่นสูง
- อัปเกรดเฉพาะบางส่วนได้ในอนาคต
ข้อด้อย
- อุปกรณ์อาจไม่เข้ากัน 100%
- การรับประกันแยกตามแบรนด์ หากมีปัญหาต้องติดต่อหลายเจ้า
- ต้องอาศัยช่างที่มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบและติดตั้งระบบผสม
- การอัปเดตเฟิร์มแวร์หรือแก้ไขระบบอาจทำได้ยากกว่า เพราะชิ้นส่วนมาจากหลายแบรนด์
เปรียบเทียบชัดๆ แบบหมัดต่อหมัด แบรนด์เดียว vs ผสม
ระบบแบรนด์เดียว | ระบบผสมแบรนด์ | |
ความเข้ากันของอุปกรณ์ | ดีเยี่ยม ทดสอบจากโรงงานมาแล้ว | ต้องดูรายรุ่น ขึ้นอยู่กับการออกแบบระบบ |
ความยืดหยุ่นในการเลือก | จำกัด เลือกได้ตามแพ็กเกจของแบรนด์ | ปรับแต่งได้ตามงบ และฟังก์ชันที่ต้องการ |
การรับประกันและบริการ | เจ้าเดียวจบ เคลมง่าย สบายใจ | แยกตามแบรนด์ อาจยุ่งยากหากมีปัญหา |
ราคาโดยรวม | สูงกว่า แต่รวมบริการครบจบในที่เดียว | ประหยัดกว่า (ถ้าเลือกอุปกรณ์ได้ดี) |
เหมาะกับใคร | คนไม่อยากยุ่งเรื่องเทคนิค ต้องการความมั่นใจ | คนชอบปรับแต่ง มีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจระบบระดับหนึ่ง |
ยกตัวอย่างแบรนด์ยอดนิยม
- ระบบแบรนด์เดียว: EnergyLIB, Tesla ฯลฯ
- ระบบผสมแบรนด์: Huawei, Deye, Growatt, Atmoce ฯลฯ
เทคนิคเพิ่มเติม เรื่อง “ความเข้ากันของอุปกรณ์” ที่ไม่ควรมองข้าม

แม้จะดูเหมือนง่าย แต่การประกอบอุปกรณ์ต่างแบรนด์ให้เข้ากันได้ ต้องอาศัยความรู้ด้านไฟฟ้าและโปรโตคอลการสื่อสารกันผ่านระบบไฟฟ้าและซอฟต์แวร์ เช่น
- แผงโซลาร์ต้องส่งแรงดัน (Voltage) ที่เหมาะสมกับอินเวอร์เตอร์ มิฉะนั้นระบบอาจตัดการทำงาน
- แบตเตอรี่บางรุ่นอาจมีการจัดการพลังงาน ที่ไม่รองรับกับอินเวอร์เตอร์บางตัว
หากระบบไม่แมตช์กัน อาจทำให้เกิดปัญหา เช่น
- อินเวอร์เตอร์ไม่อ่านค่าจากแบตเตอรี่
- แรงดันไม่เสถียร ทำให้จ่ายไฟได้ไม่เต็มที่
- เฟิร์มแวร์ไม่อัปเดต ทำให้ระบบไม่รองรับฟีเจอร์ใหม่
- หรืออาจทำให้ระบบล้มเหลวเลยก็เป็นได้
แล้วใครเหมาะกับติดตั้งระบบไหน?
ความต้องการ | ควรเลือกระบบไหน? |
ติดตั้งง่าย จบในที่เดียว | ระบบแบรนด์เดียว |
ปรับแต่งได้เองตามงบ | ระบบผสมแบรนด์ |
ไม่มีความรู้ทางเทคนิค | ระบบแบรนด์เดียว |
อยากอัปเกรดหรือขยายภายหลัง | ระบบผสมแบรนด์ |
คำแนะนำก่อนติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์
- ขอใบเสนอราคาพร้อมสเปคจากผู้ติดตั้งหลายราย
- เช็กใบรับประกันทั้งระบบและรายชิ้นส่วนให้ชัดเจน
- ตรวจสอบรีวิวบริษัทติดตั้ง หรือผลงานที่ผ่านมา
บทสรุป
ไม่ว่าจะเลือกระบบแบรนด์เดียวหรือระบบผสมแบรนด์ ทั้งสองแบบมีจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง คำตอบสุดท้ายคือ ระบบที่เหมาะสมกับงบ ความรู้ และความต้องการของผู้ใช้งานเอง หากยังลังเลอาจจะลองปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องระบบที่เหมาะกับบ้านของเรา แล้วค่อยตัดสินใจเลือกอีกที เพราะเป็นการจ่ายเงินก้อนโตและใช้ระยะยาว ดังนั้น ไม่ควรรีบตัดสินใจเร็วเกินไป จนกว่าจะมั่นใจ
Comment