Xperia 1 II มือถือระดับเรือธงจาก Sony ที่เปิดตัวไปตั้งนานแล้ว ในที่สุดก็ได้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพกล้องและการถ่ายภาพจาก DXOMARK เป็นที่เรียบร้อย ได้คะแนนรวมไปทั้งสิ้น 112 แต้ม พัฒนาขึ้นจากรุ่นก่อนในทุกด้าน แต่ประสิทธิภาพโดยรวมยังตามหลังคู่แข่งอยู่พอสมควร

สเปคกล้อง Sony Xperia 1 II

  • กล้องหลัก 12MP
    – ขนาดเซนเซอร์ 1/1.7 นิ้ว, ขนาดพิกเซล 1.8µm
    – ความยาวโฟกัสเทียบเท่า 24 มม., รูรับแสง ƒ/1.7
    – Dual pixel PDAF, OIS
  • กล้องอัลตร้าไวด์ 12MP
    – ขนาดเซนเซอร์ 1/2.55 นิ้ว
    – ความยาวโฟกัสเทียบเท่า 16 มม., รูรับแสง ƒ/2.2
    – Dual pixel PDAF, OIS
  • กล้องเทเลโฟโต้ 12MP
    – ขนาดเซนเซอร์ 1/3.4 นิ้ว, ขนาดพิกเซล 1.0µm
    – ความยาวโฟกัสเทียบเท่า 70 มม., รูรับแสง ƒ/2.4
    – PDAF, OIS
  • เซนเซอร์ 3D iToF
  • แฟลช LED
  • บันทึดวิดีโอ
    – 4K ที่ 24 / 25 / 30 / 60 fps (ทดสอบที่ 4K ที่ 30 fps)
    – 1080p ที่ 30 / 60 / 120 fps

กล้องหลังของ Xperia 1 II มีด้วยกัน 3 ตัว คือ กล้องหลัก กล้องอัลตร้าไวด์ และกล้องเทเลโฟโต้ ต่างก็มีความละเอียด 12MP เท่ากัน เสริมด้วยแฟลช LED และเซนเซอร์ 3D iToF สำหรับประมวลผลแผนที่ความลึกในการถ่ายพอร์เทรต ทั้งหมดนี้ถูกครอบทับด้วยเลนส์ ZEISS T* คุณภาพสูงที่ได้รับการเคลือบผิวลดแสงสะท้อนมาเป็นพิเศษ

สำหรับการถ่ายวิดีโอนั้นทำได้สูงสุดในระดับ 4K ที่ 60 fps และถ่ายแบบสโลว์โมชั่น 120 fps บนความละเอียด 1080p ได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีระบบโฟกัสติดตามดวงตา Eye AF ที่น่าสนใจ และมีปุ่มชัตเตอร์ภายนอก 2 จังหวะ ซึ่งหาแทบไม่ได้แล้วสำหรับสมาร์ทโฟนที่วางขายในปัจจุบัน

ผลทดสอบการถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอ

คะแนนรวม 112 แต้ม เป็นการพัฒนาที่ก้าวกระโดดจาก Xperia 1 ที่มีคะแนนรวม 87 แต้มพอสมควร โดยแบ่งออกเป็น คะแนนภาพนิ่ง 114 แต้ม, คะแนนซูม 63 แต้ม และคะแนนวิดีโอ 102 แต้ม สูงขึ้นกว่าเดิมทุกหมวดหมู่การทดสอบ แต่ประสิทธิภาพโดยรวมยังล้าหลังคู่แข่งรายอื่น ๆ อยู่ดี

DXOMARK กล่าวว่า Xperia 1 II ทำผลงานได้น่าพึงพอใจในสภาพแสงกลางแจ้ง ไดนามิกเรนจ์นั้นกว้างพอตัวทีเดียว …แต่ในทางกลับกันก็ค่อย ๆ ลดลงตามสภาพแสงแวดล้อมเช่นกัน และการวัดแสงตัวแบบจะแกว่งทันทีเมื่อเจอกับสภาพแสงสลัวหรือแสงน้อย


ภาพถ่ายกลางแจ้งทำได้ดี มีไดนามิกเรนจ์กว้าง

สีสันของภาพที่ถ่ายจาก Xperia 1 II ไม่ค่อยตรงกับความเป็นจริงเท่าไหร่นัก แต่ก็ยังดีที่ควบคุมปริมาณนอยส์ได้ดี แม้จะต้องแลกมากับความคมชัดที่สูญเสียไปบ้างก็ตาม อีกปัญหาหนึ่งที่เจอ คือ เมื่อสลับระหว่างกล้องแต่ละตัวภาพพรีวิวจะมืดไปชั่วขณะ ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการใช้งาน


นอยส์น้อยก็จริง แต่รายละเอียดของภาพก็ต่ำเช่นกัน

ระบบออโต้โฟกัสเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ค่อนข้างน่าผิดหวัง เพราะทำงานได้ช้ากว่าคู่เปรียบเทียบในแทบทุกสภาพแสง แถมยังวืดวาดไม่เข้าเป้าอยู่บ่อยครั้ง เมื่อรวมกับข้อผิดพลาดจากการเรนเดอร์สีที่เพี้ยน ๆ ก็เลยโดนหักคะแนนไปหลายแต้มอย่างเลี่ยงไม่ได้

Xperia 1 II ทำได้ไม่ดีเท่าไหร่ในส่วนของกล้องเทเลโฟโต้ ที่ถึงแม้จะมีนอยส์น้อย แต่รายละเอียดของภาพนั้นน้อยยิ่งกว่าเสียอีก ต้องขอบคุณกล้องอัลตร้าไวด์ที่มีผลลัพธ์ค่อนข้างดี เลยเป็นตัวช่วยฉุดไม่ให้คะแนนโดยรวมต่ำไปกว่านี้


ภาพตัวอย่างจากกล้องอัลตร้าไวด์

ในการถ่ายวิดีโอนั้นระบบโฟกัสทำงานได้ค่อนข้างเสถียร (สวนทางกับภาพนิ่ง ?) แต่ก็ยังเจอปัญหาอยู่บ้างในสภาพแสงน้อย เพราะไม่ยอมโฟกัสติดตามวัตถุอย่างที่ควรจะเป็น แถมยังตามมาด้วยข้อตำหนิหลาย ๆ อย่างจาก DXOMARK ไล่ตั้งแต่นอยส์ (สี) ที่มองเห็นได้ชัด, ไดนามิกเรนจ์ที่จำกัด, ระบบกันสั่นที่หวังผลไม่ค่อยได้ รวมถึงไวต์บาลานซ์ที่ทำงานได้ไม่ราบรื่น (แต่ก็ยังดีที่ทำงานได้แม่นยำในสภาพแสงกลางแจ้ง)

Play video

สรุป

หากมองในภาพรวมแล้ว Xperia 1 II มีประสิทธิภาพกล้องที่ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนอย่างมาก น่าจะสร้างความพึงพอใจให้กับแฟน ๆ Sony ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม หากนำไปเปรียบเทียบกับสมาร์ทโฟนระดับท็อปของคู่แข่งอาจลำบากเสียหน่อย แม้แต่สมาร์ทโฟนระดับมิดเรนจ์หลาย ๆ ตัวก็ทำเอาหืดขึ้นคอแล้ว ดังนั้น หากผู้ใช้งานไม่ได้เป็นชาวอารยธรรม และให้ความสำคัญกับกล้องถ่ายภาพในการเลือกซื้อสมาร์ทโฟนแล้วล่ะก็ ให้พิจารณาเป็นตัวเลือกอื่น ๆ คงจะเข้าท่ากว่า DXOMARK กล่าวทิ้งท้าย

จุดเด่น

  • ควบคุมปริมาณนอยส์ได้ดีแม้ในสภาพแสงน้อย
  • ไดนามิกเรนจ์กว้างในสภาพแสงกลางแจ้ง
  • กล้องอัลตร้าไวด์ให้รายละเอียดของภาพที่ดี
  • ประมวลผลความลึกได้แม่นยำในการถ่ายด้วยโหมดพอร์เทรต
  • ไวต์บาลานซ์เชื่อถือได้สำหรับการถ่ายวิดีโอในสภาพแสงกลางแจ้ง

จุดสังเกต

  • ไดนามิกเรนจ์ค่อนข้างจำกัดในสภาพแสงปานกลางและแสงน้อย
  • ถ่ายภาพนิ่งแล้วสีเพี้ยน รวมถึงเกิด artifact ที่เกี่ยวกับการเรนเดอร์สีสันอยู่บ่อยครั้ง
  • ระบบออโต้โฟกัสทำงานไม่เสถียร
  • ไดนามิกเรนจ์จะไม่กว้างเท่าไหร่ในการถ่ายด้วยโหมดพอร์เทรต การวัดแสงตัวแบบก็แปรปรวน
  • กล้องเทเลโฟโต้ให้รายละเอียดของภาพที่ไม่ดี
  • การถ่ายวิดีโอเองก็มีไดนามิกเรนจ์ที่จำกัดเช่นกัน นอกจากนี้ภาพยังออกมาดูมืดหากถ่ายในสภาพแสงน้อย
  • ระบบออโต้โฟกัสไม่ยอมติดตามวัตถุอย่างที่ควรจะเป็นหากถ่ายวิดีโอในสภาพแสงน้อย
  • เกิดนอยส์เป็นปื้นสี เขียว ๆ ม่วง ๆ ในการถ่ายวิดีโอ
  • ระบบกันสั่นไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ
  • ไวต์บาลานซ์ในการถ่ายวิดีโอจะเปลี่ยนแปลงอย่างแข็งทื่อ ไม่ลื่นไหล

อันดับกล้องมือถือ DXOMARK ล่าสุด (30 / 01 / 2564)

1. HUAWEI Mate 40 Pro+ – 139 แต้ม
2. HUAWEI Mate 40 Pro – 136 แต้ม
3. Xiaomi Mi 10 Ultra – 133 แต้ม
4. HUAWEI P40 Pro – 132 แต้ม
5. Apple iPhone 12 Pro Max – 130 แต้ม
.
.
.
41. Sony Xperia 1 II – 112 แต้ม

 

ที่มา : DXOMARK (1, 2)