ทุกวันนี้ Cyber Bullying หรือ การกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ ได้กลายเป็นสิ่งที่ถูกพบเห็นกันจนแทบจะเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ทั้งการล่าแม่มด ทัวร์ลง ขุดประวัติเก่าๆมารุมประนาม ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้มีข่าวคนเป็นโรคซึมเศร้าจนฆ่าตัวตายมากขึ้นทุกวัน โดยสาเหตุมักเกิดจากความไม่เข้าใจความแตกต่าง หรือ ไม่ศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน และสาดคำพูดแย่ๆใส่กัน และซ้ำร้ายบางทีกลายเป็นคนใกล้ตัวที่ทำร้ายกันที่สุดอีกด้วย

คำว่า Cyber Bullying ที่ทุกคน คุ้นหู คุ้นตา กันดี…

คำว่า Cyber  Bullying แปลว่า การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์  เป็นการกระทำรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยการใช้อำนาจเพื่อให้ผู้อื่น ตกใจกลัว รู้สึกแย่ รู้สึกไร้ค่า กลายเป็นตัวตลกของสังคม ซึ่งจะเห็นได้ชัดในยุคปัจจุบัน ที่ทุกคนมีสื่อโซเชียลอยู่ในมือ ซึ่งสิ่งนี้เปรียบเสมือนอาวุธที่คอยทิ่มแทงใจคนที่ตกเป็นเป้าหมายของสังคม ตัวอย่างเช่น การรุมด่า การใช้คำพูดสร้าง Hate Speech ซึ่งคนกระทำไม่คิดอะไร ส่วนคนถูกกระทำก็เก็บมาใส่ใจจนกลายเป็นซึมเศร้า

การถูกล้อ หรือ ถูกด่า ไม่ใช่เรื่องสนุก ไม่ว่าจะเป็นใคร วัยไหน หรือเพศอะไร ก็ไม่สมควรโดนทั้งนั้น

สาเหตุของพฤติกรรม Cyber Bullying มักมีพื้นฐานมาจากพฤติกรรมในโลกออฟไลน์มาก่อน

จากงานวิจัยและการศึกษาหลายชิ้นพบว่า สถานศึกษาเป็นแหล่งเกิดของ“วัฒนธรรมการบูลลี่” และเกิดขึ้นตั้งแต่ในระดับอนุบาล เนื่องจาก “ความไม่รู้ของเด็ก” เวลาอยู่รวมกันในสังคมแล้วเจอเพื่อนที่แตกต่าง ทำให้รู้สึกว่า ถ้าเพื่อนคนไหนที่ไม่เหมือนเรา จะเป็นตัวตลก ตัวประหลาด บวกกับว่าพอได้เริ่มล้อเลียนแล้วก็รู้สึกสนุกปาก เหมือนเป็นเรื่องขำๆในกลุ่มเพื่อน อีกทั้งพูดไปก็ไม่มีใครทำโทษอะไร เพราะผู้ใหญ่เห็นว่า “ก็แค่เด็กเล่นกัน” มันจึงถูกปลูกฝัง กลายเป็นพฤติกรรม เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคม กลายเป็นวงจรการบูลลี่ต่อไป แล้วจะทวีคูณความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆด้วย

อีกทั้งปัจจุบัน โลกโซเชียล ถือเป็นพื้นที่อิสระที่ให้อำนาจแก่ปัจเจกบุคคล เวลาโกรธ โมโห อารมณ์ไม่ดี ก็พิมพ์สิ่งที่ตัวเองคิดลงไปได้ จึงทำให้ลามไปเป็นการบูลลี่กลุ่มใหญ่หรือบูลลี่ใครบางคนในที่สาธารณะ และกลายเป็นเรื่องบานปลายใหญ่โต หรือกลายเป็นความรุนแรงที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้ เนื่องจากในโลกออนไลน์ไม่มีกติกาหรือตัวกลางในการตัดสิน

จากสถิติการถูกรังแกบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) พบว่า 48% ของเด็กไทย เคยเกี่ยวข้องกับการรังแกบนโลกออนไลน์ ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั่วโลกอยู่ที่ 33% และ 41% ของเด็กไทย เคยถูกรังแกบนโลกออนไลน์ ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั่วโลกอยู่ที่ 39% โดยเด็กผู้ชาย 56% รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการรังแกออนไลน์มากกว่าเด็กผู้หญิง 41% และในกลุ่มของเด็กอายุ 13 ปี ขึ้นไป พบว่าเด็กผู้หญิงที่เคยถูกรังแกบนโลกออนไลน์มีจำนวน 43% ในขณะที่เด็กผู้ชายอยู่ที่ 37% ค่ะ

 

วิธีป้องกันและตัดวงจร ก่อนจะลามไปเป็น Cyber Bullying

อย่างเเรกต้องย้อนกลับไปที่ครอบครัวค่ะ เพราะครอบครัว เป็นสถาบันพื้นฐานที่จะบ่มเพาะเด็กก่อนจะออกไปใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับผู้อื่น จากนั้นก็ตามด้วยสถาบันการศึกษา ดังนั้น ทั้งพ่อแม่และคุณครูมีส่วนที่จะต้องร่วมกับรับผิดชอบต่อสังคม โดยการ“ไม่เพิกเฉย” ต่อพฤติกรรมการบูลลี่ที่เกิดขึ้น ควรปรับ Mindset ใหม่ และมองให้ลึกว่ามันคือ “ปัญหา” ที่จะต้องร่วมแก้ไข อย่ากลายเป็น Role model ที่ไม่ดีซะเอง…

ซึ่งตามโครงสร้างทางสังคมแล้ว ผู้ใหญ่ถือเป็นผู้มีอำนาจ เป็นแบบอย่างให้แก่เด็ก การเพิกเฉยและปล่อยพฤติกรรมแบบนี้ไป ทำให้เด็กเข้าใจว่ามันคือ“สิ่งที่ทำได้” และกลายเป็นวงจรแห่งการบูลลี่ที่ไม่จบไม่สิ้น ซึ่งการป้องกันที่ดี อย่างแรกเลยคือ ผู้ใหญ่ควรปลูกฝัง Mindset เด็กซะใหม่ ไม่อย่างนั้น เมื่อเด็กที่อยู่ในวงจรของการบูลลี่โตเป็นผู้ใหญ่ ความสนุกจากการไม่ต้องรับผิดชอบในวัยเด็กจะกลายเป็นการใช้อำนาจกลั่นแกล้งผู้อื่นโดยไม่ต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เปิดกว้างอย่าง “โลกออนไลน์”  

ความแตกต่างไม่ใช่เรื่องผิด คนเราเกิดมาไม่มีทางเหมือนกัน ความสวยหล่อมันวัดกันไม่ได้ ดังนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะไปละเมิดสิทธิ์กันและกัน

เราเชื่อว่าทุกคนเคยโดนด่า แล้ว#คำด่าไหนฝังใจที่สุด

เราเชื่อว่าทุกคนเคยผ่านการโดนด่า ไม่ว่าจะโดนเพื่อน โดนครู หรือโดนคนในครอบครัว แต่ว่า #คำด่าไหนทำให้ฝังใจที่สุด แฮชแท็กดังในทวิตเตอร์ หนึ่งในแคมเปญเพื่อสร้างความตระหนักรู้และความตื่นตัว เพื่อเปลี่ยนทัศนคติในการแก้ปัญหาการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ ในวัน Stop Cyber-bullying Day ที่เกิดขึ้นทุกวันศุกร์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายนของทุกปี โดยปีนี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 4  ภายใต้แคมเปญ #เราด่ากันทำไม #คำด่าไหนฝังใจที่สุด

  • แคมเปญบนทวิตเตอร์ เป็นการถามชาวทวิตว่า#คำด่าไหนฝังใจที่สุด ซึ่งได้รับความสนใจและมีคน Retweet มากกว่า 700 เรื่องราวที่โดนบูลลี่ และเราได้พบ insights ที่น่าสนใจสรุปได้ว่า ชาวทวีตเตอร์รู้สึกว่า การด่าว่าของ “พ่อแม่” และ “เพื่อนที่โรงเรียน” สร้างความเจ็บปวดฝังใจที่สุด และมีผลต่อความคิดและบุคลิกภาพในปัจจุบัน

แล้วรู้มั้ยคะว่า ชาวเน็ตไทยเผชิญข้อความสร้างความเกลียดชัง 39 ข้อความต่อนาที พบมากในสถานศึกษา ขณะที่ครูสามารถไม่เข้าใจปัญหาได้ ดังนั้น “องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย” จึงได้พัฒนาหลักสูตรความหลากหลายทางเพศเพื่อต่อต้านการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์จัดแคมเปญบนทวิตเตอร์ #คำด่าไหนฝังใจที่สุด สร้างความตระหนักรู้ต่อสังคม เนื่องในวันต่อต้านการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์สากล 19 มิ.ย. 2563

 

แล้วอย่างนี้ จะมีวิธีไหน ที่เราจะหยุดยั้งการเกิด Cyber Bullying ได้

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เรายังมีวิธีที่จะหยุดยั้งการเกิด Cyber Bullying ได้ ผ่านแคมเปญสร้างความฉลาดทางดิจิตัล หรือ DQ บทเรียนออนไลน์ที่มีประโยชน์ สำหรับการเสริมสร้างทักษะทางดิจิทัลที่จำเป็นทั้ง 8 ทักษะ เนื่องในวันต่อต้านการกลั่นแกล้งทางออนไลน์สากล ปี 2020 (Stop Cyberbullying Day)

โดยใน 8 ทักษะดังกล่าวข้างต้น ก็มี 3 ทักษะที่สำคัญ ที่จะสามารถเป็นเกราะป้องกันภัยไซเบอร์ ได้แก่

  • ใจเขา ใจเรา พึงระลึกไว้เสมอนะคะว่า ทุกคนต่างมีความรู้สึกและหัวใจ ไม่มีใครอยากโดนทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ แม้แต่ตัวเราเองก็ตาม ความเห็นใจซึ่งกันและกันเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการอยู่ร่วมกันในสังคมทั้งบนโซเชียลและชีวิตจริง ซึ่งก่อนที่จะพูดหรือจะทำอะไรลงไป ลองคิดถึงใจของอีกฝ่ายก่อน ว่าถ้าเป็นเรา จะรู้สึกอย่างไร อย่าไปคิดแทนและอย่าตัดสินคนอื่น เพียงเพราะสิ่งที่เราเห็น
  • คิดก่อนโพสต์ เวลาเราโพสต์อะไรลงไป เราสบายใจที่ได้ปลดปล่อย แต่ใครจะไปรู้ว่าการโพสต์ข้อความแง่ลบต่อคนอื่นในโลกออนไลน์เพียงครั้งเดียว อาจทำให้ใครบางคนรู้สึกเจ็บปวดจากการ Cyberbullying ได้ตลอดไปก็ได้  ซึ่งจริงๆแล้วเราไม่ระบายทุกอย่างลงบนโซเชียล โดยเฉพาะเวลาโกรธ เวลาโพสต์อะไรควรมีที่มาที่ไป ไม่กล่าวหาใครลอยๆ สุภาพไว้ดีที่สุด เพื่อลดความขุ่นเคืองต่อกัน และควรคิดให้ดีว่าสิ่งเหล่านั้นจะสามารถส่งผลกระทบอะไรกับเราหรือคนอื่นหรือไม่
  • เช็กก่อนเชื่อ หลายครั้งที่เราเห็นการล่าแม่มด ทัวร์ลงต่างๆ ในโลกออนไลน์เกิดขึ้นจากการเข้าใจผิด โดยไม่ทันไม่เช็กข้อมูลให้ดีก่อน จากนั้นก็ตามมาด้วยความสะใจ สนุกปาก ถึงแม้จะมาจากความไม่ได้ตั้งใจ แต่ก็กลายเป็นฝันร้ายของผู้ถูกกระทำจนยากจะลืมได้ ดังนั้น ทักษะดิจิทัล DQ ในหัวข้อ “เช็กก่อนเชื่อ” จึงเป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้เราไม่กลายเป็นผู้กระทำคนอื่นในโลกออนไลน์ สามารถวิเคราะห์ได้ แยกแยะเป็นระหว่างข้อมูลที่ถูกและข้อมูลที่ผิด ไม่รีบด่วนตัดสินใจ มีความรู้เท่าทันและประเมินข้อมูลจากหลายแหล่งก่อนตัดสินใจเชื่อ

Play video

ถ้ามีเหตุการณ์ Cyber Bullying เกิดขึ้นกับตัวเรา จะต้องรับมืออย่างไร ?

จะทำอย่างไร ถ้าโดน Cyber Bullying ? นี่อาจเป็นคำถามที่เกิดขึ้นกับหลายคน เมื่อโดนกระทำให้รู้สึกอับอายหรือเสื่อมเสียบนโลกออนไลน์ อย่าปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้ สะสมจนมาบั่นทอนจิตใจจนส่งผลกระทบไปถึงด้านอื่นๆในชีวิต ดังนั้น เราควรรับมือด้วยวิธี

1.ไม่โต้ตอบ เพราะ ยิ่งเราเลือกตอบโต้ จะเป็นการทำให้เรื่องราวบานปลายได้

2.บล็อก ปิดช่องทางไม่ให้เขามายุ่งวอแวกับเราได้

3.ไม่เก็บเอาไว้คนเดียว  เมื่อเราไม่ปล่อยวาง ทุกสิ่งทุกอย่างจะมาสะสมอยู่ที่ตัวเรา เท่ากับเป็นการสร้างความเครียดให้ตัวเอง อย่ารับมือกับมันคนเดียวค่ะ ให้ขอความช่วยเหลือจากคนรอบตัวดีกว่า

4.เก็บหลักฐานเอาไว้  อย่างแรกนะคะ เมื่อเกิดเหตุแล้ว ควรมีสติ อันไหนปล่อยได้ก็ช่างมันไป แต่ถ้ามันกระทบจิตใจกับชีวิตมากเกินไป ให้รวบรวมหลักฐานของคนที่มาโพสต์กลั่นแกล้งของเราไว้ให้ได้มากที่สุด แล้วนำไปแจ้งความได้เลยค่ะ

ต้องทำอย่างไรเมื่อโดนคอมเมนต์แย่ๆ หรือโดนบูลลี่ในโซเชียล?

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วนะคะ ที่เราจะต้องร่วมมือร่วมใจกันผลักดัน สนับสนุนให้เลิกบูลลี่กันในโลกออนไลน์ หยุดทำร้ายจิตใจผู้อื่น เพียงเพราะความสะใจหรือแค่ว่าไม่เป็นไร หรือแค่ว่า คนนี้สมควรโดนแล้ว ในโลกใบนี้ ไม่มีใครอยากโดนทำร้ายจิตใจหรอกค่ะ และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ปัญหานี้ทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต เราควรเริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อน อย่าเพิกเฉย ละเลย ไม่ใส่ใจ ทำให้การบูลลี่กลายเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกและไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นในสังคมอีกต่อไปค่ะ

ที่มา dtac , ais