มีหลายข้อถกเถียงในอดีตระบุว่าวิดีโอเกมถือเป็นสิ่งอันตรายสำหรับเด็ก เพราะมีผลทำให้เกิดพฤติกรรมความก้าวร้าวและกระทบพัฒนาการทางสมอง สังเกตได้จากหลาย ๆ เคสที่ปรากฏในข่าว จนกลายเป็นความเชื่อที่คนยึดถือกันมานาน แต่ก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าจริงเท็จแค่ไหน

ล่าสุดได้เกิดงานวิจัยใหม่ ที่มีแนวโน้มจะให้ผลลัพธ์ในทิศทางตรงกันข้ามกับความเชื่อดังกล่าว ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Vermont สหรัฐอเมริกา ได้นำงานวิจัยเดิมในปี 2018 ที่ชื่อว่า Adolescent Brain Cognitive Development (ABCD) มาทำค้นคว้าต่อ โดยตัววิจัยเดิมได้ศึกษาเอาไว้เกี่ยวกับพัฒนาการทางของสมองเด็กในสหรัฐฯ ที่กำลังเติบโตเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น แต่สิ่งที่งานวิจัยใหม่อยากนำเสนอเพิ่มเติมต่อจากนั้นก็คือ พฤติกรรมการเล่นเกมจะมีผลร่วมด้วยกับพัฒนาการครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน

ในงานวิจัยใหม่ใช้กลุ่มตัวอย่างเดิม คือเด็กที่เคยเข้าร่วมการศึกษาก่อนหน้านี้ จำนวน 2,217 คน อายุ 9 และ 10 ปี แต่มีการลงไปสอบถามเพิ่มเติมถึงพฤติกรรมการเล่นเกมในอดีต จนสามารถแบ่งเด็กออกมาได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็นเด็กที่เล่นวิดีโอเกมอย่างต่ำ 21 ชั่วโมง/สัปดาห์ และกลุ่มที่ 2 ไม่เล่นวิดีโอเกมเลย (กลุ่มที่เล่นบ้างไม่เล่นบ้างจะถูกคัดออกจากการสำรวจ)

จากนั้นผู้วิจัยได้เอาคะแนนทดสอบการทำงานของสมองที่เด็กทั้ง 2 กลุ่มเคยทำไว้มาเปรียบเทียบกัน โดยการทดสอบดังกล่าวประกอบไปด้วยการวัดสมาธิ การควบคุมการตอบสนอง การวัดการจดจำ และสุขภาพจิต ผลปรากฏว่าเด็กกลุ่มแรกที่เล่นเกมเป็นประจำมีคะแนนการทดสอบสูงกว่า แถมยังมีกิจกรรมการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับสมาธิและความจำเกิดขึ้นเป็นแพทเทิร์นที่ถี่กว่าเด็กกลุ่มที่ไม่เล่นอีกด้วย ส่วนการวัดด้านสุขภาพจิตทั้งคู่ถือว่าออกมาไม่แตกต่างกัน (เป็นการยืนยันเพิ่มได้อีกว่าเกมอาจไม่มีผลต่อพฤติกรรมความก้าวร้าว)

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยครั้งนี้ไม่สามารถสรุปได้ว่าการเล่นเกมทำให้สมองของเด็กทำงานได้ดีขึ้น เพราะไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงได้ว่าอะไรทำให้ทั้งสองกลุ่มต่างกัน (สรุปได้แค่ว่ากลุ่มที่เล่นเกมได้คะแนนสูงกว่า) เป็นไปได้ว่าเด็กที่มีสมาธิดีหรือตอบสนองเก่งมักจะเป็นกลุ่มที่สนใจเกมได้ง่ายแต่แรกอยู่แล้วก็ได้ แต่ก็นับว่าการเล่นเกมมีความเกี่ยวข้องอยู่ไม่น้อย จนผู้วิจัยเล็งเห็นว่าแนวคิดการพัฒนาเกมเพื่อรักษาโรค ADHD หรือสมาธิสั้นอาจเกิดขึ้นได้จริง และจะเกิดประโยชน์ในทางการแพทย์ต่อไป

 

 

ที่มา : The Verge