จากประเด็นปัญหาทางการเมืองตั้งแต่สงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างพี่ใหญ่อย่างจีน – สหรัฐ ฯ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไต้หวันที่มักจะถูกดึงเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งด้วยเสมอเนื่องจากถือครองสิทธิบัตรและเทคโนโลยีสำคัญหลาย ๆ อย่างของโลกเอาไว้ ล่าสุดดูเหมือนรัฐบาลไต้หวันจะเริ่มรู้ตัว ออกมาให้ข่าวถึงประเด็นความปลอดภัยทางไซเบอร์ของพวกเขาเองที่ต้องยกระดับเป็นการใหญ่ หลังจากพบความพยายามโจมตีระบบกว่า 20 ล้านครั้งต่อเดือน โดยเชื่อว่าเป็นฝีมือของรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านของเขาเอง
หน่วยงานความมั่นคงไซเบอร์ของไต้หวันเผยต้องยกระดับความปลอดภัยสูงสุดหลังถูกโจมตีไซเบอร์กว่า 20 ล้านครั้งต่อเดือน !
ทางด้านผู้บริหารระดับสูงฝ่ายความมั่นคงของไต้หวันได้มีการแถลงนโยบายและความกังวลล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงไซเบอร์ภายในประเทศของพวกเขา “ที่อาจส่งผลถึงขั้นเป็นชนวนก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 (ในรูปแบบสงครามไซเบอร์) ได้เลย” หากไม่มีมาตรการรับมือที่ดีเพียงพอ หลังจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไต้หวันเองนั้นต้องตกเป็นเสมือนศูนย์กลางความขัดแย้งของบรรดาชาติมหาอำนาจ เนื่องจากไต้หวันเองก็ถือครองสิทธิและนวัตกรรมศักยภาพสูงของโลกเอาไว้จำนวนมาก หนึ่งในชื่อที่คุ้นหูชาวเน็ตมากที่สุดคือกรณีของ TSMC ที่ปัจจุบันกลายเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งทางเทคโนโลยีไปแล้วโดยปริยาย
TSMC | เจ้าตลาด Semiconductor สู่ศูนย์กลางความขัดแย้งไต้หวัน – จีน – สหรัฐ ฯ
ทางการไต้หวันได้เผยว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านไซเบอร์ของไต้หวันนั้นถูกโจมตีด้วยรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความพยายามเจาะระบบเพื่อขโมยข้อมูล การรบกวนการทำงานของระบบ หรือแม้กระทั่งการพยายามทำลายกระบวนการทำงานของซอฟแวร์ที่ส่งผลไปยังโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอื่น เช่น ระบบสาธารณูโภคกลาง หรือโรงกลั่นน้ำมัน รวม ๆ แล้วพบความพยายามโจมตีราว 20 – 40 ล้านครั้งต่อเดือนเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามพวกเขาได้มีการยกระดับมาตรการและระบบความปลอดภัยยกใหญ่เสร็จเรียบร้อยในเดือนนี้ (ไม่เปิดเผยรายละเอียด) เคลมว่าพร้อมรับมือทุกรูปแบบ รวมถึงเพิ่มศักยภาพการตรวจสอบแบบย้อนกลับ นอกจากนั้่นยังมีการว่าจ้างแฮกเกอร์มือฉมังหลายสิบรายจากทั่วโลกให้ร่วมทดสอบและพัฒนาความปลอดภัยของระบบอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีการเจาะระบบที่สำเร็จเพียงแค่ประมาณร้อยครั้ง โดยแบ่งออกเป็นความเสี่ยงระดับสูงแค่ไม่กี่ราย ซึ่งได้มีการจัดการเป็นที่เรียบร้อยหมดแล้ว
ไต้หวันทราบดีถึงความสำคัญทางเทคโนโลยีของพวกเขา พร้อมร่วมมือกับทั้งโลกป้องกันไม่ให้เกิดชนวนไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ในรูปแบบไซเบอร์
บริการภาครัฐโดยเฉพาะในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของเราอาศัยศักยภาพ ความเสถียรและปลอดภัยของอินเทอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นระบบท่อก๊าซ ระบบน้ำหรือไฟฟ้าก็ตาม เราเข้าใจดีว่าโครงพื้นฐานเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญไม่ใช่แค่เพื่อให้บริการประชาชนของเรา แต่อาจส่งผลต่อทั้งโลกได้… เมื่อดูจากวิธีการที่ใช้และจากการตรวจสอบที่ผ่านมา เราค่อนข้างมั่นใจว่าความพยายามรุกล้ำอาณาเขตไซเบอร์ของเราจำนวนมาก มีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศเพื่อนบ้าน – Chien Hung-wei | ผู้อำนวยการกรมความมั่นคงไซเบอร์ของไต้หวัน
แม้ไต้หวันจะไม่กล่าวถึงชื่อจีนโดยตรง และจีนเองก็ไม่ใช่ชาติเดียวบนโลกนี้ที่ถูกตั้งแง่ในฐานะผู้รุกล้ำหรือโจมตีทางไซเบอร์ แต่ดูเหมือนพวกเขาคือชาติมหาอำนาจรายแรกที่ถูกทั่วโลกจับตามองอย่างใกล้ชิดพร้อม ๆ กัน หลังจากที่ล่าสุดฝั่งชาติตะวันตกอย่างสหรัฐ ฯ และสหภาพยุโรปได้ออกมาตั้งคำถามถึงกรณีมีการตรวจสอบพบว่า รัฐบาลจีนอาจมีส่วนพัวพันโดยตรงกับ อาชญากรรม Ransomware ที่เกิดขึ้นกับภาครัฐหลายรายทั่วโลก
Cyberattacks หรือการโจมตีบนโลกไซเบอร์นั้นกลายมาเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเมืองของบรรดาชาติมหาอำนาจทั้งหลาย เพราะความผิดพลาดแค่ครั้งเดียวอาจหมายถึง ความขัดแย้งแบบเปิดเผยในระดับโลก หรือเรียกง่าย ๆ สงครามโลกได้เลย งานนี้ไต้หวันเองในฐานะผู้ถือครองเทคโนโลยีสำคัญ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นข่าวบ่อย ๆ อย่างเรื่องชิปเซ็ตของ TSMC นั้นยิ่งต้องระวังตัวเป็นพิเศษมาก ๆ นั่นเอง
- อ่านเพิ่มเติม:
อ้างอิง: CNN Business | CNN Politics
Comment