ทางด้านผู้ผลิตชิปเซ็ตเบอร์ 1 ของโลกอย่าง TSMC (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company) ที่หมายมั่นปั้นมือจะครองบัลลังก์แชมป์เอาไว้ให้ได้ท่ามกลางบรรยากาศชิปเซ็ตของโลกที่ขาดตลาดอย่างหนัก ทำให้พวกเขาต้องเร่งขยายกำลังการผลิตและโรงงานเพิ่มขึ้นอีกในหลายแห่ง แต่กลับกลายเป็นว่าทุก ๆ การเคลื่อนไหวมักถูกจับตาอย่างใกล้ชิดเข้าขั้นจะเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งแห่งใหม่ระหว่างมหาอำนาจของโลกเทคโนโลยีอย่างจีนกับสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว

ชิปเซ็ต (Semiconductor) คือแกนโลกเทคโนโลยี และ TSMC คือเบอร์ 1 ที่ไม่ต้องการเสียโอกาสแม้ต้องตกเป็นศูนย์กลางความขัดแย้ง “สงครามการค้า”

ในปัจจุบัน ชิปเซ็ต (Chipset) หรือเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) นั้นนับได้ว่ามีความสำคัญอย่างสูงมาก ๆ ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมแบบภาพรวมชนิดที่ อะไรก็ตามที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีมักจะต้องมาคู่กับชิปเซ็ตเสมอ เพราะเป็นเสมือนแกนหรือสมองสำหรับสั่งการอุปกรณ์ที่ทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ไม่ว่าจะใหญ่เล็กทั้งหมด ไล่ตั้งแต่อุปกรณ์สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แล็ปท็อป เครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป ยานยนต์สมัยใหม่ ไล่รวมไปจนถึงภาคการผลิตในอุตสาหกรรมหนักที่มักจะใช้หุ่นยนต์และระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาร่วมเพื่อความรวดเร็ว เป็นต้น

ทำไมชิปเซ็ตถึงขาดแคลน เกิดจากสาเหตุอะไร กระทบแวดวงไหนบ้าง จะอยู่กับเราไปจนถึงอีกเมื่อไหร่

เพื่อน ๆ ชาว DroidSans อาจทราบกันดีอยู่ถึงสภาวะขาดแคลนที่ส่งผลให้การ์ดจอ – สมาร์ทโฟน – อุปกรณ์คอมขาดตลาดจนราคาพุ่งพรวดอย่างเช่นกรณีของ ASUS ในประเทศไทย หรือแม้แต่ปัญหาเครื่องเล่นเกมส์ยอดฮิตอย่าง Play Station 5 ที่ไม่รู้จะขาดตลาดราวกับเปิดรับพรีออเดอร์ได้เพียงทีละ 2 เครื่องถ้วนให้โดนด่าเล่น ๆ ไปถึงเมื่อไหร่ ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากสภาวะขาดตลาดด้วยกันทั้งหมดเลย และปัญหานี้มักมีชื่อของผู้ผลิตเบอร์ 1 ของโลกสัญชาติไต้หวันอย่าง TSMC อยู่อย่างแน่นอนด้วยความที่เป็นเจ้าตลาดถือครองส่วนแบ่งทางการตลาดด้านการผลิต Semiconductor อยู่สูงกว่า 50% (บางรายงานเชื่อว่าอันที่จริงแล้วสูงถึง 70% ไปแล้วหากนับรวมการเข้าไปลงทุนทางอ้อมในบริษัทอื่น ๆ ด้วย) โดยมี Samsung เป็นเบอร์ 2 ของโลกถือสัดส่วนอยู่ห่าง ๆ ราว 10% เท่านั้น

ด้วยชื่อเสียงและศักยภาพระดับ TSMC ในปัจจุบันจึงทำให้พวกเขาหลีกเลี่ยงไม่ได้ตกเป็นจุดสนใจของบรรดา Tech Giants และชาติมหาอำนาจทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนแผ่นดินใหญ่ถือครองสิทธิและเทคโนโลยีสำคัญ ๆ อยู่ในมือมากมายย่อมมีส่วนได้เสียโดยตรงต่อสภาวะการณ์และแผนธุรกิจของ TSMC อยู่เสมอนั่นเอง และแน่นอนว่าพวกเขาได้ดึงเอา TSMC ไปเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งใหม่ในประเด็น “สงครามการค้า” ไปแล้วโดยปริยาย

ทางฝั่งของ TSMC นั้นนับได้ว่าอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกสุด ๆ ทุกการตัดสินใจพวกเขาจำเป็นจะต้องคานอำนาจให้ดีระหว่างการระมัดระวังไม่เอาใจสหรัฐ ฯ มากเกินไป หรือจะขัดใจจีนมากจนเกินควร แม้ที่จริงแล้ววิธีคิดและการดำเนินงานทางการเมืองนั้นค่อนข้างเอนเอียงไปทางวิถีแบบสหรัฐ ฯ ค่อนข้างชัดเจนมาสักพักใหญ่ ๆ แล้ว แต่เรื่องนี้ซับซ้อนมากกว่าแค่ปัญหาทางธุรกิจเพราะดันไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเลือกดำเนินกิจการให้เหมาะสมตามหลักภูมิรัฐศาสตร์ คือไม่ใช่แค่เลือกข้างแล้วจบไปแต่ต้องระมัดระวังผลกระทบจากทั้งในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเชิงวิธีคิดและพื้นที่จริงทางภูมิศาสตร์ และแน่นอนที่สุดคือพวกเขามีลูกค้ารายสำคัญจากทั้งจีนและอเมริกานั่นเอง

TSMC ประกาศยกระดับมาตรฐานและกำลังการผลิต แต่โรงงานในจีนกลับถูกตั้งแง่จากทั้งรัฐบาลจีนและไต้หวันเองที่ไม่มีใครไว้ใจใคร

แม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างยากลำบาก แต่ TSMC ไม่ต้องการเสียส่วนแบ่งทางการตลาดไป พวกเขาเลือกที่จะไม่นิ่งเฉย แต่ประกาศเม็ดเงินลงทุนรวมกว่า 8 แสนล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและยกระดับมาตรฐานให้สูงยิ่งขึ้นเพื่อทิ้งห่างคู่แข่ง โดยแผนการลงทุนหลักประกอบไปด้วย

  • ช่วงปี 2022 – 2024 | โรงงานผลิตแห่งใหม่ที่ Tainan Science Park ในไต้หวันรองรับกระบวนการผลิต Chipset ขนาด 3 นาโนเมตร พร้อมโรงบำบัดน้ำเสียด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นของพวกเขาเองและเป็นแห่งแรกของโลก
  • ปี 2025 | โรงงานแห่งใหม่ที่มลรัฐ Arizona ในสหรัฐอเมริกา รองรับลูกค้าฝั่งอเมริกาเป็นหลัก พร้อมเทคโนโลยีการผลิตได้ถึงระดับ 5 นาโนเมตรเป็นอย่างน้อย
  • ปี 2022 | ขยายกำลังการผลิตอีก 2 เท่าตัวให้กับโรงงานผลิต Chipset แบบ 28 นาโนเมตร (รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหลัก) ที่เมือง Nanjing ของจีน

แม้พวกเขาจะออกอาการใจดีสู้เสือ เล่นประกาศทุ่มเงินมหาศาลลงทุกพื้นที่แบบแฟร์ ๆ แต่กลับเกิดปัญหาดราม่าการเมืองเข้าแทรกกับโปรเจคโรงงานผลิต Chip 28 นาโนเมตรในเมือง Nanjing ประเทศจีนที่อุตส่าห์หมายมั่นปั้นมือเอาใจลูกค้าผู้ผลิตรถยนต์โดยเฉพาะกลุ่ม EV ที่กำลังบูมในจีนเป็นพิเศษ โดยเพิ่มกำลังการผลิตไปเลย 2 เท่า เริ่มต้นในช่วงปี 2022 ที่จะถึงนี้เลย แต่กลับดูเหมือนว่ารัฐบาลของ 2 ประเทศทั้งจีนและไต้หวันเองแท้ ๆ ไม่มีใครพอใจกับแผนงานข้อนี้เอาเสียเลย

TSMC พยายามกินรวบตลาด Semiconductor 28 นาโนเมตร (สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์) ในจีนทั้งหมด พวกเขากำลังใช้ความได้เปรียบทำร้ายผู้ผลิตท้องถิ่น (ในจีน) – คำวิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้าน IT ของจีน

ไต้หวันมีความกังวลใจว่าความลับทางการค้าของ TSMC ที่จะต้องถูกถ่ายทอดไปยังไลน์ผลิตใน Nanjing (จีน) จะตกอยู่ในความเสี่ยงที่อาจถูกละเมิดได้ง่าย – คำวิจารณ์จากนักการเมืองท้องถิ่นฝั่งไต้หวัน

ดูท่าโปรเจคลงทุนเพิ่มในจีนจะไม่ถูกใจใครเอาเสียเลยกระทั่งพี่จีนที่หอบเงินไปให้แท้ ๆ แต่กลับวิจารณ์ว่าจะไปกินรวบตลาด Chipset สำหรับยานยนต์ หรือแม้แต่รัฐบาลของไต้หวันเองยิ่งแล้วใหญ่วิจารณ์ถึงขั้นกลัวเทคโนโลยีจะรั่วไหล ยิ่งไปกว่านั้นยังมีรายงานด้วยว่ากระทรวงแรงงานของไต้หวันออกคำสั่งด่วนห้ามไม่ให้เว็บไซต์รับสมัครงานในไต้หวัน รับสมัครงานด้านเทคโนโลยีสำหรับตำแหน่งงานในประเทศจีนเพราะกลัวจะเกิดสภาวะสมองไหลออกนอกประเทศ

นอกจากนั้นยังมีรายงานออกมาด้วยว่าทางการจีนไม่ค่อยพอใจที่ TSMC ไม่สนใจลงทุนไลน์ผลิต Chipset ขนาดเล็กสำหรับอุปกรณ์สื่อสารซึ่งขาดแคลนอยู่โดยเชื่อว่ามีการล็อบบี้สั่งห้ามข้ามฟากมาจากฝั่งสหรัฐ ฯ ทำให้ TSMC เลือกไปลงทุนตั้งโรงงานศักยภาพสูงในอเมริกาแทน ทั้ง ๆ ที่ต้นทุนการตั้งโรงงาน ต้นทุนการผลิตโดยรวมน่าจะถูกกว่ากันมากหากเลือกจีนเพื่อผลิต Chipset ศักยภาพสูงแทน (5 นาโนเมตรหรือเล็กกว่า) งานนี้เรียกได้ว่าประเด็นความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจทางเทคโนโลยีจีน – สหรัฐ ฯ ซึ่งมีไต้หวันเป็นเสมือนลูกไล่นั้นกระทบชิ่งมั่วซั่วไปหมดส่งผลให้กิจการของ TSMC นั้นอาจต้องอยู่กับสภาวะที่ยากลำบากไปอีกสักพักใหญ่ ๆ เพราะดันเป็นผู้นำในตลาดที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ Supply Chain ของมหาอำนาจทั้ง 2 นั่นเอง

 

อ้างอิง: Business Korea | Gizmochina | WCCF Tech